‘ทรัพยากรในโลกมีเพียงพอต่อความจำเป็นของคนทั้งโลก แต่ไม่เพียงพอสำหรับคนโลภคนเดียว’ (Earth provides enough to satisfy every man's need, but not every man's greed.) อมตวาจาท่านมหาตมะ คานธีถือเป็นสัจจะสำหรับประเทศทุนนิยมทั่วโลก รวมถึงไทยที่การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม แหลมคมเข้มข้นจนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนร่ำรวยกับยากจนข้นแค้นที่แทบจะสูงสุดในโลกเพราะคนกลุ่มหลังเข้าไม่ถึงหรือเข้าถึง ‘ทรัพยากรทั้ง 4 มิติ’ ได้ไม่เท่าเทียมกัน
ความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างการจัดสรรอำนาจที่กีดกันกดทับประชาชนจำนวนมากไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรไม่เพียงปรากฏชัดผ่านการจัดสรรงบประมาณอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างเมืองกับชนบท แต่ยังรวมถึงการกำหนดนโยบายและมาตรการของรัฐที่ลดทอนศักภาพของคนและพื้นที่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐส่วนกลางที่นอกจากทำลายแบบแผนการจัดการน้ำที่หลากหลายตามระบบนิเวศ และวัฒนธรรมอย่างเหมืองฝายทดน้ำจากลำห้วยก่อนระบายลงแปลงนาของภาคเหนือ ฝายดินและทำนบทดน้ำเข้านาของภาคอีสาน การขุดคลองเชื่อมโยงน้ำเข้าพื้นที่ปลูกข้าวของภาคกลาง ทว่ายังสั่งสมความแตกแยกขัดแย้งทางสังคมจนแทบจะสมานเยียวยาไม่ได้ในหลายโครงการรัฐ
ดังกรณีเขื่อนสิรินธร เขื่อนน้ำอูน เขื่อนภูมิพล เขื่อนปากมูล เขื่อนในโครงการโขงชีมูล และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอีกมากในรอบกว่าครึ่งศตวรรษที่ยังประโยชน์คนกลุ่มหนึ่ง แต่นำความสูญเสียสู่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนมาก เพราะทั้งที่ดินทำกิน แหล่งความมั่นคงทางอาหาร วิถีชีวิตสอดคล้องธรรมชาติ จนถึงสายใยครอบครัวล้วนมลายหายไปในสายน้ำ หลายชีวิตกล้ำกลืนกับชะตากรรมเลือกไม่ได้ ไม่ต่างจากยายไฮ ขันจันทา ที่สิ้นที่ดินทำกินกว่าสามทศวรรษหลังสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าแม้จะกล้าต่อกรกับรัฐคัดค้านการก่อสร้างและเรียกร้องกับรัฐบาลนับสิบหลังอ่างสร้างเสร็จน้ำท่วมมิดนาไปแล้ว รวมถึงเกษตรกรและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในหลากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบร้าวลึกจากเขื่อนของรัฐแต่ไม่ได้ออกมาส่งเสียง (voice) ด้วยตระหนักว่าตนเองเป็นเพียงเสียงที่ไร้เสียง (voiceless) เพราะถูกทำให้เป็นอื่น (others) กับการพัฒนาผ่านการผูกขาดความรู้ของรัฐในการจัดการน้ำตามหลักชลศาสาตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์
บทบาท ‘ผู้เสียสละ’ ยังเกิดได้ในสถานการณ์น้ำท่วมที่รัฐเลือกเบนน้ำเข้าท่วมเรือกสวนไร่นาของเกษตรกรภาคกลางเพื่อป้องกันพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรม ขณะที่ฝนแล้งเกษตกรก็ต้องงดปลูกข้าวเพราะน้ำมีไว้ให้เมืองและอุตสาหกรรม หรือกรณีภาคตะวันออกน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรก็ถูกขายให้นิคมอุตสาหกรรมในราคาแพงกว่าเพราะรัฐเลือกรายได้จากอุตสาหกรรมหนือความอยู่รอดเกษตรกร ตลอดจนการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองเพื่อป้อนทำน้ำประปาสำหรับกรุงเทพฯ ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนกลาง
การแย่งชิงทรัพยากรน้ำที่มีรัฐเป็นผู้จัดหาบำรุงบำเรอเสบียงกรังฝั่งคนร่ำรวยและละโมภจึงเป็นสงครามยืดเยื้อ ที่เมื่อใดฝ่ายพ่ายแพ้เพราะถูกกีดกันจากการเข้าถึงทรัพยากรส่งเสียง (voice) แสดงความคับข้องขุ่นเคืองจากการถูกละเมิดสิทธิจนสูญเสียอัตลักษณ์ พลัดถิ่นที่อยู่ ครอบครัวล่มสลาย และสูญสิ้นอาชีพ ก็จะถูกประทับตราเป็นพวกขัดขวางการพัฒนาประเทศ ไม่ก็ถูกปรามาสว่าเห็นแก่ตัวไปแทนที่ หรือไม่ก็ดิสเครดิตร้ายแรงรับเงินต่างชาติเคลื่อนไหวคัดค้าน กระทั่งเสียงที่ตะโกนก้องกลับกลายเป็น ‘เสียงที่ถูกมองข้าม’ (voiceless) โดยมี ‘ศูนย์กลาง’ ทำหน้าที่เก็บกด ปิดกั้น และกดทับเสียงที่แตกต่างนั้นไว้
นัยนี้ การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและเมืองตามนโยบายเศรษฐกิจรัฐเมื่อผนวกกับการด้อยประสิทธิภาพของการจัดการน้ำ ทั้งแง่กลไกควบคุมผลกระทบจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการปกป้องสมดุลธรรมชาติจึงไม่เพียงผลักไสให้คนปลายอ้อปลายแขมเป็นผู้เสียสละที่ได้รับการชดเชยเยียวยาล่าช้า ไม่คุ้มค่า หรือไม่ได้รับเลยเท่านั้น ทว่ายังทำให้น้ำท่วมและภัยแล้งเป็นพิบัติภัยธรรมชาติที่แทบป้องกันไม่ได้ด้วย ดังสถานการณ์น้ำท่วมลุ่มน้ำชี มูล และเจ้าพระยาปลายปีที่แล้วที่รุนแรงมากแม้รัฐจะมีเขื่อนขนาดใหญ่เป็นเครื่องมือป้องกัน หรือหมดทางเลือกในการพัฒนาพลังงานที่เหมาะสมกว่าจากการสูญงบประมาณมหาศาลไปในความไร้ประสิทธิภาพ เช่น ระบบชลประทานของเขื่อนในลุ่มน้ำมูลที่มีประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 20-30 และสถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าก็มีประสิทธิภาพกว่าร้อยละ 10 เท่านั้น รวมทั้งโครงการน้ำระบบท่อกว่า 10 โครงการ งบประมาณกว่า 800 ล้านบาทก็ล้มเหลวสิ้นเชิง
เช่นกันกับการแตกแยกระหว่างชุมชน คนต้นน้ำกับปลายน้ำ คนน้ำจืดกับคนน้ำกร่อยน้ำเค็มในเขตนิเวศ 3 น้ำ ที่ปะทุจุดเดือดหลายครั้งก็มาจากการจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดกลไกการมีส่วนร่วม
ดังนั้นหนึ่งข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เพื่อคลี่คลาย ‘วิกฤตแย่งชิงทรัพยากน้ำ’ จึงมุ่งสลายอำนาจรวมศูนย์ด้วยการสร้างเสริมอำนาจคนชายขอบข้นแค้นผ่านกระบวนการกำหนดนโยบายการจัดการน้ำขนาดเล็กที่ชุมชนมีส่วนร่วม เป็นธรรมและเท่าเทียม โดยกำหนดกฎหมายคุ้มครองพื้นที่ลุ่มน้ำไม่ให้ถูกบุกรุกจากโครงการรัฐและทุนที่มีการใช้น้ำและผันน้ำในลุ่มน้ำเกินกว่าทรัพยากรและศักยภาพ พร้อมๆ กับทบทวนโครงการพัฒนาแหล่งนํ้าขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนบนฐานคิดของการเคารพสิทธิชุมชน เช่น ระบบโครงข่ายนํ้า (Water grid) และโครงการพลังงานไฟฟ้า (Power Grid) ที่ต้องมีการวิเคราะห์ HIA, EIA และ SEA ที่โปร่งใสเชื่อถือได้
ไม่เท่านั้นยังต้องปฏิรูปการจัดการปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งอย่างยั่งยืนโดยกำหนดนโยบายการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่เหมาะสมกับระบบเกษตร ภูมิปัญญา และศักยภาพการผลิตของชุมชนที่ไม่นำภาระมาให้ในอนาคต ขณะเดียวกันก็ธำรงความสมดุลระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยในฐานะฐานหลักเกษตรกรรมที่ผลิตเพื่อบริโภคและความมั่นคงทางอาหาร
เหตุนี้การปรับสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างรัฐ ทุน และสังคมในสมรภูมิสงครามแย่งชิงทรัพยากรน้ำที่มีความโลภและบริโภคของอุตสาหกรรมและเมืองบดขยี้เสียงที่แตกต่างจึงต้องกล้า ‘ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ’ ใหม่ที่ไม่ใช่แค่กำหนดนโยบายและกฎหมายให้เป็นปากเสียงแก่ประชาชนที่ไม่มีเสียงหรือเสียงถูกมองข้ามเพราะถูกทำให้เป็นอื่นกับการพัฒนากระแสหลัก หากยังต้องร่วมกันผลักดันให้เสียงคนปลายอ้อปลายแขมเป็นปฏิบัติการด้านคุณค่า (value) และกระบวนการ (process) ที่นำไปสู่การเมืองและเศรษฐกิจที่ ‘รับผิดชอบต่อความเป็นอื่น’ ด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น