++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นโยบาย....ที่ภาคใต้ไม่ปลื้ม โดย บรรจง นะแส

หวังเอาไว้ว่าในการแถลงนโยบายของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 นี้ จะได้นำเอาปัญหาของพี่น้องร่วมชาติมาเป็นตัวตั้ง แม้การประกาศนโยบายตอนหาเสียงของพรรคเพื่อไทยแทบจะไม่ได้หยิบยกเอาปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาในสังคมที่ดำรงอยู่ออกมาอย่างชัดๆไม่ว่าสาเหตุของปัญหาความอดอยากยากจน ปัญหาช่องว่างทางสังคมทั้งในแง่เศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม ปัญหาผลประโยชน์ของชาติโดยเฉพาะในเรื่องพลังงานที่ต่างชาติยึดกุมอยู่อย่างแน่นเหนียว ยกเว้นการโหมโฆษณาหว่านแจก ลดแลกแจกแถมเพื่อเอาใจผู้ด้อยโอกาส

....วันนี้ วันที่ท่านมีโอกาสในการบริหารบ้านเมือง ภายใต้กรอบกติกาของระบอบประชาธิปไตยท่านและพรรคเพื่อไทยมีโอกาสที่จะทำตามสิ่งที่ได้ประกาศไว้ แต่อยากจะบอกว่ามีหลายนโยบายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของท่านดำเนินไปในพื้นที่ภาคใต้ก่อนหน้านั้น บอกตรงๆ ว่าเราไม่ปลื้ม...

การใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย อย่างกรณีการปราบปรามยาเสพติด การดำเนินนโยบายโดยไม่เคารพในศักดิ์ศรีของผู้คนที่แตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม ไม่เคารพสิทธิของชุมชนอย่างกรณีโครงการโรงแยกก๊าซท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ กรณีกรือแซะ ตากใบ ยังเป็นบาดแผลลึกของสังคมภาคใต้และสังคมไทยที่ยังรักษาไม่หาย รวมไปถึงการยกแหล่งพลังงาน(น้ำมัน)ในแปลง G5/43 ชายฝั่งสงขลาให้กับบริษัทนิวคอสตอล ที่วันนี้ผู้คนก็ไม่กระจ่างว่าบริษัทแม่ของบริษัทดังกล่าวที่เกาะเคย์แมนนั้น ท่านทักษิณและบริวารมีส่วนเป็นเจ้าของด้วยหรือไม่?

ตอนที่อดีตนายกฯ ทักษิณมีอำนาจ ได้ดำเนินการให้บริษัทดูไบเวิลด์เข้ามาทำการศึกษาเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบาราและเชื่อมต่อด้วยถนน ทางรถไฟ ท่อน้ำมันไปสู่ฝั่งอ่าวไทยที่อำเภอจะนะนั้น คนสงขลา คนสตูลเขามีคำถามว่าทำไปเพื่อใคร รวมไปถึงการเตรียมขยายนิคมอุตสาหกรรมจากมาบตาพุดไปสู่ภาคใต้นั้น อยากบอกว่าพื้นที่ภาคใต้ไม่ใช่บ่อบำบัดน้ำเสีย ชายหาดและทะเลของเราไม่ใช่สถานที่ทิ้งขยะและของเสียของนิคมอุตสาหกรรม และคนใต้ก็ไม่ได้หูหนวกตาบอดที่จะไม่รับรู้ว่าพี่น้องมาบตาพุดกำลังเผชิญหน้าอยู่กับอะไรบ้าง

นอกจากนั้นเรายังพบว่ามีแผนการเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ท่าศาลา ที่หัวไทร แผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ชุมพร เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนนิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมโรงงานเหล็กต้นน้ำที่ทุ่งระโนด ฯลฯ บอกตรงๆ ว่า...เราไม่ปลื้ม

เราไม่ปลื้มกับแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่มีสาระสำคัญเพียงเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทั้งอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมีเป็นหลัก เพียงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง และกำเนิดโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle Development Project (IMT-GT) เพียงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ พัฒนาท่าเรือน้ำลึกเป็น Gateway การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งพบว่าในปี 2551 มีการศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 3 พื้นที่ คือ นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 2 พื้นที่ที่ตำบลทุ่งปรัง อ.สิชล และในเขตพื้นที่ตำบลกลาย อ.ท่าศาลา

นอกจากนั้นยังมีการวางแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมทางเกษตร 1 พื้นที่ ในตำบลแก้วเสน อ.นาบอน ตามมาด้วยในปีเดียวกันก็มีการศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างสะพานเศรษฐกิจ (Land bridge) ระหว่างพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งมีอยู่หลายเส้นทางเลือก แต่ก็มีการสรุปว่าเส้นทางที่เหมาะสม คือ เส้นทางระหว่างตำบลปากราบา อ.ละงู จ.สตูล กับตำบลนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา และในปี 2553 การศึกษาเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งเกาะเภตราเท่านั้น เราอยากให้ท่านพิจารณาทบทวนยกเลิก

เราไม่ปลื้มกับทิศทางการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน การพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ว่าอากาศ ทะเล ผืนแผ่นดิน ป่าไม้ หรือการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงคนในรุ่นต่อๆ ไปของสังคม เราไม่ปลื้มกับเอาตัวชี้วัดของการพัฒนาที่มีตัววัดแค่รายได้หรือ GDP เท่านั้น คนธรรมดาพูดเช่นนี้ท่านนายกฯ อาจจะไม่เห็นด้วย แต่คุณโจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลปี 2544 ท่านอาจจะยอมฟังบ้าง ท่านกล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “เอเชีย:เส้นทางสู่เศรษฐกิจใหม่” จัดโดยเดอะเนชั่น และเอเชีย นิวส์ เน็ตเวิร์ค ที่ รร.พลาซ่า แอทธินี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2552 ว่า

“สังคมที่ผ่านมามองแต่เรื่อง GDP ประเด็นนี้ขอให้ทำความเข้าใจใหม่ว่าเป็นสิ่งไม่ดีเลยที่ใช้ GDP ประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่ง GDP นี้ถือเป็นตัวชี้วัดผลประกอบการกับการทำงานที่แย่ ผมมอง GDP ว่าไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ทำให้เห็นถึงเศรษฐกิจมีความผาสุกอยู่ดีกินดี และไม่ใช่ตัวช่วยให้สังคมโดยรวมเป็นวงกว้างมีความสุขได้” ก็ได้แต่หวังว่าการแถลงนโยบายของท่านนายกฯ ในครั้งนี้จะไม่ยกเอา GDP สร้างความฝันให้กับสังคม มาอ้างเพื่อดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้นะครับ

เรารู้ว่าการแถลงนโยบายของรัฐบาลเป็นแค่พิธีกรรมหนึ่งของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย (แค่เปลือกๆ) ของประเทศนี้มายาวนาน บทเรียนของประเทศ ของผู้คนในสังคม ต่างตระหนักดีถึงผลพวงหลังจากนี้ว่า ทุกพรรคการเมืองล้วนแปรเปลี่ยนไปสู่การหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง ทั้งตัวของนักการเมือง กลุ่มทุนที่สนับสนุนนักการเมืองและพรรคการเมืองทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย ภาคใต้ของเราอ่อนไหวและเปราะบางเพราะพื้นที่ของภูมิภาคแนบอิงอยู่กับฐานทรัพยากรที่เป็นชายฝั่ง ภูเขา การนำเอาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ลงมาจะส่งผลกระทบง่ายและรุนแรง เราจะไม่ยินยอมให้รัฐบาลลงมาทำอะไรกับพื้นที่ภาคใต้ตามใจชอบ ตามอำเภอใจอีกต่อไปแน่นอน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น