ชอบกลอนบทคลาสสิคของท่านพุทธทาสบทนี้มากคะ ทุกคนคงเคยได้ยินกันอยู่แล้ว
แต่ขออนุญาตส่งมาย้ำกันลืมอีกครั้งหนึ่งพร้อมบทความจากหนังสือพิมพ์ถึงท่านพุทธทาสนะคะ
@^_^@
เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง ฯ
พุทธทาสภิกขุ.
Image
ท่านพุทธทาส : ปราชญ์แห่งวงการสงฆ์
โดย เสถียรพงษ์ วรรณปก
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2548 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่อง “ท่านพุทธทาส” เป็นบุคคลสำคัญของโลก เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบ 100 ปี ชาตกาลในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2549 สื่อมวลชนทุกแขนงได้แพร่ข่าวนี้ไปทั่วโลก ยังความยินดีปรีดาแก่สานุศิษย์และผู้ใคร่ธรรมทั้งไทยและประเทศโดยถ้วนหน้า
ท่านพุทธทาส เป็นพระแท้ของสยามประเทศรูปหนึ่งที่มีอุดมการณ์สูงส่ง ท่านได้อุทิศชีวิตของท่านเพื่อพระพุทธศาสนา พยายามปลุกชาวพุทธให้ตื่นจากความหลับไหลมัวเมา และดำเนินชีวิตด้วยความถูกต้องดีงามตามแนวทางของพุทธธรรม
ท่านพุทธทาส เป็นพระที่มีความใส่ใจในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพระนักปฏิบัติตัวยง ซ้ำยังมีความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ในสิ่งถูกต้องดีงามเพื่อความงอกงามไพบูลย์แห่งพระพุทธศาสนา
ในฐานะที่ผมมีบุญได้ไปบวชอยู่ที่สวนโมกขพลาราม ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ.2503 ได้รับการศึกษาอบรม รวมทั้งได้อ่านได้ฟังคำสอนของท่าน ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่า “ล้ำลึก ทันสมัย ชวนให้คิดพิจารณาเนืองๆ”
ท่านพุทธทาสมีจุดเด่นหลายประการ แต่ผมขอยกมาเสนอเพียง 5 ประการดังนี้
1. ท่านจะแสดงธรรมทั้งที่เป็นโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม มิใช่แสดงธรรมที่เป็นระดับพื้นๆ เท่านั้น ท่านเน้นในเรื่องของธรรมะชั้นสูงหรือเหนือโลกด้วย
2. ท่านเป็นพระที่ต่อต้านกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม ธนนิยมและทุนนิยม อาจกล่าวได้ว่าท่านสนับสนุนให้ศาสนิกเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันอย่างแท้จริง
3. ท่านเน้นในเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น ท่านมักย้ำเสมอว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรที่เราจะไปยึดมั่นถือมั่น” เพราะการยึดมั่นถือมั่นคือต้นเหตุให้เกิดความทุกข์
4. ท่านปฏิเสธในเรื่องความงมงายและไสยศาสตร์ ท่านจะเอาปัญญาและเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์เป็นที่ตั้ง ท่านไม่ใช่พระนักปลุกเสก แต่เป็นพระนักเทศน์ มุ่งอบรมสั่งสอนให้คนมีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินชีวิตตามแนวทางพุทธธรรม
5. ท่านมักเน้นเสมอว่า “งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข” “การงานคือการปฏิบัติธรรม” “ธรรมะคือหน้าที่” “ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาวินาศ” และ “ให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง”
จากจุดเด่นในแง่มุมต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ผมใคร่ขอนำเอาข้อความที่ท่านได้เขียนด้วยลายมือของท่านเอง ในหนังสือต่างๆ (บางเล่ม) ที่ได้พิมพ์ในช่วงปี พ.ศ.2514 ถึง 2529 โดยคัดเอาเฉพาะข้อความที่กินใจ อ่านแล้วชวนให้คิดและพิจารณาเท่านั้น
ขอเริ่มจากหนังสือเรื่อง “ฆราวาสธรรมและทิศธรรม” (พ.ศ.2514) เป็นอันดับแรก
ท่านพุทธทาส ได้เขียนไว้ว่า “โลกิยธรรมเท่ากับการทำงานหนัก โลกุตรธรรมเท่ากับการพักผ่อนของวิญญาณ ถ้าไม่สมดุลกันแล้ว จะเกิดความฉิบหายทางวิญญาณ แม้ร่างกายจะดูยังดีอยู่เขาก็เป็นอันธพาลทางวิญญาณโดยสิ้นเชิง คนจะเป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิต ก็ต้องเป็นชีวิตที่เป็นการเดินทางไปข้างหน้าด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ตาม มิฉะนั้นแล้วก็หมดความเป็นมนุษย์ที่แปลว่ามีจิตใจสูง หรือเหล่ากอของผู้ที่มีจิตใจสูง
ชาวตะวันออกร่ำรวยด้วยความสว่างไสวทางวิญญาณ ศาสนาทุกศาสนาเกิดในทางตะวันออก พวกตะวันตกมีแต่ความรู้เรื่องปากเรื่องท้อง เดี๋ยวนี้มีวิวัฒนาการมากจนเรียกว่าเทคโนโลยี พวกฝรั่งเขาบูชาเทคโนโลยี หายใจเป็นเทคโนโลยี คือเรื่องปากเรื่องท้อง ความสว่างไสวทางวิญญาณหายไปหมด ผลของเทคโนโลยี ซึ่งมีแต่ให้เอร็ดอร่อยทางปาก ทางท้อง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือว่าจะเอาอะไรก็ได้ทางฝ่ายวัตถุ ไปโลกพระจันทร์ก็ได้ แต่ความสว่างไสวทางวิญญาณมันไม่มี”
ขอให้รู้ว่า ศาสนาทุกศาสนาเขาถือหลักเดียวกันหมด โลภเกินนั้นลามก ในศาสนาคริสเตียนก็มีว่า “ถ้าแสวงหาหรือมีไว้เกินจำเป็นนั้นเป็นบาป เพราะคนที่แสวงหาหรือโลภนั้นต้องทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนมาก แล้วตัวเองก็มีความทุกข์เกินกว่าที่ควรจะเป็นหรือมีไว้แต่เพียงพอเหมาะพอดี”
จาก หนังสือธรรมปาฏิโมกข์ เล่ม 2 (พ.ศ.2517) ท่านพุทธทาสได้ปรารภอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับโลกเอาไว้ว่า “โลกสมัยนี้ กำลังขาดธรรม โดยเฉพาะในขั้นศีลธรรม ด้วยเหตุต่างๆ จึงเกิดการกระส่ำระสาย แล้วก็แก้ไขวิกฤตการณ์ทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้ พูดกันไม่รู้เรื่องทั้งภายในชาติและระหว่างชาติ ทุกรัฐบาล แม้จะเป็นรัฐบาลที่ถือกันว่าดี ก็ยังมีอาการเหมือนกับการเปลี่ยนหน้ากันขึ้นมาจับปูใส่กระด้งเท่านั้นเอง โลกกำลังหลงถือลัทธิที่แยกธรรมหรือศาสนาออกจากการศึกษาทั่วไป แยกวัดออกจากโรงเรียน แยกครูออกจากความเป็นปูชนียบุคคลหรือแม้แต่ความเป็นอุบาสก มีแต่การศึกษาให้คนเฉลียวฉลาดอย่างเดียวไม่รู้จักทำให้มีศีลธรรมกันเลย ซ้ำยังเกลียดกลัวศาสนาว่าจะทำให้ครึคระล้าสมัย เสียเปรียบคนพวกอื่น ทุกคนมุ่งหน้าแต่จะกอบโกยปัจจัยแห่งความสุขทางวัตถุอย่างเดียว
โลกกำลังบูชาเศรษฐกิจและการเมือง ไม่เหลียวแลศีลธรรม โดยลืมไปว่า ถ้าขาดศีลธรรมแล้ว เศรษฐกิจและการเมืองนั่นแหละคือเครื่องทำลายโลก ยิ่งเก่งเท่าไร ยิ่งทำลายโลกเร็วขึ้นเท่านั้น และทำลายถึงรากฐาน คือส่วนลึกของจิตใจมนุษย์จนหมดความเป็นมนุษย์นั่นเอง”
จาก หนังสือธรรมสากัจฉา ระหว่างพุทธทาสกับคึกฤทธิ์ (พ.ศ.2515) ท่านพุทธทาส เขียนไว้ว่า “ทุกศาสนาล้วนแต่มีธรรมะเป็นเนื้อใน ซึ่งถ้านำออกมาใช้ได้ก็จะแก้ไขวิกฤตการณ์ของโลกได้ การทำให้โลกมีศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งแห่งยุคปัจจุบัน ศาสนิกของแต่ละศาสนาจะต้องเข้าถึงแก่นแท้แห่งศาสนาของตนๆ จึงจะร่วมมือกันช่วยโลกได้
สิ่งที่ต้องระมัดระวัง ตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษอย่างหนึ่งก็คือ เรากำลังทำกันได้แต่เพียงรู้ธรรมะ แต่ไม่มีธรรมะ ยังไม่มีธรรมะใช้ในการแก้ปัญหานั้นๆ อย่างเพียงพอ เราไม่บังคับตัวเองให้มีธรรมะอย่างที่เราได้เรียนรู้ เรายังไม่ละอายในการที่เราไม่มีธรรมะ เรายังไม่กลัวอันตรายอันเกิดขึ้นจากการที่เราไม่มีธรรมะ
การศึกษาระบบ “สุนัขหางด้วน” แห่งโลกยุคปัจจุบันนั้น นอกจากไม่สอนธรรมะ มัวแต่สอนหนังสือกับวิชาชีพแล้ว ยังสอนไปในทางไม่ให้บังคับตัวเองด้วย โดยถือว่าเป็นการเสียอิสรภาพและผิดหลักจิตวิทยา พลโลกยุคปัจจุบันจึงอยู่ในฐานะที่ยากที่จะมีธรรมะมากยิ่งขึ้นทุกที เพราะหลงมีรสนิยมแห่งการตามใจตัวเอง อันเป็นข้าศึกต่อธรรมะ คนในยุคปัจจุบันบูชาความอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แทนการบูชาพระเจ้า โลกจึงอัดแออยู่ด้วยเหยื่อกามารมณ์ และวิธีการบริโภคกามารมณ์อย่างวิปริตวิตถารชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน”
ท้ายที่สุด ผมขอหยิบยกคำกลอน ซึ่งท่านพุทธทาสได้รจนาไว้ในหนังสือ “หัวข้อธรรมในคำกลอนและบทประพันธ์ของสิริวยาส” เมื่อครั้งที่ท่านเจริญอายุได้ 80 ปี (พ.ศ.2529) ซึ่งธรรมทาน มูลนิธิจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อแจกแก่ผู้ไปร่วมงานเมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2529
คำกลอนของท่านพุทธทาสมีมากกว่า 100 บท แต่ละบทมีเนื้อหาสาระและมีความไพเราะเพราะพริ้งราวกวีรังสรรค์ ดังที่ผมคัดสรรมาสำหรับประกอบบทความในครั้งนี้เพียง 4 บท
บทกลอนสอนใจบทแรก ท่านตั้งหัวข้อว่า “มองแต่แง่ดีเถิด”
(บทกลอนบทนี้จัดว่าเป็นกลอนยอดฮิต คนทั่วไปมักรู้จักและท่องได้)
เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง
บทกลอนที่ 2 ว่าด้วย “เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง”
จงทำงาน ทุกชนิด ด้วยจิตว่าง ยกผลงาน ให้ความว่าง ทุกอย่างสิ้น
กินอาหาร ของความว่าง อย่างพระกิน ตายเสร็จสิ้น แล้วในตัว แต่หัวที
ท่านผู้ใด ว่างได้ ดังว่ามา ไม่มีท่า ทุกข์ทน หม่นหมองศรี
“ศิลปะ” ในชีวิต ชนิดนี้ เป็น “เคล็ด” ที่ ใครคิดได้ สบายเอย
บทกลอนที่ 3 ว่าด้วย “การงานคือการปฏิบัติธรรม”
อันการงาน คือคุณค่า ของมนุษย์ ของมีเกียรติ สูงสุด อย่าสงสัย
ถ้าสนุก ด้วยการงาน เบิกบานใจ ไม่เท่าไร ได้รู้ธรรม ฉ่ำซึ่งจริง
เพราะการงาน เป็นตัวการ ประพฤติธรรม กุศลกรรม กล้ำปนมา มีค่ายิ่ง
ถ้าจะเปรียบ ก็เปรียบคน ฉลาดยิง นัดเดียววิ่ง เก็บนก หลายพวกมา
คือการงาน นั้นต้องทำ ด้วยสติ มีสมาธิ ขันติ มีอุตสาห์
มีสัจจะ มีทมะ มีปัญญา มีศรัทธา และกล้าหาญ รักงานจริง
สุดท้ายเป็นบทกลอนว่าด้วย “ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา”
ถ้าศีลธรรม ไม่กลับมา โลกาวินาศ มนุษย์ชาติ จะเลวร้ายกว่า เดรัจฉาน
มั่วหลงเรื่อง กินกามเกียรติ เกลียดนิพพาน ล้วนดื้อด้าน ไม่เหนี่ยวรั้ง บังคับใจ
อาชญากรรม เกิดกระหน่ำ ลงในโลก มีเลือดโชก แดงฉาน แล้วซ่านไหล
เพราะบ้ากิน บ้ากาม ทรามเกินไป บ้าเกียรติก็ พอไม่ได้ ให้เมาตน
อยากครองเมือง ครองโลก โยกกันใหญ่ ไม่มีใคร เมตตาใคร ให้สับสน
ขอศีลธรรม ได้กลับมา พาหมู่คน ให้ผ่านพ้น วิกฤตการณ์ ทันเวลา
ครับ ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะพินาศ ดังที่ท่านพุทธทาสปรารภไว้นั้นไม่ผิดเพี้ยน ทำอย่างไร ศีลธรรมจึงจะกลับมาละครับ เพราะดูเหมือนว่าศีลธรรมท่านเบื่อมนุษย์สมัยนี้ หนีหายเข้ากลีบเมฆไปนานแล้ว
........................................................................
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสถียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10137
เป็นบทความที่น่ายกย่องมากค่ะ ขออนุโมทนาบุญด้วยนะคะ สาธุ....
ตอบลบ