++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เมื่อลูกป่วยหน้าฝน / ศ.พญ.นวลอนงค์ วิศิษฏสุนทร กุมารแพทย์

"ลูก อย่าไปเล่นน้ำฝนนะ เดี๋ยวจะไม่สบาย เป็นหวัด"
แล้วตกกลางดึกก็ได้เรื่อง เจ้าตัวเล็กของแม่ ตัวรุมๆ มีไข้
หายใจไม่ออก มีน้ำมูกไหลตามมา จะอะไรเสียอีก ถ้าไม่ใช่ไข้หวัดล่ะก็
ต้องขอบคุณยายแป๋วเพื่อนรักที่นำความรู้มาฝากแม่
ทำให้หายกังวลไปมากทีเดียว

ไข้หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ติดต่อทางน้ำมูก น้ำลายจากการไอ
จาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ในที่แออัด เช่น สถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน
หรือเปียกฝน โรคหวัดเป็นได้กับทุกคน
แต่ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุอาจติดหวัดได้ง่ายและมีอาการรุนแรงกว่า
อาการของไข้หวัด อาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีก็ได้ มักไอ จาม น้ำมูกไหล
ส่วนมากในช่วงแรกจะเป็นน้ำมูกใส ๆ ถ้าเป็นหลายวันสีจะข้นขึ้น
นอกจากนี้จะมีอาการคัดจมูก แน่นจมูก หายใจไม่ออก เบื่ออาหาร
ซึ่งในเด็กเล็กจะมีอาการงอแงมากกว่าปกติ

แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออกอย่างไร
ไข้หวัดธรรมดา มักจะมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้ มีอาการน้ำมูกไหลจามชัดเจน
ส่วนไข้หวัดใหญ่ มักจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร
อาจมีคลื่นไส้อาเจียน ในขณะที่เด็กเป็นไข้หวัดธรรมดาอาจมีอาการงอแงบ้าง
แต่ยังเล่นได้ตามปกติ

ส่วนไข้เลือดออก จะมีไข้สูง กินยาลดไข้ก็ไม่ค่อยหาย
มีอาการหน้าแดง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาจมีปวดท้องคลื่นไส้อาเจียน
มักมีจุดเลือดออกหลังจากมีไข้ 3 - 4 วัน
ดังนั้นหากมีไข้สูงและมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์

เป็นไข้หวัดอาการไม่รุนแรง จำเป็นต้องพบแพทย์หรือไม่
กรณีเป็นเด็กปกติ แข็งแรงดี ไม่มีโรคแทรกซ้อนอะไร
ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ทันที ทำการดูแลเบื้องต้นที่บ้านก่อนได้
แต่ในกรณีที่เป็นเด็กเล็กมาก ผู้สูงอายุ หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น
หอบหืด โรคหัวใจ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรจะมาปรึกษาแพทย์

ดูแลเบื้องต้นอย่างไร
โดยทั่วไปเมื่อรู้ว่าลูกเป็นหวัด
พ่อแม่ควรทำร่างกายลูกให้อบอุ่นเพียงพอ รักษาตามอาการ ถ้าไอ
ก็ให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ถ้าไอมากให้บีบน้ำมะนาวผสมเกลือและน้ำตาล น้ำผึ้ง
เพื่อขับเสมหะ ถ้ามีอาการไข้ต่ำ ๆ
การลดไข้อาจใช้เพียงเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ถ้ายังมีไข้สูง
เด็กซึมหรือกวน ควรให้ยาลดไข้ขนาดตามน้ำหนักตัว เช่น พาราเซตามอล ให้ขนาด
10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ทุก 4 - 6 ชั่วโมง อาการน้ำมูก
ถ้ามีไม่มากนัก ใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำอุ่นหรือน้ำเกลือเช็ดในจมูก
ถ้ามีน้ำมูกมากใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกออก

ถ้ามีอาการมากขึ้น การรักษาเบื้องต้นไม่ดีขึ้นจะให้ยาอะไรดี
ถ้ายังมีอาการน้ำมูกแน่น คัดจมูกมาก อาจให้ยาแก้หวัดได้
โดยต้องคำนึงถึงน้ำหนักตัวของเด็ก
ยาแก้หวัดพวกต้านฤทธิ์ฮีสตามีนกลุ่มที่ทำให้ง่วงนั้น
ไม่นิยมให้ในเด็กเล็ก ๆ หรือเด็กที่เป็นหอบหืด
เพราะยากลุ่มนี้จะทำให้น้ำมูกแห้งและจามน้อยลง
ส่วนอาการคัดจมูกจะต้องใช้ยากลุ่มที่ยุบบวมในจมูก
ซึ่งก็ไม่นิยมใช้ในเด็กเล็กเช่นกัน ในกรณีแน่นจมูกมาก หายใจไม่ออก
อาจให้ยาเช็ดจมูกช่วยยุบบวมในจมูกได้
ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์เร็วช่วยให้โล่งจมูกทันที แต่ไม่สมควรจะใช้นานเกิน 3
วัน เนื่องจากถ้าใช้ยานี้ติดต่อกันนาน ๆ จะเกิดผลข้างเคียง
ทำให้เยื่อบุจมูกเกิดการอักเสบและบวมเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าเป็นใหม่ครั้งต่อไปสามารถนำมาใช้อีกได้

ส่วนยาปฏิชีวนะ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ยาฆ่าเชื้อ
ยาแก้อักเสบนั้นไม่ควรให้
จะใช้ในกรณีมีผลข้างเคียงจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
หรือกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องภูมิต้านทานอยู่เดิมเท่านั้น
ยาฆ่าเชื้อไวรัสยังไม่มียาที่นำมาใช้เฉพาะโรคนี้
เนื่องจากอาการไม่รุนแรงและยากลุ่มนี้แพงมากและอาจมีผลข้างเคียงด้วย

เมื่ออาการดีขึ้นจำเป็นต้องกินยาต่อหรือไม่
เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ยาแก้หวัดและลดไข้หยุดได้
เนื่องจากเป็นการรักษาตามอาการ
แต่คงต้องเฝ้าระวังอาการว่าจะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นหรือไม่ด้วย

เด็กหายใจไม่สะดวกควรใช้ยาดมหรือทาบริเวณหน้าอกหรือโพรงจมูกหรือไม่
ไม่ควรใช้ เนื่องจากจะทำให้ระคายเคืองจมูก
ทำให้เกิดการอักเสบตามมาได้
โดยเฉพาะถ้าใช้ทาโดยตรงหรือให้สูดดมเป็นเวลานาน ๆ
ผู้ปกครองมักจะบอกว่าเมื่อทาหรือให้ดม
เด็กจะหายใจโล่งขึ้นระยะหนึ่งแล้วก็จะมีอาการอีก
ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ ถ้ากรณีที่ผู้ปกครองยืนยันจะใช้
ควรใช้ในเด็กโตและ ใช้ในระยะสั้นที่สุด ไม่ควรใช้ทาโดยตรง

หากเด็กเป็นหวัดเรี้อรังจะมีอันตรายหรือไม่
เด็กเป็นหวัดเรื้อรัง คือ มีอาการเป็นหวัดนานๆ
จะต้องดูว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ หรือการวินิจฉัยไม่ถูกต้อง
ไม่ได้เป็นเพียงหวัดธรรมดา โดยทั่วไปถ้าเด็กเป็นหวัดมากกว่า 10 วัน
ควรพิจารณาตรวจหาโรคแทรกซ้อน เช่น หูน้ำหนวก ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ
หรือโรคอื่น ๆ ที่อาจเข้าใจผิดว่าเป็นหวัดได้ เช่น โรคภูมิแพ้ของจมูก
หรือมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก ทำให้เกิดเป็นหวัดเรื้อรัง
เด็กที่มีประวัติเป็นภูมิแพ้จมูก จะพบว่ามีอาการคันจมูก คันตา น้ำมูกใส ๆ
ไหล แน่น คัดจมูก ส่วนใหญ่เป็นตอนเช้ามืดและกลางคืน
พอสายหน่อยอาการก็จะหายไป ในรายที่มีสิ่งแปลกปลอมในจมูก มักพบในเด็กอายุ
2-5 ปี จะมีอาการน้ำมูกข้น ๆ มีสีเขียวปนเหลืองไหลจากจมูกข้างเดียว
และอาจมีกลิ่นเหม็นจากจมูกข้างนั้นด้วยก็ได้

ในกรณีเกิดโรคแทรกซ้อน อาจพบว่าเด็กเป็นหวัดนาน กลับมามีไข้สูง
ในกรณีหูน้ำหนวกอาจมีอาการปวดหู หรือถ้าแก้วหูทะลุก็อาจมีหนองไหลออกจากหู
ในกรณีที่มีไซนัสอักเสบอาจมีอาการน้ำมูกข้นเขียว เสมหะข้น ๆ ลงคอ
ไอมีเสมหะ กระแอมไม่ได้กลิ่นร่วมด้วย ในรายที่มีปอดอักเสบจะพบมีไข้สูง
ไอมาก หายใจเร็วขึ้น มีกลิ่น อาจมีอาการปวดศีรษะ
หรือหายใจไม่ได้กลิ่นร่วมด้วย

ถ้าเป็นหอบหืดอยู่แล้ว เป็นหวัดจะกินยาแก้หวัดได้หรือไม่
ผู้ป่วยที่เป็นหอบหืดอยู่แล้ว
เมื่อเป็นหวัดอาจชักนำให้มีอาการหอบเกิดขึ้นได้
ดังนั้นในเด็กที่เป็นหอบหืด
ถ้าเป็นหวัดจะต้องได้รับการระมัดระวังเป็นพิเศษ
ถ้าเริ่มไออาจต้องพิจารณาให้ยาขยายหลอดลม
ในการให้ยาแก้หวัดหรือยาต้านฤทธิ์ฮีสตามินนั้น จะทำให้มีเสมหะเหนียวขึ้น
ไอออกได้ยาก ทำให้ผู้ป่วยหอบหืดบางรายมีอาการไอและหอบมากขึ้น
ฉะนั้นการเลือกใช้ยาแก้หวัดในผู้ป่วยหอบหืดจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง
และควรใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม
มียาต้านฤทธิ์ฮีสตามีนที่มีฤทธิ์ทำให้เสมหะเหนียวน้อยลง แต่ราคาสูงมาก
จึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

ดูแลอย่างไรไม่เป็นหวัด
1. ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยเฉพาะหน้าฝนที่มีฝนตกบ่อย ๆ
2. ควรเตรียมพร้อมเวลาฝนตก โดยมีร่มหรือเสื้อกันฝนติดตัวไว้
3. ถ้าเปียกฝน ต้องรีบเช็ดตัวให้แห้งเร็วที่สุด ไม่โดนอากาศเย็น
4. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท
ร่วมกับคนที่เป็นหวัดหรือคนจำนวนมาก และหลีกเลี่ยงจากสารระคายเคือง เช่น
ฝุ่น ควันรถ ควันบุหรี่ เพราะจะทำให้ทางเดินหายใจอักเสบ
และติดเชื้อหวัดได้ง่ายขึ้น

และที่สำคัญที่สุด รักษาร่างกายให้แข็งแรงไว้ โดยใส่ใจอาหารการกิน
ออกกำลังกาย และนอนให้เพียงพอ ลูกน้อยของคุณก็จะมีสุขภาพดีค่ะ

เรียบเรียง: ยุพดี ห่อเนาวรัตน์

ประชุมวิชาการ ศิริราช - จุฬาลงกรณ์ครั้งประวัติศาสตร์
งาน นี้เป็นมหกรรมวิชาการแพทย์
ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาทางวิชาการหลากหลาย
และยังประสานความรู้ระหว่างสหสาขาวิชา
เพื่อนำไปสู่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
ทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในเวชปฏิบัติ และนี่คือเหตุผลที่ 2
สถาบัน ตกลงร่วมกันจัดขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้แนวคิด
"วิชาการแพทย์ก้าวหน้า ประสานใจพัฒนาคุณภาพชีวิตไทย"
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ สนใจสมัครได้ที่ โทร. 0 2419 7680-1, 0 2256
4193 , 0 2256 4000 ต่อ 3707 หรือผ่านทาง www.jcms09.com 22 - 24
มิ.ย.นี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลดิ์ กรุงเทพฯ

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000056602

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น