++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ScreenToaster l เครื่องมือดีๆ ใช้ทำวิดีโอสาธิต

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

       ย้อนไปเมื่อปลายปีที่แล้ว Jing ถือ เป็นบทความแรกๆ ที่ผู้เขียนพูดถึงใน CBiZ Review หมวด WEBWARE เพราะเป็นโปรแกรมจับภาพหน้าจอ (Screencast) ที่ดีและฟรี ซึ่งเหมาะมากสำหรับผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วๆ ไป ที่สามารถใช้งานได้ทั้งบันทึกภาพหน้าจอในรูปแบบภาพ และวิดีโอ
      
       แต่เพียงแค่ครึ่งปีผ่านไป เทคโนโลยีบนโลกแห่งเว็บได้ก้าวไปไกลหลายสเต็ป มีผลงานสร้างสรรค์เป็นบริการใหม่ๆ ให้กับผู้ใช้มากมาย ที่สำคัญ คือ ใช้งานได้ง่ายขึ้น และไม่มีค่าใช้จ่าย
      
       โอกาสนี้จึงอยากแนะนำเครื่อง มือดีๆ ที่ช่วยให้คุณสามารถจับภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยถ่ายเป็น "วิดีโอคลิป" เพื่อสาธิตการใช้งานเว็บไซต์ หรือโปรแกรมต่างๆ ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า การทำเดโม (Demonstration) หรือ Take A tour ของเว็บไซต์ หรือโปรแกรมต่างๆ นั่นเอง

      

       ScreenToaster คือ เว็บไซต์ ที่จะช่วยให้คุณสามารถถ่ายภาพหน้าจอของคอมพิวเตอร์ขณะทำงานโปรแกรมใดๆ ก็ได้ เพื่อบันทึกให้อยู่ในรูปแบบของคลิปวิดีโอ จากนั้นก็จะนำวิดีโอนี้ไปติดที่บล็อก หรือเว็บไซต์ต่างๆ ได้ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเสียเวลาในการลงโปรแกรมใดๆ อีกต่อไป
      
       ใครเหมาะจะใช้ ScreenToaster
      
       ทุกคนที่...
      
       * อยากสร้างคลิปวิดีโอเพื่อสอนวิธีการใช้งานโปรแกรมต่างๆ บนคอมพิวเตอร์ (How to Video) สามารถใช้งานพร้อมกับเว็บแคม เพื่อถ่ายภาพของผู้สอน และฟังเสียงของผู้สอนไปพร้อมๆ กันได้อีกด้วย
      
       * เมื่อมีปัญหาใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่ไม่รู้ว่าจะอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ก็สามารถถ่ายเป็นวิดีโอ เพื่อส่งไปให้ผู้รู้ดูและช่วยแก้ไขได้ในที่สุด
      
       ScreenToaster ใช้กับคอมเครื่องใดได้บ้าง?
      
       ทุกคอมพิวเตอร์ สามารถใช้งาน ScreenToaster ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ แมค และลินุกซ์ เพราะมันเพียงแต่ทำงานโดยอาศัย โปรแกรมเปิดเว็บ หรือเบราว์เซอร์ เท่านั้น (ไม่ต้องเสียเวลาลงโปรแกรมใดๆ ให้ยุ่งยาก)
      
       นอกจากนี้ ScreenToaster ก็พร้อมใช้งานกับเบราว์เซอร์ ทุกค่ายยอดนิยม อาทิ ไฟร์ฟอกซ์ อินเทอร์เน็ตเอ็กซ์พลอเรอร์ กูเกิล โครม โอเปร่า และ ซาฟารี
      
       ดูวิธีการใช้งาน ScreenToaster ได้ที่นี่
      
      
      
       เริ่มต้นใช้งานถ่ายวิดีโอหน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วย ScreenToaster
      
       1. สมัครสมาชิก ที่นี่ (ฟรี) (จากนั้นเข้าไปเช็กอีเมล เลือกเมลจาก ScreenToaster แล้วคลิกลิงก์เพื่อยืนยันการสมัครสมาชิก)
      
       2. เข้าเมนู Record
      
       3. ที่หน้าจอจะมีการโหลดจาวา จากนั้นจะมีหน้าต่างปรากฎขึ้นมาดังรูป ให้ติ๊กถูกที่ช่องว่าง แล้วกด Run

      

       4. รอสักพัก จะปรากฎเครื่องมือของ ScreenToaster เพื่อเริ่มต้นจับภาพหน้าจอ

   
       ก่อนอื่น คุณสามารถตั้งค่าการจับภาพหน้าจอ ดังนี้
      
       1. ปุ่มซ้ายสุด เลือก Full Desktop ถ้าต้องการถ่ายทั้งหน้าจอ จะเห็นแถบเมนูบาร์ทั้งด้านบนและด้านล่างของจอ หรือเลือก Rectangular Area ถ้าต้องการถ่ายภาพเฉพาะพื้นที่บางส่วนของหน้าจอก็ได้
      
       2. ปุ่มกลาง เลือก No Audio ถ้าไม่ต้องการให้อัดเสียงคุณ หรือเสียงรอบข้างเข้าไปด้วย หรือเลือก soundmax HD audio ถ้าต้องการอัดเสียงเข้าไปในวิดีโอ
      
       3. ปุ่มขวา เลือก No Webcam ถ้าไม่ต้องการให้แสดงภาพของคุณที่อยู่ในเว็บแคมบนวิดีโอ หรือ เลือกอีกเมนูเพื่อถ่ายภาพคุณเข้าไปในวิดีโอด้วย
      
       4. จากนั้นก็ไปที่หน้าจอ หรือ โปรแกรมที่คุณต้องการถ่ายวิดีโอ พร้อมแล้วก็กดปุ่ม Alt+S ที่แป้นพิมพ์ เพื่อเริ่มต้นถ่ายวิดีโอ
      
       ทันทีที่คุณถ่ายเสร็จ ก็กดปุ่ม Alt+S ที่แป้นพิมพ์ อีกครั้ง (ไม่ว่าขณะนั้นคุณกำลังเปิดโปรแกรมอะไรอยู่) แล้วกลับมาที่หน้าเว็บของ ScreenToaster แล้วกดปุ่ม Stop Recording
      
       จากนั้นก็จะมีคลิปวิดีโอที่ถ่ายเสร็จแล้วพร้อมให้คุณตรวจดูอีกครั้งทันที

      

       อย่างไรก็ดีคุณจะเห็นว่า ด้านข้างของหน้าจอวิดีโอ จะเป็นส่วนของ Video Detail ที่จะให้คุณปรับแต่งวิดีโอนี้ อาทิ

   
       * ถ่ายวิดีโออีกครั้ง (Start new recording)
       * แก้ไขวิดีโอ (Edit Video) โดยสามารถทำได้อีกหลายอย่าง อาทิ
       * ใส่ซับไตเติล (ขณะนี้พิมพ์ได้เฉพาะภาษาไทย)
       * นำภาพจากเว็บแคม หรือ ปิดเสียง
       * เปลี่ยนภาพพรีวิว (ภาพที่หน้าจอก่อนเปิดชมวิดีโอ)
       * อัดเสียงเข้าไปในวิดีโอนี้อีกครั้ง
      
       อัปโหลดวิดีโอ สามารถเลือกได้หลายช่องทาง
      
       * อัปโหลดไปเก็บไว้ที่เว็บของ Screentoaster เอง
       * อัปโหลดไปที่เว็บยูทูบ (YouTube)
      
       ถ้าคุณเลือกอัปโหลดไว้ที่เว็บของ Screentoaster เอง คุณจะต้องตั้งชื่อคลิป / ใส่รายละเอียดของวิดีโอนี้ / ใส่ป้ายกำกับ (สำหรับใช้ค้นหาคลิปนี้ทีหลัง) / เลือกหมวดหลัก / หมวดย่อย / เลือกภาษา (ไม่มีภาษาไทย) / เลือกได้ว่าคลิปนี้จะเป็นไฟล์ส่วนตัว (private) หรือ ใครๆ ก็ดูได้ (public) จากนั้นกด upload
      
       แต่ถ้าคุณเลือกอัปโหลดไว้ที่เว็บยูทูบ (YouTube) ก็จะต้องเข้าสู่ระบบ โดยใส่ชื่อบัญชีของเว็บยูทูบที่คุณสมัครไว้ก่อนหน้า / ตั้งชื่อคลิป / ใส่รายละเอียดของวิดีโอนี้ จากนั้นกด upload แต่ก็มีข้อเสียคือ วิดีโอนี้ เมื่อไปแสดงที่เว็บยูทูบจะไม่แสดงผลซับไตเติล และไม่ปรากฎภาพเว็บแคม
      
       บันทึกวิดีโอลงเครื่อง
      
       * เลือกบันทึกในรูปแบบของไฟล์ (นามสกุล .mov) (ข้อเสียคือ ถ้าบันทึกไฟล์ในรูปแบบนี้ จะไม่มีการแสดงผลซับไตเติล และไม่ปรากฎภาพเว็บแคม)
      
       * เลือกบันทึกในรูปแบบของไฟล์แฟลช (นามสกุล .swf) ซึ่งเหมาะสำหรับเอาไปใส่ประกอบกับการพรีเซนต์งานกับโปรแกรมพาวเวอร์พอยต์ (powerpoint) (ข้อเสียคือ ถ้าบันทึกไฟล์ในรูปแบบนี้ จะไม่มีการแสดงผลซับไตเติล ไม่มีเสียง และไม่ปรากฎภาพเว็บแคม)

สามารถคลิกปุ่มนี้เพื่อใส่ซับไตเติลให้กับวิดีโอได้ (ใช้ได้เฉพาะภาษาอังกฤษ)
   
      

หน้าจอขณะอัปโหลดไฟล์วิดีโอขึ้นเว็บ ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับขนาดของไฟล์และความยาวของวิดีโอ
   
      

       ดูตัวอย่างไฟล์วิดีโอที่ถ่ายหน้าจอเว็บไซต์ CBiZ Review ที่นี่
      
      

      
       ข้อดี
      
       * สามารถใช้งานได้ไม่ต้องลงโปรแกรมใดๆ
      
       * สามารถถ่ายวิดีโอได้นานเท่าไหร่ก็ได้ ไม่จำกัดขนาด และความยาว แต่ถ้าถ่ายนานไฟล์ก็จะใหญ่ขึ้น ใช้เวลาอัปโหลดเข้าเว็บไซต์ต่างๆ นานขึ้นด้วย ฉะนั้นควรตรวจสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตของคุณให้ดี
       (ปกติแล้ว ถ่ายวิดีโอ 2 นาที ขนาดไฟล์จะใหญ่ประมาณ 10 เมกะไบต์ ใช้เวลาอัปโหลดด้วยเน็ตความเร็ว 2 เมกะไบต์ ใช้เวลาประมาณ 3 นาที)
      
       * สามารถส่งต่อวิดีโอทางอีเมล หรือ คัดลอกโค้ดวิดีโอ แล้วนำไปติดที่บล็อกได้
      
       * ถ้าอัปโหลดไปที่ยูทูบสามารถเลือกดูวิดีโอนั้นๆ แบบความคมชัดสูง (HD) ได้
      
       * สามารถทำงานร่วมกับเว็บแคม เพื่อถ่ายภาพผู้อยู่เบื้องหลังคลิปวิดีโอได้
      
       ข้อเสีย
      
       * ซับไตเติล ไม่รองรับการแสดงผลภาษาไทย (แต่ชื่อวิดีโอ และคำอธิบายวิดีโอสามารถแสดงผลภาษาไทยได้)
      
       * เมื่ออัปโหลดวิดีโอขึ้นไปแล้วจะไม่สามารถแก้ไขเนื้อหาในวิดีโอได้ แต่ยังสามารถแก้ ชื่อวิดีโอ และ ข้อมูล อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอทีหลังได้
      
       เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับ ScreenToaster
      
      
       เป็นบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส แต่ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัททั้งหมดเป็นตัวจริงที่อยู่ในซิลิกอนวัลเลย์ วงการไอทีแห่งสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด หลายเว็บไซต์กล่าวยกย่องว่า ScreenToaster ถือเป็นเว็บไซต์ที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพหน้าจอ (Screencast) ในขณะนี้ เพราะใช้งานได้ง่าย ไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่ต้องลงโปรแกรมใดๆ
      
       เมื่อมาถึงย่อหน้านี้ อาจารย์ บล็อกเกอร์ หรือช่างเทคนิคหลายๆ คนอาจจะยิ้มอยู่ในใจว่าในที่สุดก็ได้เจอเว็บไซต์ที่รอคอย ที่สามารถสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ในโลกออนไลน์ได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว แต่สำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปก็อย่าลืมว่า เราสามารถเข้ามาที่เว็บไซต์ของ Screentoaster เพื่อดูวิดีโอแนะนำโปรแกรม หรือ เว็บไซต์ดีๆ เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน


http://www.manager.co.th/CBizReview/ViewNews.aspx?NewsID=9520000049149

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น