ไม่มีใครอยู่เหนือวิถีธรรมชาติได้หรอก หากชาวโลกยังคงยึดอัตตาแห่งตนเป็นที่ตั้งในการสัมพันธ์กับธรรมชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตกอยู่ในวังวนของวัตถุนิยม และบริโภคนิยมอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ปลายทางของเส้นทางแห่งอัตตานี้ ย่อมเป็นหายนะอย่างไม่ต้องสงสัย หากชาวโลกไม่สามารถหวนคืนกลับสู่วิถีที่ปรองดองกับธรรมชาติได้ ธรรมชาติก็ต้องเอาคืนด้วยการปรับตัวอย่างรุนแรง เพื่อสร้างสมดุลใหม่อีกครั้ง เพราะเราจะต้องไม่ลืมสัจธรรมที่ว่า ฟ้านั้นอยู่ค้ำคน แต่คนมิได้อยู่ค้ำฟ้า!
หากชาวโลกปรับตัวล่าช้าในการกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอีกครั้ง การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงโดยพลังของธรรมชาติ จะทำให้สังคมมนุษย์หลังจากนั้นไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป ลองคิดดูให้ดี ฟ้าให้ธรรมชาติแก่มนุษย์มา ฟ้าประทานต้นไม้ทุกต้นให้แก่มนุษย์ โดยมีความหลากหลายเชิงพืชพรรณอย่างนับจำนวนไม่ถ้วน ฟ้าให้ต้นไม้มาเพื่อเป็นต้นแบบของการให้ สำหรับให้มนุษย์ได้เรียนรู้ความจริงจากธรรมชาติ ธรรมชาตินั้นสอนมนุษย์อยู่ตลอดเวลา แต่มนุษย์เคยเรียนรู้อะไรจากธรรมชาติบ้างเล่า?
ต้นไม้ไม่เคยอิจฉาริษยากัน ต้นไม้ไม่เคยแก่งแย่งสถานที่กัน มีแต่เกื้อกูลกัน ต้นไม้แต่ละต้นต่างทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องทำอวดใคร ต้นไม้ทุกต้นล้วนทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดเป็นประโยชน์สูงสุดให้สรรพสิ่งก็เพียงพอแล้วโดยไม่สนใจในสายตาผู้อื่นเลยว่าจะเห็น “ความดี” ของตนหรือไม่
ธรรมชาติคือผู้ให้ที่แท้จริง มนุษย์ต่างหาก เคยคิดให้อะไรแก่ธรรมชาติบ้างหรือไม่? เคยรู้สึกสำนึกขอบคุณธรรมชาติ ขอบคุณอากาศ ขอบคุณน้ำ ขอบคุณดิน ขอบคุณต้นไม้ทุกต้น ขอบคุณสัตว์ทุกชนิด ขอบคุณทุกสรรพสิ่งที่โอบอุ้มชีวิตของพวกตนเสมอมาบ้างหรือไม่?
ขุนเขา แผ่นดินเป็นที่รองรับการเหยียบย่ำของผู้คนมาชั่วกาลนาน แต่มันก็มิเคยเอ่ยปากขอร้องคำสรรเสริญยกย่อง ชื่นชมจากผู้คนที่ตักตวงผลประโยชน์จากมัน
ทะเล มหาสมุทรเป็นที่รองรับของขยะ สิ่งโสโครกปฏิกูลทั้งปวงจากชาวโลกมานมนาน แต่มันก็มิเคยพร่ำบ่นน้อยใจ และติเตียนเหล่ามนุษย์ผู้อกตัญญูทั้งหลายนี้
ดวงอาทิตย์ให้แสงสว่าง ความอบอุ่นแก่สรรพชีวิตมาโดยอย่างเท่าเทียมกัน แต่มันก็มิเคยเอ่ยปากขอสิ่งตอบแทนจากเหล่าสรรพชีวิตทั้งหลายเลย
ด้วยเหตุนี้ ทั้งขุนเขา แผ่นดิน ทะเล มหาสมุทร และดวงอาทิตย์จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนผู้มีหัวใจดีงาม อันเนื่องมาจากคุณสมบัติแห่ง “ความยิ่งใหญ่ด้วยจิตใจอันเสียสละอย่างไม่มีเงื่อนไข” นี้นั่นเอง
โลกนี้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งต่างๆ ในลักษณะของการเกื้อกูลกันและกัน โลกไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อมนุษย์เท่านั้น โลกไม่ได้เป็นของมนุษย์เพียงผู้เดียว แต่โลกคือ รูปธรรมแห่งวิถีของธรรมชาติผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ที่สร้างสรรพสิ่งให้เกื้อกูลกันเรื่อยมา
“คลื่นซัดฝั่งทราย ฟองฟ่องขาวกระจาย ประกายสีเงินนวลตา เมฆขาวลอยมา ท้องฟ้าชวนมอง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เสรีภาพตามครรลอง ผู้ครอง คือ ฟ้าดิน”
โลกทัศน์ที่มองว่า โลกต้องรับใช้มนุษย์ อัตตาที่ยึดติดว่าโลกใบนี้เกิดมาเพื่อมนุษย์เท่านั้น รังแต่จะสร้างปัญหาให้แก่สังคมโดยรวม เพราะมุมมองดังกล่าวเป็นการมองอย่างแยกส่วนต่อโลก การที่ผู้คนจำนวนมากบนโลกใบนี้กำลังต่อสู้แข่งขันกันเองตั้งแต่เกิดไปจนตาย ด้วยระดับความดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มุมมองของผู้คนในยุคปัจจุบันยึดติดแน่นกับอัตตาหรือ “ตัวกูของกู” มากจนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้างในลักษณะที่เห็นแก่ตัว และมุ่งตอบสนองต่ออัตตามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนำไปสู่วิกฤตต่างๆ ขึ้นมากมายอย่างที่เราเห็น
ชีวิตนี้ความจริงแล้วมีมุมมองที่มากกว่าวัตถุด้านเดียว เพราะยังมีมุมมองเชิงจิตวิญญาณ มุมมองเชิงสังคม มุมมองของสำนึกต่อส่วนรวม และโลกดำรงอยู่ด้วย การมีมุมมองต่อชีวิตอย่างบูรณาการเช่นนี้ได้ จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะนำพาตัวเรากลับคืน และปรองดองกับวิถีธรรมชาติได้อีกครั้ง
จงอย่าลืมว่า การที่มนุษย์มีวิวัฒนาการขึ้นมาบนดวงดาวดวงนี้ได้ โลกใบนี้ของเราต้องผ่านการวิวัฒนาการมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งอย่างยาวนานกว่าที่จักรวาลจะสร้างโลกที่เหมาะสม และเอื้อต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ องค์ความรู้ใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวิวัฒนาการของโลก และจักรวาล รวมทั้งกลไกการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ ทำให้เราจะต้องสำนึกขอบคุณเกือบทุกๆ สิ่งที่ช่วยสร้างภาวะที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตให้แก่มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสาหร่าย ดวงจันทร์ แพลงก์ตอน แนวปะการัง เม็ดทราย ชายหาด จุลินทรีย์ สัตว์ต่างๆ ฝน น้ำ อากาศ บรรยากาศ ฯลฯ
คำขอบคุณมากมายนับไม่ถ้วนที่เราต้องขอบคุณการสร้างสรรค์ของธรรมชาติเพื่อการดำรงอยู่ของเรา และเพื่อให้เราเรียนรู้วิถีการดำรงอยู่อย่างปรองดองร่วมกับธรรมชาติในหนทางที่สร้างสรรค์อารยธรรมของตนให้พัฒนากลมกลืน และสอดคล้องไปกับสมดุลของสรรพสิ่ง และการพึ่งพาช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างสรรพสิ่ง
ธรรมชาติคือครูผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สอนให้เราเห็นถึงความหมายของกลางวัน และกลางคืน ความอบอุ่นของดวงอาทิตย์ และความอ่อนโยนของดวงจันทร์ ความหมายของการว่ายเวียนเปลี่ยนผันของฤดูกาล พลังแห่งการกำเนิดชีวิตของทะเล ความหนักแน่นของขุนเขา ความไม่รู้หลับของเกลียวคลื่น สายธารที่ไหลมาบรรจบเป็นแม่น้ำที่หวนคืนสู่ทะเล ความรู้สึกที่ไร้กังวลของเมฆที่ลอยล่อง สิ่งเหล่านี้ธรรมชาติได้สอนเราอยู่เสมอว่า มนุษย์เราควรจะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ เยี่ยงไร
“หยาดน้ำค้างหยดเดียวสะท้อนโลกทั้งใบ แสงจันทร์อำไพกระจ่างอยู่ในใจข้า”
การที่ดวงจันทร์บนท้องฟ้าทั้งดวงมาสงบนิ่งอยู่ในหยดน้ำค้างบนใบหญ้าเพียงหยดเดียว สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของธรรมชาติภายนอกกับธรรมชาติภายในตัวเรา แต่บัดนี้มนุษย์โลกกำลังทำลายความสมดุลเหล่านั้นเพียงเพื่อจะนำธรรมชาติมาขับเคลื่อนรับใช้อารยธรรมทางวัตถุของตน ด้วยความบ้าคลั่งแห่งอัตตาของมนุษย์ เรากำลังทรยศต่อธรรมชาติผู้เป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ของเราอย่างขาดสำนึกผิดชอบชั่วดี
“ฟ้าอยู่ในคน ฤาคนอยู่ในฟ้า ใต้หล้าหนึ่งฟ้า ใจข้าหนึ่งเดียว”
เราจะต้องรู้จักปล่อยวางอย่างสิ้นเชิง สลายตัวตนทั้งผู้รู้ และสิ่งที่ถูกรู้ มีแต่การ “รู้” อย่างบริสุทธิ์ล้วนๆ เท่านั้น ทุกอย่างหลอมรวมเป็นหนึ่งเข้ากับความจริงของธรรมชาติ ทั้งตัวเราและสิ่งรอบข้างกลายเป็นหนึ่งเดียว เราเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่ง หากเรามีจิตกระจ่างที่จะมองทะลุซึ้งความวุ่นวายของระบบจนแลเห็นความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง เราจะไม่เคยโดดเดี่ยวเพราะความโดดเดี่ยวถูกสร้างขึ้นมาจากอัตตาของเราเอง เพื่อแบ่งแยกจากสิ่งอื่น อัตตาเดียวกันนี้แหละที่ทำให้เราหันคมดาบใส่ผู้อื่น ก่อให้เกิดสงครามทุกรูปแบบ และสร้างความโลภที่ไม่สิ้นสุดขึ้นมา
“ใจสบายคือใจเซน ใจเย็นเพราะใจเบา ใจเราคือใจเขา ใจไม่เอาคือใจจริง”
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่คนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ ควรหันมาทบทวนวิถีของตัวเอง เพื่อหวนคืนกลับมาอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูลกันอีกครั้ง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนส่วนใหญ่ควรหันมายอมรับกันตรงๆ ว่า ที่ผ่านมา พวกตน “หลงทาง” เพราะไม่คำนึงถึงสิ่งใดนอกจากการสะสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ โดยละเลยเรื่องอื่นๆ อย่างทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และจิตวิญญาณ โดยเห็นว่ามีความสำคัญน้อยกว่ามาก
“สันโดษในริมธาร วิเวกในพงไพร กระจ่างใจในท้องฟ้า เจิดจ้าในแสงตะวัน”
...ฉันนั่งขัดสมาธิอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ริมคลอง ขณะที่ฝนกำลังตกพรำๆ เมื่อจิตกับกายของฉันรวมเป็นหนึ่ง ฉันก็ใช้พลังแห่งจิตนาการของฉันค่อยๆ สลายโครงกระดูก และร่างกายส่วนอื่นๆ ของฉัน จนตัวฉันกลายเป็น “หยดน้ำ” ที่ค่อยๆ ไหลซึมลงไปในแผ่นดินใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ที่ฉันกำลังบำเพ็ญสมาธิอยู่ “หยดน้ำ” นี้ค่อยๆ ไหลลงสู่ลำคลอง กลายเป็นหยดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย
สายลมได้พัดพาหยดน้ำนั้นให้ไหลขึ้นเริงร่าอยู่บนยอดคลื่น ภายหลังจากที่ลมสงบลง ทะเลใหญ่คืนสู่ความนิ่งงันราวกับผืนกระจก “หยดน้ำ” นี้ก็ค่อยๆ ดำดิ่งลงไปสู่พื้นมหาสมุทรที่ลึกล้ำที่สุดราวกับอยู่ที่หว่างกลาง “ใจน้ำ” ของท้องมหาสมุทรนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น