นิสิต มก. สร้างระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าเพื่อการวินิจฉัยโรค เพิ่มความสะดวกในการรักษาโรคทางเท้าในบุคคลที่มีเท้าผิดปกติ คว้ารางวัลที่การประกวดโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย
นายยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์ และ น.ส.ณัฐกานต์ ลิขิตผลจรูญ นิสิตสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ประดิษฐ์ คิดค้น “ระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าเพื่อการวินิจฉัยโรค” Foot analysis system for diagnosis โดยมีอาจารย์ไพรัช สร้อยทอง อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นที่ปรึกษาโครงงานวิจัย
โครงงานชิ้นนี้ ยังได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13 (The Thirteenth Nation Software Contest : NSC 2011) ในงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10 จัดการแข่งขันโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โดยผลงานนี้ทำการศึกษาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่แพทย์ผู้รักษาในการตรวจสอบโรคทางเท้า ในบุคคลที่มีเท้าผิดปกติ โดยเฉพาะโรคเท้าแบนที่ส่งผลกระทบต่ออาการทางเท้า เช่น โรครองช้ำ โรคตาปลา โรคเท้าพอง โรคเท้าปุก และอาการเจ็บเอ็นร้อยหวาย ซึ่งผู้จัดทำโครงงานได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม คือ กล้องเว็บแคมในการใช้งานเครื่องโพโดสโคปที่ใช้ในการวิเคราะห์วินิจฉัยลักษณะฝ่าเท้าของผู้ป่วย (เครื่องโพโดสโคป คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการส่องเท้าทำด้วยกระจกนิรภัยมีลักษณะเป็นกระจกใส โดยให้ผู้ป่วยขึ้นไปยืนบนกระจกใส เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของเท้าและมีกระจกเงาที่สามารถปรับมุมมองอยู่ด้านล่าง) และระบบการไหลเวียนโลหิตบริเวณฝ่าเท้า ซึ่งสามารถช่วยให้แพทย์ตรวจรักษาโรคและอาการของผู้ป่วยได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยใช้แนวคิดจากเครื่องโพโดสโคป ที่ไม่สามารถประเมินผลการไหลเวียนของโลหิตด้วยตาเปล่าได้เป็นระดับจึงทำให้การรักษาอาการเท้าแบนไม่มีประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร
โครงงานชิ้นนี้มีการพัฒนาโครงงาน 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นด้านการพัฒนาเครื่องโพโดสโคปให้สามารถดูภาพฝ่าเท้าได้จากจอแสดงผล และสามารถนำภาพฝ่าเท้าที่ได้ไปประเมินผล
ส่วนที่สองจะเป็นการพัฒนาทางด้านโปรแกรมประยุกต์ ให้สามารถตอบประเมินอาการผิดปกติของเท้าโดยวัดอัตราส่วนของฝ่าเท้า เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของรูปเท้า ประเมินการไหลเวียนของโลหิตจากภาพทั้งก่อนและหลังการใส่อุปกรณ์เสริมอุ้งฝ่าเท้า ให้แสดงผลเป็นระดับตามเกณฑ์ที่อ้างอิงไว้ได้ เก็บข้อมูลการรักษาและนำมาประกอบการวินิจฉัยโรคและการติดตามผลในการรักษาผู้ป่วยของแพทย์ผู้รักษา
จุดมุ่งหมายของการพัฒนาโครงการนี้ คือ สามารถอำนวยความสะดวกในการวินิจฉัยโรคและการชี้แจงอาการของแพทย์ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงอาการและลักษณะของโรคได้ง่ายขึ้น สามารถลดต้นทุนในการสั่งซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจรักษาโรคจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงกว่าการผลิตเอง
รวมทั้งสามารถตรวจสอบการไหลเวียนของโลหิตบริเวณฝ่าเท้า ตรวจสอบความสัมพันธ์การลงน้ำหนักเท้าและสีของฝ่าเท้า และสามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสีของฝ่าเท้าหลังจากการใช้อุปกรณ์เสริมฝ่าเท้าแล้ว เมื่อการพัฒนาโครงการสิ้นสุด สามารถนำระบบนี้ไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคทางเท้าได้ แพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถประเมินการรักษาได้แม่นยำมากขึ้น ทราบความน่าเชื่อถือของการวัดรอยพิมพ์ฝ่าเท้าจากภาพถ่ายแบบดิจิตอลผ่านเครื่องโพโดสโคปในกรณีผู้ตรวจและวัดกระทำ ณ เวลาที่แตกต่างกัน และที่สำคัญ คือ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาแพงจากต่างประเทศอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น