++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

เด็กม. ตบเท้าร่วมบริจาคเลือด สกอ.เผยนศ.ยุคใหม่ต้องใส่ใจสังคม

เปิดฉากขึ้นแล้ว สำหรับ'โครงการอุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว' เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 โดยกิจกรรมแรกที่เปิดตัวไปเมื่อ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา คือ กิจกรรมการบริจาคเลือดเฉลิมพระเกียรติที่ สกอ. ร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศจัดขึ้น งานนี้ไลฟ์ ออน แคมปัส ไปซอกแซกดูชาวม. ว่ากล้าจิ้มเข็มบริจาคเลือดกันหรือเปล่า

สำหรับ "เบล" กนกวรรณ ตันวิเศษ นัก ศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาภาษาอังกฤษธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดใจว่า ตอนเด็กๆกลัวเข็มเหมือนกัน แต่เมื่อโตขึ้นความกลัวก็หายไป ไม่ระแวงเข็มแหลมๆแล้ว เธอแย้มว่ารู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเพื่อน มนุษย์ แม้ครั้งนี้ยังไม่ได้บริจาคเลือดเนื่องจากไม่สบายแต่มุ่งมั่นที่จะมาบริจาค ในคราวหน้าให้ได้

"พอทราบข่าวก็สนใจอยากมาร่วม กิจกรรมเพราะเหมือนกับเราได้ทำบุญ คือ การเต็มใจที่จะมาบริจาคเป็นการช่วยเหลือคนอื่นมันก็เป็นกุศลอย่างหนึ่ง ส่วนเพื่อนๆก็สนใจมากันเยอะค่ะ วันนี้มา 25 คน และเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เห็นว่ามาเยอะเหมือนกัน แต่วันนี้ทานยามาก็เลยตรวจเลือดไม่ผ่าน วันนี้ก็เลยไม่ได้บริจาคแต่คิดว่าจะมาบริจาคให้ได้ค่ะ"

สาวเลือดกรุ๊ปB ยังเชิญชวนอีกว่า ที่สภากาชาดมีกิจกรรมบริจาคเลือด เป็นกิจกรรมที่ดีที่เยาวชนเราสามารถทำได้ อยากให้ทุกคนมาบริจาคเลือดกัน ส่วนหนึ่งก็ได้บุญด้วย อยากให้มาบริจาคกันเยอะๆเนื่องจากครั้งนี้เป็นการบริจาคเลือดเพื่อถวายเป็น พระราชกุศลให้ในหลวงของเรา โดยมีการตั้งเป้าไว้ที่ 84 ล้านซีซี ซึ่งมองว่าน่าจะทำได้ถึงเป้าแน่นอน เพราะมีนักศึกษาสนใจมาร่วมกิจกรรมกันมากทีเดียว

"เบลเองยังไม่เคยบริจาคเลือด เลยค่ะ เพิ่งจะมาครั้งแรก วันนี้ก็คงได้บริจาคเลือดถ้าไม่ติดเรื่องทานยามา แต่มีความตั้งใจจะมาบริจาคจริงๆและรู้สึกภูมิใจที่มีโอกาสมาบริจาค หลายคนอยากมานะคะ แต่อาจจะไม่มีโอกาสมาบริจาคแบบเรา ก็ดีใจที่ได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้"

ส่วนหนุ่มกรุ๊ปB อีกคน "เจ" สุรเชษฐ์ โคกทอง นิสิตชั้นปีที่ 1 สาขาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เล่าว่า ในฐานะที่เป็น สโมสรนิสิตอยู่แล้ว เมื่อทราบว่ามีกิจกรรมนี้จึงสนใจเข้าร่วมทันที นอกจากต้องการทำบุญช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แล้ว หลักจากนี้จะได้กลับไปกระจายข่าวต่อให้เพื่อนที่มหาวิทยาลัยด้วย

"ปกติกลัวเข็มครับ แต่ใจอยากบริจาค ก็คิดว่านิสิตน่าจะสนใจกันเยอะเพราะเป็นกิจกรรมของชาวอุดมศึกษาครับ วันนี้ก็เห็นเพื่อนๆต่างสถาบันมาร่วมบริจาคเยอะ ผมเองก็ตั้งใจมาร่วมบริจาคด้วย ก่อนหน้านี้เคยบริจาคเลือดสมัยมัธยม ส่วนครั้งนี้เป็นครั้งที่2 ซึ่งถือว่าได้มาร่วมถวายเป็นพระราชกุศลให้ในหลวงด้วย เป็นสิ่งที่ดีเราได้ร่วมบริจาคครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งเลยว่าเป็นการบริจาคเลือด 84 ล้าน ซีซี ก็เยอะเหมือนกัน แต่ทุกคนก็ตั้งใจจะทำให้ถึงเป้าหมาย ก็อยากให้นิสิตทุกคนที่เรียนอยู่ทั้งป.ตรี โท หรือเอก ก็ได้ครับให้มาร่วมกันทำมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ ครบรอบ 84 พรรษาของในหลวงครับ อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญและเข้ามาร่วมกันบริจาคเยอะๆ จะได้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ครับ"

ด้านนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ในการจัดกิจกรรม โดย สกอ. ได้ขอความร่วมมือสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งจัดกิจกรรมบริจาคโลหิต โดยสถาบันอุดมศึกษามีถึง 169 สถาบัน นักศึกษาทั้งหมดเกือบๆ 2 ล้านคน เป็นนักศึกษาปริญญาตรีประมาณ 1.5 ล้านคนซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะบริจาคโลหิต และนักศึกษาปริญญาโท-เอกก็สามารถร่วมบริจาคได้เช่นกัน ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการเปิดตัวโครงการบริจาคโลหิต 84 ล้าน ซี.ซี. หรือ 240,000 ถุง วันนี้ ชัดเจนแล้วว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมกว่าครึ่งของทั้งหมด

"หลัง จากนี้เราจะรณรงค์ให้สถาบันการศึกษาอื่นๆได้เข้าร่วมให้ต่อเนื่องไปตลอดทั้ง ปี เนื่องจากทราบมาว่าเลือดที่แต่ละคนได้บริจาคนั้น มีอายุการใช้งานเพียง 35 วัน ดังนั้นกิจกรรมการบริจาคเลือดครั้งนี้จึงเป็นแผนที่จะเพิ่มเลือดเข้าสู่ระบบ ของสภากาชาดให้มากขึ้นและเพียงพอต่อการนำไปช่วยเหลือคนเจ็บป่วย"

เลขาธิการ กกอ. กล่าวอีกว่า อยากให้เรื่องนี้ซึมซับสู่บุคลากรตั้งแต่ผู้บริหาร คณาจารย์ รวมไปถึงนักศึกษาเพื่อให้เกิดคุณูปการต่อสังคม ในส่วนของนิสิตนักศึกษานั้น การบริจาคโลหิตก้เป็นการแสดงออกถึงความเสียสละเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ และเห็นว่ากิจกรรมนี้ สกอ.เองก็เห็นประโยชน์หลาย ข้อ ประการแรกที่สำคัญคือ กระบวนการทั้งหมดจะเป็นการปลูกจิตสำนึกที่สำคัญให้นิสิตให้มีความรู้สึกที่ ดีในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตามกรอบแนวคิดของการศึกษา 2. เป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการปฏิบัติตนหรือทำงานเพื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ไม่ใช่ตนเอง 3. นิสิตนักศึกษาจะได้รับรู้ในความทุกข์หรือความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ ที่พวกเขาได้เข้าไปช่วยเหลือ สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ถูกปลูกฝัง อย่างน้อยที่สุดเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้ช่วยให้มีเลือดเข้าสู่ระบบ มากขึ้น

"วันนี้ ผมดูตัวเลขคร่าวๆแล้ว ยืนยันได้ว่า 84 ล้านซีซี นั้นเป็นไปได้ แผนที่จะดำเนินการต่อไปคือ ต้องประสานกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เพื่อรณรงค์ตลอดทั้งปี จากการที่ได้ตรวจสอบเบื้องต้น เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการวางแผนต่างๆจะลุล่วงไปด้วยดี ทราบมาว่ามีนิสิตนักศึกษามาบริจาคเลือดอยู่ที่ประมาณสองหมื่นยูนิต แต่วันนี้ จากสองหมื่นจะกลายเป็นสองแสนได้ ผมคิดว่าเราจะมีผู้บริจาคโลหิตรายใหม่ๆเกิดขึ้นมาในสังคม นั่นคือต้นทุนที่สำคัญทางสังคมที่อุดมศึกษาพยายามจะสร้างขึ้น และคิดว่าส่วนนี้เองคือสิ่งสำคัญที่จะประกาศให้สังคมไทยได้รับทราบว่านิสิต นักศึกษานอกจากจะทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว ยังมีหน้าที่ในการช่วยเหลือสังคมอีกด้วย" เลขาธิการ กกอ. กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น