++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตเพื่อสร้างระบบเกษตรที่เป็นธรรม โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ความไม่เป็นธรรมนำวิกฤตการณ์ขัดแย้งรุนแรงสู่สังคมไทย ไม่เว้นแม้แต่ในระบบเกษตรที่เป็นรากฐานความมั่นคงของประชาชนจำนวนมาก เพราะการมุ่งเพิ่มผลผลิตตามวิถีปฏิวัติเขียวนอกจากจะลดทอนศักยภาพและนวัตกรรมทางการเกษตรที่ถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่นของเกษตรกรรายย่อยโดยกระบวนทัศน์การพัฒนาที่ใช้เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นโยบาย และกฎหมายเป็นเครื่องมือแล้ว ยังกีดกันเกษตรกรออกจากสิทธิในการเข้าถึงและครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพราะปัจจัยการผลิตนานัปการถูกผูกขาดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มทุนที่มี ‘เป้าหมายเป็นกำไรสูงสุด’ (maximize profit)

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการสูงขึ้นของตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรที่ถูกควบคุมโดยทุนขนาดใหญ่จึงไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรรายย่อยจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือมีรายได้สูงขึ้นตามไปด้วยแต่อย่างใด ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าแม้แต่ในช่วงราคาอาหารโลกสูงเป็นประวัติการณ์ดังปีที่ผ่านมา และในอนาคตจากการคาดการณ์ของธนาคารโลก เกษตรกรก็ไม่สามารถสลัดความยากจนข้นแค้นเป็นสุขสบายได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้ ‘ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตเพื่อสร้างระบบเกษตรที่เป็นธรรม’

ทั้งนี้ด้วยในข้อเท็จจริงขื่นคาวพบว่าอาชีพเกษตรกรสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เกษตรกรมีรายได้น้อยและขาดโอกาสเพิ่มรายได้ ในทางกลับกันก็มีหนี้สินสูงขึ้นมากจากการพึ่งพิงปัจจัยการผลิตตั้งแต่ที่ดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ ภายใต้กฎหมายและนโยบายรัฐที่เอื้อประโยชน์บรรดาบรรษัทเกษตรและอาหารยักษ์ใหญ่ต่างๆ ลำพังเพียงความกล้าหาญและรับผิดชอบของเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การผลิตของตนเองจากเกษตรเคมีเข้มข้นเป็นเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรลดต้นทุนเพื่อลดการพึ่งพิงไม่เพียงพอ

เพราะถึงที่สุดแล้วราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นจากการกำหนดนโยบายประชานิยมของรัฐมิได้คำนวณต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นของเกษตรกร หรือมีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรรายย่อยแต่อย่างใด โดยเฉพาะนโยบายด้านราคา (price policy) ในรูปแบบของการรับจำนำที่กำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดมากนั้นไม่เพียงจะบิดเบือนกลไกตลาดอย่างรุนแรง แต่ยังเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันมหาศาลจากกระบวนการรับจำนำด้วย มิหนำซ้ำยังทำลายแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนวิถีการผลิตของเกษตรกรที่ต้องการ ‘ปลดแอก’ ตนเองออกจากหนี้สินและอาณัติอิทธิพลทุนโดยเลือกวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ และเกษตรลดต้นทุนที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมีเกษตรที่อันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง carbofuran, dicrotophos, EPN และ methomyl ที่ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและไม่พัฒนาต่าง ban สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิดนี้เพื่อปกป้องสุขภาวะประชาชนและสังคม

สอดคล้องกับข้อเสนอคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ในส่วนของการปฏิรูประบบการควบคุมสารเคมีเกษตรเพื่อสร้างระบบเกษตรที่เป็นธรรม ทั้งยังเป็นส่วนผลักดันสังคมไทยโดยรวมให้มีความเป็นธรรมกับประชาชนจำนวนมาก ไม่เฉพาะเกษตรกรรายย่อย แต่รวมถึงผู้บริโภคที่นอกจากจะได้บริโภคพืชผักปลอดสารพิษเหมือนประชากรกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) แล้ว ประเทศชาติยังไม่ต้องสูญเสียต้นทุนทางสังคม (social cost) จากการสั่งสมสารพิษในสิ่งแวดล้อมจนผืนแผ่นดินไทยกลายเป็น ‘แผ่นดินอาบยาพิษ’

ดังนั้นข้อเสนอการปฏิรูประบบเกษตรเพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมจากการประชุมสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 1 และครั้งต่อไปในปี 2555 จึงมุ่งสลายรื้อถอนโครงสร้างความไม่เป็นธรรมในกระบวนการผลิตและระบบตลาดที่ไม่ใช่แค่แก้ไขวิกฤตการณ์สารเคมีเกษตรเพื่อสร้างความปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อม แต่ยังพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเพื่อที่เกษตรกรจะเป็นอิสรภาพจากการครอบงำของทุนด้วยการบริหารจัดการลดต้นทุนและความเสี่ยงในการผลิต ซึ่งรวมถึงการเลิกใช้สารเคมีเกษตรร้ายแรง 4 ชนิดข้างต้นที่มีราคาสูงและผลตกค้างยาวนานด้วยการใช้แนวทาง ‘ชีววิถี’

การกลับมามีอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เมื่อผนวกกับพลังการต่อรองที่เพิ่มสูงขึ้นจากการรวมกลุ่มเกษตรกร และการกระตือรืนร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ด้านต่างๆ ตั้งแต่การผลิต การตลาด การแปรรูป และการส่งออก ตลอดจนเพิ่มเติมความรู้เท่าทันเหลี่ยมมุมธุรกิจ การบังคับใช้กฎหมาย และร่วมผลักดันนโยบายสำคัญๆ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในระดับพื้นที่และข้ามพื้นที่ จะทำให้พึ่งตนเองได้ ลดต้นทุนการผลิตได้ กระทั่งสามารถอยู่รอดได้ในสภาวการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวน ดังหลายพื้นที่ที่ลดต้นทุนการผลิตจนเป็นต้นแบบที่ดี (best practice)

รวมทั้งยังต้องปฏิรูปนโยบายราคาโดยลดการแทรกแซงกลไกตลาดโดยรัฐเพื่อไม่ให้บิดเบือนราคาจนทำลายตลาดโดยรวม ดังกรณีการแทรกแซงราคาข้าวด้วยนโยบายประชานิยม (populist) ที่นอกจากจะสะเทือนทั้งห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่เกษตรกรจนถึงผู้ส่งออกและผู้บริโภค จนอุตสาหกรรมข้าวไทยถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่มีอดีตเป็นบทเรียนแล้วก็ตามที และที่สำคัญยังทำลายตลาดทางเลือกที่จะเกิดขึ้นเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่จำเป็นหรือต้องการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเพราะรัฐยังคงอุดหนุนวิถีเกษตรเคมีแบบเดิมอยู่ จนตลาดทางเลือกทั้งตลาดสีเขียว ตลาดอินทรีย์ หรือตลาดที่เป็นธรรม (fair trade) ที่เกษตรกรมีอำนาจต่อรองมากกว่าในระบบตลาดทั่วไปไม่เกิดขึ้น เพราะกลไกในการส่งเสริมสูญสิ้นไป

ไม่เท่านั้นยังต้องเร่งปฏิรูปปัญหาหนี้สินเกษตรกร และปรับความสัมพันธ์ของเกษตรพันธสัญญา (contract farming) ให้เป็นธรรมและมีความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างบรรษัทกับเกษตรกร

การยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดปัจจุบันจากการแถลงต่อรัฐสภาโดยการออกบัตรเครดิตเกษตรกร และกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดมากๆ จึงไม่สามารถสร้างระบบเกษตรที่เป็นธรรมขึ้นได้ เพราะไม่ได้รื้อถอนสั่นคลอนโครงสร้างความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำ หรือนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิตแต่อย่างใด

แต่ในนโยบายระยะยาว 4 ปีที่มุ่งเสริมสร้างรากฐานความเข้มแข็งครัวเรือนเกษตรกรโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาระบบการผลิตที่เป็นขั้นตอน โดยมีการวางแผนการผลิตและการจำหน่ายล่วงหน้าที่แม่นยำ และถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยไปสู่เกษตรกรเพื่อให้ได้ใช้พันธุ์ดี มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ จะทำให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นได้ในระบบเกษตร เพราะเกษตรกรพึ่งตนเองได้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น