++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

สอบเข้ามหา’ลัยไม่ติด “ชีวิต ยังมีทางเลือก”

ช่วง เดือนเมษายน - พฤษภาคม ในแต่ละปี นับเป็นช่วงเวลาแห่งการรอคอย ใจระทึกกับผลการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของบรรดาเด็กไทยนับแสน แต่ในมุมของข้อเท็จจริง ก็มีเด็กไทยอีกจำนวนมากที่สอบไม่ติด หรือไม่เลือกสอบ แต่เบนเข็มไปเลือกสมัคร - ศึกษาต่อในสาขา หรือสถาบันที่เปิดสอนตามความต้องการที่ตนเองสนใจ ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีของเยาวชนไทยที่ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้น ยังมี “ทางเลือก” เปิดโอกาสให้อย่างหลากหลาย

Life on Campus มีมุมมองดีๆจากคณาจารย์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับ “ชีวิต และทางเลือก” มาฝากให้ผู้อ่านวัยที่กำลังจะก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้อ่านกันเป็นข้อคิด

ดร.มัทนา สานติวัตร อธิการบดี ม.กรุงเทพ (มกท) แสดงความเห็นต่อประเด็น “ชีวิตนี้ เป็นเรื่องของทางเลือก” ว่า เป็นความโชคดีของเด็กไทย ที่มีตัวเลือกมากมาย แต่นอกจากเลือกเรียนแล้ว ต้องมองอนาคตไปถึงการทำงานด้วย

“เด็กไทยต้องเลือกล่วงหน้า ตั้งแต่วันนี้ ว่าถ้าเรียนจบปริญญาตรี จะเรียนต่อปริญญาโท-ปริญญาเอก หรือไม่ ต้องรู้จักเลือกวางแผนชีวิต ว่าเรียนจบแล้วอยากทำงานอะไร องค์กรแบบไหน ชอบการทำงานที่สวมสูท ในห้องแอร์ ชอบทำงานต่างจังหวัด หรือในกรุงเทพฯ หรืออยากเปิดกิจการเป็นของตัวเอง สร้างสรรค์ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ซึ่งอาชีพทั้งหมดนี้ คือ การเลือกเรียนในสาขาต่างๆนั่นเอง”

อธิการบดี มกท กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างแพร่หลาย และเป็นหนึ่งในบริบทของเยาวชน ทั้งยังมีความเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ การเปิดเสรีอาเซียนในปี 2015

“เมื่อนักเรียนเลือกเข้า มหาวิทยาลัยในปีนี้ ก็จะจบในปี 2014-2015 ซึ่งตรงกับช่วงที่เปิดการค้าเสรีอาเซียน ดังนั้นนักเรียนต้องมองการทำงาน เพื่อรองรับการแข่งขันในบริบทที่แตกต่าง ดังนั้นจะเลือกเรียนสาขาไหน ก็ต้องเลือกอาชีพด้วยว่าเราจะทำอะไรด้วย”

แฟ้มภาพ
ด้าน รศ.ดร. สมบูรณ์วัลย์ สัตยารักษ์วิทย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเสริมว่า การเลือกของนักเรียน ต้องเลือกใน 3 ประเด็น ข้อแรก คือ เลือกเรียนสายไหน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ก็เลือกตั้งแต่มัธยมศึกษาแล้วว่า จะเรียนสายวิทยาศาสตร์ หรือสายศิลปศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตามยังสามารถมาเปลี่ยนได้เมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่าอยากทำอะไร เพราะเราต้องอยู่กับอาชีพนั้นไปอีกครึ่งชีวิต หากไม่ชอบก็จะเป็นทุกข์

“ประเด็นที่ 2 ต้องนับเป็นความโชคดีของเยาวชนไทย ที่มีมหาวิทยาลัยต่างๆให้เลือกกว่า 200 สถาบัน ซึ่ง สกอ. ก็เข้ามาดูแลมาตรฐานหลักสูตร ดังนั้นเมื่อสอบเข้าแล้วผิดหวัง ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะยังมีมหาวิทยาลัยที่มีสาขาอีกหลากหลายให้เลือกในสิ่งที่เราชอบ ประการสุดท้าย คือ นักเรียนต้องพิจารณาว่า คนที่ประสบความสำเร็จทุกวันนี้ ต่างก็มาจากหลากหลายสถาบัน ทั้งนี้เพราะเขาเลือกในสิ่งที่ชอบ เลือกในสิ่งที่เป็นตนเอง”

ส่วน อ.พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่าย บริหาร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้ข้อสอดคล้องกันในเรื่องการเลือกเรียน คือ การเลือกอาชีพ ว่าการจะทำอาชีพอะไรต้องคิดให้ดี เพราะคนเราทำงานประมาณ 40 ปี หรือมากกว่านั้น ถ้าหากเปลี่ยนแปลงอาชีพบ่อยเกินไป ก็ไม่เพิ่มพูนความสามารถ

“เมื่อมองมาที่เรื่องการเลือก เรียน จึงต้องถามตัวเองว่าอยากประกอบอาชีพอะไร ที่ต้องทำงานไปอีก 40 ปี ถามตัวเองว่านิสัยเราเป็นอย่างไร เป็นคนชอบเงียบๆ หรือเฮฮาพบปะผู้คน เลือกให้ได้ แล้วค่อยมองว่าจะไปเรียนที่ไหน เพราะบริษัทเอกชนไม่ได้สนใจว่าคุณเรียนจบสถาบันไหนมา แต่จะพิจารณาว่าคุณทำงานเป็นไหม ซึ่งบางแห่งก็พิจารณาตั้งแต่เรายังเป็นนักศึกษาฝึกงาน”

แฟ้มภาพ
ขณะที่ ดร. ประกิต หงษ์แสนยาธรรม รองอธิการบดี สถาบันการพลศึกษา เสริมว่า ปัจจุบันมีทางเลือกมากมาย นอกจากสถาบันของไทย ยังมีสถาบันต่างประเทศในบ้านเราด้วย นักเรียนจึงต้องตามหาตัวเอง ว่าถนัด และชอบด้านไหน ไม่จำเป็นต้องเลือกให้เหมือนกับเพื่อนๆที่เรียนด้วยกันมา

“การเข้าสู่มหาวิทยาลัย ถือว่าเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ปรึกษาพ่อแม่ก็ได้ แต่สุดท้ายการตัดสินใจต้องอยู่ที่ตัวเอง ปริญญาตรีใบแรก จะเป็นพื้นฐาน เพราะเมื่อจบมาแล้ว ถ้าเรามีความสามารถ ก็ยังต่อยอดไปในระดับปริญญาโท-เอกได้ รวมถึงการได้ทำงานตามถนัดเฉพาะด้าน และนักเรียนต้องมองว่าการทำงานทุกอย่างที่สุจริตนั้น ล้วนมีเกียรติทั้งสิ้น”

แฟ้มภาพ
ปิดท้ายกับ ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี ม.ศรีปทุม ที่มองว่า การเลือกเป็นธรรมชาติของชีวิต แต่ปัญหาคือ เราจะเลือกอย่างไรให้ดี ซึ่งก็อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลว่าเพียงพอหรือเปล่า

“บางคนเสียใจเมื่อผลสอบออกมา แต่นักเรียนต้องรู้ว่า ชีวิตวัยนี้ยังมีอะไรให้เลือกอีกมากในอนาคต ดังนั้นถ้าหากมีข้อมูลเพียงพอ จะทราบว่า ไม่ได้มีตัวเลือกแค่ 4 อันดับที่พลาดไปเท่านั้น และนั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต โอกาสยังไม่ได้หมดเพียงเท่านี้ โดยเฉพาะหากลองเทียบกับต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน วึ่งสถาบันต่างๆรับจำกัด มีนักศึกษาที่ไม่ได้เรียนจำนวนมาก แต่สำหรับเมืองไทย มีตัวเลือกมากมาย มีสถาบันอีกหลากหลายที่มีมาตรฐานความพร้อม และบางสาขาที่น่าสนใจ อาจไม่มีให้เลือกสอบในระบบแอดมิดชั่นด้วยซ้ำ” รองอธิการบดี ม.ศรีปทุม กล่าวสรุป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น