++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

มธ.หมุนโลกใหม่ให้ยั่งยืน ด้วยพลังนักศึกษา

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. จัดโครงการ "ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน" ส่งเสริมเยาวชนให้มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมสู่ภาคธุรกิจ เดินหน้าจัดทำแผนการพัฒนาการเงินขนาดจิ๋ว ช่วยหมู่บ้านในชนบท ขจัดความยากจนมุ่งสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน

แม้ทั่วโลกจะพูดถึงแนวคิดในการ “สร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ และชุมชน” หลังจากได้รับบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริงยังเป็นเรื่องที่เข้าใจ ได้ยาก อีกทั้งทุกคนต่างก็เร่งรุดดำเนินธุรกิจเพื่อให้ตนเองฟื้นตัว ทำให้การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนยังเป็นแค่แนวคิดเท่านั้น

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วม กับ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ลงนามความร่วมมือในโครงการ "ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน" โดยมีเป้าหมายปลูกฝังแนวคิดดังกล่าวให้แก่นักศึกษาที่กำลังจะก้าวสู่โลก ธุรกิจ ด้วยการสนับสนุนให้นักศึกษาลงพื้นที่ หมู่บ้านหนองพฤกษ์ จ.นครราชสีมา เพื่อทำ “แผนในการพัฒนาโครงการการเงินขนาดจิ๋ว” ให้กับชาวบ้าน

รศ.ดร.กุลภัทรา สิโรดม คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้คัดเลือกตัวแทนนักศึกษามาจำนวน 12 คน เพื่อให้ลงพื้นที่ในหมู่บ้านดังกล่าว ก่อนการลงพื้นที่ นักศึกษาจะต้องเข้ารับฟังการบรรยายข้อมูลสรุปเกี่ยวกับบ้านหนองพฤกษ์ จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (Population and Community Development Association: PDA) จากนั้นเดินทางไปบ้านหนองพฤกษ์ และใช้เวลา3 วัน 2 คืน เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ก่อนที่จะกลับมาระดมสมองเพื่อหาวิธีที่จะช่วยให้หมู่บ้านหนองพฤกษ์เติบโต ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน

"นัก ศึกษาควรจะสำเร็จการศึกษาไปพร้อมกับสัญชาตญาณหรือจิตวิญญาณ ว่าเขาจะไม่เพียงแต่คำนึงถึงธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงสังคมด้วย เพื่อความยั่งยืน การที่เด็กๆ ได้ออกไปทำงานจริงบนโครงการที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดทำอยู่แล้วนั้น จึงเป็นการใช้ความแข็งแกร่งของทั้งสององค์กร คือ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจ มาช่วยกันพัฒนาเยาวชนที่เป็นอนาคตของประเทศ" รศ.ดร.กุลภัทรา กล่าว

จากการสำรวจบ้านหนองพฤกษ์ จ.โคราชเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน นักศึกษานักพัฒนาพบว่า หมู่บ้านแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 3,325 ไร่ โดยชาวบ้านอาศัยคละกันประมาณ 103 ไร่ บนสภาพพื้นที่ราบสูงและแห้งแล้ง อาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านเป็นอาชีพเกษตรกรรมปลูกข้าวโพดหวาน มันสำปะหลัง ข้าว และรับจ้าง จากข้อมูลทั้งหมด ทำให้ตัวแทนนักศึกษามีแนวคิดจัดทำโครงการการเงินขนาดจิ๋ว ผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน

"มุก" เทียนทิพย์ บุญโชควิทูร นัก ศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. หนึ่งในสมาชิก เล่าว่า ปัญหาหลักๆ ที่พบคือ ชาวบ้านมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ จึงก่อให้เกิดหนี้ ส่วนอาชีพหลักของชาวบ้านคือการทำนา ซึ่งให้รายผลตอบแทนที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ หากฝนตกน้ำท่วม หรือแล้งจัด ต้นข้าวก็เสียหาย ก็พลอยสูญรายได้ไปด้วย

"พวก เราจึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยการแนะให้มีการจัดระบบการบริหารของธนาคารหมู่ บ้าน และได้จัดทำคู่มือทางการเงินเพื่อให้ชาวบ้านรู้จักจดรายรับ-รายจ่าย ฯลฯ และเสนอให้ชาวบ้านทำอาชีพเสริมคือ เพาะเห็ดฟางและเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ ทำให้ชาวบ้านสามารถคืนเงินกู้ได้มากขึ้น" มุก กล่าว

ด้าน"ภูมิ" ภูมิสรวล อร่ามเจริญ นัก ศึกษาสาขาการบัญชี ชั้นปีที่ 4 เสริมว่า ได้มุมมองเพิ่มเติมจากกิจกรรมครั้งนี้ โดยไม่ใช่คิดแค่ว่าชุมชนจะได้อะไร แต่ต้องเพิ่มเติมว่าทำอย่างไรชุมชนจึงจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง นอกจากจะสร้างประโยชน์แก่ชาวบ้านแล้ว ยังช่วยให้เกิดจิตสำนึกในการเรียนรู้ธุรกิจแบบองค์รวมอีกด้วย

"สิ่ง ที่เรามองว่าเป็นปัญหาของชุมชนนั้น ความจริงแล้วมันใช่ปัญหาหลักหรือเปล่า แก่นของปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน การแก้ปัญหานอกจากนำความรู้ที่มีมาใช้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องใช้หัวใจ ต้องนึกภาพว่าหากเราคือคนในหมู่บ้านนั้น และมีคนภายนอกมาเสนอแนะแนวทางต่างๆ หรือมาบอกให้เราทำอย่างนั้น อย่างนี้แล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร เราจะเชื่อเขาไหม เพราะอะไร" ภูมิกล่าว

ด้าน "แนน" เนติ จางเบ็ญจรงค์ นัก ศึกษาชั้นปีที่ 3 กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนักในชั้นเรียน ได้ทำงานเป็นทีมร่วมกับรุ่นพี่รุ่นน้อง บวกกับการได้ลงพื้นที่จริงยังช่วยให้ทีมเห็นถึงต้นสายปลายเหตุ และได้รับคำตอบอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ข้อมูลที่รับรู้มาจากการบอกเล่า หรือรายงานบนกระดาษ จึงช่วยให้การแก้ปัญหาทำได้เร็วขึ้นและตรงจุดมากกว่าด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น