++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

การจัดสรรคลื่นวิทยุเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน (จบ) โดย ว.ร. ฤทธาคนี

แต่ละกองทัพมีอาณัติช่องคลื่นความถี่วิทยุทางยุทธการของตนเอง และมักเป็นสากล โดยเฉพาะกองทัพร่วมผสมที่ผนวกกำลังในการปฏิบัติการหลายชาติตามมติของสมัชชา ความมั่นคงของสหประชาชาติ เช่น กรณีกองเรือปราบโจรสลัดสากลที่โซมาเลียหรือกรณีกลุ่มสมาชิกป้องกันแอตแลนติก เหนือ สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ส่งกองบินโจมตีกดดันและทำลายศักยภาพกำลังทางอากาศของ พ.อ.กัดดาฟี ตามปกติช่องความถี่อากาศสู่อากาศ และอากาศสู่พื้นดินทางทหารถูกจัดสรรและจำแนกออกตามภารกิจเป็นเอกเทศตามที่นา โต้จัดสรรไว้แล้ว

ในการพิจารณาถึงช่องคลื่นความถี่ในการปฏิบัติการทางทหารนั้น คงต้องคำนึงถึงคลื่นความถี่ในการปฏิบัติการทางอากาศเป็นหลัก เพราะภารกิจของกำลังทางอากาศในการปฏิบัติการทางทหารนั้น ครอบคลุมทุกมิติ คือ อากาศสู่อากาศ อากาศสู่พื้นดิน และอากาศสู่พื้นผิวน้ำ ตามทฤษฎีแล้วคลื่นวิทยุอากาศสู่อากาศไม่มีอะไรขวางกั้น และตามปกติเครื่องบินหรือดาวเทียมเป็นตัวถ่ายทอดสัญญาณหากมีภูเขาหรือตึกสูง ขวางวิถีคลื่นสัญญาณ

หากจะเอากองทัพอากาศสหรัฐฯ เป็นแม่บท ซึ่งพิจารณาจัดสรรตามภารกิจต่างๆ ที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ รับผิดชอบ มีย่านความถี่ 150 คลื่น VHF/UHF เช่น ภารกิจของ Air Force 1 และ 2 อันเป็นนามเรียกขานเครื่องบินโดยสารประจำตำแหน่งของประธานาธิบดี/ผู้ บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐฯ ช่องคลื่นความถี่ที่มีการจัดสรรไว้มากที่สุดในการปฏิบัติการทางอากาศของกอง ทัพอากาศสหรัฐฯ ได้แก่ช่องคลื่นความถี่ภารกิจเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในอากาศ ทั้งเหนือสหรัฐฯ และน่านฟ้าสากลมีอยู่ 64 คลื่นความถี่ ภารกิจป้องกันทางอากาศเขตแอตแลนติกเหนือ มีอยู่ 46 คลื่นความถี่

นอกนั้นเป็นคลื่นความถี่ภารกิจการรบและฝึกบินรบในอากาศ รวมทั้งการบินรบสนับสนุนกำลังภาคพื้นดิน และคลื่นความถี่ค้นหาและช่วยชีวิต

โรงเรียนทหารราบ ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ ก็มีหลักสูตรวิชาการจู่โจมและส่งทางอากาศ ซึ่งสาระหลักๆ ได้แก่วิชาการรบร่วมอากาศ – พื้นดิน การสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด และการร้องขอการโจมตีทางอากาศ

ดังนั้น ภารกิจทางอากาศยุทธวิธีทางด้านสนับสนุนการรบอากาศ–พื้นดิน หรือระหว่างทหารอากาศกับทหารบกนั้น มีความสำคัญยิ่ง เพราะกำลังทางบกจะปฏิบัติการรบได้อย่างเสรี และมีประสิทธิภาพในการรบของทหารภาคพื้นทั้งด้านการส่งกำลังบำรุงและขวัญ กำลังใจหรือการส่งกลับทางแพทย์ ต้องพึ่งกำลังทางอากาศ

ในส่วนอากาศกับพื้นผิวน้ำนั้น กองทัพเรือเองก็มีกองบินนาวี และหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ในการรบร่วมผสมนั้นกำลังทางอากาศของกองทัพอากาศก็เป็นกำลังหลักในการประกัน ศักยภาพ และชัยชนะการปฏิบัติการทางเรือ

ที่กล่าวมานี้ก็เพื่อให้สาธารณชนได้มองเห็นมิติแห่งการใช้คลื่นความถี่ เพื่อการป้องกันประเทศของทหารตามรัฐธรรมนูญ คลื่นความถี่เป็นความลับ เพราะหากข้าศึกดักฟังได้ก็ย่อมเกิดความเสียหายใหญ่หลวงแก่ชีวิตทหาร หากข้าศึกต้องดักฟังหรือรบกวนหรือขัดขวางการใช้คลื่นความถี่นั้น จะต้องไล่ค้นหา โดยฝ่ายเราก็เปลี่ยนความถี่ไปเรื่อยๆ เราเรียกว่าสงครามอิเล็กทรอนิกส์

คลื่นความถี่วิทยุอากาศสู่อากาศและอากาศสู่พื้นดิน ในน่านฟ้าสากลนั้น เป็นคลื่นความถี่ของการควบคุมการจราจรทางอากาศ ที่เป็นเรื่องความปลอดภัยและการแสดงตนในการบินข้ามชาติ เพราะแต่ละชาติจะมีระบบการป้องกันทางอากาศ และการบินสกัดกั้น เช่น ที่ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ทุ่งมหาเมฆ จะมีเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศไปประจำที่หน้าจอเรดาร์พิสูจน์ฝ่าย เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าเป็นเครื่องบินโดยสารตามเที่ยวบิน เป็นเครื่องบินฝ่ายเราหรือเป็นเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติซึ่งจะถูกบินสกัด กั้นทันทีหากบินเขตไทยโดยหน่วยบินกองทัพอากาศ องค์การการบินพลเรือนสากล จึงกำหนดช่องความถี่คลื่นวิทยุที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร และอุปกรณ์ช่วยนำร่องการบินสากล โดยมีการจัดสรรคลื่นวิทยุตามภารกิจ เช่น การสื่อสารผ่านดาวเทียม คลื่นสื่อสารสภาพอากาศ การค้นหาช่วยชีวิต คลื่นเรดาร์ติดตามการบิน และการสื่อสารอากาศ – สู่อากาศ อากาศ – สู่พื้นดิน โดยที่สหพันธ์การสื่อสารโทรคมนาคมสากล – ITU แห่งสหประชาชาติเป็นหน่วยงานกำกับดูแล และจัดสรรช่วงความถี่ตั้งแต่ 9 กิโลเฮิรตซ์ ถึง 275 กิกาเฮิรตซ์

คลื่นความถี่วิทยุมีจำนวนจำกัด แต่มีผู้ต้องการใช้ประโยชน์มีมากและแตกต่างวัตถุประสงค์กันออกไป ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เช่น คลื่นวิทยุเพื่อปฏิบัติการรบ การฝึกเป็นนามธรรม ส่วนคลื่นความถี่วิทยุที่ให้บริการสาธารณชนทั้งข่าวสารและบันเทิงเป็น รูปธรรม มีกำไร จึงมีการแย่งผลประโยช์กันทั้งจากตัวคลื่นและอุปกรณ์การใช้คลื่นวิทยุ

กสทช. ที่ต้องการเพียง 11 คน แต่มีภาระหน้าที่ อำนาจ ในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลกว้างใหญ่ไพศาล และมีผลประโยชน์มหาศาล ในยุคข้อมูลข่าวสาร คลื่นวิทยุจึงเป็นเครื่องมือทางพาณิชย์ การเมือง การสังคม และเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

หากประเทศนี้ต้องการให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุอย่างยุติธรรม และเป็นประโยชน์แก่ชาติสูงสุดแล้ว บรรดาผู้เกี่ยวข้องที่มีอำนาจในการลงคะแนนคัดเลือก อย่าได้ล็อกสเปกตามใบสั่งของนักการเมือง พรรคการเมือง หรือกลุ่มอิทธิพลทางการเมือง การค้า และวิชาการ ขอให้พิจารณาจากวิสัยทัศน์ที่แท้จริงของผู้สมัครด้านการเมือง การเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และทางการทหารในเรื่องความสมดุล มีความอ่อนตัว และไม่เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ใดเลย มีมุมมองที่เน้นความมั่นคงของชาติ และต้องเข้าใจในการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศ จากประโยชน์ที่เขาจะได้รับจากการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุอย่างแท้จริง โดยเฉพาะวิทยุชุมชนจะต้องไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร แต่ดำรงอำนาจอธิปไตยของชาติไว้อย่างเฉียบขาด

จึงขอเน้นย้ำว่าอย่าได้มองกองทัพว่าจะแสวงประโยชน์จากการที่มีคลื่นวิทยุ กระจายเสียง หรือมองทหารว่าคลื่นวิทยุเป็นแหล่งเงินแหล่งทอง ในอดีตผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาเบียดเบียนคลื่นวิทยุของทหาร เช่น คลื่นวิทยุทหารอากาศ 102.5 ที่ทหารให้ก็เพราะตัวบุคคลที่มีอำนาจต้องการผลตอบแทนในเรื่องตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นเรื่องน่ารังเกียจทั้งผู้ขอและผู้ให้

ขอให้กรรมการสรรหา และส.ว.เลือกคนที่สามารถ คนที่รู้จริงและเคยปฏิบัติงานจริง เป็นที่ยอมรับว่าเป็นมืออาชีพ เป็นทหารอาชีพ มีมุมมองกว้างไกล ทั้งทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ สังคมศาสตร์และการทหารอย่างเฉียบแหลม ชาติจะได้เจริญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น