ในโลกธุรกิจปัจจุบันที่เปิดกว้างไร้พรมแดน มีนักธุรกิจต่างชาติมาลงทุนในบ้านเรามากมาย วัฒนธรรมระหว่างตะวันออกและตะวันตกที่แตกต่าง ทำให้เราต้องเปิดใจเรียนรู้ช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมเพื่อให้สามารถทำงา...นร่วมกันได้โดยราบรื่น ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับ 6 ประการในการทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ
1. เมื่อไม่เห็นด้วย ขอให้พูดออกมา
ความกล้าที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นเมื่อเรามีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับหัวหน้า โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับเส้นตาย รายละเอียดของการนำไปปฏิบัติ หรือกิจกรรมสำคัญที่อาจจะเป็นจุดวิกฤตต่อแผนงาน เราจะต้องแสดงความคิดเห็นออกมาอย่างสุภาพและตรงไปตรงมา อย่าเกรงใจด้วยการพยักหน้า และบอกว่า Yes เพราะคนไทยเราเมื่อมีการพยักหน้า เราหมายถึงว่า เรารับฟัง แต่สำหรับคนต่างชาติแล้ว เขาจะหมายถึงว่า เราเห็นด้วย และตกลงตามนั้น ก็คือว่า เรารับปากเขา เมื่อรับปากแล้ว หากไม่สามารถทำได้ เราก็ได้ทำลายความเชื่อถือในตัวเราลงโดยไม่รู้ตัว เพราะคนไทยเรามักจะ "ไม่เป็นไร" แต่สำหรับคนต่างชาติแล้ว หากคุณจะรับปาก ขอให้แน่ใจก่อนว่า เราจะสามารถทำตามที่รับปากได้จริงๆ
2. เมื่อไม่รู้ หรือไม่แน่ใจ ขอให้กล้าถาม
ชาวต่างชาติมักจะยินดี หากเมื่อมอบหมายงานแล้ว ลูกน้องมีคำถาม เพราะแสดงว่า เราให้ความสนใจกับรายละเอียดของงาน และแสดงออกถึงความต้องการที่จะเข้าใจเพื่อจะได้ทำงานให้สำเร็จลุล่วงด้วย โดยปกติแล้ว หัวหน้างานส่วนใหญ่นี้จะใจกว้างพอที่จะไม่ดูแคลนคำถามของเรา หากเขาเห็นว่า เราไม่เข้าใจหรือไม่รู้
3. ยอมรับความผิดพลาดในงาน ตั้งแต่เนิ่นๆ
เมื่อเกิดผิดพลาดในงาน เราควรบอกให้หัวหน้าทราบตั้งแต่เนิ่นๆเมื่อเริ่มทราบ เพราะแนวโน้มของความเสียหายจะน้อยกว่า และโอกาสของการแก้ไขปัญหาจะง่ายขึ้นกว่าที่จะปล่อยให้เนิ่นนาน จนปัญหาบานปลายไปจนเกินกว่าจะแก้ไข
4. พูดให้ชี้เฉพาะเจาะจงขึ้น
คนไทยเราถูกอบรมมาให้ระมัดระวังคำพูดมิให้กระทบกระทั่งความรู้สึกคนอื่น ซึ่งทำให้เมื่อเกิดปัญหา เรามักจะพูดอ้อมค้อมไม่ตรงกับประเด็นของปัญหา ทำให้คนฟังสับสนไปหมด ทางแก้คือ ควรจะทำให้ความคิดชัดเจนและมีการลำดับขั้นตอนให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะเข้าประชุมหรือหารือกับหัวหน้างาน อาจจะเริ่มจากนั่งเขียนความคิดของเราดูก่อน แล้วก็ลำดับความคิดว่า ต้องการคุยเรื่องอะไร อะไรเป็นสาเหตุ มีข้อมูลอะไรสนับสนุน และมีข้อเสนอแนะสำหรับปัญหานั้นอย่างไรบ้าง อย่าเข้าพบกับหัวหน้าด้วยปัญหาเพียงอย่างเดียว ควรจะมีความเห็นเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหานั้นด้วย อย่าหงุดหงิดเพราะคิดว่า หากรู้ทางแก้แล้วคงจะไม่เข้าไปถาม การที่เราคิดวิธีการแก้ไขปัญหาไปด้วย หัวหน้าจะชมเชยและอาจเสนอแนะเพิ่มเติม ทำให้เราเกิดความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยตนเองมากขึ้น
5. บอกความคืบหน้าเป็นระยะ
หัวหน้างานส่วนใหญ่ต้องการทราบความคืบหน้าของงานเป็นระยะ เราจึงควรรายงานเขาอย่างต่อเนืองและสม่ำเสมอ ส่วนที่ว่าจะต้องรายงานถี่หรือละเอียดขนาดไหน หรือต้องการให้รายงานในลักษณะไหน เป็นเอกสาร หรือลายลักษณ์อักษร หรือทางโทรศัพท์ เราคงต้องศึกษาสไตล์ของหัวหน้าแต่ละคน แล้วนำมาประยุกต์ใช้
6. บันทึกสิ่งที่คุณทำเป็นลายลักษณ์อักษร
การบันทึกสิ่งที่คุณทำ บันทึกความเข้าใจ (Memo) บันทึกการประชุม หรือรายละเอียดของงาน จะช่วยได้หลายกรณี เช่น ช่วยให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน การบันทึกผลงานหรือความสำเร็จของเรา ก็สามารถนำไปอ้างอิงได้ในอนาคตได้ เคล็ดลับเหล่านี้ แม้ไม่ใช่หัวหน้าชาวต่างชาติ เราก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อเป็น"ลูกน้องในดวงใจ" ของหัวหน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น