++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การ์ตูนไทย ฝันให้ไกล ไปให้ถึง/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน


คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันไปร่วมเสวนาเรื่อง "การ์ตูนความรู้ไทย
: ความเป็นมา สถานการณ์ และแนวทางการพัฒนา" ซึ่งจัดโดยฝ่ายวิชาการ
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือทีเคปาร์ค และสถาบันการ์ตูนไทย
มูลนิธิเด็ก

วิทยากรในงานนี้มีหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ตั้งแต่
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านจิตเวช
และผู้ที่เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องการ์ตูนไทยได้อย่างลุ่มลึกคนหนึ่งในบ้านเรา
, รศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ ประธานหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณพล
ข่าวสด นักการ์ตูนและผู้ก่อตั้งกลุ่มเบญจรงค์, คุณผ่องเพ็ญ อาชาเทวัญ
รองเลขาธิการสมาคมการพิมพ์ไทย
และประธานกรรมการสำนักพิมพ์สกายบุ๊ค,คุณวัฒนชัย วินิจจะกูล
ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ และดิฉัน
ในฐานทำงานทางด้านสื่อครอบครัว และแม่ลูกสอง โดยมี คุณสุดใจ พรหมเกิด
ผู้จัดการ สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

ก่อนจะเข้าสู่การเสวนา มีงานวิจัยของ ดร.วรัชญ์ ครุจิต
ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิยาลัยศรีปทุม และ
อาจารย์นับทอง ทองใบ
อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีปทุม
เปิดรายงานวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์การ์ตูนความรู้ไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึง
ปัจจุบัน ว่า มีความเป็นมาอย่างไร
รวมถึงอิทธิพลของการ์ตูนญี่ปุ่นและเกาหลี ที่เข้ามาครองใจเด็กๆ
อยู่ในตลาดบ้านเรา

งานวิจัยที่ว่าเป็นการรวบรวมค้นคว้าเอกสาร
การสัมภาษณ์ผู้บริหารสำนักพิมพ์ นักเขียนการ์ตูน รวมถึงผู้ปกครอง
เด็กและเยาวชน ระบุว่า ลายเส้นการ์ตูนไทยไม่แพ้ต่างชาติ
แต่ยังขาดเสน่ห์ในการเล่าเรื่อง
ในขณะที่การ์ตูนเกาหลีและญี่ปุ่นครองใจเด็กระดับชั้นประถม
การ์ตูนความรู้ไทยครองใจเด็กมัธยม

บรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยผู้คนในแวดวงคนรักการ์ตูนทั้งหลายในบ้าน
เรา ทั้งนักการ์ตูนรุ่นใหญ่และรุ่นเล็กที่มาร่วมงาน
รวมถึงบรรดาสำนักพิมพ์ และคนในแวดวงนักวิชาการที่สนใจในเรื่องดังกล่าว

สิ่ง ที่ทุกคนเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันก็คือ
การจะทำอย่างไรให้การ์ตูนความรู้ไทยได้รับความสนใจและความสำคัญ
เพื่อกระตุ้นให้เด็กไทยได้อ่านงานคุณภาพ ไม่แพ้การ์ตูนญี่ปุ่น
และการ์ตูนเกาหลีที่กำลังมาแรงเหลือหลาย
ความแตกต่างหนึ่งที่ถูกตั้งเป็นข้อสังเกตเปรียบเทียบระหว่างการ์ตูน
ไทยและการ์ตูนญี่ปุ่น และเกาหลี พบว่า
การ์ตูนความรู้ไทยจะเน้นไปในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ เช่น
สมเด็จพระนเรศวร รามเกียรติ์ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯลฯ
ซึ่งบรรดาสำนักพิมพ์ต่างก็แห่กันผลิตออกมา
จึงมีเรื่องเหมือนกันแต่หลายเวอร์ชั่น สุดแท้แต่ว่าท้ายสุดเด็กๆ
จะเลือกซื้อของสำนักพิมพ์ไหน

ดิฉันเองก็เทียบจากลูกเหมือนกัน
ลูกชายดิฉันชอบอ่านการ์ตูนชุดรามเกียรติ์ และเรื่องสมเด็จพระนเรศวร
ไม่ต่างจากเด็กชายส่วนใหญ่ ที่ชื่นชอบวีรบุรุษของไทย
ในตอนแรกดิฉันก็ซื้อทุกเวอร์ชั่นเหมือนกัน จากนั้น
ก็จะนำมาเปรียบเทียบคุณภาพทั้งจากเนื้อเรื่อง ภาพประกอบ
และความคุ้มค่าของราคา

ดิฉันสอบถามจากลูกและจากการสังเกตพฤติกรรมของลูกชายทั้งสองคน
มักจะเลือกสำนักพิมพ์ไหนก็มักจะเลือกสำนักพิมพ์นั้น
โดยเขาจะเลือกจากเนื้อเรื่อง ภาพประกอบ และความสวยงาม
รวมถึงเนื้อหาแทรกระหว่างบท หรือระหว่างเรื่อง

ส่วน ใหญ่เขาจะอ่านการ์ตูนไทย แต่เหตุผลที่ชอบอ่านการ์ตูนเกาหลี
ก็เพราะการ์ตูนไทย ส่วนใหญ่เขาจะรู้ตอนจบอยู่แล้ว
แต่ถ้าเป็นการ์ตูนของชาติอื่น เขายังไม่รู้เรื่องราว
ก็เลยอยากรู้ว่าเนื้อเรื่องจะเป็นอย่างไร
ซึ่งก็เป็นไปตามวัยแห่งการเรียนรู้ของเด็กที่ต้องการเรื่องความท้าทาย
อยากรู้อยากเห็น
ซึ่งถ้าเข้าใจกระบวนการทำหนังสือการ์ตูนของทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น
เขาจะให้ความสำคัญในการผลิตหนังสือออกมาในแต่ละเล่ม ต้องผ่านงานวิจัย
และมีทีมเก็บข้อมูลมากพอสมควร ไม่ใช่ผลิตด้วยปริมาณมากๆ หรือเรื่องซ้ำๆ
อย่างที่เกิดขึ้นอย่างการ์ตูนไทยในบ้านเรา

ประเด็นหนึ่งที่ ดิฉันสนใจเป็นพิเศษของคุณหมอประเสริฐ
ต่อเรื่องการส่งเสริมวงการการ์ตูนความรู้ไทยเพื่อให้เกิดการพัฒนา
ต้องเข้าใจว่าการ์ตูนไม่ใช่เพียงอ่านการ์ตูน
แต่ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นให้ได้ในทุกส่วนของคนที่เกี่ยว
ข้อง เพราะเราไม่สามารถป้อนเพียงอย่างเดียว เพราะป้อนเท่าไรก็ไม่พอ
ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
โดยใช้เรื่องราวในอดีตเป็นฐาน และยุคปัจจุบันต้องสังเคราะห์ความรู้ออกมา

ประการที่สอง การเล่าเรื่องยังขาดความสนุกสนาน
ไม่มีความเป็นดราม่า ทำให้ขาดความน่าติดตาม

ประการต่อมา ควรให้คุณค่ากับบริบทที่อยู่รอบตัวหนังสือการ์ตูน
ที่ประเทศเกาหลีเรียกครูอนุบาลว่า ผู้สร้างชาติ
นั่นหมายความว่าเขาให้ความสนใจกับผู้พัฒนาเด็ก
เพราะเขาเชื่อว่าเด็กสำคัญมาก
ฉะนั้นบ้านเราต้องให้คุณค่ากับคนสร้างงานทางด้านการ์ตูน

ประเด็นสุดท้าย ควรมีการ์ตูนที่ช่วยกระตุ้นความคิด ให้เกิดคำถาม
เมื่อเด็กสงสัย แล้วเด็กอยากค้นหาคำตอบ

ทางด้าน อาจารย์ถิรนันท์
เน้นเรื่องการให้คำจำกัดความกับคำว่าการ์ตูนความรู้ไทย
แบบไหนถึงเรียกว่าเป็นการ์ตูนความรู้
และการพัฒนาวงการการ์ตูนไทยมีความจำเป็นที่ภาครัฐควรจะเข้ามาช่วยเหลือหรือ
ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ใน ขณะที่บรรดากลุ่มนักวาดการ์ตูนทั้งหลายและตัวแทนจากสำนักพิมพ์ก็เห็นด้วยที่
ภาครัฐควรจะหาช่องทางในการส่งเสริมให้การ์ตูนความรู้ไทยได้พัฒนา
และเป็นสื่อให้เข้าถึงเด็กไทยได้อย่างเกิดประโยชน์

เรื่องของการพัฒนาวงการการ์ตูนไทย แม้ในปัจจุบันจะมีมากขึ้น
และได้รับความสนใจมากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนามากขึ้น
แต่ต้องยอมรับว่าถ้าปล่อยให้เป็นเรื่องของคนในแวดวงการ์ตูน
ต่างคนต่างทำกันไป แน่นอนว่าบรรดานักการ์ตูนกับเจ้าของสำนักพิมพ์
ก็ต้องเป็นไม้เบื่อไม้เมากันต่อไป
เพราะจุดเริ่มต้นและเป้าหมายของงานของทั้งสองกลุ่มมีปรัชญาแตกต่างกัน
ซึ่งก็ไม่ต่างจากวงการที่เกี่ยวข้องกับงานที่ต้องใช้องค์ความรู้ในเชิง
ศาสตร์และศิลป์

แต่ถ้าภาครัฐเห็นความสำคัญว่าการ์ตูนไทย
เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่สำคัญสามารถสร้างฐานการเรียนรู้ให้กับเด็กและ
เยาวชนได้ เพราะเราต้องไม่ลืมว่า
การ์ตูนเป็นสื่อหนังสือที่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด
ถ้าเรามีการ์ตูนที่มีคุณภาพ
ใส่เรื่องราวที่เราต้องการให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ได้มากเท่าไร
เด็กไทยก็จะได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนได้มากเท่านั้น

วงการการ์ตูนไทยจะพัฒนาได้ไกลกว่านี้หรือไม่
หรือจะกลายเป็นเพียงฝันของคนที่อยู่ในวงการเท่านั้น
เป็นเรื่องท้าทายของคนในวงการที่จะช่วยตะโกนดังๆ
ให้ผู้ที่มีส่วนต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องเด็กและเยาวชนได้หันมาเห็น
ความสำคัญเรื่องการ์ตูนความรู้ไทยให้สามารถพัฒนาคนได้

เราคงไม่อยากให้การ์ตูนลามก หรือสื่อเกมคอมพิวเตอร์
เป็นผู้กำหนดอนาคตเด็กไทยหรอก..

ใช่ไหมคะ...!!

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000056080

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น