++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาธิปไตยแบบพอเพียง โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช

มีคำกล่าวว่า “การปกครองที่ดีที่สุด คือ การไม่ปกครองเลย” ซึ่งหมายความว่า หากไม่มีการใช้อำนาจ ไม่มีการบังคับ คนทุกคนดูแลตนเอง ปกครองตนเอง ก็ไม่ต้องให้คนอื่นมาออกคำสั่ง

ประชาธิปไตยก็มีจุดมุ่งหมายเช่นนั้น การกระจายอำนาจ คือ การแบ่งอำนาจออกไปไม่ให้เกิดการรวมศูนย์ คนแต่ละคนเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด ถ้าทำได้เช่นนี้ปัญหาของชุมชนก็จะได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด ที่สำคัญก็คือ แก้ไขจากตัวบุคคลแต่ละคน

เรามักถือว่าการกระจายอำนาจเป็นบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่องค์การเหล่านี้ก็ยังมีผู้ที่ทำงานแทนประชาชน หากจะให้เกิดประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แล้ว คนแต่ละคนย่อมต้องสามารถจัดการตนเองได้

การจัดการตนเองมีขอบเขตกว้างขวางกว่ากิจกรรมทางการเมืองการปกครอง การเลือกตั้งเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของการจัดการตนเองเท่านั้น ที่ถูกนั้นการจัดการตนเองเป็นการจัดการวิถีชีวิตอย่างรอบด้าน

นี่เป็นสาเหตุที่เราควรให้ความสนใจต่อการจัดการตนเองในระดับชุมชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นระบอบการปครองที่สร้างความมั่งคั่งสมบูรณ์ ขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปอย่างไม่มีขอบเขต คำถามก็คือ แล้วเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตคนเราคืออะไร ประชาธิปไตยแบบทุนนิยม ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน การดิ้นรน การแสวงหาอย่างไม่รู้จักพอ

ในทางตรงกันข้าม ปรัชญาความพอเพียงเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เพราะความสุขอยู่ที่ความพอเพียง การร่วมมือกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้ชุมชนมีแต่ความสงบสุข ดังนั้นประชาธิปไตยแบบไทยเราควรมีปรัชญาแห่งความพอเพียงกำกับเป็นกรอบอยู่ด้วย

มีชุมชนที่น่าสนใจอยู่แห่งหนึ่งที่อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ผมเองรู้เรื่องนี้จากเพื่อน คือ พลเอกรณจักร สวัสดิเกียรติ พลเอกรณจักร เคยเป็นเจ้ากรมข่าวทหารบก และผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เมื่อเกษียณอายุแล้ว ก็ยังสนใจจัดกิจกรรมให้แก่คลังสมองของ วปอ.เป็นประจำ พลเอกรณจักรได้ไปเยี่ยมชุมชนแห่งนี้ และมาเล่าให้ผมฟัง

น่าสังเกตว่า การรวมกลุ่มของชุมชนเริ่มจากปัญหาพื้นฐานที่ชุมชนมีร่วมกัน คือ ปัญหาการลงทุน กู้ยืมนอกระบบดอกเบี้ยสูง ไม่มีเงินออม ผลผลิตราคาตกต่ำ มีหนี้สิน จึงทำให้คนมารวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ส่งเสริมให้ออมเงิน และทำบัญชีครัวเรือน

ต่อมาเกิดปัญหาร่วมกัน คือ ไผ่ตงที่ปลูกไว้เกิดตายหมด คนในชุมชนจึงมาคิดแก้ปัญหาซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้น มีการจัดการร่วมกันตั้งแต่การจัดการน้ำ และการประชุมปรึกษาทำงานร่วมกัน

ชุมชนทำกิจกรรมเหล่านี้ก่อน จนเกิดความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น แล้วจึงมาร่วมกันจัดตั้งการส่งเสริมประชาธิปไตยชุมชนเป็นขั้นตอนสุดท้าย มีการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการ มีคณะกรรมการ มีคณะทำงาน และมีการจัดการร่วมกันจนมีสถาบันออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่แบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม

ชาวบ้านทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการกลุ่มเหล่านี้ คนในชุมชนบอกว่า กิจกรรมเหล่านี้เน้นเรื่องการพัฒนาคน ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ เป็นการช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน

เวลานี้ชุมชนดงขี้เหล็ก สามารถจัดการทรัพยากรน้ำได้ด้วยตนเองเป็นอย่างดี สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ และสามารถแก้ปัญหาน้ำกร่อย และน้ำเค็มได้ มีการซ่อมแซมแหล่งน้ำ การวางแผนใช้น้ำ และการฟื้นฟูป่า ที่สำคัญคือมีการทำเกษตรอินทรีย์

การดูแลวิถีชีวิตอย่างรอบด้าน รวมไปถึงการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยด้วยการมีตำรวจบ้าน จัดเป็นอาสาสมัคร

มีข้อสังเกตว่า ชุมชนดงขี้เหล็กไม่ได้เริ่มจากการเน้นการสร้างประชาธิปไตย แต่เริ่มจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมแล้วขยายกิจกรรมไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดจึงมีการตั้งสภาองค์กรชุมชน คิดดูแล้วก็เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะวัตถุประสงค์ของการมีประชาธิปไตย ก็คือใช้เป็นวิธีการ หรือหนทางที่จะจัดการกับวิถีชีวิตของตนเองนั่นเอง

ทราบว่าเรื่องของชุมชนดงขี้เหล็ก จะมีการนำมาออกอากาศทางโทรทัศน์เร็วๆ นี้ หากใครสนใจก็ควรเดินทางไปดูกิจกรรมที่ชาวบ้านที่นี่ทำ ซึ่งจัดเป็นต้นแบบของ “ประชาธิปไตยแบบพอเพียง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น