ในปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์สามารถเยียวยาผู้ป่วย และยืดอายุของประชาชนในประเทศด้อยพัฒนา และกำลังพัฒนาทั่วโลก รัฐบาลนานาชาติหันมาให้ความสนใจกับประเด็นความมั่นคงทางอาหารและสภาวะอากาศของโลกมากขึ้น
องค์การอนามัยโลกเปิดเผยสถิติอายุของประชาชนแต่ละประเทศทั่วโลก ซึ่งสำรวจเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2557 มี "ไฮไลต์" อยู่ที่ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา 6 แห่ง มีอายุยืนขึ้นถึง 10 ปี จากการสำรวจระหว่างปี 2533-2555
ประเทศไลบีเรียครองแชมป์จากอายุของประชากรโดยเฉลี่ย 42 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 62 ปี ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเอธิโอเปีย มัลดีฟ กัมพูชา ติมอร์ตะวันออก และรวันดา ต่างมีอายุของประชากรโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีอัตราอายุเฉลี่ยต่ำกว่า 55 ปีนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคซับ-ซาฮาราของทวีปแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นคองโก ไอวอรีโคสต์ เลโซโท และไนจีเรีย เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องวิเคราะห์สาเหตุและหาทางแก้ไขต่อไป
นางมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การแพทย์ที่พัฒนาช่วย ลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กลงอย่างมาก แต่มีข้อเตือนว่า "ช่องว่าง" ระหว่างประเทศรายได้สูงกับรายได้น้อยเป็นปัจจัยสำคัญอยู่ โดยเด็กที่เกิดในประเทศร่ำรวยมีโอกาสที่จะมีชีวิตยืนยาวกว่า
ดร.ไทส์ โบเออร์มา หัวหน้าฝ่ายสถิติขององค์การอนามัยโลก ชี้ให้เห็นว่า การป้องกันโรคไม่ติดต่อถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อายุของประชากรในประเทศรายได้สูงเพิ่มขึ้น ดังนั้น โจทย์ใหม่ของรัฐบาลทั่วโลกจากอายุของประชาชนที่ยืนยาวขึ้นคือ จะรับมือกับสภาวะ "สังคมผู้สูงอายุ" อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?
รุ้งตัดแวง/สปาย-กลาส
ข่าวสดออนไลน์, 21 พ.ค.2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น