++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต (ตอน ง่ายๆแต่ได้นิพพาน)

เขียนโดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง
วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2009 เวลา 12:29

“กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่เหมือนตายแล้ว” นี่คืออีกถ้อยวลีที่บ่งภาพลักษณ์ของพระอาจารย์ ความเรียบง่ายในการมีชีวิต เป็นสิ่งท่านอาจารย์ย้ำตลอดมา ชี้ให้เห็นโทษพิษภัยของวัตถุนิยมและสังคมบริโภค มุ่งสู่สาระมากที่สุด แม้แต่งานศพของท่านอาจารย์ เป็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของท่านที่จะสอนว่า สาระสำคัญของพิธีศพ คือสนับสนุนให้เกิดปัญญา เห็นแจ้งว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของเรา ว่างเปล่าจากตัวตน เป็นสุญตาโดยแท้

วันนี้สังคมเปลี่ยนไปมาก ตกแต่งสิ่งที่สัมผัสภายนอกเป็นหลัก เน้นความอลังการเกินร้อย นำความคิดของผู้คนให้รู้สึกผิด คือคิดว่ายิ่งฟุ่มเฟือยหรูหรา ยิ่งมีเกียรติ ยิ่งเป็นตัวแทนของความดีงาม ปลุกเร้าผู้คนไปสู่ความยิ่งใหญ่ทางวัตถุ อันเป็นบ่อเกิดของปัญหาทั้งโลกนี้ แม้ว่างานศพจะแสดงสักการะต่อผู้ตาย แต่ก็ไม่ควรสูญเสียสาระทางปัญญาเลย เป็นเจตน์จำนงชัดเจนที่พระอาจารย์อยากให้พี่น้องร่วมโลกเห็นปัญญาสาระของการตายจากงานศพ มากกว่าเห็นความอลังการที่จัดฉากมาบดบังสัจจะ นี่คือกิจกรรมที่มีคุณค่า ไม่ใช่มีหน้ามีตา ไม่ควรเป็นพิธีหรูหรา แต่คือสื่อเพื่อความสังเวชที่ก่อให้เกิดสัจจะ โน้มน้าวชีวิตจิตใจของมนุษย์เข้าหาข้อเท็จจริงร่วมกัน เพื่อเราท่านทั้งหลายที่มีลมหายใจอยู่จะได้คุ้นเคย จิตใจไม่ห่างเหินกับความไม่เที่ยง ก่อให้เกิดความเอือมระอาต่อการคิดลุ่มหลงจริงจังไปกับการแก่งแย่งหวังครอบครอง จางคลายจากการมั่นหมายเอาเป็นเอาตายกับอำนาจ อิทธิพล งานศพยุคนี้ ยุคที่อะไร ๆ ก็ขอให้มีระดับ แม้แต่ศพก็ตบแต่งราวจะออกงานราตรี ไม่เปิดโอกาสให้ผู้อยู่หลังได้เห็นสภาพเศษซากชีวิต ยิ่งในโลกธุรกิจวันนี้ มีบริการแพ็กเกจงานศพ ที่ทำให้ลูกหลานรู้สึกหรู ไฮโซ ต่างไปแล้วจากภาพในชนบทที่ชาวบ้านต่างถือฟืนคนละดุ้นไปเผาศพ ไปพบกันที่เชิงตะกอน ไปเข้าคลาสร่วมกันที่ป่าช้า ร่วมรับรู้เส้นทางชีวิตด้วยกัน มาสร้างความรู้สึกเป็นพี่น้องร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายต่อหน้าฝาโลง ท่ามกลางเสียงมนต์ขลังบังสุกุล ทุกคนมาเรียนรู้ชีวิตกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา พร้อมรับทราบสัญญาว่าอีกไม่กี่เวลาจะตามไป

วันนั้นที่กองฟอนภูเขาพุทธทองก็เช่นกัน วันที่เราได้ร่วมรับรู้ว่า เรานี้คือเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย อันถักทอดวงใจมนุษย์เข้าหากันเป็นภราดร เมื่อภาพลักษณ์ชีวิตของ พระอาจารย์ คือ กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่เหมือนตายแล้ว คือความเรียบง่าย และไม่เอาอะไรแล้ว รู้สึกไม่มีอะไรต้องโลภหลง ไม่มีอะไรต้องยึดติด ไม่ตายแต่ก็เหมือนตายแล้ว เชื่อไหม! สังคมจะสุขเย็นได้เพราะคนมีคุณค่า มากกว่าคนมีหน้ามีตา นี่กระมังเหตุผลที่พระอาจารย์ทุ่มเทตอกย้ำความมีคุณค่า ไม่ใช่มีหน้ามีตา นิพพานไม่ได้อยู่ที่รีสอร์ทห้าดาวอันตระการตาดุจเพียงเวียงวัง แค่กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู ก็หรูยิ่งแล้วสำหรับคนสันโดษผู้มีแต่คุณและค่า งานศพของพระอาจารย์จึงเป็นความเรียบง่ายเพื่อสิ่งสูงสุดง่าย ๆ แต่ได้นิพพาน ประโยชน์สูงประหยัดสุด ผมถือว่านี่คืองานศพตัวอย่างที่คลาสสิคที่สุดหนหนึ่งที่ชีวิตได้พบเห็น ไร้ความหรูหรา แต่เมกก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด

credit : http://www.dhamma4u.com/index.php/2011-01-07-08-29-00/57-2009-05-07-05-09-23/448-2009-08-10-05-34-54.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น