ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน๔ให้บริบูรณ์ได้"
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมากมีอานิสงส์มาก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังค์ ตั้งกายตรงดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
:: อานาปานสติภาวนา ๑๖ ระดับ
ความหมาย อานาปานสติ ตามหลักสภาวธรรมภาคปฏิบัติ
ก.อานาปานสติ : สติระลึกรู้กองลมหายใจเข้า-ออก
... ความหมายนัยนี้คือ เพียรระลึกรู้ลมหายใจเข้า-ออก ครอบคลุมเนื้อหา(สภาวธรรม)ระดับที่ ๑-๔
ข.อานาปานสติ : สติระลึกรู้สภาวธรรม(จิต,เจตสิก) ที่ปรากฏทุกลมหายใจเข้า-ออก
... ความหมายนัยนี้ คือเพียรระลึกรู้สภาวธรรมที่ปรากฏทุกๆลมหายใจเข้า-ออก
ครอบคลุมเนื้อหา(สภาวธรรม)ระดับที่ ๕–๑๖
:: จุดกระทบลม 3 จุด
... โพรงจมูก ราวนม(ช่วงอก) หน้าท้อง สุดแท้แต่ใครจะจับชัดจุดไหน ขึ้นอยู่กับจริต อุปนิสัย และการแนะนำจากครูอาจารย์
... ข้อแนะนำ : หากดำรงจิตเป็นกลาง เพิกถอนความต้องการและเงื่อนไขทุกอย่าง ในการดูลม เพียงสำเหนียกดู รู้สึกต่อจังหวะลมหายใจเข้า-ออก เท่านั้น ลักษณะลมจะปรากฏชัด นุ่มเนียน ลุ่มลึก รู้สึกโปร่งเบาสบาย ไม่อึดอัด
- หมวดที่หนึ่ง : การเฝ้าตามดูกาย -
:: ๑. เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว
๑.๑ ขณะที่ลมหายใจเข้า-ออกอยู่ในลักษณะที่ยาว แสดงว่าธาตุกายหยาบมาก เมื่อกายหยาบ อารมณ์อันเป็นส่วนนามธรรมก็อยู่ในสภาพที่หยาบเช่นกัน
๑.๒ ธาตุหยาบของกายจะถูกขับ คลายออกมาในลักษณะความร้อน เจ็บ ปวด เหน็บชา เหงื่อออก หนักศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน ท้องเดิน จับไข้
๑.๓ สภาวะธรรมเหล่านี้จักปรากฏชัด เมื่อผู้ปฏิบัติบำเพ็ญความเพียรในอิริยาบท เดินและนั่ง สลับกันไป โดยแต่ละอิริยาบทจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๔๐ นาทีขึ้นไป
๑.๔ จิตจะเข้าสู่สภาวะละเอียดไม่ได้ตราบใดที่ธาตุกายยังหยาบอยู่
๑.๕ ระยะเวลาเพียง ๔๐ นาที หรือ ๓๐ นาทีของการนั่ง หากเป็นช่วงในชีวิตประจำวัน เราจะไม่พบกับความผิดปกติทางกายเลย
๑.๖ อารมณ์(อาหาร)ของจิต ๓ ประเภท อารมณ์คิด(อดีต), อารมณ์นึก(อนาคต) ,อารมณ์รู้สึก(ปัจจุบัน) สภาพจิตในชีวิตประจำวัน จิตจะอยู่กับอารมณ์คิด-นึก(อารมณ์ปรุงแต่ง) เดินก็คิด นั่งก็คิด ยืน...นอนก็คิด หากไม่สังเกตให้ชัดดูเหมือนจิตจะอยู่กับความคิดนึกตลอดเวลาไม่ว่างเว้น
๑.๗ ๘๐% ของอารมณ์ที่จิตนำมาคิด-นึกปรุงแต่ง ล้วนไร้สาระ สูญเสียพลังงานชีวิตเปล่า
๑.๘ จิตที่อยู่กับความคิด-นึกมากๆ จะเสียศูนย์ เสียการทรงตัว นั่นคือท่านเปิดประตูรับศัตรูแห่งชีวิต คือความเครียด วิตก กังวล เข้ามาแล้ว
๑.๙ การปล่อยให้ข้าศึกศัตรูเข้ามาอาศัยในบ้าน หากเจ้าของบ้านไม่ระมัดระวัง ไม่นานเขาก็ถือสิทธิ์ครอบครอบบ้านทั้งหมดเจ้าบ้านเดิมก็ตกเป็นทาสรับใช้
๑.๑๐ เพื่อกลับไปสู่ฐานเดิมแห่งชีวิตอันเป็นความงาม อิสระ เบิกบาน เราจำต้องเรียกความสมดุลย์ของจิตกลับคืนมา
๑.๑๑ อุบายวิธีการฝึกจิตกลับสู่ดุลย์เดิม ก็คือ ฝึกจิตให้อยู่กับอารมณ์รู้สึกอันเป็นปัจจุบันบ่อยๆ เริ่มต้นที่กายก่อน เดินก็รู้สึกตัว ยืนก็รู้สึกตัว นั่งก็รู้สึกตัว
๑.๑๒ การที่จะรู้สึกตัวได้ชัดนั้น ผู้ฝึกใหม่ต้องรู้จัก กุศโลบาย โดยอาศัยรูปแบบการฝึกฝนสติที่ถูกกับจริตนิสัย
๑.๑๓ ในชีวิตประจำวัน ขณะที่จิตรับอารมณ์ ความพอใจและไม่พอใจจะผุดขึ้นมาร่วมเสมอ "ความพอใจ(อภิชฌา),ไม่พอใจ(โทมนัส)" พลังงาน-ธาตุทั้ง ๒ นี้ไม่ได้สูญหายไปไหน เพราะถูกยึด ถูกเก็บไว้ในรูปอุปาทาน
๑.๑๔ อภิชฌาและโทมนัส ที่อุปาทานเก็บไว้นี่แหละ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าเป็น "เพลิงแห่งทุกข์"หรือ"เพลิงกิเลส"
๑.๑๕ เรือแห่งชีวิตที่ไร้สติเป็นหางเสือนั้น วันหนึ่งๆจะหลงเก็บสะสมเพลิงทุกข์ไว้นับไม่ถ้วน
๑.๑๖ เพลิงทุกข์ที่สะสมไว้มากๆ เมื่อประกายไฟแห่งอารมณ์ภายนอก(แม้เล็กน้อย) ที่ปะทุขึ้นมาในชีวิตประจำวัน เพลิงทุกข์จะทำหน้าที่เสมือนเชื้อเพลิงโหมไหม้อย่างน่ากลัว! จึงไม่แปลกที่บางคนแม้รับอารมณ์ที่ไม่พอใจเพียงนิดหน่อย แต่อารมณ์ตอบสนองรุนแรงมาก
๑.๑๗ ประกายไฟแห่งอารมณ์ภายนอกไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แต่จะมีผลอะไร หากเชื้อเพลิงภายในถูกขจัดสิ้นหมดแล้ว ประกายไฟเข้ามา ทางประสาทสัมผัสใด ก็ดับที่จุดนั้น
๑.๑๘ บทสรรเสริญพระพุทธคุณ ข้อความว่า "พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์สิ้นเชิงฯ" คงชัดขึ้นในใจบ้างแล้ว สำหรับบางท่าน
๑.๑๙ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" เมื่อจิตถูกฝึกให้อยู่กับอารมณ์รู้สึก(ปัจจุบัน)บ่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นๆ อารมณ์คิดนึกต่างๆที่เก็บไว้ในรูปอุปาทาน จะถูกขับออกมาคลายตัวออกมา ผู้ไม่เข้าใจกฏสัมพันธ์นี้ถึงกับท้อแท้ เลิกล้มการปฏิบัติไปก็มี
๑.๒๐ เมื่อชั่วโมงแห่งการเจริญสติเพิ่มมากขึ้น ความหยาบทางกาย ความหยาบทางอารมณ์ ก็จักเบาบางลงๆ
๑.๒๑ ช่วงกายหยาบ-จิตหยาบ นิวรณธรรมที่ปรากฏชัด คือ กามฉันทะ พยาบาท
๑.๒๒ กรณีที่ผู้ฝึกปฏิบัติเริ่มต้น หากประสบกับทุกขเวทนาทางกายและใจแก่กล้าจนรู้สึกทนไม่ไหว ควรใช้ฐานกายหมวดอื่นเป็นอารมณ์ของสติไปก่อน เช่น หมวดพิจารณาร่างกายเป็นสิ่งปฏิกูลไม่สะอาด หมวดพิจารณากายประกอบด้วยธาตุ ๔ หรือหมวดพิจารณากายประดุจดั่งซากศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า
๑.๒๓ เมื่อน้อมฐานทั้ง ๓ มาพิจารณา อุปาทานความยึดมั่นในอารมณ์แห่งตัวตนก็จะถูกคลายไปๆ อารมณ์ละเอียดขึ้นๆ เมื่ออารมณ์และจิตละเอียด ก็ส่งผลให้ความหยาบทางกายเบาบางไปด้วย
๑.๒๔ ฐานกายหมวดสัมปชัญญะปัพพะ เป็นอีกอุบายหนึ่งที่ช่วยได้โดยอาศัยรูปแบบการเคลื่อนไหว-ยกมือเป็นจังหวะ ผู้ฝึกปฏิบัติควรทดลองปฏิบัติดู
๑.๒๕ เมื่อใช้อุบายที่แนะนำมาทั้งหมดยังไม่ได้ผล ภาวะจิตใจยังสับสนอยู่มาก ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ขอแนะนำวิธีสุดท้าย ให้ผู้ปฏิบัตินั่งอยู่ในท่าสมาธิ(ห้ามพิง) ไม่ใช้ความพยายามใดๆ ไม่จดจ้อง ไม่ใส่ใจอะไรทั้งหมด แม้ลมหายใจก็ไม่ต้องไปดู นั่งเฉยๆ จิตจะคิดนึกอะไรก็ปล่อยให้คิดนึกเต็มที่ อย่าต่อต้าน หรือปฏิเสธอารมณ์ ด้วยอุบายนี้ อารมณ์ความคิดนึกที่หยาบๆ จะคลายตัวออกมา ปล่อยให้คลายเต็มที่
๑.๒๖ "ย้อนนิมิตอารมณ์" เมื่ออารมณ์หยาบคลายตัวไปถึงจุดหนึ่ง ภาพอารมณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจะผุดขึ้นมาๆชัดมาก แต่เกิด-ดับเร็วกว่าอารมณ์ปกติทั่วไป ลักษณะอารมณ์ดังกล่าว ท่านไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ จะแปลกใจ ว่า อารมณ์ที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน เกิดขึ้นได้อย่างไร...
หลังจากนั้นไม่นานท่านจะรู้สึกเคลิ้ม(เบลอ) จิตจะเข้าสู่อารมณ์ง่วง ความรู้สึกจะหายไปในที่สุด ท่านก็จะหลับ(นั่งหลับ) เมื่อรู้สึกตัว ความรู้สึกจะโปร่งเบา สดชื่นไปหมด พร้อมที่จะกลับไปสู่การปฏิบัติในภาคปกติได้
๑.๒๗ วิธีคลายอารมณ์หยาบนี้สามารถนำไปใช้กับผู้ที่ยึดติดในอารมณ์มากๆ วิตก กังวล สับสนทางความคิด จนถึงต้องพึ่งยานอนหลับ หากใช้วิธีนี้ก่อนนอน โดยฝึกนั่งจนไปถึงจุดที่รู้สึกง่วง จึงล้มตัวลงนอนก็จะหลับได้สบาย โดยไม่ต้องพึ่งยานอนหลับ
๑.๒๘ หากเรียงลำดับอารมณ์จากหยาบไปละเอียด ก็จะมีลักษณะดังนี้
ก.อารมณ์อดีต(ส่วนที่หยาบ) ช่วงนี้นิวรณ์ที่ปรากฏชัด คือ กามฉันทะ พยาบาท
ข.อารมณ์ง่วง เมื่อสภาพหยาบทางอารมณ์คลายตัวไปมากแล้ว ทุกขเวทนาทางกายและใจเบาบางลง ช่วงนี้หากสติไม่ชัดพอ ความง่วง(ถีนมิทธะ)จะปรากฏชัด
ค.อารมณ์อนาคต เมื่ออารมณ์ง่วงคลายไป อารมณ์อนาคตจะปรากฏขึ้นมาเป็นอารมณ์ของจิต ช่วงนี้อุทธัจจะกุกกุจจะและวิจิกิจฉาจะปรากฏชัด หลังจากนั้น จิตจะเข้าสู่ภาวะที่ละเอียดขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่อัปปนาชวนวิถี
>>
:: ๒. เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
"นามดับ รูปดับ" รอยต่อระหว่างลมหยาบ(ยาว) กับลมละเอียด(สั้น) สภาพสัมพันธ์ระหว่างรูปและนามจะปรากฏชัด ขณะที่รู้ชัดต่อสภาพลมหายใจเข้ายาว ออกยาว อารมณ์ทางใจ(สังขารขันธ์)ปรากฏขึ้นและดับไป ลักษณะลมหายใจที่ยาวก็ดับ วู๊บ! ลง "ปรากฏแสงเรืองๆ(ปีติ) รอบๆตัว เต็มไปหมด"
เมื่อลักษณะลมหายใจ ดับ! วู๊บ ลง จิตละทิ้งลม เคลื่อนสู่จุด ข ค และเคลื่อนลงมาที่จุด ง อันเป็นตำแหน่ง-จุดที่ตั้งของ ขณิกสมาธิ เอกัคคตาจิต ทรงตัวนิ่ง เป็นหนึ่งเดียวรู้สึกได้ถึงแรงที่ ดูดจิต ตรึงจิต ให้เป็นหนึ่ง ลักษณะความแนบแน่นเป็นหนึ่งประมาณ ๖๐ เปอร์เซนต์ของอัปปนาสมาธิ สภาพลมหายใจปรากฏสั้นลง ระงับลง
:: ๓. ฝึกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้กองลมทั้งปวง
หายใจเข้า...หายใจออก
จิตเคลื่อนขึ้นสู่ จุด ก ข ค ตามลำดับ และเคลื่อนลงมา ณ จุด จ อันเป็นจุดที่ตั้งของ อุปจารสมาธิ ลักษณะคล้ายคลึงกับขณิกสมาธิ แตกต่างตรง เอกกัคคตาจิต ปรากฏชัดกว่า เด่นกว่า ตั้งมั่นได้นานกว่า ประมาณ ๘๐ เปอร์เซนต์ของอัปปนาสมาธิ
สภาพลมหายใจเข้า-ออก สม่ำเสมอกัน ปรากฏละเอียด แผ่วเบา ความรู้สึกในการดูลมนั้น นุ่มนวล ลุ่มลึก นี่คือลักษณะกองลมทั้งหมด(ทั้งปวง) ที่รู้สึกได้ ประคองความรู้สึกนี้ไว้และตามรู้ลักษณะลมที่ปรากฏต่อไป ถึงจุดนี้ลมหายใจประณีต แผ่วเบายิ่งนัก ผู้ปฏิบัติบางท่านจะมีความรู้สึกว่า ลมหายใจหายไป ไม่รู้จะกำหนดอะไรเป็นอารมณ์...จิตต้องดำรงความเป็นกลางจริงๆจึงจะสัมผัสรู้ลมละเอียดได้ชัด
๔. ฝึกอยู่ว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า...หายใจออก
(กายสังขารระงับ : จิตระดับ ปฐมฌาน)
จิตเคลื่อนจากจุด จ ขึ้นไปสู่จุด ก ,ข ,ค ตามลำดับ แต่ละจุดจิตจะทรงตัวนิ่งเป็นหนึ่ง...และเคลื่อนลงมาที่จุด ก ณ จุดนี้ อาการเกิด-ดับขณะสุดท้ายดับไป อกุศลเจตสิก-นิวรณ์ 5 ถึงวาระดับลงพร้อมกัน(วิกขัมภนวิมุติ-หลุดพ้นชั่วคราว) จิตเคลื่อนสู่จุด ข,ค และเคลื่อนลงมา " ณ จุด หมายเลข ๑ ปฐมฌานปรากฏ ณ จุดนี้ เอกัคคตา-ความเป็นหนึ่งปรากฏชัดที่สุดตั้งมั่นอยู่นาน
กามสัญญาดับสนิท ณ จุดนี้"
"ระยะกาลที่เอกัคคตาจิตทรงตัว ดำรงความเป็นหนึ่ง ตั่งมั่นได้นานนี้ ส่งผลให้ เวทนาเจตสิก อันเป็นองค์ประกอบของจิตทุกดวงและณานจิตทุกระดับ มีลักษณะตั้งมั่น ทรงตัวอยู่ได้นาน มีกำลังแก่กล้า แผ่ซ่านไปตลอดสรีระทั่วสรรพางค์กาย"
... ปฐมฌาน สุขเวทนาที่ประกอบด้วยปีติ อันเกิดแต่วิเวก(สงัดจากกามสัญญา สงัดจากอกุศลธรรม-นิวรณ์)
... ทุติยฌาน สุขเวทนาที่ประกอบด้วยปีติ อันเกิดแต่กำลังสมาธิ(เพราะความดับไปแห่งวิตก วิจาร)
... ตติยฌาน สุขเวทนาที่ประกอบด้วยกำลังอุเบกขา อันเป็นภาวะสุขระดับที่พระอริยเจ้าทรงสรรเสริญ
... จตุตถฌาน อุเบกขาเวทนาที่ประกอบด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องใส
เอกัคคตาจิต มีกำลังแก่กล้า ตั้งมั่น ทรงตัวอยู่ได้นานเท่าใด เวทนาเจตสิก(สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา) ก็มีกำลังแก่กล้า ตั้งมั่น ทรงตัวอยู่ได้นานในสัดส่วนเท่ากัน "สภาวะธรรมของเวทนาจะแผ่คลุมไปทั่วสรรพางค์กาย" ณ จุด ปฐมฌานนี่เอง ความรู้สึกอันฉ่ำเย็นพร้อมกับแสงเรืองๆ แผ่จากบนศรีษะกระจายไปทั่วร่างกาย รู้สึกได้ถึงคลื่นอันละเอียดวิ่งจากส่วนบนแผ่ไปทั่วกาย โดยเฉพาะที่ปลายประสาทมือและเท้าจะสัมผัสคลื่นนี้ได้ชัดมาก
.... "ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุฌานที่หนึ่ง ซึ่งมีวิตก วิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่ เธอประพรมกายนี้ให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกนั้น ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกไม่ถูกต้อง มิได้มี
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือน พนักงานสรงสนาน หรือลูกมือของเขาก็ดีเป็นคนฉลาด โรยผงที่ใช้สำหรับถูตัวในเวลาอาบน้ำ ลงในขันสำริด แล้วพรมน้ำหมักไว้ ครั้นเวลาเย็น ก้อนผงออกยางเข้ากันซึมทั่วกันแล้ว เคลือบจับกันทั้งภายในและภายนอก ไม่ไหลหยด ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประพรมกายนี้ทำให้ชุ่มทั่ว บริบูรณ์ ซาบซ่านด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอ ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกไม่ถูกต้องแล้วมิได้มีฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย นี้คือ การเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ห้าอันเป็นอริยะประการที่หนึ่ง"(87)
(87)อังคุตตรนิกาย ปัณจกนิบาต 22/28/27-32 ปัญจังคิกสูตร
โดยปกติ ภาวะของจิตในระดับกามภูมิ ความเป็นหนึ่งของจิต เกิด-ดับ เร็วมาก เราแทบจะสัมผัสไม่ได้ ดังนั้นส่วนมากเราจึงเห็นเฉพาะอาการเกิด-ดับของสังขารขันธ์ที่ปรากฏดุจระลอกคลื่น....
/\/\/\/\/\/\/\ คลื่นความเกิด-ดับ ของสังขารขันธ์ของผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติกิจภาวนา
|-----|
____ ____
/..... \ / .....\ คลื่นความเกิด-ดับ ของสังขารขันธ์ ของบุคคลผู้อยู่ในฌานจิต
|----| สัญลักษณ์นี้คือ "ภาวะความเป็นหนึ่ง-เอกัคคตาจิต" ที่ทรงตัวอยู่นานมาก ระยะกาลแห่งความเป็นหนึ่งที่ยาวนานนี่เอง ที่เป็นตัวกำหนด "อายุกาล" ของสัตว์ผู้อุบัติอยู่ในคติภูมิ "รูปภูมิ" และ"อรูปภูมิ"
"ปฐมฌานจิต ที่ปรากฏขึ้นครั้งแรก เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวเท่านั้น ต่อมาภายหลัง เกิดวสี-ความชำนาญขึ้นแล้ว ฌานจิต จึงจะเกิด-ดับสืบต่อกันหลายขณะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีภวังจิตหรือจิตอื่นใดแทรกคั่นเลย และสามารถอธิฐานจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในองค์ฌานได้ตามระยะเวลาที่ต้องการ เรียกว่าฌานสมาบัติ เพราะ อัปปนาชวนะในฌานสมาบัติเกิดขึ้นได้มากขณะ หาประมาณมิได้"
: ข้อสังเกต จุด ก (จุดอนุโลม-มโนธาตุ)
ช่วงที่เอกัคคตาจิตปรากฏ ณ จุด ก อารมณืใดๆไม่ปรากฏเลย สามารถทดสอบดูได้ ด้วยการเจตนาน้อมนึกถึงอารมณ์อดีต ท่านจะแปลกใจมาก! เพราะภาพอารมณ์อดีตไม่อาจที่จะผุดขึ้นมาเป็นอารมณ์ของจิตได้ แต่ถ้าเป็นอารมณ์อนาคตจะปรากฏขึ้นทันที
... หากไม่เจตนาน้อมนึกถึงอารมณ์(ตามหลักการปฏิบัติควรดำรงจิตเช่นนี้) จิตจะทรงตัวนิ่งเป็นหนึ่งเดียว..."อารมณ์ชนิดพิเศษปรากฏ ที่ว่าเป็นอารมณ์ชนิดพิเศษเพราะเป็นอารมณ์อดีต ที่เกิด-ดับ รวดเร็วมาก และจำนวนครั้งที่เกิด-ดับจะไม่เกิน ๓ ขณะ สังขารธรรมส่วนอดีต ขณะสุดท้าย(ขณะที่ ๒ หรือ ๓)ดับไป กามสัญญา นิวรธรรม ก็ดับลงพร้อมกัน"
: ฌานวสี
ฌานวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในองค์ฌาน ๕ ประการ
๑. อาวัชชนวสี ความชำนาญคล่องแคล่ว ในการนึกถึงสภาวธรรมของฌาน
๒. สมาปัชชนวสี ความชำนาญในการเข้าฌาน
๓. อธิษฐานวสี ความชำนาญในการให้จิต ตั้งมั่นอยู่ในองค์ฌานได้ตามต้องการ
๔. วุฏฐานวสี ความชำนาญในการออกจากฌาน
๕. ปัจจเวกขณวสี ความชำนาญในการนึกถึงองค์ฌานแต่ละองค์ (88)
(88) ปรมัตถธรรมสังเขป อ.สุจินต์ หน้า 518-519
::: การดำรงจิต พิจารณาธรรม ในปฐมฌาน ควรที่จะดำรงเช่นเดียวกับท่านพระธรรมเสนาบดี-สารีบุตร ดังนี้
"...สภาวะธรรมในปฐมฌาน ...เป็นอันสารีบุตรรู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า ธรรมที่เรายังไม่มี ย่อมมี ที่มีแล้วย่อมพรากไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสอาศัยไม่ได้ พัวพันไม่ได้ พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมนั้นๆ มีใจที่ฝึกให้ปราศจากเขตแดนคือกิเลสได้แล้ว
เธอย่อมรู้ชัดว่าธรรมเครื่องสลัดทุกข์ที่สูงขึ้นไปยังมีอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ธรรมเครื่องสลัดทุกข์มีได้เพราะปฏิบัติธรรมนั้นๆให้มากขึ้น"
:: จบหัวข้ออานาปานสติ หมวดการตามเฝ้าดูกาย ::
ท่านผู้สนใจสามารถศึกษาอ่าน การเฝ้าตามดูเวทนา- จิต- ธรรม เพิ่มเติมที่
http://www.dhammachak.net/board/viewtopic.php?f=3&t=14
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น