พระไพศาล วิสาโล - Phra Paisal Visalo
"กินอาหารบำรุงใจ" (mindful eating)
เช่นเดียวกับการหายใจ การกินเป็นประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ ประโยชน์นั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าเรากินอะไร หรือเท่าไร หากยังขึ้นอยู่กับว่าเรากินอย่างไรด้วย
การกินที่ถูกต้องนอกจากจะเป็นการบำรุงร่างกายแล้ว ยังสามารถบำรุงใจได้ด้วย การกินที่ถูกต้อง นอกจากจะหมายถึงการกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว ยังรวมถึงการกินอย่างมีสติ กล่าวคือรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น ไม่ปล่อยใจลอยไปกับความคิดต่าง ๆ จนลืมไปว่ากินอะไรไปแล้วบ้าง หรือกำลังกินอะไรอยู่ ขณะที่กิน ใจก็อยู่กับกินหรือการเคี้ยวอาหาร แต่ไม่ถึงกับเพ่งหรือจดจ่อกับการเคี้ยว จนไม่รู้ว่ากำลังตักอะไรเข้าปากขณะเดียวกันก็ไม่หงุดหงิดกับใจที่ชอบออกนอกตัว เพราะเป็นธรรมดาของใจที่ชอบฟุ้งโดยเฉพาะในยามนี้
ใช่แต่ความคิดเท่านั้นที่ทำให้เราขาดสติ อารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ก็ทำให้เราเผลอบ่อย ๆ โดยเฉพาะความเพลิดเพลินในรสชาติของอาหาร หลายคนกินเอา ๆ โดยไม่ทันเคี้ยวให้ละเอียดก็เพราะลืมตัวไปกับความเอร็ดอร่อยของอาหารนั่นเอง การกินอาหารอย่างมีสติไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธรสชาติของอาหาร แต่หมายความว่าเมื่ออาหารอร่อย ก็รู้ว่าอร่อย แต่ไม่เพลิดเพลินดื่มด่ำกับมันจนลืมตัว ยังคงกินด้วยความรู้ตัว เรียกว่ากินอย่างเป็น "นาย" ของอาหาร มิใช่เป็น "ทาส" ของอาหาร
ในทางตรงข้าม หากอาหารไม่อร่อย ไม่น่าดู ก็หาได้รังเกียจไม่ แม้จะมีความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้น ก็รู้ว่ามีอยู่ แต่ไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ จนกินด้วยความทุกข์
หากจำเป็นจะต้องคุยกับใคร ก็คุยอย่างมีสติ ไม่เพลินหรือเครียดกับการคุย จนไม่รู้ว่ากำลังกินอะไรหรือตักอะไรใส่ปาก แต่ถ้าไม่มีใครมาคุยด้วย ก็ไม่ควรหาอะไรอย่างอื่นมาทำขณะที่กำลังกินอาหาร เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ หรือคุยโทรศัพท์ การทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน แม้มุ่งหวังจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่อาจลงเอยด้วยการทำอะไรไม่ได้ดีสักอย่างเดียว ได้แต่ปริมาณ แต่ขาดคุณภาพ ที่สำคัญก็คือบั่นทอนจิตใจ ทำให้เป็นคนมีสมาธิหรือสติได้ยาก
การกินอย่างมีสติ จะช่วยให้เรากินอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ไม่กินมากเกินไปเพราะหลงในรสชาติ จนเกิดอันตรายแก่ร่างกาย ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เราเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่กินตามใจปากทั้ง ๆ ที่เป็นโทษ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เรากินอย่างมีสติได้ก็คือ การตระหนักถึงจุดมุ่งหมายที่ถูกต้องของการกินอาหาร กล่าวคือ กินเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี สามารถทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นได้ เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้งอกงามสูงส่งขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับการกินเพื่อรสชาติหรือเสริมทรง เพื่อหน้าตาหรืออวดมั่งอวดมี การกินในลักษณะหลังนอกจากจะเป็นโทษแก่ร่างกาย สิ้นเปลืองเงินทองแล้ว ยังเป็นการบ่มเพาะกิเลสหรือความหลงให้แก่จิตใจ ซึ่งชักนำความทุกข์มาให้ในที่สุด
ด้วยเหตุนี้ก่อนกินอาหาร เราจึงควรเตือนใจอยู่เสมอว่า กินเพื่ออะไร หรือกินอย่างไรจึงจะทำให้ชีวิตเจริญงอกงาม ขณะเดียวกันก็พึงระลึกถึงบุญคุณของผู้ที่ทำให้เรามีอาหารกินในวันนี้ รวมถึงสรรพชีวิตที่กลายมาเป็นอาหารของเรา การใช้ชีวิตไปในทางที่เป็นกุศล หมั่นทำความดีอยู่เสมอ เป็นวิธีหนึ่งที่จะตอบแทนบุญคุณของเขาเหล่านั้นได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น