++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ขั้นตอนการทำบุญตักบาตร



การตักบาตรเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติ เพราะเป็นการให้กำลังแก่พระภิกษุสามเณร ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฎิบัติธรรมตามพระธรรมวินัย และสั่งสอนประชาชน เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรสืบไป ทั้งนี้จะเป็นผลดีแก่ผู้ปฏิบัติด้วย เพราะทำให้เป็นผู้มีใจบุญกุศลและเป็นการส่งเสริมผุ้ทรงคุณธรรม

ประวัติการทำบุญตักบาตร

การทำบุญตักบาตรนี้ มีมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงผนวชใหม่ๆ ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงประทับที่สวนมะม่วง พระองค์เสด็จบิณฑบาตผ่านกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาต ก็ชวนกันนำอาหารมาตักบาตรเป็นครั้งแรก
นับแต่นั้นมา การตักบาตรจึงถือเป็นประเพณีมาจนบัดนี้ และเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ควงไม้เกด มีพ่อค้า 2 คน นำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระพุทธองค์ทรงรับไว้ด้วยบาตร นี่ก็เป็นที่มาของการตักบาตรทางพระพุทธศาสนาด้วยประการหนึ่ง
บาตรเป็นภาชนะจำเป็นของพระภิกษุจะขาดเสียมิได้ นับเข้าในจำนวนบริขารอย่างหนึ่งในบริขาร 8 ตามปกติพระจะไปอยู่ที่ใด ต้องมีบาตรประจำตัวไปด้วย และการออกบิณฑบาตก็ออกในเวลาเช้า ตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าองค์ ทรงบำเพ็ญเป็นพุทธกิจประจำวัน
โดยปกติ พระภิกษุสามเณร จะเดินเรียงลำดับอาวุโสไปบิณฑบาตตามละแวกบ้าน เมื่อถึงหมู่บ้านที่ชาวบ้านกำลังรออยู่ ก็จะยืนเรียงเป็นแถว แต่ในกรุงเทพฯ หรือในบางจังหวัด พระภิกษุสามเณรมักไปตามลำพัง ไม่ได้เดินเรียงแถว ทั้งนี้เพราะพระภิกษุสามเณรในกรุงเทพฯ มีเป็นจำนวนมาก จึงไม่สะดวกที่จะเดินเรียงแถวกันไป และผู้ที่จะนำอาหารมาตักบาตรได้ไม่ครบทุกรูป

เมื่อพระภิกษุสามเณร ต้องออกบิณฑบาตตอนเช้าทุกวัน ชาวบ้านก็ตักบาตรทุกวัน แต่บางคนตักบาตรเฉพาะในรอบวันเกิดประจำปี และมักจะตักบาตรพระจำนวนเท่าอายุ หรือเกินกว่าอายุ ถ้าเป็นวันสำคัญทางศาสนา ก็มักจะพากันไปทำบุญตักบาตรที่วัด แต่บางคราวเช่นในเทศกาลปีใหม่ และตรุษสงกรานต์ จะมีการชุมนุมตามที่ที่กำหนดไว้ เช่น สนามหลวง พุทธมณฑล ในโรงเรียน ในสถาบัน หรือ ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง แล้วแต่จะนัดหมายกัน นอกจากนี้ยังมีการตักบาตรที่มีชื่อเฉพาะอีก เช่น ตักบาตรเทโว ตักบาตรข้าวสาร ตักบาตรดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น

การทำบุญตักบาตรจะสมบูรณ์ได้ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

          ๑

. ต้องเตรียมใจให้พร้อม ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะบุญที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของผู้ถวาย ท่านแนะนำให้รักษาเจตนาให้บริสุทธิ์ทั้ง ๓ ขณะ คือ
               ๑.๑ ก่อนถวาย ตั้งใจเสียสละอย่างแท้จริง
               ๑.๒ ขณะถวาย ก็มีใจเลื่อมใส ถวายด้วยความเคารพ
               ๑.๓ หลังจากถวายแล้ว ต้องยินดีในทานของตัวเองจิตใจเบิกบานเมื่อนึกถึงทานที่ตนเองได้ถวายไปแล้ว  การทำใจให้ได้ทั้ง ๓ ขณะดังกล่าวนี้ นับว่ายากมาก เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้จิตใจของเราเศร้าหมองในขณะใดขณะหนึ่งได้
          ๒. ผู้รับ คือ พระภิกษุสามเณร เป็นผู้สำรวมระวัง มีข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงามตามพระธรรมวินัย ใฝ่ศึกษาเล่าเรียน พระพุทธพจน์ ทรงจำ นำมาบอกกล่าว สั่งสอนได้ และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรเทาราคะ โทสะ โมหะ จนสามารถละขาดได้อย่างสิ้นเชิง

          ๓. สิ่งของที่ถวาย จะต้องได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่เบีดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน และที่สำคัญคือสิ่งนั้นต้องเหมาะสมแก่พระภิกษุสามเณรด้วย



วิธีปฏิบัติในการตักบาตร


โดยปกติพระภิกษุสามเณร จะเดินเรียงลำดับอาวุโส ไปบิณฑบาตตามละแวกบ้าน เมื่อถึงหมู่บ้านที่ชาวบ้านกำลังรออยู่ ก็จะยืนเรียงเป็นแถว แต่ในกรุงเทพฯ หรือในบางจังหวัด พระภิกษุสามเณรมักไปตามลำพัง ไม่ได้เดินเรียงแถว
ทั้งนี้เพราะพระภิกษุสามเณรในกรุงเทพฯ มีเป็นจำนวนมาก จึงไม่สะดวกที่จะเดินเรียงแถวกันไป และผู้ที่จะนำอาหารมาตักบาตรได้ไม่ครบทุกรูป การตักบาตรเป็นสังฆทาน คือการถวายโดยไม่เจาะจง จึงควรตั้งใจว่าจะทำบุญตักบาตร แก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรในพระพุทธศาสนา โดยไม่เจาะจงว่าเป็นรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อพระภิกษุสามเณรรูปใดผ่านมา ก็ตั้งใจตักบาตรแก่พระภิกษุสามเณรรูปนั้นและรูปอื่นๆ ไปตามลำดับโดยปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. จัดเตรียมอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะใส่ภาชนะเรียบร้อย มากหรือน้อยตามความต้องการ
2. นำอาหารที่เตรียมไว้ไปคอยตักบาตร ก่อนที่จะตักบาตรควรตั้งจิตถวายด้วยศรัทธา และความเคารพ ตั้งความปรารถนา เพื่อทำกิเลสให้ลดน้อยลงจนถึงหมดสิ้นไป
3. ขณะที่ตักบาตร ควรอยู่ในอาการสำรวมและเคารพ
4. เมื่อตักบาตรเสร็จแล้ว ควรแสดงความเคารพด้วยการไหว้
5. หลังจากตักบาตร ควรอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ หรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

5 ขั้นตอนง่ายๆในการใส่บาตร

เคยตื่นขึ้นมาใส่บาตรตอนเช้ากันบ้างไหม? ถ้าเคยบ่อยแค่ไหน?
การใส่บาตรเป็นการทำบุญง่ายๆ ที่ทุกคนทำกันได้ ขอแค่ตื่นให้ไหวก็พอ (เนี่ยแหละที่ยาก)
ผมเองเรียกตัวเองว่าเด็กวัด เคยบวชเรียนมาบ้าง เคยถือย่ามช่วยพระบิณฑบาตก็หลายครั้ง
วันนี้ผมจะทำหน้าที่ชาวพุทธที่ดี บอกขั้นตอนการใส่บาตรในแบบฉบับของเด็กวัดให้ทุกคนได้รับทราบ
เริ่ม ขั้นตอนแรกของการใส่บาตรนั่นก็คือ

1. นิมนต์พระ

หลังจากที่เราเตรียมสำรับกับข้าว อาหารคาวหวานตามจิตศรัทธาเรียบร้อยแล้ว เราก็ยืนรอพระที่จะเดินบิณฑบาตผ่านมา
การยืนรอพระในขั้นตอนนี้ ควรศึกษาให้ดีเสียก่อนว่า เส้นทางนี้มีพระเดินผ่านหรือไม่
ไม่ใช่ว่าไปรอบนทางสายเปลี่ยวที่ไม่มีพระเดินผ่าน คงไม่ได้ใส่กันพอดี
รอซักพัก พอมีพระเดินมาก็นิมนต์ท่าน
การนิมนต์ ก็ควรใช้คำว่า "นิมนต์ครับ/ค่ะท่าน" แค่นี้พระท่านก็ทราบแล้ว
ตอนที่ผมยังบวชอยู่ เคยเดินบิณฑบาตที่ตลาดเขมร โยมนิมนต์ด้วยถ้อยคำอันรื่นหูว่า "ท่านเจ้าประคุณเจ้าคะ นิมนต์เจ้าค่ะ" (ใช้คำไฮโซมาก)
มีอีกทีนึงโยมใช้คำว่า "นิมนต์เจ้าค่ะ พระอาจารย์" (เอ่อ โยม อาตมาเพิ่งบวชอาทิตย์เดียว)
การนิมนต์พระควรนิมนต์ด้วยความสำรวมและใช้เสียงดังพอประมาณ
โยมบางคนเรียกพระด้วยเสียงอันดัง "นิ โมนน!!" (แง้ ทำไมต้องตะคอกด้วย - -")
การนิมนต์ควรสังเกตอายุของพระด้วย
ถ้าอายุน้อยกว่าเราหรือว่าเยอะกว่าไม่มากก็เรียกว่าหลวงพี่ ถ้ามีอายุหน่อยก็เรียกหลวงน้า ถ้าแก่พรรษามากก็เรียกหลวงตา หรือนอกจากนี้ก็อาจจะเรียกหลวงอา หลวงลุง หลวงปู่ฯลฯ แล้วแต่จะลำดับญาติ
อย่างผมปีนี้อายุ ๒๓ ปี หน้าตาค่อนข้างเด็ก แต่เคยมีโยมใช้คำว่า "นิมนต์ค่ะ หลวงลุง" ทำเอาเสีย self จนอยากสึกออกไปทำ baby face
โยมบางคนคงเขินอายพระ เนื่องจากไม่ค่อยได้ใส่บาตรเท่าไร เวลาพระเดินมาก็ยื่นมือออกมาทำท่ากวักๆ ทำเหมือนพระเป็นรถเมล์ อย่างนี้ผมว่าไม่ค่อยสมควรเท่าไรนะครับ
แค่กล่าวคำนิมนต์ครับ / ค่ะ ก็พอแล้วล่ะ
หลังจากนิมนต์พระ ก็เข้าสู่ขั้นตอนถัดไปคือ

2. จบ

เอาล่ะครับ ขั้นตอนการใส่บาตรทั้งหมดก็ขอจบเพียงเท่านี้
เฮ้ย ไอ้บ้า ไม่ได้จบอย่างนั้นเว้ย
การจบในที่นี้ หมายถึง การเอามาทูนไว้ที่หัวแล้วอธิษฐาน
การจบ ควรใช้เวลาอธิษฐานแต่พองาม ไม่ต้องอธิษฐานนานจนเกินไป
เคยมีโยมนิมนต์ไปรับบาตร ไอเราก็เดินไปเปิดฝาบาตรรอรับ เปิดก็แล้ว ปิดก็แล้ว โยมก็จบอยู่ ขอบอกว่านานมากกกกกกก นานจนอดคิดไม่ได้ว่า "โยมขอขนาดนี้ เราเป็นแค่พระใหม่จะให้ไหวรึเปล่าน้า?"

3. ถอดรองเท้า ยืนด้วยเท้าเปล่า

จริงๆแล้ว จุดประสงค์ของการถอดรองเท้าคือเป็นการให้ความเคารพพระสงฆ์โดยการไม่ยืนสูงกว่าท่าน เพราะเวลาพระสงฆ์บิณฑบาตจะเดินเท้าเปล่า แต่มีญาติโยมบางคนไม่เข้าใจเกี่ยวกับการถอดรองเท้าซึ่งมีหลายประเภทเหมือนกัน เช่น
บางคนถอดรองเท้าอย่างเรียบร้อย แต่ดันยืนบนรองเท้า - -" (สูงกว่าเดิมอีก)
บางคนถอดรองเท้าและยืนบนพื้นจริง แต่ว่าตัวเองยืนบนฟุตบาท พระยืนบนพื้นถนนซะงั้น (หนักกว่าเก่า)
เคยมีเรื่องเล่าว่า มีโยมคนนึงยืนใส่บาตรพระ พระเห็นว่าโยมใส่รองเท้าเลยแนะนำโยมเป็นธรรมทานไปว่า
พระ : "โยม อาตมาว่าโยมควรถอดรองเท้าใส่บาตรนะ"
โยมมีสีหน้าตกกะใจ ตอบพระไปว่า
โยม : เอ่อ จะดีเหรอคะ
พระ : ไม่เป็นไรหรอกโยม
โยมก็จัดแจงถอดรองเท้า ยกขึ้นมาพร้อมกับถามพระว่า
โยม : จะให้ใส่ข้างเดียวหรือว่าสองข้างเลยคะ
อิบ้า!! ท่านหมายถึงถอดรองเท้าเวลาใส่บาตร ไม่ใช่ถอดรองเท้าเอามาใส่ในบาตร
เรื่องนี้ได้ยินมาจากหลวงน้าท่านนึงเล่าให้ฟังระหว่างฉันเพล ผมว่าคงไม่มีโยมซื่อขนาดนี้มั้งเนอะ (แค่เรื่องขำขันขณะฉันเพล)
พอถอดรองเท้าเสร็จก็เข้าสู่ขั้นตอนที่สี่

4. ใส่บาตร

อันนี้ถือเป็นจุดไคลแมกซ์ของการใส่บาตร
สำหรับคนที่ตั้งใจทำสำรับกับข้าวเอง ก็คงไม่ค่อยมีปัญหาอะไร
แต่สำหรับชาวเมืองอย่างเรา ไม่ค่อยมีเวลาทำกับข้าวอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีไปซื้อกับข้าวตามร้่านค้ามาใส่กัน
จริงๆแล้วเราควรเลือกร้านที่สะอาดและควรดูว่าของที่นำมาใส่บาตรนั้น เป็นอย่างไรบ้าง เสียรึเปล่า
บางคนมีเจตนาอยากทำบุญดี แต่ดันไปซื้อของเสียมาใส่บาตร
พระฉันไป เข้าห้องน้ำไป
พวกร้านค้าก็จริงๆ บางครั้งเอาของค้างคืนมาขายเอากำไร ไม่สนใจพระเจ้า เห็นแก่ตัว หากินกับพระ แย่สุดๆ
ก็ฝากด้วยนะครับ เดี๋ยวทำบุญจะได้บาปเปล่าๆ
นอกจากนี้ ของที่นำมาใส่ ถ้าเพิ่งปรุงสุกเสร็จ ควรดูด้วยว่ามันร้อนมากรึเปล่า
เคยมีโยมใส่แกง ร้อนมากๆๆ บาตรเกือบหล่น ทั้งนี้เพราะบาตรทำจากโลหะ นำความร้อนได้ดี
ปริมาณไม่ควรมากจนเกินไป
เคยมีโยมใส่บาตรด้วย "กล้วย ๓ หวี"
กล้วยเล็บมือนาง กล้วยไข่ อาตมาไม่ว่า
แต่นี่ใส่ "กล้วยหอม" (อันนี้เกิดกับตัวเองจริงๆ)
คิดดู "กล้วยหอม ๓ หวี" อยู่ในบาตร หนักมากกกก จนอยากบอกโยมว่า "โยม อาตมาไม่ใช่ช้าง"
วันนั้นจำได้ว่าแทบเดินกลับวัดเลยทีเดียว ไม่ไหวครับ หนักจริงๆ
การใส่ก็ควรวางในบาตรด้วยอาการสำรวม
โยมผู้หญิงบางคนกลัวโดนพระจัด พอถุงกับข้าวถึงแค่ปากบาตร ก็ปล่อยลงมา ตุ๊บ!! นึกว่ากาลิเลโอกลับชาติมาทดลองเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก (วางดีๆก็ได้ 55)
ขั้นตอนสุดท้าย คือ

5. รับพร

หลังจากใส่บาตรเสร็จ พระสงฆ์ส่วนมากก็จะให้พร
เราเป็นญาติโยม ก็ประนมมือรับพรกันตามระเบียบ โดยอาจยืนหรือนั่งยองๆ ก็ได้ ก้มหัวแต่พองาม
มีโยมคนนึงที่ใส่บาตรอยู่ประจำ ตอนยืนประนมมือ ชอบก้มหน้ามาแทบชนพระ ห่างจากหน้าพระประมาณคืบเดียว (ไม่ต้องใกล้ชิดศาสนาขนาดนั้นก็ได้ โยม (ตอนนั้นให้พรเบาๆ เพราะไม่มั่นใจเรื่องกลิ่นปาก))
ถ้าเป็นโยมผู้หญิงก็นั่งให้เรียบร้อย เหมาะสม ดูเสื้อผ้าว่าเรียบร้อยดีรึเปล่า
ระหว่างนี้ก็อุทิศส่วนกุศลให้คนที่รัก เจ้ากรรมนายเวรและอื่นๆ ก็ว่ากันไป

คำถวายของใส่บาตร

          อิทัง ทานัง สีละวันตานัง ภิกขูนัง นิยาเทมิ สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง นิพานะปัจจะโย โหตุ
          ข้าพเจ้า ขอน้อมถวายท่านอันนี้ แด่พระสงฆ์ผู้มีศีลทั้งหลาย ทานที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้วนี้ จงเป็นปัจจัย ให้ถึงพระนิพพานด้วยเทอญ

การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล

คำอธิษฐาน ในการตักบาตรจะใช้ภาษาบาลี หรือภาษาไทยหรือใช้ทั้งสองภาษาก็ได้ ดังนี้

บทกรวดน้ำแบบยาว หรือ บทกรวดน้ำอิมินา

          ตั้งนะโม 3 จบ

          อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปัชฌายา คุณุตตะรา
          ด้วยบุญนี้ อุททิศให้ อุปัชฌาย์ ผู้เลิศคุณ

          อาจะริยูปะการาจะ มาตาปิตา จะ ญาตะกา
          และอาจารย์ ผู้เกื้อหนุน ทั้งพ่อแม่ และปวงญาติ

          ปิยา มะมัง สุริโย จันทิมา ราชา คุณะวันตา นะราปิ จะ
          สูรย์จันทร์ และราชา ผู้ทรงคุณหรือสูงชาติ

          พรัหมะมารา จะ อินทา จะ โลกะปาลา จะ เทวะตา
          พรหม มาร และอินทราช ทั้งทวยเทพ และโลกบาล

          ยะโม มิตตา มะนุสสา จะ มัชฌัตตา เวริกาปิ จะ
          ยมราช มนุษย์มิตร ผู้เป็นกลาง ผู้จองผลาญ

          สัพเพ สัตตา สุขี โหนตุ ปุญญานิ ปะกะตานิ เม
          ขอให้สุขศานติ์ทุกทั่วหน้า อย่าทุกข์ทน บุญผองที่ข้าทำจงอำนวยศุภผล

          สุขัง จะ ติวิธัง เทนตุ ขิปปัง ปาเปถะ โว มะตัง
          ให้สุขสามอย่างล้น ให้ลุถึงนิพพานพลัน

          อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อิมินา อุททิเสนะ จะ
          ด้วยบุญนี้ที่เราทำ และอุทิศให้ปวงสัตว์

          ขิปปังหัง สุละเภ เจวะ ตัณหุปาทานะเฉทะนัง
          เราพลันได้ ซึ่งการตัด ตัวตัณหา อุปาทาน

          เย สันตาเน หินา ธัมมา ยาวะ นิพพานะโต มะมัง
          สิ่งชั่วในดวงใจ กว่าเราจะถึงนิพพาน

          นัสสันตุ สัพพะทา เยวะ ยัตถะ ชาโต ภะเว ภะเว
          มลายสิ้นจากสันดาน ทุก ๆ ภพ ที่เราเกิด

          อุชุจิตตัง สะติปัญญา สัลเลโข วิริยัมหินา
          มีจิตตรง และสติปัญญาอันประเสริฐ พร้อมทั้งความเพียรเลิศเป็นเครื่องขูดกิเลสหาย

          มารา ละภันตะ โนกาสัง กาตุญจะ วิริเยสุ เม
          โอกาส อย่าพึงมี แก่หมูมารทั้งสิ้นทั้งหลาย เป็นช่อง ประทุษร้ายทำลายล้างความเพียรจม

          พุทธาทิปะวะโร นาโถธัมโม นาโถ วะรุตตะโม
          พระพุทธผู้วรนาถ พระธรรมที่พึ่งอุดม

          นาโถ ปัจเจกะพุทโธ จะ สังโฆ นาโถตตะโร มะมัง
          พระปัจเจกะพุทะสมทบ พระสงฆ์ ที่ผึ่งพยอง

          เตโสตตะมานุภาเวนะ มาโรกาสัง ละภันตุ มา
          ด้วยอานุภาพนั้น อย่าเปิดโอกาสให้แก่มาร ( เทอญ )

 บทกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแบบสั้น

          อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
          ขอบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุข สุขใจเถิดฯ

 บทกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้คู่กรรมคู่เวร

          ข้าพเจ้าขออุทิศบุญกุศลจากการเจริญภาวนานี้ให้แก่คู่กรรมคู่เวรทั้งหลายของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าได้เคยล่วงเกินท่านไว้ ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ ท่านจะอยู่ภพใดหรือภูมิใดก็ตาม ขอให้ท่านได้รับผลบุญนี้ แล้วโปรดอโหสิกรรม และอนุโมทนาบุญแก่ข้าพเจ้าด้วยอำนาจบุญนี้ด้วยเทอญ

เมื่อได้รู้จักบทกรวดน้ำกันแล้ว หลังทำบุญทุกครั้งก็อย่าลืมอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลของเรา ไปให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวรของเราด้วยนะคะ เพราะนอกจากเป็นการให้แล้ว ยังเพื่อความสบายใจของเราอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น