++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

“วิถีใต้” ในสายน้ำ ธรรมชาติกับความยั่งยืนของชุมชน

สายน้ำ เป็นสิ่งสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยมาช้านาน สำหรับภาคใต้นับเป็นดินแดนที่ประชากรในพื้นที่ได้ดำรงวิถีเคียงคู่กับสายน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งน้ำทะเล แม่น้ำ ลำคลอง และพื้นที่บริเวณชายฝั่ง

ทั้งนี้เพราะความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งทำมาหากิน และยังเป็นถิ่นอาศัยของชุมชนต่างๆอีกมากมาย และนี่คือส่วนหนึ่งของชุมชนที่ดำรงวิถีเคียงคู่กับสายน้ำแห่งดินแดนภาคใต้ที่มีความน่าสนใจ มีอัตลักษณ์ และทรงเสน่ห์ไม่น้อยเลย อีกทั้งยังเป็นชุมชนที่ทาง“กรมประชาสัมพันธ์” เล็งเห็นในคุณค่า จึงพยายามผลักกันให้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชนมากขึ้น


การเลี้ยงปูนิ่มของชาวบ้านเกาะแลหนัง

ชุมชนบ้านเกาะแลหนัง

บ้านเกาะแลหนัง อ.เทพา จ.สงขลา มีลักษณะเป็นเกาะที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง และยังได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำจืดจากคลองตูหยงและคลองบ้านปรังที่ไหลผ่านหมู่บ้าน จึงมีระดับความเค็มของน้ำน้อยกว่าพื้นที่อื่น ซึ่งทำให้สภาพของน้ำเหมาะสมต่อการวางไข่ และเจริญเติบโตของลูกปลา ส่งผลให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาที่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก

แต่เมื่อมีประชากรมากขึ้น การใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว คล้ายกับชุมชนอีกหลายแห่งที่มีสภาพไม่ต่างกัน มีการทำบ่อกุ้ง เผาถ่านไม้โกงกาง นายทุนเข้ามาตัดโค่นต้นไม้ จนทำให้ป่าชายเลนที่เคยอุดมสมบูรณ์สูญหายไปเกือบหมด


ร่วมมือกันฟื้นฟูป่าชายเลนในชุมชน

จนในที่สุดชาวบ้านในชุมชนก็หันกลับมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาป่าชายเลน โดยการนำของนายมานะ แม ผู้ใหญ่บ้าน ประสานงานกับตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมกันปลูกป่าโกงกางเฉลิมพระเกียรติ เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนและปรับปรุงระบบนิเวศของชุมชนบ้านเกาะแลหนังให้มีสภาพดีขึ้น นอกจากนั้นก็ยังใช้ EM บอล บำบัดและฟื้นฟูน้ำที่เคยเสียจากสารพิษต่างๆ จนสภาพน้ำและความสมบูรณ์ของผืนดินเริ่มกลับคืนมาใกล้เคียงของเดิม สัตว์น้ำหลากหลายชนิดก็กลับมาอาศัยอยู่ในบริเวณชุมชน

เห็นได้จากการเลี้ยงปูนิ่มของชาวบ้าน ที่เริ่มมาจากการไปดูงานในพื้นที่อื่น และมองเห็นศักยภาพของบ้านเกาะแลหนังที่มีพันธุ์ปูตามธรรมชาติอยู่อีกมาก เมื่อนำมาปรับปรุงวิธีการเลี้ยงให้เข้ากับสภาพพื้นที่ ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ได้ปูที่มีคุณภาพดี เนื้อแน่น และไม่มีกลิ่นสาบ

นอกเหนือจากความเข้มแข็งของชุมชนเอง ก็ยังมีหน่วยงานทหารเข้าไปร่วมพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเข้มแข็งขึ้น ตามนโยบาย “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยกองร้อยทหารพรานที่ 4202 และหน่วยพัฒนาสันติที่ 42-1 เข้ามาช่วยพัฒนาอาชีพ และความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งก็มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ เป็นแหล่งอาหารทางทะเล และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอนาคต


กลับจากทะเลก็ช่วยกันคัดแยกปลา

ชุมชนบางตาวา

ต.บางตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ชุมชนที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล มีคลองตุยง และคลองสายหมอไหลผ่าน ด้วยพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด อาชีพหลักของชาวบ้านในหมู่บ้านนี้จึงเป็นอาชีพประมง

วิถีชาวประมงช่วงนอกฤดูมรสุม เริ่มต้นขึ้นก่อนพระอาทิตย์จะฉายแสง ช่วงตี 4 ตี 5 ก็เริ่มออกทะเลหาปลา เมื่อกลับมาถึงฝั่งในช่วงสาย ก็นำปลาที่ได้ไปขายในตลาด


เสาะดิ๊ก ดาเส็ง ชาวประมงในชุมชนบางตาวา

เสาะดิ๊ก ดาเส็ง ชาวประมงในชุมชนบางตาวา เล่าว่า ปลาที่หามาได้ก็นำไปขายเองโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ทำให้ได้เงินมาหมุนเวียนในครอบครัวตัวเอง อาหารการกินก็หาได้เอง ทำกินกันแบบพอเพียง ไม่ต้องไปพึ่งพาใคร ไม่ต้องออกไปหางานทำที่อื่น แต่ถ้าเป็นช่วงมรสุมก็จะออกไปวางอวนดักปู 2-3 วันจึงจะออกเรือไปเก็บครั้งหนึ่ง ระหว่างว่างก็จะถักอวน ซ่อมอวนที่มีอยู่ หรือรับจ้างถักอวนให้คนภายนอก หรือไม่ก็ซ่อมแซมเรือเพื่อใช้ออกหาปลาในช่วงนอกมรสุม


เรือฆอและที่ชาวบ้านใช้ทำประมง

และหากว่าปลาที่นำไปขายนั้นเหลือกลับมา ก็จะนำมาแปรรูปเป็นปลาเค็มปลอดสาร เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ก็สามารถหาได้จากทะเล นำไปขายกันสดๆ ไม่มีสารเจือปนใดๆ และเมื่อนำมาทำปลาเค็มตากแห้งจึงได้ปลาเค็มที่ปลอดสารเจือปนต่างๆ ปลอดภัยกับคนที่บริโภคเข้าไปด้วย

นอกจากปลาเค็มปลอดสารที่เป็นสินค้าของชุมชนบางตาวาแล้ว ก็ยังมีการรวมกลุ่มประดิษฐ์เรือฆอและ ที่เป็นเอกลักษณ์ของเรือประมงในแถบภาคใต้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าชาวประมงในชุมชนเองก็ใช้เรือฆอและสีสดลวดลายสวยงามออกไปทำการประมงในทะเล ฝีมือในการประดิษฐ์ลวดลายลงบนเรือจึงปรับเปลี่ยนมาใช้ในการประดิษฐ์เรือฆอและจำลองให้คนภายนอกได้เห็น


อนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน

ชุมชนบาลาดูวอ

บ้านบาลาดูวอ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี พื้นที่ติดอ่าวปัตตานี ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าชายเลนขนาดใหญ่ มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 3 ตำบล อุดมด้วยไม้ชายเลนหลายพันธุ์ สัตว์น้ำหลากชนิด รวมถึงนกฝูงใหญ่ที่อพยพมาอยู่ในพื้นที่

อาชีพของชาวบ้านชุมชนบาลาดูวอก็เหมือนกับชุมชนบนสายน้ำอื่นๆ คือ ทำอาชีพประมงเป็นหลัก ที่นี่จะมีทั้งการเลี้ยงปลาในกระชัง วางลอบดักปู เก็บหอย และยังมีสาหร่ายผมนาง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน


การเลี้ยงปูดำในตะกร้า

นอกจากนี้ ชาวบ้านก็ยังรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มเลี้ยงปูดำเพื่อทำปูนิ่ม เพิ่มรายได้ให้กับชาวชุมชนนอกเหนือจากการทำประมง โดยได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ ที่พยายามช่วยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ และชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

การเลี้ยงปูดำของที่นี่ จะเลี้ยงอยู่ในตะกร้า ใช้เนื้อปลาที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ มาเป็นอาหารของปู ซึ่งการเลี้ยงปูดำให้เป็นปูนิ่มจะใช้ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อลูกปูโตขึ้นก็จะลอกคราบเอง จากนั้นก็จะนำปูที่ลอกคราบแล้วมาแช่ในน้ำจืด ก็สามารถส่งขายได้


อุโมงค์ป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ที่บ้านบาลาดูวอ

สำหรับป่าชายเลนในชุมชนบาลาดูวอ เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นักท่องเที่ยวสามารถที่จะไปล่องเรือชมธรรมชาติ ล่องผ่านอุโมงค์ป่าชายเลนที่มีความยาวประมาณ 300 เมตร ชมวิถีชีวิตชุมชนบน ในยามเย็นก็จะเห็นนกจำนวนมากบินกลับเข้ารัง

สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านให้ความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะการดูแลป่าชายเลนให้อยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นแหล่งอาหาร และแหล่งประกอบอาชีพของชุมชนต่อเนื่องไปในอนาคต

วิถีชีวิตของชาวชุมชนบนสายน้ำทั้งสามแห่ง เป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันของคนกับธรรมชาติ พึ่งพาอาศัยและเกื้อกูลกัน การทำลายธรรมชาติก็เหมือนกับการทำลายวิถีของชุมชนด้วยเช่นกัน ฉะนั้น การอยู่อย่างพอเพียง ดูแลธรรมชาติในชุมชน ก็ช่วยให้วิถีของชุมชนบนสายน้ำนั้นยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น