คุณสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ประเทศไทยมีประชากร 64 ล้านคน แต่มีผู้ที่จ่ายเงินภาษีจริงเพียง 2.3 ล้านคน
และเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดของจำนวนผู้เสียภาษีของประเทศไทย จะพบว่ามีคนประมาณ 6 หมื่นคนที่เสียภาษีในอัตราสูงสุด 37% คิดเป็นเม็ดเงินภาษีถึง 50%ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
และเมื่อพิจารณาคน 6 หมื่นคนที่เสียภาษีในอัตราสูงสุดนี้ จะพบว่ามีผู้ที่มีเงินได้สูงกว่า 10 ล้านบาทเพียง 2,400 คน เท่านั้น โดยคนกลุ่มนี้มีสัดส่วนการเสียภาษีสูงถึง 34%
สรุปก็คือ ประเทศไทยมีจำนวนคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียง 3.59% ของจำนวนคนทั้งประเทศ
ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มีสัดส่วนตั้งแต่ 0.14-12% ของประชากรทั้งหมด หรือเฉลี่ย 5%
และในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สัดส่วนนี้อยู่ที่ระหว่าง 25-78%
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดของบางประเทศในเอเชีย (ข้อมูลปี 2553 จาก World Bank)
ฮ่องกง15%
ปากีสถาน สิงคโปร์20%
มาเลเซีย27%
อินโดนีเซีย อินเดีย30%
ฟิลิปปินส์32%
เกาหลีใต้ เวียดนาม ศรีลังกา35%
ไทย37%
จีน45%
ญี่ปุ่น50%
น่าสนใจที่จะติดตามดูว่าเมื่อเปิดเสรีอาเซียนแล้ว มันสมองไทยไหลไปทำงานที่ประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดของประเทศอื่นๆ (ข้อมูลปี 2553 จาก World Bank)
แคนาดา29%
สหรัฐ35%
นิวซีแลนด์38%
ออสเตรเลีย45%
ฝรั่งเศส นอรเว สวิส อังกฤษ40%
เนเธอร์แลนด์52%
สวีเดน56.74%
เดนมาร์ค สูงที่สุดในโลก62.28%
จะสังเกตุว่าที่ใดให้รัฐสวัสดิการสูง ภาษีจะสูงตามไปด้วย
(สำหรับ กรีซ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดในปัจจุบันอยู่ที่ 40% แต่เมื่อต้องปรับโครงสร้างหนี้ ต้องรัดเข็มขัด และต้องหารายได้มากขึ้นเพื่อไปใช้หนี้ นอกจากการขายรัฐวิสาหกิจที่ไม่น่าจะเลี่ยงได้แล้ว ไม่รู้ว่าจะต้องไปขยับอัตราภาษีนี้ขึ้นไปอีกหรือไม่ และอาจต้องขึ้น VAT !!!)
ในกรณีประเทศไทยนั้น ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร ได้วิเคราะห์ไว้เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2553 ว่า “ประเทศไทยมีผู้หนีภาษีจำนวนมาก เพราะสัดส่วนของผู้หนีภาษีในประเทศไทยมีถึงกว่า 70% ของผู้มีงานทำทั้งหมด” (จากฐานผู้มีงานทำ กว่า 36 ล้านคน) และปรากฏการณ์ที่ฐานภาษีของไทยแคบ (จำนวนคนจ่ายภาษีน้อย) และมีผู้หนีภาษีมากเป็นเพราะเศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีขนาดใหญ่มาก
และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อจำนวนคนทั้งประเทศ 3.59%
กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มีสัดส่วนตั้งแต่ 0.14-12% ของประชากรทั้งหมด หรือเฉลี่ย 5% ในขณะที่ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สัดส่วนนี้อยู่ที่ระหว่าง 25-78%
กรณีของไทยนั้นจะเห็นว่าสัดส่วนคนเสียภาษีต่อจำนวนคนทั้งประเทศต่ำมาก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาด้วยซ้ำ ในขณะที่คนที่เสียภาษีต้องจ่ายอัตราภาษีที่สูงกว่าประเทศอื่นในเอเชียโซนนี้ และสูงกว่าสหรัฐอเมริกาและแคนาดาซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
น่าตกใจที่ตามข้อมูลวิเคราะห์ของ ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร ระบุว่า คนไทยที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากลับไม่ยอมจ่ายเป็นจำนวนมากถึงกว่า 70%
ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ ต้องขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมคนที่หนีภาษีให้ได้ ก่อนที่จะไปหาทางเก็บเพิ่มจากคนที่เขาจ่ายภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่แล้ว ซึ่งกรมสรรพากรก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องขยายฐานภาษีอยู่แล้ว โดยอธิบดีได้ตั้งเป้าขยายฐานเพิ่มไม่ต่ำกว่า 324,000 ราย ในปีงบประมาณ 2553
ซึ่งหากทำได้ก็จะช่วยให้สังคมไทยมีความเสมอภาคมากขึ้น เพราะมนุษย์เงินเดือนที่เลี่ยงภาษีไม่ได้จะได้ไม่ต้องแบกรับภาษีเพื่อคนที่หนีภาษีอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ถึงได้บอกตลอดเวลาว่า เวลาเลือกตั้ง อย่าเลือกนักการเมืองที่เก่งแต่เข้าไปปู้ยี่ปู้ยำเอาภาษีของเราไปใช้ทำโครงการที่สอนให้ชาวบ้านเป็นทาสของรัฐ เป็นทาสของนักการเมือง ไม่ทำมาหากิน คอยงอมืองอเท้า รอรับความช่วยเหลือ หรือรอรับการแจกจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยที่นักการเมืองประชานิยมทั้งหลาย ไม่เคยมีโครงการดี ๆ ที่สอนให้ชาวบ้านรู้จักพัฒนาหนทางทำมาหากินของตนเลยแม้แต่น้อย
แล้วอย่างนี้ คุณยังจะยอมรับทัศนคติที่ว่า คอรัปชั่นไม่ว่าขอให้ทำงานเป็นใช้ได้ เพราะใคร ๆ ก็คอรัปชั่นกันทั้งนั้นอยู่อีกเหรอ เพราะคุณเป็นเพียงแค่ 1 ใน 2.3 ล้านคน หรือ 3.59% ของจำนวนคนทั้งประเทศเท่านั้นที่ยอมเสียภาษีอย่างถูกต้อง
เมื่อไหร่จะถึงจุดเปลี่ยนที่คนไทยหันกลับมาเห็นผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว เมื่อนั้น เราคงเห็นประเทศไทยเดินหน้าไปได้ไกลเฉกเช่นประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน
ทุกอย่างนี้เริ่มได้ที่ตัวคุณ ขอให้ประเทศไทยจงเจริญ
--
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น