++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การใช้เงินสำรองของประเทศกับความล่มจม โดย ไสว บุญมา

ทันทีที่รัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศก็มีแนวคิดที่จะนำเงินสำรองของชาติออกมาใช้โดยเฉพาะในด้านพลังงาน พร้อมๆ กันนั้นก็เริ่มมีบทความตามหน้าสื่อที่สรุปแบบซื่อบื้อว่าอาร์เจนตินาไม่เคยมีปัญหาจากการใช้นโยบายประชานิยม เรื่องเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กันหรือไม่หรือเกิดขึ้นโดยบังเอิญยากที่จะพิสูจน์ ในฐานะที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์การพัฒนาของอาร์เจนติมาพอควร ขอทบทวนคร่าวๆ ว่าอะไรเกิดขึ้นในประเทศนั้นและอะไรอาจเกิดกับเมืองไทยหากนักการเมืองเข้าไปจุ้นจ้านในการบริหารเงินสำรองของชาติ

อาร์เจนตินาเริ่มใช้นโยบายประชานิยมเมื่อปี 2459 อันเป็นตอนกลางสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงนั้นอาร์เจนตินาพัฒนาไปมากจนมีรายได้ไม่ต่างกับบรรดาประเทศก้าวหน้าในยุโรป เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนี อาร์เจนตินาแตกต่างกับประเทศเหล่านั้นในด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ นั่นคือ รายได้ส่วนใหญ่เกิดจากการผลิตสินค้าเกษตรส่งขายเนื่องจากมีที่ดินกว้างใหญ่ในภูมิอากาศอันเหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชไร่ ส่วนประเทศในยุโรปพัฒนาโดยอาศัยการอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรของอาร์เจนตินาที่ส่งออกไปขายจนทำให้อาร์เจนตินาร่ำรวยนั้นผลิตโดยชนชั้นเศรษฐีเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ มิใช่ผู้ถือครองที่ดินขนาดย่อมเช่นในเมืองไทย ชนชั้นเจ้าของที่ดินเหล่านั้นครอบงำการบริหารประเทศติดต่อกันเป็นเวลานานผ่านระบบการเลือกตั้ง ยังผลให้ชาวอาร์เจนตินาส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง

ในภาวะดังกล่าวมีนักการเมืองหัวใสเกิดขึ้นชื่อ ฮิโปลิโต อิริโกเยน เขามองทะลุว่าถ้าจะเอาชนะพวกเศรษฐีที่ดินในการเลือกตั้ง เขาจะต้องใช้นโยบายประชานิยมเพื่อเอาใจชาวอาร์เจนตินาส่วนใหญ่ที่เข้าไม่ถึงอำนาจด้วยการเสนอให้ของเปล่าต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม กลยุทธ์ของเขาได้ผล เขาชนะการเลือกตั้งในปี 2459 และเริ่มนโยบายให้ของเปล่าแก่ชาวอาร์เจนตินาทันที เขาได้รับความนิยมมากจากชาวอาร์เจนตินา แต่เขาไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2465 ได้เนื่องจากรัฐธรรมนูญห้ามมิให้ประธานาธิบดีสืบทอดอำนาจทันที พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งในปีนั้นพยายามยกเลิกนโยบายประชานิยมยังผลให้เป็นที่เกลียดชังของประชาชนผู้เสียประโยชน์ เมื่อถึงการเลือกตั้งปี 2471 ฮิโปลิโต อิริโกเยน ลงสมัครอีกและชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น แต่เขาอยู่ได้ไม่ครบ 6 ปีเพราะทหารยึดอำนาจหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่หลวงในช่วงหลังตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาล่มเมื่อปี 2472

หลังจากนั้นมา อาร์เจนตินาก็ปกครองผ่านการเลือกตั้งสลับกับเผด็จการทหารหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม เผด็จการทหารก็ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อเอาใจประชาชนซึ่งเสพติดนโยบายจำพวกให้ของเปล่านั้นอย่างรวดเร็ว ในภาวะเช่นนี้มีนายทหารคนหนี่งซึ่งมองการเมืองทะลุปรุโปร่งชื่อฮวน เปโรน เขาปูทางทุกอย่างในระหว่างที่เป็นทหารเพื่อนำไปสู่การเป็นประธานาธิบดี เขามีคู่คิดเป็นดาราหน้าตาดีและเป็นที่ชื่นชอบของชาวอาร์เจนตินา ต่อมาเป็นเธอที่รู้จักของชาวโลกตามชื่อเล่นของเธอซึ่งเป็นชื่อภาพยนตร์เรื่อง “เอวิตา”

ฮวน เปโรน ใช้นโยบายประชานิยมเข้าสู่อำนาจและมอมเมาชาวอาร์เจนตินาด้วยของเปล่าจนพวกเขาหลงใหลในขณะที่ไม่มีใครใส่ใจว่าเงินที่นำมาปิดงบประมาณขาดดุลจำนวนมากนั้นมาจากไหน ตอนที่เขาเข้าบริหารประเทศ อาร์เจนตินามีเงินสำรองจำนวนมหาศาล นั่นคือ มากกว่า 2 เท่าของเงินสำรองของประเทศละตินอเมริกาทั้งหมดรวมกัน ในเวลาเพียงไม่นานหลังประธานาธิบดีสั่งให้นำมาใช้เงินสำรองนั้นก็หมด เมื่อเงินสำรองหมด อาร์เจนตินาก็หายืมจากต่างประเทศ ยืมจนกระทั่งไม่มีใครให้ยืมอีกต่อไปก็เริ่มพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ชนิดทีละหลายเล่มเกวียน เพียงไม่นานอาร์เจนตินาก็ประสบปัญหาเงินเฟ้อชนิดสินค้าขึ้นราคาเป็นรายวัน วิกฤตครั้งนั้นพาอาร์เจนตินาไปสู่ความล้มละลายในปี 2499 หรือ 40 ปีหลังวันที่เริ่มใช้นโยบายประชานิยม

จากนั้นมา อาร์เจนตินาก็พัฒนาแบบล้มลุกคลุกคลานและล้มละลายอีกหลายครั้ง รวมทั้งครั้งล่าสุดคือการชักดาบหนี้ต่างประเทศจำนวน 9.3 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อปี 2544 ตอนนี้อาร์เจนตินาอาจเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว แต่ผู้ที่สรุปว่าอาร์เจนตินาไม่เคยมีปัญหาเพราะประชานิยมคงไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง หากนั่งเทียนเขียนบทความตามใจชอบ หรือตามคำสั่งเพราะหวังอามิส

ทั้งหลายทั้งปวงนี้น่าจะชี้ให้เห็นว่าอะไรอาจเกิดขึ้นได้เมื่อนักการเมืองนำทุนสำรองของชาติออกมาใช้ ในฐานะที่เคยทำงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านธนาคารกลางในต่างประเทศเป็นเวลานาน ขอฝากไว้ด้วยว่าชื่อเสียงของธนาคารแห่งประเทศไทยเกือบถูกทำลายหลังนักการเมืองปลาไหลเข้าไปจุ้นจ้านในกิจการของธนาคารเมื่อตนเป็นรัฐมนตรีคลัง ถ้าตอนนี้มีนักการเมืองเข้าไปจุ้นจ้านอีก ไม่เฉพาะชื่อเสียงของธนาคารเท่านั้นที่จะถูกทำลาย หากจะเป็นเมืองไทยทั้งประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น