++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

"แผนส่งเสริมสุขภาพเพื่อชุมชน" เภสัช มช.คว้ารางวัลชนะเลิศ

“บางทีคนแก่ไม่ค่อยรู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรค การเดินทางไปโรงพยาบาลก็ไม่สะดวก ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรอย่างไร พอมีนักศึกษามาแนะนำก็ดีมาก” นี่คือเสียงสะท้อนของแม่อุ้ยคนหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรม “โครงการส่งเสริมสุขภาพชุมชนบ้านสันเหนือ หมู่ 6 ” เป็นความสำเร็จของนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนนำไปสู่การคว้ารางวัลชนะเลิศ แผนการรณรงค์ด้านสุขภาพเพื่อสังคมโดยสมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย)

โครงการส่งเสริมสุขภาพชุมชนบ้านสันเหนือ หมู่ 6 อาสาริเริ่มโดยนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย นศ.ภ.ฝนทิวา สุยะใหญ่ และทีมจำนวน 10 คนโดยมี ผศ.ภญ.ดุจฤดี ชินวงศ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการประกวดแผนการรณรงค์ด้านสุขภาพ เพื่อสังคมครั้งที่ 1 ประจำปี 2554 จุดเด่นของโครงการคือ การทำงานชุมชนแบบมีส่วนร่วม, การวางแผนงานอย่างเป็นระบบ, การใช้ศักยภาพของเภสัชกรอย่างสอดคล้องเหมาะสม, เป็นแผนงานที่ตรงกับความต้องการของชุมชนและด้วยการที่เป็นแผนงานแบบมีส่วนร่วม ก็จะทำให้ชุมชนสามารถพัฒนาแผนงานต่อไปด้วยตนเองในชุมชน

โครงการส่งเสริมสุขภาพชุมชนบ้านสันเหนือ หมู่ 6 ต.สันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ใช้เวลาดำเนินงาน 4 เดือน โดยเริ่มจากแนวคิดการศึกษาชุมชนกับการพัฒนาบทบาทของเภสัชกร จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวคิดว่า เภสัชกร ไม่ใช่แค่การดูแล ให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ยาในประชาชน แต่ยังสามารถสร้างกลวิธีดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนช่วยกันคิดช่วยกันทำ
จากการศึกษาชุมชนพบว่า บ้านสันเหนือ หมู่ 6 อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนมีลักษณะเป็นชุมชนกึ่งเมือง กึ่งชนบท ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว การดูแลสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยชาวบ้านมักพึ่งพาบุคลากรทางสาธารณสุข ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการบำนาญ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของหมู่บ้าน และชุมชนมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ป่วยด้วยโรคเรื้องรัง

ด้วยเหตุนี้ทีมนักศึกษาจึงเห็นว่า หากสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยการเพิ่มเติมความรู้ด้านสุขภาพ จะนำไปสู่การมีสุขภาพที่แข็งแรงอย่างง่ายๆโดยเริ่มต้นจากที่บ้าน ย่อมจะส่งผลต่อสุขภาพที่ดีขึ้นได้ในระยะยาว จึงได้พัฒนาแผนรณรงค์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยกระบวนการประชาคมหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านแสดงความคิดเห็นต่อความต้องการทางสุขภาพอย่างแท้จริง เกิดความตระหนักและเห็นประโยชน์ของแผนงานสร้างสุขภาพของทีมนักศึกษา

นักศึกษาและชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาแผนงาน อันประกอบด้วย การตรวจสุขภาพและการวัดระดับสารพิษในเลือด,การให้คำแนะนำเรื่องยา,ความรู้ด้านสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐาน , การให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ เช่นสาธิตการรำเต้าเต๋อและการรำไม้พลอง ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกับ ชมรมผู้สูงอายุ, เครือข่าย อสม.ในพื้นที่, กองทุนหมู่บ้าน, รพ.สต.บ้านตลาด , โรงพยาบาลสันกำแพงและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่. ซึ่งแต่ละกิจกรรมได้รับความสนใจจากชุมชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการให้คำแนะนำในการใช้ยาและดูแลสุขภาพซึ่งมีทั้งการตั้งโต๊ะให้คำปรึกษาให้กับผู้ป่วยแต่ละบุคคล

ทั้งนี้ทีมนักศึกษาได้สรุปบทเรียนว่า “ทำให้พวกเราได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างในชุมชน เช่น วิถีชีวิตของคนในชุมชนสัมพันธ์กับโรคต่างๆที่เกิดขึ้น ปัญหาและสาเหตุที่แท้จริงของโรค ซึ่งจะสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานในอนาคตได้โดยเฉพาะการวิเคราะห์สภาวะโรคของผู้ป่วยว่า การที่จะรักษาผู้ป่วย ให้มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นนอกจากจะมองในเรื่องของยาแล้ว ควรมองให้ลึกถึงสภาพจิตใจและสังคมของผู้ป่วยด้วยเพราะนั่นอาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้การรักษาผู้ป่วยรายนั้นไม่มีประสิทธิภาพก็เป็นได้ ซึ่งในฐานะที่เราเป็นบุคลากรทางการแพทย์การที่เราได้รับทราบมุมมองของผู้ป่วยในหลายๆด้านย่อมจะเป็นผลดีกว่าการมองแค่มุมมองด้านยาเพียงอย่างเดียว”

“เมื่อเราเข้าไปในชุมชน ไปทักทายและพูดคุย การปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ก็ช่วยฟื้นฟูและเป็นกำลังใจให้ กันและกัน ถือเป็นหัวใจของกิจกรรม ทำให้นักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้ โดยที่ชุมชนไม่เกิดการปิดกั้นหรือมองเพียงแค่เราเป็นคนนอก ส่งผลดีอย่างมากทั้งต่อนักศึกษาและประชาชนในการขยายบทบาทของเภสัชกรว่าไม่ได้มีเพียงหน้าที่ในการดูแลด้านยาในห้องยาหรืออยู่แค่ร้านยาเท่านั้น แต่เรายังสามารถทำประโยชน์ต่อสังคมได้มากกว่าในมุมมองที่สังคมมองเรา”

การใช้เวลาหลายเดือนติดต่อกัน ทำให้การเรียนรู้ของนักศึกษามีการพัฒนาและสามารถร่วมคิดกับชุมชนได้อย่างกลมกลืน สามารถผสมผสานความรู้ทักษะทางบริบาลเภสัชกรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ นอกจากนี้กระบวนการทำงาน การแบ่งหน้าที่และส่งเสริมบทบาทกันและกันของนักศึกษา ทำให้แผนงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นักศึกษาเกิดความภาคภูมิใจในงาน ก่อให้เกิดกำลังใจกลับมาสู่นักศึกษาในการพัฒนาตนเองเป็นเภสัชกรที่ดีในอนาคต

“สุดท้ายนี้ต้องขอกราบขอบพระคุณประชาชนทุกคนในชุมชนบ้านสันเหนือ หมู่ 6 ทุกท่าน เพราะทุกท่านเปรียบเสมือนอาจารย์ที่ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ชีวิต ความเป็นอยู่ที่แท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของจริงที่ทำให้นักศึกษาได้เผชิญและฝึกฝน พัฒนาความคิด พัฒนาตนเอง ให้ก้าวออกไปจากจุดที่เป็นเพียงแค่นักศึกษาเภสัชศาสตร์ที่เรียนรู้อยู่แค่ตำราเรียน การลงชุมชนในครั้งนี้ทำให้นักศึกษาได้สิ่งที่มากกว่าความรู้ ก็คือความรัก ความเมตตาจากทุกคน” ผศ.ภญ.ดุจฤดี กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น