++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

ดูแล "ตัวกู" ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง (โดยพระไพศาล วิสาโล)

หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร เป็นเจ้าอาวาสคนแรกของวัดถ้ำยายปริก เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ท่านเล่าว่าตอนมาบุกเบิกถ้ำยายปริกใหม่ ๆนั้น ประสบความลำบากมาก เพราะนอกจากน้ำกินน้ำใช้จะหายากแล้ว ยังถูกรังควานจากนักเลงเจ้าถิ่นบนเกาะสีชัง ที่ต้องการครอบครองที่ดินของวัด ท่านเองโดนคนเหล่านั้นด่าว่าบ่อย ๆ แต่ท่านก็หาได้หวั่นไหวไม่

คราวหนึ่งท่านเดินผ่านหน้าบ้านของนักเลงคนหนึ่ง เขาเห็นเป็นโอกาส จึงออกมายืนด่าท่านด้วยถ้อยคำที่หยาบคายทันที แต่แทนที่ท่านจะโกรธหรือทำหูทวนลม ท่านกลับเดินเข้าไปหาแล้วจับแขนเขา ทำท่าขึงขังแล้วพูดว่า

“มึงด่าใคร มึงด่าใคร”
“ก็ด่ามึงน่ะสิ” เขาตอบกลับ
ท่านยิ้มรับแล้วพูดว่า “อ๋อ แล้วไป ที่แท้ก็ด่ามึง ดีแล้ว อย่ามาด่ากูก็แล้วกัน”
ว่าแล้วท่านก็เดินออกมา ปล่อยให้นักเลงผู้นั้นยืนงงอยู่พักใหญ่

คำด่านั้นไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหนก็ไม่ทำให้เราทุกข์ตราบใดที่มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรา แต่หากคำด่านั้นมุ่งมาที่เรา(หรือเพื่อนพ้องของเรา) เราจะโมโหโกรธาขึ้นมาทันที ด่าใครก็ไม่สำคัญเท่ากับ “ด่ากู” เพราะ “ตัวกู” เป็นสิ่งที่ต้องพะเน้าพะนอ จะยอมให้อะไรมากระทบไม่ได้ ไม่ใช่แต่ “ตัวกู” เท่านั้น หากยังรวมถึง “พวกกู” และ “ของกู” ด้วยที่ต้องปกป้องมิให้อะไรมาแผ้วพานหรือกระทบกระทั่ง

คนที่รู้เท่าทันนิสัยของตัวกูและไม่ทุกข์ร้อนกับคำด่าอย่างหลวงพ่อประสิทธิ์นั้นมีน้อยมาก แทนที่จะมองว่าเขา “ด่ามึง” ไม่ใช่ “ด่ากู” ส่วนใหญ่แล้วมักสมยอมรับเอาคำด่าเหล่านั้นมาเป็น “ของกู” เสร็จแล้วก็เป็นทุกข์เป็นร้อนเอง

อย่าว่าแต่คำด่าเลย แม้กระทั่งคำวิจารณ์หรือคำติติงที่มิได้เกี่ยวข้องอะไรกับตัวเรา แต่มุ่งหมายไปที่สิ่งของของเรา (เช่น เสื้อผ้า โทรศัพท์ รถยนต์ ) ก็สามารถทำให้เราเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาได้ เพราะ“ของกู” ก็คือ “ตัวกู” นั่นเอง เป็นธรรมชาติของตัวกูที่มักยึดมั่นสำคัญหมายสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็น “ของกู” และดังนั้นจึงเป็น “ตัวกู”ไปด้วย

ความยึดมั่นสำคัญหมายดังกล่าวเป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ของผู้คน ทำให้ตกอยู่ในอำนาจแห่งถ้อยคำและการกระทำของผู้คน ทั้งมิตรและอมิตร อย่างมิอาจสลัดได้ อีกทั้งยังทำให้ไม่อาจยอมรับความจริงของโลกและชีวิตที่มีความผันผวนปรวนแปรเป็นธรรมดา ดังนั้นเมื่อต้องสูญเสียพลัดพรากจากสิ่งที่ถือว่าเป็น “ของกู” จึงทำใจไม่ได้ แทนที่จะเสียของอย่างเดียว ก็เสียใจซ้ำเข้าไปอีก ขณะเดียวกันเมื่อถูกวิจารณ์หรือมีคนชี้ให้เห็นความผิดพลาดของความคิดและการกระทำของตน ก็ไม่ยอมรับความจริงหรือเปิดใจยอมรับสิ่งที่ดีกว่า เพียงเพราะมันไม่ใช่ความคิด “ของกู”หรือตรงกับความคิด “ของกู”

คนเราถ้าไม่เอา “ตัวกู” หรือ “ของกู” เป็นตัวตั้ง จิตใจก็จะเปิดกว้างยอมรับความจริงที่ไม่น่าพิสมัยได้มากมาย รวมทั้งความพลัดพรากสูญเสียและคำวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ทุกข์ร้อน อีกทั้งยังสามารถทำสิ่งดีงามได้อีกมากมายอย่างแทบไม่มีขอบเขตเลยก็ว่าได้

ริชาร์ด ดอว์กินส์ นักวิทยาศาสตร์และนักเขียนชื่อดัง ได้เล่าถึงศาสตราจารย์อาวุโสผู้หนึ่งแห่งคณะสัตววิทยา มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด เป็นผู้ที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างมากในวงการชีววิทยา ท่านผู้นี้มีความมั่นใจและสอนลูกศิษย์มานานหลายปีว่า Golgi Apparatus (กลไกอย่างหนึ่งภายในเซลล์)ไม่มีอยู่จริง เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดไปเอง แล้ววันหนึ่งนักชีววิทยาหนุ่มผู้หนึ่งจากอเมริกามาบรรยายที่อ็อกซฟอร์ด โดยมีอาจารย์จากคณะสัตววิทยาไปร่วมฟังทั้งคณะ นักชีววิทยาผู้นี้ได้นำเสนอหลักฐานอย่างหนักแน่นและน่าเชื่อถือเพื่อยืนยันว่า Golgi Apparatus นั้นมีอยู่จริง เมื่อเขาบรรยายจบ ศาสตราจารย์ท่านนี้เดินไปหาเขา เขย่ามือเขา และพูดด้วยความรู้สึกยินดีว่า “เพื่อนรัก ผมขอขอบคุณ ผมผิดมาถึง ๑๕ ปี” พูดจบทั้งห้องก็ตบมือดังสนั่น

ศาสตราจารย์ท่านนี้ไม่รู้สึกเสียหน้าที่พบว่าความคิดของตนนั้นผิดพลาด ท่านกลับยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน เพราะท่านเอา “ความรู้” หรือ “ความจริง”เป็นใหญ่ “ตัวกู”จึงไม่มีโอกาสเผยอหน้าขึ้นมาอาละวาดหรือแก้ตัว แต่คนส่วนใหญ่นั้นมักเอา “ตัวกู” เป็นตัวตั้ง หากพบว่าความคิด “ของกู”ถูกท้าทายหรือมีคนชี้ให้เห็นข้อผิดพลาด ก็จะไม่พอใจ ไม่ยอมรับความจริง แม้จำนนด้วยเหตุผล ก็ไม่ยอมรับความผิดพลาด เพราะขัดกับความต้องการของ “ตัวกู”ที่ต้องการประกาศความยิ่งใหญ่ และปรารถนาจะยืนยันร่ำร้องว่า “กูเก่ง” “กูถูก” “กูแน่”

เมื่อเอา ความรู้ ความจริง หรือความถูกต้องเป็นใหญ่ เราก็พร้อมแสวงหา เปิดรับและชื่นชมสิ่งนั้นจากทุกคน โดยไม่เลือกว่าเป็นหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ จบป.๔หรือปริญญาเอก คนจนหรือคนรวย แต่เมื่อใดที่เอา “ตัวกู”เป็นใหญ่ หน้าตา ศักดิ์ศรี และสถานภาพก็กลายเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันก็เกิดการถือ “เรา” ถือ “เขา” หรือ “พวกเรา”กับ “พวกเขา” ขึ้นมา จะฟังใครก็ต้องดูก่อนว่าเป็นพวกเราหรือพวกเขา หากเป็นพวกเรา พูดอะไรก็ถูกหมด แต่ถ้าเป็นพวกเขา พูดอะไรก็ผิดไปหมด

เมื่อยึดติดถือมั่นในตัวกูและมีการแบ่งเราแบ่งเขา หากได้ยินได้ฟังอะไร อย่างแรกที่เราสนใจก็คือ “คนพูดเป็นใคร เป็นพวกเราหรือไม่” แต่ไม่สนใจที่จะถามว่า “สิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นความจริงหรือไม่” เพราะหากเป็นพวกเราพูด ก็พร้อมจะเชื่อว่าเป็นความจริงตั้งแต่ต้น โดยไม่ต้องพินิจพิจารณา โดยเฉพาะหากเป็นการพูดที่ถูกใจเราหรือสอดคล้องกับความคิดความเชื่อของเรา ในทางตรงข้าม หากเป็นคนละฝ่ายกับเรา ไม่ว่าจะพูดอะไร เราก็ตั้งท่าปฏิเสธไว้ก่อน ยิ่งสิ่งที่พูดนั้นขัดแย้งกับความเชื่อของเราด้วยแล้ว ก็ไม่สนใจแม้แต่จะฟังด้วยซ้ำ ทำให้ความจริงจากอีกฝ่ายยากที่จะเข้าถึงใจของเราได้

การแบ่งเราแบ่งเขาหากมีความโกรธเกลียดเป็นมูลฐานด้วยแล้ว ย่อมก่อให้เกิดกำแพงแห่งอคติอันแน่นหนา ซึ่งไม่เพียงปิดกั้นความคิดเห็นหรือแม้แต่ความจริงจากคนที่อยู่คนละฝ่ายกับเราเท่านั้น หากยังทำให้เราปฏิเสธทุกอย่างที่เป็นของเขา ซึ่งรวมถึงความเป็นมนุษย์ในตัวเขาด้วย นั่นคือมองเห็นเขาเป็นตัวเลวร้าย เชื่อถือไม่ได้ ไร้คุณธรรม ฉวยโอกาส มุ่งเอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ มีการติดป้ายใส่ยี่ห้อเพื่อทำลายความเป็นมนุษย์ในตัวเขา ด้วยการแสดงความดูหมิ่นดูแคลนหรือประนามหยามเหยียด การกระทำดังกล่าวได้ตอกย้ำทำให้อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเขากลายเป็นสิ่งเลวร้ายไปหมดในสายตาของเรา ไม่เว้นแม้แต่คุณค่าที่เขาเชิดชูหรือยึดถือ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองเป็นเหลืองและแดงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งในเรื่องรูปแบบทางการเมืองที่พึงปรารถนา ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเสียงข้างมาก อีกฝ่ายต้องการการเมืองที่มีคุณธรรม ไร้การคอร์รัปชั่น ท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าวได้มีการกล่าวประณามหยามเหยียดจนเกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรง ถึงขั้นสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงต่อกัน จนเกิดเหตุการณ์นองเลือดระหว่างการล้อมปราบของฝ่ายรัฐ มีการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในฝ่ายของคนเสื้อแดง

นอกจากการโจมตีต่อต้านจุดยืนทางการเมืองของกันและกันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันก็คือ ท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคุณค่าที่แต่ละฝ่ายยึดถือด้วย คนเสื้อเหลืองจำนวนไม่น้อยรู้สึกรังเกียจกับคำว่าประชาธิปไตย ความยุติธรรม (และแสลงหูกับคำว่าสองมาตรฐาน ความเหลื่อมล้ำ) ขณะเดียวกันคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยก็รังเกียจกับคำว่า คุณธรรม ความดีงาม ความซื่อสัตย์สุจริต (และแสลงหูกับคำว่า คอร์รัปชั่น) ทั้งนี้ก็เพราะถ้อยคำและคุณค่าเหล่านี้ถูกมองว่าผูกโยงอยู่กับฝ่ายตรงข้ามกับตน จึงมีความรู้สึกในทางลบจนเห็นว่าเป็นสิ่งเลวร้ายไปเลย

นั่นเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะทั้งประชาธิปไตย ความยุติธรรม รวมทั้งคุณธรรมความดี ความซื่อสัตย์สุจริต ล้วนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคนและจำเป็นต่อสังคมไทยในยุคนี้ ใช่แต่เท่านั้นมันยังเป็นคุณค่าที่ฟูมฟักอยู่แล้วในใจของทุกคนไม่ว่าเหลืองหรือแดง การปฏิเสธคุณค่าเหล่านี้ไม่ว่าอันใดอันหนึ่ง หมายถึงการปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ในตนเอง รวมทั้งปิดโอกาสที่คุณค่าเหล่านี้จะเจริญงอกงามในใจตนเพื่อชีวิตที่มีคุณค่า

เกษียร เตชะพีระ นักรัฐศาสตร์ที่ติดตามการเมืองไทยมานาน พูดไว้อย่างน่าฟังว่า “ชีวิตคนเราซับซ้อนเกินกว่าจะมีเพียงสีเดียว ถ้าตีความสีว่า "เหลือง"เป็นการต่อสู้คอร์รัปชั่น ไม่ยอมรับอำนาจผูกขาดโดยการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมซึ่งเราก็อาจมีตรงนั้นอยู่ในตัว ขณะเดียวกันเราก็มีสีแดง (คือ)การเมืองประชาธิปไตย ยึดหลักเสียงส่วนมาก สิ่งที่น่าเศร้าคือความขัดแย้งทางการเมืองบังคับให้เราเป็นสีเดียว บางทีเราชอบส่วนหนึ่งของเหลืองและส่วนหนึ่งแดงด้วย”

เกษียร ได้ชี้ว่าการเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรู จนมุ่งร้ายต่อเขาและปฏิเสธทุกอย่างที่เป็นตัวเขานั้น ได้ส่งผลร้ายย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง “ความรุนแรงอย่างแรกที่กระทำคือกระทำกับตัวเอง เพราะในท่ามกลางความขัดแย้งเราทำลายสีอื่นที่อยู่ในตัวเอง เราอยากเป็นเหลืองเราทำลายความเป็นแดง คุณอยากเป็นแดงคุณทำลายความเป็นเหลือง ก่อนที่คุณจะทำลายคนอื่นคุณทำร้ายตัวเอง คุณก็เป็นมนุษย์น้อยลง เหลือมิติเดียว ถ้าไม่รู้จักหยุดตรงนั้น คุณจะเกลียดส่วนนั้นของชีวิตและทำร้ายคนอื่น ใช้ความรุนแรงต่อคนอื่น”

การยึดติดถือมั่นกับการแบ่งเราแบ่งเขานั้น ในที่สุดย่อมบั่นทอนชีวิตจิตใจของเราเอง ยิ่งเราเห็นอีกฝ่ายมีความเป็นมนุษย์น้อยเพียงใด ความเป็นมนุษย์ของเราก็ยิ่งน้อยลงเพียงนั้น โดยที่กำแพงแห่งอคติจะยิ่งปิดกั้นมิให้เราได้สัมผัสกับความจริงและความดีงามที่พึงปรารถนาเลย หรืออาจถึงกับกัดกร่อนคุณค่าที่เคยยึดถือแต่เดิมก็ได้ การแบ่งเราแบ่งเขาและกำแพงแห่งอคตินั้นไม่ได้มาจากไหน หากมาจากการยึดถือ “ตัวกู”เป็นใหญ่นั่นเอง ต่อเมื่อรู้เท่าทันมัน และพยายามเอาความจริง ความดีงามเป็นตัวตั้ง มันจึงจะอยู่เป็นที่เป็นทางและยากที่จะก่อผลร้ายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

ที่มา : http://www.visalo.org/article/jitvivat255404.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น