++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โถใครจะเชื่อ ว่าไทยผลิตน้ำมันเป็นอันดับที่ 33 ของโลกแล้ว! โดย ประสาท มีแต้ม

หลังจากได้รวบรวมความคิดและวิธีการนำเสนอแล้ว สิ่งแรกที่ผมนึกถึงคือเนื้อเพลงลูกทุ่งยอดนิยม “สามสิบยังแจ๋ว” ของ ยอดรัก สลักใจ ที่ว่า “โถใครจะเชื่อว่าแม่บุญเหลืออายุมากแล้ว สามสิบยังแจ๋ว แจ๋วเสียจนน่าจีบ”

ในที่นี้ก็คือว่า “โถใครจะเชื่อว่าไทยผลิตน้ำมันเป็นอันดับที่ 33 ของโลกแล้ว ใกล้เคียงกับประเทศเอกวาดอร์ ประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก”

ข้อมูลข้างต้นมาจากรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ” ของวุฒิสภาที่มี คุณรสนา โตสิตระกูล เป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาฯ

การส่งออกพลังงาน (ทั้งน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และคอนเดนเสท-ปิโตรเลียมเหลวที่ได้จากการเจาะก๊าซธรรมชาติ) ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงประมาณสิบปีมานี้ โดยที่ปี 2544 เป็นปีแรกที่เราเริ่มส่งออกน้ำมันดิบ และในอีก 3 ปีต่อมาเราก็เริ่มส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป สำหรับคอนเดนเสทนั้นมีการขนใส่เรือไปขายมาตั้งแต่เริ่มเจาะก๊าซในอ่าวไทยเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว

มูลค่าการส่งออกพลังงานในปี 2551 เท่ากับ 9,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยในขณะนั้นก็ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท (ตอนนั้น 33 บาทต่อดอลลาร์) ในขณะที่ประเทศเอกวาดอร์ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปก (กลุ่มที่มีสมาชิก 12 ประเทศ ซึ่งมีแหล่งน้ำมันดิบรวมกันเท่ากับ 79% ของโลก) มีการส่งออกพลังงานมากกว่าไทยเราเพียงนิดเดียวเท่านั้น

ถ้าพูดถึงการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เราถูกโฆษณาว่าจะ “โชติช่วงชัชวาล” ตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เอกสารของวุฒิสภาชิ้นนี้ระบุว่า ประเทศไทยเราผลิตก๊าซธรรมชาติได้เป็นอันดับที่ 27 ของโลก มากกว่า 2 ประเทศของสมาชิกกลุ่มโอเปก คือ ลิเบีย (ซึ่งสหรัฐอเมริกาเข้าไปแทรกแซงในสงคราม

กลางเหมือง) และคูเวต (ซึ่งสหรัฐอเมริกาหวงยิ่งนัก) เสียด้วยซ้ำ ถ้าเทียบกับมูลค่าการส่งออกข้าวหรือยางพารา (ในปี 2551) พบว่าเราส่งน้ำมันมากกว่าครับ

ผมถามจริงๆ นะครับว่า มีท่านผู้อ่านสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ได้ทราบความจริงเรื่องนี้มาก่อน ถ้าอย่างนั้นคงเห็นด้วยกับผมนะครับว่าเราต้องร้อง โถใครจะเชื่อ …

อย่างไรก็ตาม มูลค่าในการส่งออกพลังงานดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าเป็นพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศไทยทั้งหมด เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนสักนิดครับ ผมขออธิบายโดยย่อดังนี้ (1) มูลค่าพลังงานที่ส่งออก 90% เป็นน้ำมันสำเร็จรูป อีก 10% เป็นน้ำมันดิบที่ขุดในประเทศไทย (2) น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดิบจากการนำเข้า มีบางส่วนเป็นน้ำมันดิบที่ขุดในบ้านเราเอง

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ยอดการส่งออกพลังงานเป็นการนับรวมทั้งน้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้น้ำมันดิบทั้งจากการนำเข้าและจากการขุดในประเทศ รวมทั้งการส่งออกน้ำมันดิบที่เจาะจากประเทศไทยด้วย

ดังนั้น เมื่อพูดถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศ (ที่มีมูลค่าประมาณถึง 70% ของจีดีพี) แท้ที่จริงแล้วเป็นการส่งออกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากนำเข้า มูลค่าการส่งออกจึงไม่ได้สะท้อนความมั่งคั่งของคนในประเทศ เราจึงอย่าไปหลงดีใจกับตัวเลขหลอกๆ รวมทั้งแนวคิดลวงโลกเรื่องจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติด้วย

ถ้าเราอยากจะทราบว่า ประเทศไทยเราผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ (ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และใช้ในอุตสาหกรรมรวมทั้งรถยนต์) ว่ามีมูลค่าปีละเท่าใด ก็ต้องสืบค้น แต่เนื่องจากผมไม่ทราบข้อมูลจึงขอคิดย้อนกลับจากข้อมูลในตารางที่ 6.1-6 ของกระทรวงพลังงาน เรื่องรายได้ของรัฐบาลจากค่าภาคหลวง

พบว่าในปี 2553 รัฐบาลได้ค่าภาคหลวงจากกิจการปิโตรเลียมจำนวน 44,713 ล้านบาท ซึ่งค่าภาคหลวงหรือค่าสัมปทานนี้มีอัตราประมาณ 12.5% ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ทั้งหมด ดังนั้นเราสามารถคำนวณได้ว่า มูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากเขตประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 3.13 แสนล้านบาท

สิ่งที่เราสนใจก็คือ ผลผลิตปิโตรเลียมที่สะสมมานับล้านปีจากบรรพชนรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนมาถึงคนรุ่นเราที่มีมูลค่า 3.13 แสนล้านนั้น ถ้าแหล่งปิโตรเลียมนี้ตั้งอยู่ในประเทศอื่นๆ คนในประเทศนั้นควรจะได้รับส่วนแบ่งไปเท่าใด มากหรือน้อยกว่าที่ประเทศไทยเราได้รับคือ 12.5% หรือไม่ นี่คือคำถามที่บทความนี้จะต้องตอบครับ

รายงานของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาชิ้นเดิมระบุว่า ประเทศโบลิเวีย รัฐได้รับจากค่าภาคหลวงสูงถึง 82% ของยอดการผลิตก๊าซธรรมชาติ ประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างอินโดนีเซีย ก็ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากน้ำมันดิบที่ 85% และก๊าซธรรมชาติที่ 70%

จากการศึกษาค้นคว้าของผมเอง พบสหรัฐอเมริกาได้ค่าภาคหลวงอยู่ในอันดับที่ 93 จากทั้งหมด 104 ระบบ โดยได้รับในช่วง 12.5 ถึง 16.6% (มากกว่าไทย) และต่อมาได้ปรับเพิ่มเป็น 18.75% ซึ่งเขายังถือว่าต่ำเกินไป (ข้อมูลจาก United States Government Accountability Office หรือ GAO)

ที่น่าสนใจคือการคิดค่าภาคหลวงน้ำมันดิบของเมือง Alberta ประเทศแคนาดา โดยคิดอัตราค่าภาคหลวงตามราคาน้ำมันดิบ โดยที่เพดานได้กระโดดไปจาก 30% ไปอยู่ที่ 40% เมื่อราคาน้ำมันดิบเกิน $70 ต่อบาร์เรล

โดยสรุป ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมของประเทศไทยน่าจะอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราต่ำที่สุดในโลก ถ้าเราใช้อัตรา ที่ 30% รัฐบาลก็จะได้ค่าภาคหลวงประมาณ 107,300 ล้านบาท ไม่ใช่ 44,713 ล้านบาทอย่างที่เป็นอยู่

โถใครจะเชื่อ…ในชื่อบทความนี้ถือว่าเป็นข่าวดีของประเทศ แต่เมื่อสาวลึกถึงผลประโยชน์ที่คนไทยได้รับค่าภาคหลวงที่ต่ำที่สุดก็ถือเป็นเรื่องร้าย เรื่องเศร้าที่ไม่น่าเชื่อ มันชุ่ยและแสนทรามถึงเพียงนี้เชียวหรือ? มิน่าละ บริษัทยูโนแคล ที่ขุดเจาะก๊าซในหลายประเทศทั่วโลก แต่เกินกว่าครึ่งของกำไรของบริษัทแม่ มาจากประเทศไทยประเทศเดียวครับ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น