++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

การขึ้นดอกเบี้ยกับภาวะเงินเฟ้อ โดย สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์

ดอกเบี้ยนโยบายถูกลดต่ำสุดที่ระดับ 1.25 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างวันที่ 8 เมษายน 2552 – 13 กรกฎาคม 2553 ประมาณ 10 เดือนที่ผ่านมา มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 6 ครั้ง ครั้งละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.50 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 1.75 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 ดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 2.00 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2554 ดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 2.25 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 ดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 2.50 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 ดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 2.75 เปอร์เซ็นต์

คำอธิบายของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ควรมีการปฏิบัติอย่างมีความเข้าใจ หากไม่เข้าใจ จะทำให้เงินเฟ้อสูง จะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน เงินเฟ้อเกิดได้จากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เงินเฟ้อโลกพุ่งขึ้นแรงมาก เป็นผลมาจากการพังทลายของตลาดแนสแดกซ์ ที่ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐพังทลายตามมา ราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นมา 683 เปอร์เซ็นต์ ราคาทองคำขึ้นมา 454 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวบอกว่าเงินเฟ้อโลกพุ่งแรง ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ค่าเงินบาทของไทยก็แข็งขึ้นมาโดยตลอด ช่วยให้เงินเฟ้อไทยไม่สูงนัก อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ระดับ 3.0 – 3.4 เปอร์เซ็นต์ ปี 2554 ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะขึ้นไปที่ระดับ 5 เปอร์เซ็นต์

เงินเฟ้อของประเทศไทย นอกจากจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกดังกล่าวแล้ว ปัจจัยภายในประเทศ ทำให้เงินเฟ้อก่อตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ ปี 2544 และปีต่อๆ มา ได้มีการนำหุ้นปตท.และบริษัทในกลุ่มปตท.เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น การแสวงหากำไรจากอุตสาหกรรมน้ำมันทุกขั้นตอน เอากำไรสูง เพื่อกรรมการ เพื่อพนักงาน และเพื่อผู้ถือหุ้น ทำให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มสูงขึ้นแบบไม่เป็นธรรม ประชาชนรับกรรม

โครงการประชานิยม การขึ้นเงินเดือนระลอกแล้วระลอกเล่า แย่งกันหาเสียงของนักการเมือง ทำให้เงินเฟ้อที่ควรอยู่ที่ระดับต่ำก็สูงขึ้น การโฆษณาสินค้าโดยไม่มีการควบคุม ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ก็หมายถึงทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเช่นกัน

การแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ทำให้ปัญหาอีกอย่างตามมา การเปิดตลาดอนุพันธ์ การที่ตลาดหุ้นออกไปโรดโชว์ ชักชวนต่างชาติมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทำให้เงินไหลเข้ามาเก็งกำไรมากขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยก็ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศมากขึ้น การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ กลับทำให้เงินท่วมประเทศมากขึ้น เมื่อครั้งประกาศมาตรการ 30 เปอร์เซ็นต์กันสำรองเงินทุนไหลเข้า ซึ่งแสดงว่าสภาพคล่องได้ท่วมระบบแล้ว ทุนสำรองสุทธิอยู่ที่ระดับ 74 พันล้านเหรียญสหรัฐ

วันที่ 15 เมษายน 2554 ทุนสำรองสุทธิอยู่ที่ระดับ 206.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ แสดงว่าเงินท่วมระบบถึง132.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาท สภาพคล่องท่วมระบบ ทำให้ช่วงกว้างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ถ่างกันมากขึ้นอีก แสดงถึงความผิดปกติของระบบนั่นเอง โรคของระบบเลวร้ายกว่าโรคเฉพาะที่ ฟังรัฐบาลโฆษณาแล้วประชาชนมีความสุข ขอแสดงความยินดีกับประชาชนทุกคนครับ มีความสุขจากการฟัง

indexthai@yahoo.com
http://twitter.com/indexthai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น