++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

ม.รังสิต แนะผู้บริหารประเทศห้ามสปอยคนในชาติจนเสียนิสัย

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้การจัดการบริหารความเสี่ยงขององค์กรเป็นสิ่งสำคัญ แนะรัฐมองประชาชนเหมือนลูก แต่ต้องไม่เลี้ยงอย่างสปอย เพราะจะทำให้ประชาชนไม่มีประสิทธิภาพ



ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีแต่ความไม่แน่นอน ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปัจจุบันสิ่งที่ผู้บริหารควรคำนึงถึง คือเรื่องการจัดการบริหารความเสี่ยงขององค์กร ในอดีตที่ผ่านมาองค์กรขนาดใหญ่ต้องประสบภาวะวิกฤติจนถึงขั้นปิดกิจการ ด้วยสาเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่คาดไม่ถึง ปัจจุบันหลายองค์กรจึงมองถึงการจัดการความเสี่ยงขององค์กรมากขึ้น ทั้งนี้ความเสี่ยงขององค์กรเป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น การบริหารมหาวิทยาลัย อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา อาจารย์ หรือเจ้าหน้าที่ ก็ถือเป็นความเสี่ยงทั้งนั้น ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่นานเข้าก็สะสมมากขึ้น เช่น ของหายในมหาวิทยาลัย ที่อาจจะทำให้นักศึกษาเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ในสายตาของคนภายนอก ทั้งนี้ในกรณีขององค์กรต่างๆ ความเสี่ยงที่จะเกิดต่อองค์กร เช่น พนักงานขโมยสินค้ากลับบ้าน ไม่ตั้งใจทำงาน หรือทำงานไม่เต็มความสามารถ ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อองค์กร เช่น บางธนาคารในต่างประเทศเปิดมาเป็นร้อยปี แต่ต้องปิดกิจการเพราะคนๆ เดียวที่แอบยักยอกบัญชี ก็ทำให้ธนาคารเกิดภาวะล้มละลายได้

ดร.กิตติพันธ์ กล่าวต่อไปว่า หากมองในมุมของภาคธุรกิจ ความเสี่ยงในระดับประเทศ คือ การทำธุรกิจกับต่างประเทศ หรือสิ่งที่รัฐต้องคอยสนับสนุนให้กับธุรกิจที่จะทำการค้าขายกับต่างประเทศ เพราะรัฐจะต้องส่งเสริมในหลายด้าน เช่น เรื่องกฎระเบียบ กฎหมาย ภาษีต่างๆ รวมถึงเรื่องของปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่รัฐจะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและผู้ที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น จะต้องมีการกระตุ้นในภาคเศรษฐกิจให้ระบบเศรษฐกิจสามารถดำเนินและดำรงอยู่ได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมทำให้หลายธุรกิจอยู่ภาวะวิกฤติ หากผ่านพ้น 2 ปีนี้ไปได้ ก็อาจจะดำเนินการต่อไปได้ด้วยดี เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องคอยส่งเสริมให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่ต่อให้ได้

“ความจริงแล้วการบริหารกระทรวงการคลังเป็นเรื่องไม่ยาก มันขึ้นอยู่กับว่าทำอย่างไรให้คนในประเทศมีเงินใช้ ให้เม็ดเงินไปถึงประชาชน ทำอย่างไรให้มีพอกิน แต่นโยบายประชาวิวัฒน์นี้ เม็ดเงินไปถึงประชาชนเพียงบางกลุ่ม ดังนั้น การดำเนินนโยบายประชาวิวัฒน์จะต้องมีวิธีการที่ชัดเจน ไม่ใช่เพียงผ่านเงินไปถึงตัวผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือผู้หลักผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ต้องให้เม็ดเงินไปถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง” ดร.กิตติพันธ์ กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี กล่าวต่อไปว่า คุณสมบัติที่ดีของผู้บริหารประเทศ คือ การบริหารจัดการองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่หรือว่าองค์กรเล็ก ควรใช้การบริหารการจัดการด้วยความรัก ผู้บริหารประเทศต้องมองประชาชนเหมือนลูกจริงๆ อย่าไปมองประชาชนว่าเป็นแค่คนมีสิทธิ์มาเลือกตั้ง เป็นเหยื่อของเรา หรือเป็นลูกค้าของเรา แต่ต้องมองประชาชนว่าเป็นคนในครอบครัว ซึ่งเป็นลูกของเรา จะทำอย่างไรให้ลูกของเราได้ในสิ่งที่ดีที่สุด เช่น เรื่องของการกู้เงินในนโยบายประชาวิวัฒน์ บางครั้งผู้บริหารส่งเสริมให้คนในประเทศกู้เงินมากกว่าการออม ซึ่งในระยะแรกส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจไปได้ดี เกิดการกระตุ้นทางด้านภาวะเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาวไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อาจจะสะดุดขาตนเองล้มลงในอนาคตก็ได้ ดังนั้นผู้นำจึงควรส่งเสริมให้ประชาชนออมเงิน

“ถ้ารัฐมองทุกคนเป็นเหยื่อ แสดงว่าจะต้องกัดกินทุกคนให้หมด แต่ถ้ารัฐบาลมองทุกคนเป็นลูก รัฐก็จะมีลักษณะการบริหารงานที่เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ปัจจุบันประชาชนหลายคนมีความรู้ดีกันหมด แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตร ในภาคชนบทอีกจำนวนหนึ่งก็ยังต้องการการดูแลที่ดีจากภาครัฐบาล แต่ทั้งนี้รัฐจะต้องไม่สปอย คือ เอาใจประชาชนจนเสียนิสัย เพราะจะทำให้ประชาชนไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากเราทำเพียงการแจกเงิน สุดท้ายประชาชนก็มีฐานะดีเพราะเงินรัฐ แต่ภาคเศรษฐกิจจริงๆ จะไม่มีรายได้ เนื่องจากประเทศไม่มีรายได้จากการสร้างงานของประชาชนจริงๆ เพราะฉะนั้นเราควรให้เขาเรียนรู้วิธีการที่จะหาเงินของตนเองให้ได้ เมื่อ 5-6 ปีก่อน รัฐเคยสนับสนุนให้ประชาชนรู้จักการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย รวมถึงการสอนแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง แต่ปัจจุบันประชาชนไม่ได้นำแนวทางดังกล่าวมาใช้เลย“ ดร.กิตติพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น