คนเราทุกคนล้วนแต่ต้องการความสุข ไม่มีใครต้องการความทุกข์ แต่ความสุขความสบายที่ว่านี้ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในวันนี้จะกล่าวถึงความสุขของผู้ครองเรือนเท่านั้น
สุขของผู้ครองเรือน 4 ประการ คือเกิดจากการมีทรัพย์ การใช้สอยทรัพย์ การไม่เป็นหนี้ และจากการทำงานที่ไม่มีโทษ
1.ความสุขที่เกิดจากการมีทรัพย์นั้น
ทรัพย์โดยทั่วไปหมายถึง ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ และเคลื่อนที่ไม่ได้ แต่ถ้าจะกล่าวอีกความหมายคือ โภคทรัพย์ ได้แก่ ของกินของใช้อันเป็นทรัพย์โดยตรง ธนทรัพย์ ได้แก่ วัตถุปัจจัยสำหรับใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของอื่นๆ
เมื่อผู้ได้ทรัพย์เหล่านี้แล้ว แม้ยังไม่ได้นำออกมาจับจ่ายใช้สอย ทำให้เกิดความอุ่นใจว่าทรัพย์ของเรามีอยู่ เพราะทรัพย์นั้น เป็นเครื่องปลื้มใจและเป็นปัจจัยให้เกิดความสุข อีกทั้งทรัพย์เป็นเครื่องเชิดชูฐานะของบุคคลให้สูงกว่าพื้นเดิม
ผู้มีทรัพย์ชื่อว่าไม่เป็นคนไร้ญาติขาดมิตร ภาษิตคำพังเพยของไทยว่า "มีเงินเขานับว่าน้อง มีทองเขานับว่าพี่ ยากจนเงินทอง พี่น้องคงไม่มี"
หมายความว่า เมื่อมีเงินทองแล้ว ย่อมทำให้คนนับถือเป็นญาติเป็นมิตร ถ้าไม่มีเงินทองแล้ว แม้แต่ญาติของตนเองก็อาจเหินห่าง ถึงจะพูดจาปราศรัยกับใครไม่ได้รับการยกย่องยินดี เพราะฉะนั้น ถ้ามีทรัพย์เท่ากับมีแก้วสารพัดนึก
2.ความสุขเกิดจากการใช้สอยทรัพย์
เมื่อแสวงหาทรัพย์มาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรแล้ว ต้องรู้จักเก็บรักษาและใช้จ่ายไปในทางที่ถูกที่ควร เพื่อบำบัดทุกข์และบำรุงสุขแก่ตนเองและคนอื่น ทำให้เกิดความภูมิใจ ความสุขโสมนัสว่า เราได้ใช้จ่ายทรัพย์ดีแล้ว ถูกแล้ว
แต่สุขที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์นี้ ต้องรู้จักประมาณในการใช้จ่ายด้วย อย่าใช้จ่ายให้มากเกินพอดี มีภาษิตที่ว่า "ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน" นี้ล้วนบ่งถึงความรู้จักประมาณทั้งนั้น การใช้จ่ายทรัพย์จึงเป็นเหตุแห่งความสุขของผู้ครองเรือน
3.ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้
ความเป็นหนี้ถือว่าเป็นทุกข์และความไม่เป็นหนี้นับเป็นความสุข ถ้ายังเป็นคนไม่มีหนี้สินติดตัว ไม่ควรสร้างหนี้สินขึ้นใหม่ ควรพยายามหลีกเลี่ยงให้ห่างไกล
แม้จะบกพร่องด้วยความเป็นอยู่บางอย่าง เช่น ขาดอาหาร ขาดเครื่องใช้สอย พยายามแสวงหาด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความสามารถ
ถ้ามีหนี้อยู่ ควรหาทรัพย์มาใช้ให้หมดสิ้นไป เมื่อทำได้ดังนี้ จะได้รับความสุขว่าแม้เรามีทรัพย์น้อย แต่เราไม่มีหนี้สินและไม่เป็นลูกหนี้ใคร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "การกู้หนี้เป็นทุกข์ในโลก"
4.ความสุขเกิดจากการทำงานที่ไม่มีโทษ
การงานนั้นแบ่งได้ 3 ประการ คือ การงานทางกาย ได้แก่ การไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การงานทางวาจา ได้แก่ การเจรจาปราศรัยแต่เรื่องที่ดีมีประโยชน์ และการงานทางใจ ได้แก่ การใช้ความคิดค้นหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือตามสภาพที่เป็นจริง
เมื่อทราบว่าการงานใดไม่มีโทษ และเป็นเหตุแห่งความสุขแล้ว ควรประกอบการงานนั้น ย่อมได้รับความสุขว่าเราได้ทำการงานดีแล้ว ไม่มีโทษที่จะพึงเสียใจในภายหลัง เพราะการงานที่ไม่มีโทษนั้น จึงเป็นเหตุให้เกิดความสุข
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด/ข่าวสดออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น