++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

หมอฟัน มช.พัฒนา"เครื่องมือจัดฟัน"เติมรอยยิ้มผู้ป่วยปากแหว่ง

นักวิจัย มช. พัฒนาเครื่องมือช่วยจัดฟันผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ รักษาความผิดปกติในการสบฟัน โครงสร้างใบหน้า อาศัยหลักการรางรถไฟเหาะตีลังกา ในการเคลื่อนฟันและกระดูกรองรับฟัน เพื่อปิดช่องโหว่ รวมทั้งยืดกระดูกขากรรไกรบน เพื่อแก้ไขความสมดุลของใบหน้า ลดระยะเวลาการผ่าตัด ลดการนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศที่มีราคาสูง พร้อมลดค่ารักษาได้กว่า 100,000 บาท ต่อราย

ฟันสวย ยิ้มสวย เป็นคำกล่าวที่หลายคนยอมรับ เพราะมิเช่นนั้นคงไม่เกิดกระแสยอดฮิต จัดฟัน ขึ้นดังเช่นปัจจุบัน ทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ยอมทุ่มทุนให้ทันตแพทย์แก้ไขฟันเกด้วยการจัดฟัน และปิดร่องฟันที่ห่างให้เข้าที่เข้าทางเพื่อรอยยิ้มที่ดูดี ปัจจุบันการจัดฟันได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสมีฟันสวยและยิ้มสวย โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คิดค้นเทคนิคและเครื่องมือจัดฟันที่มี ค่าใช้จ่ายถูกกว่าได้สำเร็จแล้ว ด้วยการควบคุมขบวนการผ่าตัดกระดูกรองรับฟันทั้งสามมิติโดยการใช้ทวินแทรกดิส แทรกชั่น ร่วมกับการใช้หมุดเกลียวขนาดเล็กทางทันตกรรมจัดฟัน

ผลงานวิจัย การควบคุมขบวนการผ่าตัดกระดูกรองรับฟันทั้งสามมิติโดยการใช้ทวินแทรกดิสแทรก ชั่นร่วมกับการใช้หมุดเกลียวขนาดเล็กทางทันตกรรมจัดฟัน เป็นผลงานของ อาจารย์ ทพ. ดร.เอดวาร์ดโด ยูโก้ ซูซูกิ หัวหน้าโครงการวิจัย และ รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.บุญศิวา ซูซูกิ สังกัด ภาควิชาทันตกรรมจัดฟันและทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้คิดค้นวิธีการประเมินและปรับแรงดึงที่ใช้ตลอดขั้นตอนการทำดิสแทรกชั่น เพื่อการพัฒนาโปรโตคอลสำหรับวิธีการควบคุมขบวนการผ่าตัดกระดูกรองรับฟันทั้ง สามมิติ ในการรักษาผู้ป่วย ล่าสุดงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2553 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

อาจารย์ ทพ. ดร.เอดวาร์ดโด ยูโก้ ซูซูกิ เปิดเผยถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า พื้น ฐานงานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อรักษาความผิดปกติในการสบฟันและโครงสร้างใบหน้าในผู้ป่วยปากแหว่งเพดาน โหว่ โดยคณะวิจัยได้พัฒนาเครื่องมือทวินแทรกดิสแทรกชั่น ร่วมกับการใช้หมุดเกลียวขนาดเล็กทางทันตกรรมจัดฟัน โดยอาศัยหลักการของรางรถไฟเหาะตีลังกา เพื่อใช้ในการเคลื่อนฟันและกระดูกรองรับฟันเพื่อปิดช่องโหว่ รวมทั้งยืดกระดูกขากรรไกรบน เพื่อแก้ความสมดุลของใบหน้าร่วมกับการผ่าตัดที่ลดลงเหลือเพียง 1 ครั้ง จากเดิมที่ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัด 2-3 ครั้ง อีกทั้งลดระยะเวลาในการผ่าตัดลงได้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เนื่องจากไม่ต้องใส่เครื่องมือนี้ก่อนหรือระหว่างการผ่าตัด ทำให้ศัลยแพทย์ทำงานได้สะดวกและดีมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังสามารถเคลื่อนฟันและกระดูกรองรับฟันเพื่อปิดช่องโหว่ได้ ทำให้ควบคุมการเคลื่อนของชิ้นกระดูกได้ใน 3 มิติ และสามารถเคลื่อนตามความโค้งของรูปร่างขากรรไกรได้ ซึ่งเครื่องมือที่มีใช้ในปัจจุบันไม่สามารถทำได้ เครื่องมือดังกล่าวได้เปรียบเครื่องมืออื่นๆ ที่มีทั้งหมด และยังสามารผลิตได้เองโดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงช่วยลดค่ารักษาได้กว่า 100,000 บาท ต่อราย

ในกระบวนการยืดกระดูก คณะผู้วิจัยได้พัฒนากลไกในการวัดและปรับแรงยืดกระดูกรองรับฟันและใบหน้าเป็น ครั้งแรก จากความรู้พื้นฐานเรื่องการวัดแรงดึงของสายเคเบิลขององค์การ NASA ทำให้สามารถลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยขณะทำการรักษา และทำให้เกิดการสร้างกระดูกใหม่ที่ดีมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันคณะวิจัยได้ใช้วิธีการ ดังกล่าวในการรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และปริทันต์ ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุขากรรไกรหัก และผ่าตัดเนื้องอกบริเวณกระดูกขากรรไกรบางรายที่ต้องการการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจทุกราย พร้อมกันนี้ ยังนำผลงานวิจัยไปใช้ในการเรียนการสอน สาขาวิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งบรรยายพิเศษแก่แพทย์และทันตแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ปัจจุบันมีผู้ป่วย ที่เข้ารับการรักษาที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และประสบผลสำเร็จ 100% จำนวน 20 ราย และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องมือทวินแทรกดิสแทรกชั่น ที่คณะวิจัยคิดค้นขึ้นและสามารถผลิตได้เองในประเทศไทย ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูงมาก จึงช่วยลดค่ารักษาผู้ป่วยได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อราย อีกทั้งการลดขั้นตอนการผ่าตัดจากการใช้เครื่องมือดังกล่าวยังช่วยลดความ เสี่ยงและลดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ป่วยอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น