++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

เปิดหลังปก ถกถึงแก่น! กับ3นักเขียนสาววัยใส

"นักเขียน" เป็นอาชีพที่ใครหลายคนฟันธงว่า "ไส้แห้ง" ตลอดกาล หลายคนมีฝีมือทางขีดๆเขียนๆอยู่บ้างพอตัวแต่กลัวอด จึงไม่หาญกล้ามากพอที่จะยึดการเขียนเป็นอาชีพสักเท่าไหร่ ในขณะที่คนอื่นๆทั่วไปอาจมุ่งเรียนแพทย์ เภสัช หรือวิศวะฯ แต่เด็กกลุ่มหนึ่งกลับเลือกที่จะเดินเข้ามาในเส้นทางของการเป็นนักเขียนทั้งที่ยังเรียนอยู่ด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะงานเขียนประเภทนิยายแนวรักโรแมนติกที่กำลังมาแรงและครองตลาดหนังสือวัยรุ่นอยู่ในขณะนี้ แน่นอนว่านิยายรักๆมีออกมาเดือนละหลายเล่ม นั่นหมายถึงนักเขียนหน้าใหม่ก็ต้องมีมากขึ้นด้วย และเป็นการต้อนรับสัปดาห์หนังสือที่กำลังจะมาถึง ไลฟ์ ออน แคมปัส อาสาพาไปรู้จักนักเขียนหน้าใหม่ที่โด่งดังจนมีแฟนคลับเป็นของตัวเอง ของ 3 สาววัยใสที่พวกเธอกระซิบว่าการเป็นนักเขียนที่ดี ก็เริ่มจากการเป็นนักอ่านที่ดีทั้งนั้น

สาวเหนืออย่าง "ซิน" อรุโณทัย วรรณถาวรหรือกุหลาบน้ำเงิน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาสื่อใหม่(New media) คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก้าวสู่การเป็นนักเขียนของสถาพรบุ๊คส์ จากการฟังเพลงและดูตัวอย่างภาพยนตร์ เธอเล่าว่า เริ่มแต่งนิยายมาตั้งแต่ป.5 เมื่อฟังเพลงหรือดูตัวอย่างหนัง ทำให้เกิดจินตนาการตามเพลงที่ฟังบวกกับชอบอ่านนิทานและนิยายอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ก็นึกสนุกจึงนำมาแต่งเป็นนิยาย

"สมัยนั้นชอบอ่านจินตนิยายของพนมเทียน อย่างจุฬาตรีคูณ เพราะเรื่องราวมันเกิดจากจินตนาการล้วนๆ แต่นักเขียนเขาเล่าเรื่องจนเห็นภาพ มันน่าติดตามและสนุก และยังใช้สำนวนภาษาที่สวยงาม โดยเฉพาะเรื่องจุฬาตรีคูณหลงรักมากๆเลยค่ะ อ่านมา 5 รอบแล้ว ชอบเนื้อเรื่อง ชอบภาษา และคาแรกเตอร์ของตัวละครที่มีเสน่ห์ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากแต่งนิยายได้เก่งๆบ้าง"

ซินบอกอีกว่า ถ้าอยากเป็นนักเขียน ก็ต้องเป็นนักอ่านมาก่อน เพราะการอ่านหนังสือมากๆจะทำให้เรารู้พล็อตเรื่อง รู้ศัพท์ต่างๆ เลือกใช้คำเป็น รู้จักวางโครงเรื่องและคาแรกเตอร์ของตัวละคร รวมถึงการบรรยายฉากต่างๆ ก็ได้เรียนรู้ว่าต้องบรรยายอย่างไร ซึ่งเป็นเหมือนการเก็บความรู้จากการอ่านโดยต้องอ่านให้ได้ทุกแนว เพื่อเก็บความรู้ให้ได้หลากหลายที่สุด

"เคยจดเป็นลิสมาค่ะว่าการบรรยายฉากแบบนี้ต้องเขียนยังไง ใช้คำแบบไหน มันทำให้เห็นแนวทางว่าเราอยากเขียนแนวไหน คือก็อ่านมาทุกแนว ศึกษาการเขียนทุกแนวค่ะ ไม่ชอบปิดกั้นความคิดตัวเอง แต่ส่วนตัวชื่นชอบแนวโรแมนติกเพราะ เราเขียนแล้วมันไหลลื่น เล่นภาษาได้เรื่อยๆ คือเรื่องความรักมันมีหลายแบบ หลายแง่มุมมากๆ เล่นได้ไม่รู้จบ แล้วยิ่งเป็นรักโรแมนติกมันก็เป็นความฝันของหญิงสาวทุกคนที่อยากมีความรักที่สวยงาม ก็เขียนออกมาได้ดี"

สาวเหนือวัยใส แย้มให้ฟังอีกว่า เทรนของนิยายสมัยนี้นักเขียนชอบแต่งตามกระแส หากช่วงนั้นๆกระแสเรื่องไหนดีก็จะเขียนผลงานแนวนั้นออกมาเยอะจนล้นตลาด เช่น แนวแฟนตาซีโรงเรียนเวทมนต์ หรือแนวรักวัยรุ่นหวานแหววสไตล์เกาหลี และล่าสุดมีกระแสของนิยายแนวเกมออนไลน์ที่คนเล่นเกมจะหลุดเข้าไปในเกมนั้น แล้วไปเจอเหตุการณ์ต่างๆในเกม ต้องสู้กับด่านอุปสรรคต่างๆให้ผ่านแต่ละเลเวลไปเรื่อยๆ เป็นต้น

"รู้สึกว่าปัจจุบันตลาดต้อนรับนักเขียนหน้าใหม่มากขึ้น สำนักพิมพ์เองก็เปิดรับมากขึ้น ตอนนี้ คิดว่าวงการไม่ซบเซานะคะ ถ้าจะเขียนนิยายแนวนี้บวกกับการตลาดดีก็ขายได้ เพราะคนอ่านก็เยอะกว่าเดิม แต่ปัญหาคือตอนนี้หนังสือล้นตลาด นักเขียนหน้าใหม่เกิดขึ้นมาเยอะมาก บางคนเขียนตามกระแสอย่างเดียว น่าจะต้องคัดกรองตรงนี้ด้วย และเห็นว่าหนังสือในไทยอยู่ได้ไม่นานเพราะเกาะกระแสตามตลาด พอเวลาผ่านไปคนอ่านเริ่มเบื่อ กลายเป็นว่าสำนักพิมพ์ยัดเยียดให้คนอ่าน ทำให้นักเขียนต้องผลักดันตัวเองเยอะ วิธีแก้น่าจะอยู่ที่นักเขียนรู้จักสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมามีจรรยาบรรณและความคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้น"

ซินเล่าอีกว่า เธอชอบการเป็นนักเขียน เพราะมีความสุขสามารถเป็นงานอดิเรกหรือทำเป็นอาชีพก็ได้ หากเป็นไปได้ก็อยากยึดการเขียนเป็นอาชีพอย่างเดียว เพราะการได้ทำในสิ่งที่รักและชื่นชอบจริงๆ จะทำให้งานนั้นออกมาได้ดีกว่า หากต้องทิ้งสิ่งที่ชอบไปทำงานอย่างอื่น หรือถัดไปเป็นเรื่องรองก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย อย่างไรก็แล้วแต่ เธอมองว่าการทำงานใดๆก็ต้องอาศัยความอดทน ความพยายาม และความมุ่งมั่นทั้งนั้น

"ยุคปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่าในชีวิตจริงเราก็อยากทำงานในสาขาที่เราเรียนมา ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมันบังคับด้วย ถ้ายึดเป็นอาชีพหลักก็รู้สึกว่ามันไม่มั่นคงเท่าไหร่ ตอนที่ไปเรียนด้านการเขียนเพิ่มเติมที่สถาพรบุ๊คส์ อาจารย์ก็บอกว่าอย่าเป็นนักเขียนอย่างเดียว ต้องมีอาชีพหลัก เพราะในไทยเองก็ยังไม่ให้การสนับสนุนด้านการเขียนนิยายเหล่านี้มากนัก นักเขียนไทยก็ยังไส้แห้งอยู่ดี หนูก็คิดว่าอยากทำควบคู่กันไปทั้ง 2 อย่าง เรื่องล่าสุดที่เขียนอยู่คือ ปริศนาเงากุหลาบค่ะ"

ด้าน "ลูกชุบ" ชลธิชา บุญรัตนพิทักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาการตลาด สถาบันRaffles International College Bangkok Thailand ซึ่งใช้นามปากกาชื่อเดียวกันกับชื่อเล่นของเธอเอง เธอเห็นว่า สมัยนี้วงการวรรณกรรมเปิดกว้างให้นักเขียนหน้าใหม่มากขึ้น เธอเริ่มการเป็นนักเขียนโดยการแต่งนิยายลงอินเตอร์เนต ซึ่งช่วงนั้นนิยายที่กำลังเป็นกระแสอยู่คือแนวแฟนตาซีมีออกมาเยอะมาก แต่ส่วนตัวชอบแนวรักโรแมนติกจึงอยากเขียนแนวนี้ออกสู่สายตาคนอ่าน

"เริ่มแต่งนิยายเองอายุ 12-13 ปี มันเกิดจากว่าเราอ่านนิยายหลายๆเรื่องแล้วไม่ถูกใจ ก็เลยเริ่มแต่งเอง แต่เราเขียนแนวรักโรแมนติกเพราะมันใกล้ตัวกว่า มีความถนัดมากกว่า ตอนนี้ก็เขียนมาก็ประมาณ 25-26 เรื่อง ซึ่งเรื่องล่าสุด คือ Sin Story เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้จักผิดชอบชั่วดีของคนเราค่ะ โดยส่วนตัวคิดว่างานเขียนสมัยนี้มีมาตรฐานแตกต่างกัน บางสำนักพิมพ์ก็ไม่ระวังในการกระจายสื่อ อย่างเอานิยายที่ติดเรทมากๆมาขายให้เด็กๆอ่าน และบ้านเราก็ยังไม่มีการจัดเรทหนังสือ ปัจจุบันมีแบบนี้เยอะมาก ก็คิดว่าควรระมัดระวังเรื่องนี้มากขึ้นค่ะ"

สาวอินเตอร์ยังแสดงความเห็นอีกว่า นิสัยรักการอ่านของเธอช่วยเรื่องการแต่งนิยายได้มาก เพราะเธอเชื่อว่าถ้าได้อ่านนิยายของใคร ก็เหมือนได้เข้าไปในโลกของคนเขียนด้วย ตัวตนของเขาถูกถ่ายทอดลงในงานเขียน บางทีก็ได้มุมมองใหม่ๆที่เรานึกไม่ถึง ทำให้เราไม่ยึดติดกับความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เหมือนเป็นการเพิ่มความรู้ได้รับรู้มุมใหม่ๆจากการอ่านงานเขียนของคนอื่น

"ก็อ่านเยอะค่ะ ส่วนตัวแล้วไม่จำกัดแนว เปิดกว้างมากๆ เวลาเขียนก็เปลี่ยนเทคนิคไปเรื่อยๆ ใส่มุมมองใหม่ๆเข้าไป การอ่านเยอะมันมีส่วนช่วยในการพัฒนาผลงานและวิธีการเขียนของเราได้ ก็อยากแนะนำนักเขียนหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้าวงการว่าให้เป็นตัวของตัวเองดีกว่า ยอมรับว่า ณ จุดๆหนึ่งเราก็อยากขายได้ ก็เข้าใจว่าต้องเขียนตามกระแสบ้าง แต่ว่าไม่อยากให้หลุดจากความเป็นตัวเอง ยังไงสุดท้ายแล้วเราก็ต้องเขียนให้เป็นตัวเราเองค่ะ"

ลูกชุบมองถึงอนาคตในแวดวงนักเขียนว่า ตอนนี้นักเขียนหน้าใหม่เกิดบ่อย แต่จะอยู่ได้นานหรือไม่ก็อยู่ที่การพัฒนาตัวเองของแต่ละคน ส่วนนิยายแนวรักหวานแหวว เธอคิดว่าสามารถเติบโตไปได้ไกลกว่านี้และต้องมีคุณภาพมากกว่านี้ ซึ่งนิยายแนวนี้มีมาประมาณ 5-7 ปีแล้ว มันก็เริ่มเติบโตมาเรื่อยๆ เป็นเพราะสำนักพิมพ์และผู้ใหญ่เปิดกว้าง และให้พื้นที่กับนักเขียนหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นด้วย

มาดูมุมมองของลูกแม่โดมกันบ้าง "อาย" กานตริน ลีละหุต นักศึกษาชั้นปีที่1 สาขาวารสารศาสตร์ ภาคอินเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของนามปากกา "เจ้าหญิงผู้เลอโฉม" เล่าว่า เธอเดินสู่เส้นทางนักเขียนโดยมีจุดเริ่มต้นที่การชอบอ่านหนังสือมาก่อนเหมือนคนอื่นๆ แต่เมื่ออ่านไปสักพักก็เริ่มอยากเขียนเองบ้าง

"พออ่านเยอะมันก็เกิอยากเขียนขึ้นมา ตอนแรกก็เขียนลงเวปก่อน ช่วงแรกอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ จากนั้นก็อ่านอย่างอื่นด้วย หลายๆแนว แต่มีโอกาสมาเขียนนิยายรักเพราะ ช่วงนั้นสำนักพิมพ์แจ่มใสกำลังดังในหมวดนิยายที่เป็นรักโรแมนติก ก็มีนิยายแปลของเกาหลีเข้ามาด้วย เพื่อนๆที่โรงเรียนอ่านกันเยอะมากตอนนั้น เราก็รู้สึกว่าแนวนี้มันเข้ากับเราดี ก็เลยลองเขียนแนวรักโรแมนติกดูค่ะ แต่งานเขียนของเราออกแนวสืบสวนสอบสวน ชอบเขียนเรื่องที่หักมุม ตื่นเต้น น่าสนใจ อยากให้คนอ่านไม่เบื่อ"

อายเล่าต่อว่า เนื่องจากเป็นคนรักการอ่านมัน ทำให้ได้เทคนิคต่างๆมาช่วยในการเขียนนิยายได้เยอะมาก เมื่ออ่านมาเยอะก็มีความรู้เยอะ ได้เรียนรู้ทักษะการเขียนจากหนังสือหลายๆเล่มที่อ่าน ได้เห็นทักษะการบรรยายฉากของนักเขียนท่านอื่นๆ เราก็เรียนรู้ว่าต้องใช้สำนวนแบบไหนจึงจะดีที่สุด ได้เรียนรู้ว่าจะต้องบรรยายอย่างไรให้ฉากดูสมจริง บรรยายสีหน้าตัวละครอย่างไรให้เห็นภาพ

อายเสริมอีกว่า วงการนักเขียนบ้านเราตอนนี้เปิดกว้างมากขึ้น เด็กๆอ่านนิยายกันมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นนิยายแนวรักหวานแหวว ก็ยังมีคนติดตามอยู่ ตอนนี้นิยายแนวนี้ก็พัฒนาขึ้นไปเยอะ ทั้งแนวเรื่อง ทั้งเนื้อหาใหม่ๆ ก็มีการแทรกอะไรใหม่ๆเข้ามา ส่วนตัวก็เอาแนวสืบสวนเข้ามาอยากให้มันแหวกแนวออกไปบ้างจะได้ไม่เหมือนใคร ส่วนฟีดแบคก็ถือว่าดีเพราะมีแฟนคลับมากขึ้น

"อาชีพนักเขียนสามารถทำเป็นอาชีพหลักได้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่ส่วนตัวแล้วอยากทำงานอื่นควบคู่ไปด้วย แต่ไม่ทิ้งการเขียนแน่นอน เพราะเป็นสิ่งที่ชอบมาก และยังจะทำต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคตก็คิดว่าอาจมีนักเขียนใหม่ๆเกิดขึ้นมาเป็นแสนๆคน เพราะการเป็นนักเขียนสมัยนี้เหมือนเป็นเซเลบในสังคม และทำให้วัยรุ่นหันมาอ่านนิยายกันเยอะ และไม่ว่าจะอ่านหนังสืออะไรก็ให้ความรู้ได้ทั้งนั้น จึงรู้สึกดีที่เด็กไทยอ่านหนังสือกันมากขึ้นค่ะ" อายกล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น