++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

สมาธิดี พ่อแม่ฝึกลูกได้

ก่อนการเรียนรู้ที่ดีจะเกิดขึ้นได้นั้นสมองต้องเกิดสมาธิก่อนค่ะ แต่ในปัจจุบันสิ่งเร้าต่างๆ เกิดขึ้นกับลูกมากจนเหมือนกับว่าเด็กสมัยนี้มีสมาธิจดจ่อสั้นไปหมด ขณะที่การเรียนรู้ที่ดีต้องการเด็กมีสมาธิ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ต้องหาแนวทางในการสร้างสมาธิให้กับลูก ค่ะ



สมาธิกับการทำงานของสมอง


ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่ว่า สมาธิในเด็กไม่ใช่ Meditation (เข้าฌาน) แต่หมายถึง Better Attention หรือ มีความสนใจ ความจดจ่อ และความมุ่งมั่นให้อยู่กับเรื่องๆ เดียว ตามระยะเวลาที่ต้องการ ซึ่งการที่เด็กมรสมาธิจดจ่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นั้น ก็จะส่งผลให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดี และมีประสิทธิภาพด้วยค่ะ


ที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าสมาธิมีความสัมพันธ์กับสมอง เพราะเวลาเด็กนิ่ง (Focus) เป็นเวลานานระยะหนึ่ง (Sustain) สมองส่วนเซเรบรัม ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ควบคุมดูแลการทำงาน เช่น ความจำ การแสดงออก การมองเห็น วิสัยทัศน์ การมีเหตุมีผล และอารมณ์ความรู้สึกเกิดคลื่นสมองอันหนึ่งที่ทำงานได้ดี ชื่อว่า “อัลฟา” (Alpha) ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดี เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ง่าย และเกิดความจำที่ดีนั่นเอง



9 กิจกรรมส่งเสริมสมาธิลูก


อารมณ์และความสนใจมีผลต่อความจำ สมาธิ การเรียนรู้ สติปัญญาและการทำงานของสมอง เมื่อเด็กมีความสุขและใจจดจ่อกับการทำกิจกรรมแล้ว จะเกิดการกระตุ้นวงจรแห่งความปิติ (Reward Circuit) ให้ทำงานมากขึ้น อันจะช่วยกระตุ้นให้ลูกเกิดภาวะที่นิ่งสงบและจดจ่อกับการทำงานนั้นๆ เรียกว่าเกิดสมาธินั่นเองวิธีการที่คุณแม่จะจัดสิ่งแวดล้อมให้ลูกเกิดสมาธิ ก็สามารถทำได้ไม่ยากจนเกินไปค่ะ
1. ตารางเวลา เริ่มต้นที่บ้านและตัวเองก่อนค่ะ โดยคุณแม่ควรมีการจัดทำตารางเวลาให้ชัดเจน เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนว่าเวลาไหนควรทำอะไร บ้าง เป็นสิ่งแรกที่สัมพันธ์กับสติการรับรู้ อันเป็นบ่อเกิดของสมาธิตามมา


2. จัดหามุมสงบ หากบ้านมีเสียงอึกทึกคุณแม่ควรจัดหามุมสงบที่ลูกสามารถทำการบ้าน อ่านหนังสือ โดยไม่มีเสียงดังรบกวนอยู่ใกล้ๆ ทำให้เด็กสมาเสีย


3. ยืดเส้น เน้นสมาธิ คุณแม่ลองใช้เทปกาวติดที่พื้นเป็น เส้นยาวเป็นทางตรงหรือเลี้ยวไปมาก็ได้ และลองให้ลูกเดินบนเส้นนั้น อาจประยุกต์เป็นการตัดสติกเกอร์เป็นรูปรอยเท้าสัตว์ ให้ลูกเดินตาม เด็กๆ ได้สนุกและมีสมาธิในการเคลื่อนไหวด้วย


4. นิทาน นิทานสร้างสมาธิที่ดีให้เด็กได้เสียด้วย ขณะที่เล่าเด็กๆ จะมีใจจดใจจ่ออยู่กับเรื่องที่เล่า แถมเสริมทักษะการฟังที่ดีเยี่ยมให้ลูกด้วย ถ้าให้ดีอย่าลืมซักถามลูกเกี่ยวกับเรื่องที่เล่าด้วยนะคะ


5. ดนตรี ดนตรีหรือเพลงจังหวะช้า มีผลต่อการทำงานของก้านสมอง ทำให้คลื่นสมองอัลฟาหลั่งออกมาอย่างดีค่ะ


6. วาดรูป ศิลปะกับเด็กเป็นของคู่กันคุณแม่สามารถสร้าง สรรค์กิจกรรมทางศิลปะให้กับลูกได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสีไม้ สีน้ำ สีเทียน แค่จับและขีดเขียนจนเกิดเป็นรูปบิดเบี้ยวหรือสวยงามก็เกิดสมาธิได้แล้ว


7. พับกระดาษ กิจกรรมนี้เป็นที่นิยมกันมากในญี่ปุ่น นอกจากจะทำให้เกิดสมาธิแล้ว ยังทำให้เด็กน้อยเกิดทักษะการทำงานประสานกันระหว่างมือและตาด้วยค่ะ ทีนี้หากลูกคิดจะฉีกกระดาษมาพับเครื่องบิน เต่า นก คุณแม่คงจะยิ้มออกแล้วใช่ไหมคะ


8. งานปั้น เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ให้ผลคล้ายกับการพับ กระดาษค่ะ แต่ที่มากกว่าก็คือเด็กๆ จะต้องฝึกนวดดิน สิ่งที่เด็กได้ก็คือมือน้อยๆ (กล้ามเนื้อมัดเล็ก) ได้ทำงานรวมถึงจิตใจที่ได้ฝึกความนุ่มนวลและสมาธิที่เกิดไปพร้อมๆ กับดินที่ค่อยๆ นุ่มขึ้น


9. เกมแห่งสติ ขอปิดท้ายด้วยเกมสอดแทรกให้เด็กได้มีสติ เข้าไปด้วย เกมแรกขอตั้งชื่อว่า “สาวเสื้อแดง” แต่มีข้อแม้ว่าต้องชวนเด็กๆ แถวบ้านมารวมตัวกันเล่นแล้วจะสนุกสุดๆ โดยอาจตั้งโจทย์ว่าเด็กทุกคนที่ใส่เสื้อสีแดง ให้แตะหัว 3 ครั้ง กระโดดตบมือ 10 ครั้ง แล้วเดินไปจับเก้าอี้สีแดง แถมให้อีกเกมคือ “ระวัง อย่าขยับ” เกมนี้ให้คุณแม่ลองโยนดินสอหรือตะเกียบหลายๆ อันลงพื้น แล้วให้ลูกลองหยิบดินสอขึ้นมาได้โดยที่ดินสอแท่งอื่นๆ ไม่เขยื้อน เกมนี้ช่วยให้ลูกเริ่มคิดเป็นขั้นตอนอย่างมีสติมากขึ้น

การเลี้ยงดูของพ่อแม่


คุณครูหนูหรือ ดร.วรนาท รักสกุลไทย เล่าว่าการจะดูพฤติกรรม ของลูกว่าจะเป็นเด็กมีสมาธิหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของคนเลี้ยงด้วย ค่ะ เด็กบางคนอาจไม่ได้มีสมาธิสั้น แต่คุณแม่เป็นคนเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว ทำให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรม ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จะเรียกว่าสมาธิสั้นเทียม เพราะมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก


ถ้าอยากให้ลูกมีสมาธิ นอกจากจะลองทำตามกิจกรรมข้างต้นดู คุณแม่ยังควรค่อยๆ พูดกับลูกและให้คำชมกับเขาบ้างเพื่อจุดประกายให้ลูกมีความสนใจและอยากรู้ อยากเห็น สิ่งสำคัญ คือคุณแม่ควรจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก


อีกทั้งนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอการนอนไม่พอจะทำให้เด็กสะลึม สะลือและส่งผลกระทบต่อการเรียน พฤติกรรมอารมณ์ของเด็ก โดยเฉพาะทำให้ลูกสมาธิไม่ดี เบี่ยงเบนความสนใจง่าย


คุณแม่คงอยากลองนำกิจกรรมข้างต้นไปปรับใช้ดูบ้างแล้วใช่ไหมคะ แต่ขอบอกว่าอย่าลืมทำอย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะเพราะสมาธิที่ดีของลูกเป็นบ่อเกิดของเรื่องดีๆ มากมาย



[ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ Vol.12 No. 138 April 2007]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น