++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พระป่า วัดป่า



พระภิกษุ ฝ่ายที่มุ่งศึกษาธรรม โดยการกระทำหรือลงมือปฏิบัติ
และพำนักอยู่ตามป่าเขา ที่สงบ สงัด สะดวกต่อการปฏิบัติ
เรียกว่าพระฝ่ายอรัญวาสี พระธุดงคกรรมฐาน หรือ พระป่า
พระภิกษุ ที่ได้รับการยกย่องนับถือว่า เป็นพระบุพพาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพธรรม
พระกรรมฐานในประเทศไทย ได้แก่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้ได้บำเพ็ญความเพียร
ในขั้นเอกอุ จนบรรลุถึงธรรมชั้นสูงสุด ท่านได้ให้การอบรม สั่งสมบารมีธรรม
แก่ภิกษุสามเณร จนมีศิษย์เป็นพระธุดงคกรรมฐาน ผู้ทรงคุณธรรม
สัมมาปฏิบัติ ออกจาริธุดงค์ เผยแผ่ธรรมนำศรัทธาสาธุชน ได้ผลดีเป็นอันมาก
และได้สร้างวัดวา ศาสนสถาน ตามแบบที่เรียกว่า ‘วัดป่า’ ที่เน้นธรรมชาติ ความเรียบง่าย
สะอาด สงบ สว่าง ด้วยแสงธรรม

พระสายนี้ ชาวบ้านศรัทธาเรียกว่า พระธุดงคกรรมฐาน หรือ
พระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต ซึ่งดำเนินปฏิปทาตามแนวพ่อแม่ครูอาจารย์
พระป่าพระธุดงคกรรมฐาน จะปฏิบัติต่อครูอาจารย์ ที่เรียกท่าน ด้วยความเคารพอย่างสูงว่า
“พ่อแม่ครูอาจารย์” ด้วยความเคารพนับถือ ดุจบิดรมารดาแลครูอาจารย์
ผู้เป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์ ก็จะปกครอง อบรมดูแล ลูกศิษย์ ด้วยความเมตตาดุจพ่อแม่ แลครูอาจารย์ เช่นกัน

พระป่าทุกองค์ จะต้องรักษาศีล อย่างบริสุทธิ์ ในกระบวนไตรสิกขา ศีลสมาธิปัญญานั้น
ศีล เป็นข้อที่ง่ายที่สุด และเท่ากับ เป็นเครื่องทดสอบ สมณะเพศ
เพราะการรักษาศีล ต้องการศรัทธา ความตั้งใจ  ถ้าผู้ใดรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไม่ได้
ก็อย่าหวังเลย ที่จะก้าวหน้า ในทางธรรมชั้นสูง

พระป่า สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้มอบกายถวายชีวิต ในพระพุทธศาสนา
ดำเนิน เดินตามทางรอยธรรม พ่อแม่ครูอาจารย์ ธุดงคจาริกไป ตามวนาป่าเขา
เพื่อผลานิสงส์ ในการเพิ่มพูน บารมีธรรมแห่งพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า
เพื่อมรรคผล นิพพาน เพื่อสงเคราะห์โลก แลสรรพสัตว์ เป็นเนื้อนาบุญ
ของพระพุทธศาสนา เป็นขุนพลกล้า แห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐาน
ที่มีคุณูปการ อเนกอนันต์ ตราบนิรันดร์สมัย

สำหรับ ผู้ที่เคยเข้าไปสัมผัสวัดป่าเป็นครั้งแรก ความรู้สึกที่กระทบจิตใจ เมื่อย่างเข้าถึงเขตวัดป่า
คือ “ความร่มรื่น” ซึ่งเกิดจาก ต้นไม้น้อยใหญ่ภายในวัด
สิ่งกระทบใจ ประการที่สอง คือ ความสะอาด และ มีระเบียบ
“ความสงบเงียบ” ไม่อึกทึก พลุกพล่าน ต้นไม้ ธรรมชาติ จะได้รับ การรักษา ให้ยืนยง คงอยู่

กุฏิเสนาสนะ ที่พำนัก ของพระป่า จะปลูกสร้าง อย่างเรียบง่าย สมถะ ด้วยวัสดุพื้น ๆ
เว้นแต่บางแห่ง ที่มีคณะศรัทธาญาติโยมสร้างถวาย ก็อาจใช้วัสดุหรือการก่อสร้าง
ที่พิถีพิถัน แต่บางแห่ง ท่านก็ไม่ยอมให้สร้างใหญ่โต หรือพิถีพิถันเกินไป
เพราะเกรงว่า จะทำให้ พระคุ้นกับความสบาย จน “ติดสุข”
ไม่อยากออกไป เผชิญความลำบาก ในการออกเดินธุดงค์ ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญของพระป่า

โดยทั่วไป ภายในกุฏิของพระป่า จะมีเพียงกลด พร้อมด้วยมุ้งกลด เสื่อ ปูนอน เครื่องอัฐบริขาร
ผ้าห่มนอน จีวร ตะเกียง หรือเทียนไข และหนังสือที่หัวนอน อาจมีหิ้งพระ รูปพระอาจารย์ต่างๆ
ส่วนของมีค่า อุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายนั้น ท่านไม่สะสม
กุฏิแต่ละหลัง ผู้พำนักอาศัย ต้องรักษา ให้สะอาด ทั้งในกุฏิ และบริเวณ

พวกชาวเมือง ที่ได้ไปเยือนวัดป่าครั้งแรก มักจะแปลกใจว่า ท่านทำอย่างไร วัดจึงสะอาด
ทั้งๆ ที่ มีต้นไม้ เต็มไปหมด ทุกแห่ง ทางเดินของท่าน ก็โล่งเตียน ห้องน้ำ ก็สะอาด ศาลา ก็สะอาด
คำตอบคือ พระป่า ท่านปฏิบัติตามพระวินัย ท่านต้องรักษาเสนาสนะ ที่อยู่อาศัย และบริเวณ
ให้สะอาด ทุก ๆ วัน เวลาประมาณ บ่ายสามโมง เป็นเวลาปัดกวาดลานวัด
ซึ่งปกติท่าน สมภาร หรือ ประธานสงฆ์ ก็จะลงมือกวาดด้วย ยกเว้นก็แต่ผู้อาพาธเท่านั้น
งานปัดกวาดนี้ใช้แรงมาก เพราะไม้กวาดหนักและด้ามยาว กว่าจะแล้วเสร็จก็เหงื่อท่วมตัว
ซึ่งเท่ากับเป็นการออกกำลังกายไปในตัว พระป่าท่านเดินจงกรม เดินบิณฑบาต ทุกวัน
ถูศาลา ทุกวัน และกวาดวัดทุกวัน ท่านจึงแข็งแรงและสุขภาพดี

พระป่า ท่านมีคติอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ว่าวันไหน จะบิณฑบาต ได้ภัตตาหารมากน้อยเท่าใด
ต้องฉันแต่น้อย แต่พอดี แม้จะมีอาหารล้นเหลือ ก็จะไม่ฉันจนอิ่มตื้อ เพราะถ้าทำเช่นนั้น จะง่วง
ภาวนาไม่ได้ นอกจากระวังไม่ฉันมากแล้ว พระป่าท่านยังระวัง ไม่ให้ติดรสอาหารด้วย
โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่อร่อย ทั้งนี้เพราะเกรงว่าจะ “ติดสุข” นั่นเอง
ในเวลาฉัน ต้องพิจารณาตามแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสอน พูดง่าย ๆ คือว่า กินเพื่ออยู่ เพื่อประทังชีวิต
ประทังความหิว ท่านจึงเงียบสงบ ระหว่างฉัน ไม่สนทนาพาทีอะไรกัน
เพราะท่านต้องพิจารณาอาหารไปด้วย
กิจวัตรของพระป่า คือ ตื่นนอน ตั้งแต่ตีสาม หรือตีสี่ เพื่อปฏิบัติภาวนา สวดมนต์ ทำวัตรเช้า
ทำกิจส่วนตัว แล้วเตรียมตัวออกบิณฑบาต ครั้นรุ่งอรุณ พระป่าจากอรัญญวาสีจะออกบิณฑบาต
เป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น