ท่าม กลางรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากกิจกรรมต่างๆ แต่ในแววตาของผู้สูงวัยบ้านพักคนชราบางแค ก็ยังมีนัยบางอย่างที่ยากเกินอธิบาย อาจเป็นทั้งความสุข เศร้า เหงา เหนื่อยล้า สับสน ฯลฯ ปะปนกัน หรืออาจเป็นความต้องการ “รอคอยใครสักคน” แวะมาหา
กิจกรรมปันความสุข
โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาล สงกรานต์ บ้านพักคนชราบางแค จะมีความคึกคักขึ้นอีกครั้ง เพราะไม่เพียงเป็นวันปีใหม่ไทย แต่ 13 เมษายน ยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีก ด้วย ซึ่งเหล่าวัยใสหัวใจอาสาบางคน ก็หาโอกาสมาเยี่ยมเยียน แบ่งปันความสุข พูดคุยกับคนชราเหล่านี้ และเป็นจังหวะที่จะได้เรียนรู้เก็บเกี่ยวมุมมองต่างๆจากบ้านพักคนชรา
ธิษณา หาญดำรงกุล , พิชญา นวภัทรพงศ์ และชเนตตี ฉันท์อุดมพร และ กลุ่มนิสิตจากคณะนิเทศศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางมาบ้านบางแค ด้วยวัตถุประสงค์ คือ ทำรายงานในรายวิชาที่เลือกเรียน โดยต้องหาข้อมูลว่ามีบริษัทสินค้าใด ช่วยสนับสนุนดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุที่บ้านพักแห่งนี้ แต่จากการมาสำรวจตามโจทย์ดังกล่าว ก็เป็นโอกาสให้เหล่าวัยรุ่นได้พูดคุยกับผู้สูงอายุ พร้อมได้รับข้อคิดบางอย่างกลับไปด้วย
กลุ่มนิสิต นิเทศฯ จุฬาฯ
ชเนตตี เผยความรู้สึกว่า สงสาร ผู้สูงอายุบางคนที่ไม่มีญาติโทรหา และเมื่อได้คุยก็ทราบสาเหตุว่าที่ต้องมาอยู่บ้านพักแห่งนี้ เพราะมีปากเสียงกับลูก ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่า ถ้าผู้สูงอายุได้อยู่กับครอบครัวน่าจะมีความสุขมากกว่า
ด้าน ธิษณา ช่วยเสริมว่า ไม่ให้คนในครอบครัวตัวเองมาอยู่แน่ๆ เพราะเป็นครอบครัวใหญ่ มีลูกหลานดูแลอยู่แล้ว พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า สังคมไทยยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมากเท่าที่ควร
“โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวด เร็ว คนไทยปัจจุบันก็ดูแย่ๆมากขึ้น คนเลวๆมากขึ้นเหมือนเป็นกลียุค ดังนั้นต้องสร้างระบบการศึกษา สร้างค่านิยมตั้งแต่เด็ก อาจต้องมีการรณรงค์ การโฆษณาให้มากกว่านี้โดยเฉพาะจากหน่วยงานรัฐ เพราะไม่ค่อยเห็นเรื่องการกระตุ้นเรื่องความกตัญญู หรือเรื่องผู้สูงวัยเหมือนเมื่อก่อนเท่าที่ควร ขณะที่สื่อต่างๆในภาคเอกชนก็เน้นไปเรื่องธุรกิจมากกว่า” ธิษณา แสดงความเห็น
ขณะเดียวกัน สาวๆวัยใสจากรั้วมหา’ลัย อีกกลุ่ม อย่าง “อโรชา เพิ่มทวีผล” จาก ม.ศิลปากร , “ปัทมา อรรถาเวช” จาก ม.เกษตรศาสตร์ และ “พนิดา ศิริพรวิจิตร” จาก ม.กรุงเทพ ก็ขออาสามาร่วมทำกิจกรรมกับโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ ในกิจกรรมปันความสุขให้ผู้สูงอายุผ่านประเพณีสงกรานต์แบบไทย
กิจกรรมปันความสุข
อโรชา กับ ปัทมา เปิดเผยว่า กิจกรรมที่เอ็นคอนเส็ปท์จัดในครั้งนี้ คือ การนำตัวแทนเยาวชน รวมถึงชาวต่างชาติมารดน้ำดำหัวผู้สูงอายุที่บ้านพักคนชราบางแค ซึ่งนอกจากเป็นการแบ่งปันความสุขให้กับผู้สูงวัยแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ ซึมซับประเพณีที่ดีงามของไทยอีกด้วย
“การจัดกิจกรรมรูปแบบนี้เป็น สิ่งที่ดี อยากเชิญชวนให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วม เพราะนอกจากที่เราเคยเล่นสาดน้ำอย่างเดียว จะได้มาสร้างความสุขให้กับผู้อื่น และวันสงกรานต์ คือวันผู้สูงอายุ จึงถือเป็นการช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทยเรื่องการรดน้ำดำหัวให้กับ ผู้ใหญ่” ทั้งคู่กล่าว
กิจกรรมปันความสุข
อโรชา กล่าวเสริมเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุในครอบครัว ว่าส่วนตัวมีความความสัมพันธ์ที่ดีกับอาม่ามาก พูดเล่นกันได้ตลอด เพราะท่านเลี้ยงมาตั้งแต่เด็กๆ และทุกเสาร์อาทิตย์จะต้องแวะไปหา
“โครงสร้างสังคมไทยนั้น สถาบันครอบครัวกับผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ก็ต้องไปมาหาสู่ดูแลกันไปเรื่อยๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าปล่อยปละให้ผู้อื่นเลี้ยงดู เชื่อว่า ผู้สูงอายุคงไม่หวังจะต้องอยู่ด้วยกันตลอด เวลากลางวัน ลูกหลานก็ไปทำงาน แต่กลับมาตอนเย็นขอเพียงแค่ให้ได้เห็นหน้ากันบ้างก็มีความสุขแล้ว”
กล่าวคำอำลา
ส่วน ปัทมา บอกว่า ปัจจุบันญาติผู้ใหญ่เสียชีวิตหมดแล้ว แต่ในสมัยเด็กๆก็สนิทกับคุณยายมาก ท่านดูแลมาตลอด และเป็นห่วงหลานมาก ดังนั้น สำหรับสังคมไทยการที่ลูกหลานได้ทำสิ่งดีๆ ย่อมทำให้ท่านภูมิใจ และความรู้สึกนั้นย่อมส่งผลมาถึงการที่เราอยากดูแลพ่อแม่ด้วย เพราะพ่อแม่เคยดูแลคุณยายมาก่อน ดังนั้นขอแค่การที่ลูกหลานกับผู้สูงวัยได้อยู่ด้วยกัน ได้เห็นหน้ากันก็มีความสุข
ปิดท้ายกับความคิดเห็นของสาว ม.กรุงเทพ อย่าง พนิดา ที่เล่าว่า ขณะที่ร่วมกิจกรรมแบ่งปันความสุขครั้งนี้ ต้องกระจายตัวไปนั่งกับคุณยาย ก็รู้สึกสะเทือนใจไม่กล้าถามอะไรมาก เพราะกลัวว่าจะไปกระทบจิตใจของท่าน
“คิดว่า การที่ผู้สูงอายุได้อยู่ที่บ้าน เขาคงไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องดูแลอะไรมากมาย แต่ขอแค่ให้ได้เจอกันบ้าง ไปทำงานกลับมาได้เห็นหน้ากันก็พอ สำหรับตนเองมั่นใจว่าไม่ปล่อยให้ญาติพี่น้องต้องมาอยู่ที่นี่แน่นอน ไม่ใช่ว่าบ้านพักบางแคไม่ดี เพราะความจริงก็มีระบบการดูแลเลี้ยงดูที่ได้มาตรฐาน แต่เราเป็นลูกเป็นหลาน ต้องคิดว่าพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ดูแลเรามาตั้งแต่เด็กเป็นอย่างดี เราก็อยากตอบแทนในวันเวลาที่ท่านต้องการเราบ้าง”
พนิดา รดน้ำขอพรจากคุณยาย
พนิดา กล่าวว่า หากจะช่วยให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุในครอบครัว ในฐานะนักศึกษาธรรมดาคนหนึ่ง ก็อยากรณรงค์บอกต่อเพื่อนฝูงให้คนอื่นฟัง บอกเล่าจากประสบการณ์ที่ได้มาสัมผัสจากสถานที่แห่งนี้
“ผู้สูงอายุคงไม่ต้อง การเพื่อนหรอก เขาไม่ใช่วัยอย่างพวกเราที่ต้องมีเพื่อนฝูงมากมาย แต่สิ่งที่เขาต้องการ คือ อยากอยู่กับลูกหลานคนใกล้ชิดในครอบครัวมากกว่าจะเป็นคนอื่นมาดูแล”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น