ท่านพุทธทาสได้กล่าวอยู่เสมอว่า ในการเรียนธรรมะ จะมีคำที่เป็นคำเดียวกันแต่คนละความหมาย เป็นความหมายในภาษาคนทั่วไปพูดกัน กับความหมายในทางธรรมะ
คำว่า สติ นี่ก็เหมือนกัน เราพูดคำว่าสติกัน มักจะกว้างไปถึง ยังมีสติอยู่ คือยังไม่หลับหรือสลบไป หรือพูดในความหมายว่า มีสติอยู่ก็คือยังไม่บ้า แต่ในทางธรรมนั้น บางทีทำงานอยู่ คิดอยู่ แต่ไม่มีสติก็มี คือไม่ระลึกขึ้นมา ไม่ตระหนักชัด ไม่รู้สึกตัว
ดังนั้น เวลาที่เราโกรธ แน่นอนว่า อารมณ์ของคนเรานั้นพุ่งเร็ว บางคนแถมมีหางเครื่องพ่วงมายาว เช่น โกรธปุ๊บ ไม่เพียงแต่ไม่รู้ว่าตัวโกรธ ยังมือไวหยิบข้าวของเหวี่ยงไปเลยก็มี อารมณ์เร็วขนาดนี้ สติที่ไหนจะไล่จับทัน เป่านกหวีดแล้วก็ยังไม่หยุดวิ่งเลยเชียว
พอเป็นอย่างนี้แล้ว อะไรต่อมิอะไรก็จะตามมายาว พร้อมด้วยเรื่องร้อนร้อยแปด ทั้งคำพูดจา การตัดสินใจ การกระทบกระทั่งไปจนถึงกระแทก
ดังนั้น สิ่งที่ต้องฝึกฝนในประการนี้ก็คือฝึกตั้งสตินั่นเอง ให้ระลึกรู้ตัว ว่าเรากำลังเป็นอะไร ใหม่ ๆก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นอะไรใจเย็น ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ หลังจากเล่นซ่อนหากันสักระยะหนึ่งแล้วเราจะพบว่าหาสติเจอในที่สุด
เมื่อเจอแล้วต่อไปพอเรากำลังโกรธ โกร้ธ โกรธ อยู่ฉับพลันทันใดนั้น มันก็จะแว๊บมายืนตรงหน้า บอกให้เรามีสติ
เราจะรู้สึกตัวว่า เอ๊ะ ! นี่เรากำลังโกรธอยู่นี่ พอนึกได้อย่างนี้อะไร ๆ แถว ๆนั้น ที่ครอบครองบรรยากาศอยู่ทั้งมวลก็จะเปลี่ยนไปเหมือนมีคนมายกกาน้ำที่กำลังเดือดลงจากเตา เปิดฝาให้ไอน้ำร้อนพุ่งออกมาตามสบาย แล้วหย่อนน้ำแข็งลงไป เราจะเริ่มเป็นคนที่พูดจารู้เรื่องขึ้น ทำให้คนอื่นพูดรู้เรื่องตามไปด้วย หรืออย่างน้อย ก็มีสติพอที่จะขอพักขอเวลานอก แยกย้ายกันไปสงบสติอารมณ์ แล้วค่อยกลับมาคุยกันใหม่ ในบรรยากาศดี ๆ ก็ทำให้ปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายหรือตกลงกันได้ ในแนวทางที่ไม่มีความโกรธเข้ามาเอี่ยวด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น