สภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยที่แตกต่างกันออกไปตามการสะสม สำหรับบุคคลผู้ที่มีความเข้าใจตามความเป็นจริง ก็จะไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่ซ้ำเติมในการกระทำที่ไม่ดีของบุคคลอื่น แต่จะเกิดความกรุณาเห็นใจสงสารในการกระทำที่ไม่ดีของเขาซึ่งเป็นการสร้าง เหตุใหม่ที่ไม่ดีให้กับตัวของเขาเอง พร้อมทั้งเขาจะได้รับผลที่ไม่น่าปรารถนาในอนาคตอีกด้วย เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ไม่มีข้อความใด ที่พระองค์ทรงสนับสนุนส่งเสริมให้พุทธบริษัทเกิดอกุศลจิตเลยแม้แต่น้อยไม่ ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม และอีกประการหนึ่ง บุคคลผู้ที่มีความเข้าใจ ตามความเป็นจริง ย่อมจะพิจารณาใส่ใจอยู่เสมอว่า เมื่อผู้อื่นประมาทอยู่ ประกอบแต่อกุศลกรรมประการต่าง ๆ สร้างความเดือดร้อนให้กับบุคคลอื่น แต่เราจะไม่เป็นอย่างนั้น จะเป็นผู้เห็นภัยในอกุศลธรรมทั้งหลาย อบรมเจริญปัญญาเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกของตนเอง พร้อมทั้งเจริญกุศลทุก ๆ ประการ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท เพราะชีวิตเหลือน้อยเต็มทีแล้ว
ในพระไตรปิฎก มีพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนในเรื่องดังกล่าวนี้ไว้ ดังนี้
“ผู้มีปัญญาดี เมื่อชนทั้งหลายประมาทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท,
เมื่อชนทั้งหลายหลับแล้ว เป็นผู้ตื่นอยู่โดยมาก
ย่อมละบุคคลผู้มีปัญญาทรามไปเสีย ดุจม้าตัวมีฝีเท้าเร็ว
ละทิ้งม้าตัวหากำลังมิได้ ไปฉะนั้น”
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เรื่องภิกษุสองสหาย
“ชนพาลกล่าวคำหยาบด้วยวาจา ย่อมสำคัญว่าชนะทีเดียว แต่ความอดกลั้นได้
เป็นความชนะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่, ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้
เลวกว่าบุคคลผู้โกรธแล้ว ในเพราะการ โกรธตอบนั้น, บุคคลไม่โกรธตอบบุคคล
ผู้โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงความอันบุคคลชนะได้โดยยาก”
จาก…พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อสุรินทกสูตร
พระศาสดา ตรัสว่า “ไม่ควรระลึกถึงถ้อยคำที่ชนผู้ไม่เสมอภาคกันเห็นปานนี้กล่าว, การไม่คำนึงถึงถ้อยคำเห็นปานนี้แล้ว ตรวจดูกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตนเท่านั้น จึงจะควร” ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
“บุคคลไม่ควรทำคำแสยงขนของคนเหล่าอื่นไว้ในใจ,
ไม่ควรแลดูกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของคนเหล่าอื่น,
พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตนเท่านั้น”
ในอรรถกถาแก้ไว้ว่า
บาทพระคาถาว่า น ปเรส กตากต ความว่า ไม่ควรแลดูกรรมที่ทำแล้วและยังไม่ทำ ของคนเหล่าอื่น อย่างนั้นว่า “อุบาสกโน้น ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส แม้วัตถุมีภิกษาทัพพีหนึ่งเป็นต้น ในเรือน เขาก็ไม่ให้, สลากภัตรเป็นต้น เขาก็ไม่ให้, การให้ปัจจัยมีจีวรเป็นต้น ไม่มีแก่อุบาสกนั่น; อุบาสิกาโน้นก็เหมือนกัน ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส, ภิกษาทัพพีหนึ่งเป็นต้น ในเรือน นางก็ไม่ให้,สลากภัตรเป็นต้น ก็ไม่ให้, การให้ปัจจัยมีจีวรเป็นต้น ก็ไม่มีแก่อุบาสิกานั้น, ภิกษุโน้นก็เช่นกัน ไม่มี-ศรัทธา ไม่เลื่อมใส ทั้งไม่ทำอุปัชฌายวัตร, ไม่ทำอาจริยวัตร, ไม่ทำอาคันตุกวัตร, ไม่ทำวัตรเพื่อภิกษุผู้เตรียมจะไป, ไม่ทำวัตรที่ลานพระเจดีย์ , ไม่ทำวัตรในโรงอุโบสถ ไม่ทำวัตรที่หอฉัน ไม่ทำวัตรมีวัตรในเรือนไฟเป็นอาทิ, ทั้งธุดงค์ไร ๆ ก็ไม่มีแก่เธอ แม้เหตุสักว่าความอุตสาหะ เพื่อความเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่มายินดี ก็ไม่มี”
บาท พระคาถาว่า อตฺตโน ว อเวกฺเขยฺย ความว่า กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา เมื่อระลึกถึงโอวาทนี้ว่า “บรรพชิต พึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า วันคืนล่วงไป ๆ เราทำอะไรอยู่ ดังนี้แล้ว ก็พึงแลดูกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตน อย่างนี้ว่า เราไม่อาจจะยกตนขึ้นสู่ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วทำให้เกษมจากโยคะ(กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด) หรือหนอ? ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น