นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมหม่อนไหมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการทำงานในรูปของเครือข่ายพันธมิตรที่มีจุดประสงค์ร่วมกันในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องการจัดการผ้าไหมไทยที่ในปัจจุบันพบว่า มีปัญหาเรื่องคุณภาพและราคาที่ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งๆที่ประเทศไทยเลี้ยงไหมพันธุ์เดียวกัน และปลูกต้นหม่อนซึ่งเป็นอาหารหนอนไหมพันธุ์เดียวกัน
"สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงผลักดันเรื่องนี้เป็นการส่วนพระองค์มาโดยตลอด ก็เห็นควรว่าเราน่าจะมีความร่วมมือกันในการพัฒนาวงการไหมไทยให้มีคุณภาพมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการเองก็น่าจะมีส่วนในการนำความรู้นี้ไปสอนให้ประชาชนได้เรียนรู้กันมากขึ้นเพราะปัจจุบันจะเห็นว่าเรื่องเหล่านี้คนสูงอายุจะลงมือทำเป็นส่วนใหญ่ แต่เด็กๆไม่ค่อยมีความสนใจเท่าที่ควร ถ้าเราดึงเด็กเข้ามาร่วมเรียนรู้ในองค์ความรู้นี้ได้ จะทำให้เกิดบุคลากรในแวดวงนี้มากขึ้น ต้นทุนการผลิตจะต่ำลง ในที่สุดก็จะสามารถกำหนดมาตรฐานและคุณภาพให้เป็นไปในแนวเดียวกันได้" รมช.ศธ. กล่าว
รมช.ศธ. กล่าวอีกว่า การจะดึงให้เยาวชนหันมาสนใจในศาสตร์เรื่องการทอผ้าไหมนั้น ต้องสร้างองค์ความรู้ของชุมชนขึ้นมา โดยนำหลักวิชาความรู้จากกรมหม่อนไหมผลักดันเข้าสู่หลักสูตรการศึกษาของวิทยาลัยชุมชน 19 แห่ง ทั่วประเทศ โดยการประสานงานและนำความรู้ของทั้งสองหน่วยงานไปบูรณาการและยกระดับคุณภาพการทอผ้าไหมไทยให้เท่าเทียมในระดับสากล และหวังว่าการทำบันทึกข้อตกลงจะเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อชาวบ้านในชุมชนและเกิดการกระจายรายได้ในระบบเศรษฐกิจโดยรวมของชุมชน นำไปสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ด้านนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวว่า สกอ. มีความร่วมมือกับกรมหม่อนไหมในการสนับสนุนด้านวิชาการและการฝึกอบรมเกี่ยวกับหม่อนไหมให้กับชุมชนกลุ่มเป้าหมายอาชีพทอผ้าของวิทยาลัยชุมชน ซึ่งทำให้กลุ่มอาชีพทอผ้าในชุมชนต่างๆได้พัฒนาศักยภาพการทอผ้าแบบดั้งเดิมให้มีคุณภาพมากขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ แต่สร้างให้ผ้าไหมไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
"สิ่งที่อยากเห็นเรื่องแรกคือ ควรมีหลักสูตรการผลิตผ้าไหมเข้ามาอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนของวิทยาลัยชุมชน อาจเป็นหลักสูตรอนุปริญญาอีกหลักสูตรของวิทยาลัยชุมชน ซึ่งอาจเริ่มด้วยการเปิดเป็นหลักสูตรอบรมง่ายๆก่อน แล้วค่อยๆพัฒนาไปสู่อนุปริญญา ตรงนี้ก็จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เรื่องที่สองคือ เนื่องจากผ้าไหมถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาและวัฒนธรรม เราต้องการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ตัวไหม การเลี้ยง การดูแล ไปถึงการกลางน้ำคือการปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย และปลายน้ำ คือ การออกแบบและการตลาด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อวิทยาลัยชุมชนมาก" นายสุเมธ กล่าว
นายประทีป มีศิลป์ รองอธิการบดีกรมหม่อนไหม ฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมฯและวิทยาลัยชุมชนได้มีการพูดคุยในเบื้องต้นแล้วว่าจะแผนงานและการดำเนินการอย่างไร โดยขั้นแรกจะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยตรง และการลงนามครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทางกรมฯและวิทยาลัยชุมชนจะร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งหมดให้แก่ชุมชน ขั้นแรกจะเริ่มนำร่องในวิทยาลัยชุมชน 6 แห่งก่อน จากนั้นจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
"เรามีความพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เราคาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะดึงเอาเส้นใยอื่นๆเข้ามาศึกษาเพิ่มเติมในกรมฯด้วย เพื่อเป็นการยกระดับเนื้อผ้าให้มีคุณภาพให้มากที่สุด เช่น ฝ้าย ปอ ป่าน ใยสับปะรด เป็นต้น ซึ่งขณะนี้เราได้มีการผลิตผ้าที่ทอด้วยใยฝ้ายผสมใยไหมแล้ว ส่วนเส้นใยอื่นๆอยู่ในระหว่างการศึกษาและขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกรมวิชาการเกษตร ส่วนการกระจายความรู้ออกสู่วิทยาลัยชุมชนนั้นคาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ไม่เกิน 1 ปี แน่นอน" นายประทีป กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น