ในยุคที่วีถีชีวิตของคนในสังคมถูกบีบคั้นด้วยการแข่งขัน และค่าครองชีพที่สูงเช่นทุกวันนี้ สวัสดิการ จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมถวิลหา ทั้งจากรัฐบาลหรือจากหน่วยงานที่ทำ เพราะสิ่งเหล่านั้นเปรียบเหมือนหลักค้ำประกันว่า การดำเนินชีวิตจะเป็นไปได้อย่างราบรื่นและปลอดภัยในระดับหนึ่ง เช่น ผู้ที่ได้รับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล ด้านที่พักอาศัย ฯลฯ ก็จะหมดความกังวลในเรื่องเหล่านั้น ได้มากกว่าคนที่ทำงานในหน่วยงานหรืออยู่ในสังคมที่ไม่มีสวัสดิการใดๆเลย ดังนั้น สวัสดิการเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม แต่เมื่อถามว่า สวัสดิการที่ได้รับจะทำให้ทุกคนมีชีวิตที่สมบูรณ์ด้วยความสุขจริงหรือ คำตอบคือ ไม่แน่เสมอไป แล้วอะไรเป็นเหตุปัจจัย แห่งความไม่แน่นอนนั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป
ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า ผู้ที่มีโอกาสได้ทำงานในหน่วยงานหรืออยู่ในสังคมที่ให้สวัสดิการดีถือว่าเป็นผู้ที่โชคดีกว่าคนอื่น แต่ต้องไม่เผลอสติปล่อยให้สวัสดิการกลายเป็นกับดักหรือหลุมพราง ทำร้ายจนเกิดภัยพิบัติกับชีวิต ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ สวัสดิการต่างๆที่ได้รับโดยส่วนมากเป็น วัตถุสวัสดิการ คือผลตอบแทนทางด้านวัตถุ ซึ่งมีข้อดีคือทำให้ได้รับความสะดวกสบายทางด้านร่างกาย แต่มีข้อเสียตรงที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความประมาท เพราะบางท่านกลายเป็นผู้ที่ขาดการวางแผนในการใช้ชีวิต ละทิ้งความคิดเรื่องความประหยัดอดออม ใช้เงินที่ได้จากเงินเดือนแสวงหาวัตถุมาปรนเปรอสร้างความสะดวกสบายจนเกินพอดี เมื่อเงินหมดก็ยังไปกู้จากแหล่งอื่นมาเพิ่ม จนหนี้สินล้นตัว มีไม่น้อยถึงกับต้องเอาเงินสวัสดิการที่จะเก็บไว้ใช้ในวันหน้ามาใช้ก่อน ถึงคราที่ชีวิตต้องเผชิญกับวิกฤตเข้าจริงๆ กลายเป็นผู้ที่ขาดที่พึ่งไร้ทิศทางเดินยิ่งกว่าคนไม่มีสวัสดิการแต่ไม่ประมาท รู้จักวางระบบในการดำเนินชีวิตเสียด้วยซ้ำไป ซึ่งภัยพิบัติเหล่านี้ ล้วนมีสาเหตุหลักมาจากกับดักหรือหลุมพรางของความคิดที่ว่า “มีสวัสดิการดี ชีวีปลอดภัย” นี้แหละคือ วัตถุสวัสดิการ มีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์
ด้วยเหตุนี้เองการดำเนินชีวิตให้ปลอดภัย จึงต้องอาศัยสวัสดิการอีกอย่างหนึ่งคือ ธรรมสวัสดิการ อันหมายถึงผลตอบแทนที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรมคอยประคับประคอง สวัสดิการประเภทนี้เป็นสิ่งที่เราต้องหยิบยื่นหรือสร้างให้กับตัวเองด้วยการนำธรรมะมาเป็นบาทวิถีในการดำเนินชีวิต ธรรมะที่ปฏิบัติจะให้สวัสดิการเป็นความปลอดภัย ความสุข และความสงบทั้งแก่ปัจเจกบุคคลและสังคมส่วนรวม ในส่วนปัจเจกบุคคลนั้น ผู้ที่ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท มีความละอายชั่วกลัวบาป ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วยเมตตาจิต ไม่คิดเบียดเบียนหรือเอารัดเปรียบใคร คอยช่วยเหลือเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นตามกำลังความสามารถด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่หวังผลตอบแทน ย่อมทำให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้คนรอบข้าง เมื่อคราวที่ต้องเผชิญกับวิกฤตชีวิตก็สามารถจะผ่านพ้นไปได้ทั้งด้วยสติปัญญาตนและจากการช่วยเหลือของผู้คนรอบข้าง ชีวิตย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นความสุขอันเกิดจากสวัสดิการแห่งธรรมคือการทำหน้าที่อย่างถูกต้องนั้นเอง
ในส่วนสังคมก็เช่นเดียวกัน สังคมใด หากสมาชิกในสังคมไม่ทิ้งวิถีธรรม กล่าวคือใช้วิถีธรรมนำวิถีชีวิต ด้วยการดำรงตนอยู่ในกฏศีลธรรมและกฏหมายบ้านเมืองอย่างมั่นคง ไม่ล่วงละเมิดเพราะความเห็นแก่ตัว มีจิตเสียสละ เห็นประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนตน สังคมนั้นก็จะบริบูรณ์ไปด้วยความสงบร่มเย็น ส่งผลให้ดำเนินชีวิตผู้คนในสังคมมีความปลอดภัยและสมบูรณ์พร้อมไปด้วยความสุขโดยถั้วนหน้า ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลแห่งความสุขที่ผลิบานมาจากพระธรรมในใจของทุกคน ที่เรียกว่า ธรรมสวัสดิการ อันหมายถึงผลประโยชน์ตอบแทนจากการปฏิบัติธรรม
พอถึงจุดนี้ย่อมทำให้เข้าใจถึงสาเหตุที่ มนุษย์ทั้งส่วนปัจเจกบุคคลและส่วนสังคม ไม่อาจเข้าถึงความสุขสมบูรณ์แห่งวิถีชีวิตได้ ก็เพราะมุ่งแสวงหาแต่วัตถุสวัสดิการ ละทิ้งธรรมสวัสดิการ โดยลืมคิดไปว่า ผลตอบแทนด้านวัตถุที่ขาดธรรมะคอยกำกับ สามารถดึงจิตให้เกิดความประมาท จนอาจสร้างภัยพิบัติแก่ชีวิตได้ และการที่คนไม่สนใจใฝ่หาธรรมสวัสดิการ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สนใจหรือไม่ให้ความสำคัญในการปฏิบัติธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นการยากที่ปัจเจกบุคคลจะพัฒนาตนจนเข้าถึงความสมบูรณ์แห่งชีวิต และการจะสร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งอุดมคติที่อุดมไปด้วยบรรยากาศแห่งความสุข ความสงบก็ไม่อาจเป็นไปได้เช่นกัน
สิ่งที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจก็คือ โดยเนื้อแท้แล้ว วัตถุสวัสดิการ มิใช่สิ่งเลวร้าย เพราะสามารถอำนวยประโยชน์อย่างมากมายแก่ผู้ที่ได้รับ เพียงแต่ในการเข้าไปเกี่ยวข้อง ต้องมีสติและปัญญาคอยกำกับ เพื่อไม่ให้ความสะดวกสบายที่ได้รับดึงเราลงสู่กับดักหรือหลุมพรางคือความประมาท เมื่อวัตถุสวัสดิการได้ถูกจัดสรรค์อย่างเหมาะสมด้วยธรรมะซึ่งมีสติและปัญญาเป็นตัวนำ ประโยชน์อย่างสูงสุดย่อมเกิดขึ้น คือปัจเจกบุคคลก็เข้าถึงความสุขที่สมบูรณ์ สังคมก็สงบสุขเพราะอุดมไปด้วยกลิ่นอายแห่งความเอื้ออาทรอันเกิดจากรากฐานคือการปฏิบัติธรรมของผู้คนในสังคม ทั้งหมดหนี้ เป็นประโยชน์อันเกิดจากการประสานสัมพันธ์ ระหว่างวัตถุสวัสดิการและธรรมสวัสดิการ
“ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ
ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
(พุทธวจนะ)
โดย..อคฺคธมฺโมภิกฺขุ
ธรรมวิถี คือวิถีแห่งธรรม อันผลิบานจากปรากฏการณ์แห่งวิถีชีวิตของชนในสังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น