ผมไม่รู้จักวีระและราตรีเป็นการส่วนตัว แต่ได้ติดตามข่าวคราวของบุคคลทั้งสองตั้งแต่ถูกจับไปขึ้นศาลที่กัมพูชา ด้วยความห่วงใย โดยเฉพาะวีระซึ่งมีข่าวว่าเจ็บป่วย มีโรคประจำตัวหลายโรค ไม่ทราบว่าเท็จจริงเพียงใด เพราะประวัติการเจ็บป่วยเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่เปิดเผยอยู่แล้ว
วีระและราตรีจะถูกจับตัวไปในขณะที่ยังอยู่บนแผ่นดินของประเทศไทยหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นที่จะเขียนถึงในวันนี้ ผมมีความห่วงใยเรื่องความเจ็บป่วยของวีระมากกว่า ข่าวเรื่องสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ในเรือนจำกัมพูชา ผมพอเห็นภาพได้ แม้แต่คุณพนิช ซึ่งมีสุขภาพดีก่อนไปถูกจำคุก ยังได้รับโรคร้ายมาจากเรือนจำกัมพูชา วีระซึ่งมีโรคประจำตัวอยู่แล้วตามข่าว ย่อมติดโรคได้ง่ายและโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ เมื่อตกอยู่ในสภาพของความกดดัน เครียดและสภาพแวดล้อมที่มีผลเสียต่อสุขภาพ โรคอาจกำเริบรุนแรง จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนราตรีแม้ไม่มีข่าวว่าเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ก็น่าเป็นห่วงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
ข่าวเกี่ยวกับวีระและราตรีที่ผมทราบจากสื่อมวลชน มีแต่ด้านลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจ็บป่วยที่กำเริบขึ้นและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะควร ไม่ได้รับการอนุญาตให้เยี่ยมจากญาติหรือเยี่ยมได้ยากมาก สิ่งเหล่านี้ถ้าเป็นความจริงย่อมขัดกับหลักมนุษยธรรมเป็นอย่างยิ่ง ผมไม่ได้ยินว่ารัฐบาลไทย โดยกระทรวงยุติธรรม หรือกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตไทยในกัมพูชาได้มีปฏิกิริยาที่เป็นทางการแต่อย่างใดเลย แถมมีข่าวในสื่อมวลชนเสียอีกว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำกัมพูชาแสดงความสงสัยว่า เหตุใดสถานทูตไทยในกัมพูชาไม่ค่อยสนใจความเป็นอยู่ของวีระในเรือนจำเลย
ความจริงแล้วการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังในเรื่องที่เป็นปัญหาข้างต้นนั้น ไม่ว่าจะเรื่องการอนามัยเรือนจำ การเจ็บไข้ได้ป่วย การรักษาโรครวมทั้งการให้เยี่ยมเยียน มีแนวทางกำหนดไว้นานแล้วใน มาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติสำหรับปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง ซึ่งทั้งประเทศไทยและกัมพูชาต่างก็เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ชอบที่จะปฏิบัติตาม แม้มาตรฐานขั้นต่ำนี้จะไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย แต่ก็เป็นแนวทางเพื่อให้สมาชิกของประชาคมโลกที่เจริญแล้ว ได้ปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังอย่างมีมนุษยธรรมไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ก็ตาม
โดยสภาพความเป็นจริง กัมพูชาอาจไม่สามารถพัฒนาเรือนจำให้มีมาตรฐานสูงส่งได้ แต่ผมก็เชื่อว่าผู้บริหารกิจการราชทัณฑ์ของกัมพูชาให้ความเคารพ และยอมรับมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติ และสมาชิกของประชาคมผู้บริหารราชทัณฑ์แห่งเอเชียและแปซิฟิค ซึ่งมีการประชุมพบปะกันทุกปี นั่นหมายความว่า ผู้ถูกคุมขังในเรือนจำกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นคนเขมรหรือคนต่างชาติย่อมได้รับการอนุญาตให้ญาติเยี่ยมได้ตามสมควร โดยมีระเบียบกำหนดระยะเวลาแน่นอน
และเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ทั้งผู้ถูกคุมขังชาวเขมรและชาวต่างชาติ จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ตามมาตรฐานการแพทย์ของกัมพูชาและมาตรฐานสากล หากเรือนจำกัมพูชาไม่สามารถให้การดูแลได้ จำเป็นต้องส่งผู้ป่วยไปยังสถานที่เหมาะสมหรือแม้แต่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ ผู้ถูกคุมขังก็สมควรได้รับสิทธิเช่นนั้น เว้นแต่มีข้อจำกัดหรือข้อห้ามที่ชอบด้วยเหตุผล แต่ก็ต้องมีการเยียวยาทดแทนที่ยอมรับได้
สำหรับวีระและราตรี การได้รับการเยี่ยมไม่น่าจะยากเย็นเหมือนกับที่ปรากฏในข่าว และหากมีความเจ็บป่วยซึ่งทางเรือนจำกัมพูชามีศักยภาพในการดูแลรักษาไม่เพียงพอ ก็สมควรได้รับการดูแลจากแพทย์ภายนอกเรือนจำ โดยจะนำแพทย์เข้าไปรักษาในเรือนจำหรือส่งตัววีระออกไปรักษานอกเรือนจำก็ได้ และถ้าเรือนจำกัมพูชามีงบประมาณไม่เพียงพอ สถานทูตไทยในกัมพูชาควรยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือตามหน้าที่ หากสถานทูตไทยไม่มีงบประมาณค่ารักษาหรือค่ายา ผมเชื่อว่าญาติมิตรของวีระพร้อมช่วยเหลืออยู่แล้ว เพียงแต่สถานทูตไทยแจ้งให้ญาติทราบเท่านั้น
สิ่งที่ผมเขียนเป็นแนวทางที่เป็นสากล ประเทศต่างๆ อาจปฏิบัติได้ดีกว่าหรือด้อยกว่านี้ไปบ้าง แต่ก็ควรพยายามปฏิบัติ สำหรับประเทศไทยปฏิบัติอยู่เป็นปกติและหลักการเหล่านี้ก็มีอยู่ในกฎหมายราชทัณฑ์ของไทย สถานทูตของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปหรืออเมริกาทราบดีและมีการประสานงานกับกรมราชทัณฑ์อยู่เป็นประจำ
บนพื้นฐานของมนุษยธรรม ผมจึงอยากขอร้องให้รัฐบาลไทยโดยกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศผ่านทางสถานทูตไทยในกัมพูชา ได้ดูแลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หรือถ้าดำเนินการอยู่แล้วก็กรุณาแถลงข่าวให้ประชาชนไทยได้ทราบบ้างว่าวีระและราตรีซึ่งเป็นประชาชนไทยเช่นกัน ได้รับการดูแลตามหลักการนี้มากน้อยเพียงใด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น