++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2557

อ่านหนังสือทำให้คนเป็นคน




อ่านหนังสือดี ๆ สักเล่มอาจได้บางอย่างและหลายอย่างรวมกัน...

อย่างแรก อ่านเพื่อรู้ (read to know) ได้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ทำให้รู้อะไรต่ออะไรมากขึ้น อาจเป็นเรื่องธรรมชาติ สารคดีท่องเที่ยว อาหารการกิน สุขภาพ เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม อะไรก็ได้ที่อยากรู้ ควรรู้ และต้องรู้

ประการที่สอง อ่านเพื่อทำ (read to do) หนังสือวันนี้เต็มไปด้วยประเภท how to คู่มือการปฏิบัติในสารพัดเรื่อง ตั้งแต่การเกษตรไปถึงการค้าขาย การบริหารจัดการ การเป็นผู้นำ การผูกมิตรและจูงใจคน การดูหมอดูโชคชะตาราศี

มีคู่มือที่ให้ทั้งวิธีการและแรงบันดาลใจ การปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ สร้างบ้านซ่อมบ้าน ทำอะไรด้วยตนเอง การทำอาหารกินเอง หรือตั้งร้านก็มีคนบอกวิธีการให้ทุกขั้นตอน ถ้านำความรู้เหล่านี้ไปใช้ ไปปรับประยุกต์ ไปเรียนรู้ด้วยตนเองอีกต่อหนึ่ง ก็จะเกิดทักษะ เกิดความชำนาญ

ประการที่สาม อ่านเพื่อเป็นคนให้มากขึ้น (read to be) อ่านหนังสือดีๆ อาจได้เรียนรู้เรื่องชีวิต หลักในการดำเนินชีวิต วิธีคิดวิธีปฏิบัติที่จะนำความสงบสุขมาให้ตน โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับธรรมะ ศาสนา ปรัชญา ที่อ่านแล้วทำให้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต เข้าใจตนเองมากขึ้น อาจนำไปสู่การปลง การปล่อยวางอย่างใช้ปัญญา ไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นคนไร้ความรู้สึก เฉื่อยชา ตรงกันข้าม อาจทำให้มีความกระตือรือร้น มีชีวิตชีวามากขึ้น ปรับปรุงตัวเองให้เป็นผู้เป็นคนมากยิ่งขึ้น

ประการที่สี่ อ่านเพื่อให้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดียิ่งขึ้น (read to live with others) การอ่านทำให้ได้รับรู้เรื่องราวและเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับผู้คนและสังคม อ่านหนังสือดีๆ ทำให้มีจิตใจที่อ่อนลง ไม่แข็งกระด้าง เย็นลง ไม่ร้อนรุ่ม มีจิตอาสา มีเมตตามากขึ้น มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น ทำให้ไม่เอาเปรียบคนอื่น ไม่โกง และทำให้มองโลกในแง่ดีขึ้น ไม่มองเห็นแต่ปัญหา แต่เห็นทางออกด้วย มองเห็นวิกฤติเป็นโอกาส ไม่ทำตัวเป็นคนนั่งดูละคร แต่อยากกระโดดขึ้นไปร่วมแสดงด้วย คนอ่านหนังสืออยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดี มีส่วนร่วมกับสังคม ไม่เห็นแก่ตัว

การอ่านหนังสือทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ของคนทั่วโลก ของมนุษยชาติ ว่าได้ต่อสู้มาอย่างไรรบราฆ่าฟันกันมาบางเผ่าพันธุ์สู้กันมาหลายพันปี และยังขัดแย้งกันอยู่ถึงปัจจุบัน

เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ว่าสังคมมีวิวัฒนาการมาอย่างไร รากเหง้าเราเป็นใคร เกิดอะไรขึ้นในประเทศต่าง ๆ เกิดอะไรขึ้นในโลกที่ส่งผลกระทบถึงกันหมดในยุคโลกาภิวัตน์ ตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ที่เล็กลงเหลือนิดเดียว

อ่านหนังสืออัตชีวประวัติ หรือเรื่องเกี่ยวกับมหาตมะคานธี เนลสัน แมนเดลา และคนกล้าคนเก่งคนดีวีรบุรุษวีรสตรีที่ได้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคมแล้วได้แรงบันดาลใจ ได้พลังที่ทำให้กล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม และมองเห็นความหวังว่า ไม่ว่าสังคมวันนี้จะเลวร้ายเพียงใด จะต่อสู้ห้ำหั่นเอาเป็นเอาตายกันเพียงใด ถ้าอดทนมุ่งมั่น วันหนึ่งก็จะถึงทางออกได้ ตามวิภาษวิธีแห่งประวัติศาสตร์

การอ่านหนังสือทำให้รู้เท่าทันโลก รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รู้เท่าทันร้อยเล่ห์พันเหลี่ยมของคนที่จ้องจะหลอกลวง เอาเปรียบผู้อื่น ซึ่งมีอยู่มากมายเต็มบ้านเต็มเมือง เต็มหูเต็มตา

อ่านหนังสือดีๆ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันชีวิต ได้ความคิด ได้วิธีคิด วิธีเข้าใจโลก เข้าใจคน ไม่ได้ความรู้อย่างเดียวแต่ได้จินตนาการ ซึ่งไม่ได้มาจากการอ่านนิทานหรือนวนิยายเท่านั้น

แต่การอ่านไม่ว่าเรื่องอะไรก็มีส่วนสร้างจินตนาการได้ ทำให้เราก้าวข้ามขอบเขตและขอบฟ้าของโลกที่จำกัดนี้ ให้พลังสร้างสรรค์ที่ทำให้ออกนอกกรอบได้ คิดต่างคิดใหม่ได้ ไม่เป็นไม้ในกระถาง แต่ลงดิน เติบโตเป็นตัวของตัวเอง

อ่านหนังสือทำให้ได้สุนทรียะทางอารมณ์ ได้ความสุขสนุกสนาน อย่างการอ่านเรื่องสั้น นวนิยายวรรณกรรมชั้นเยี่ยมของโลก

หนังสือที่มีภาพดีๆ ให้ดู เรื่องราวดีๆ ให้คิดคำนึง ทำให้เกิดความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ มีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น ไม่เป็นคนดื้อด้าน มองเห็นความดีและความงามในธรรมชาติ ในสังคม ในผู้คน

อ่านหนังสือทำให้รู้ว่า "ความจริง ความดี ความงาม" คืออะไรและสัมพันธ์กันอย่างไร

การอ่านหนังสือเป็นวิธีดีที่สุดวิธีหนึ่งในการ "สอนลูกให้คิดเป็น" พ่อแม่อ่าน ชวนลูกไปซื้อหนังสือ ชวนลูกอ่านหนังสือ โดยอ่านให้ลูกฟังตั้งแต่ยังแบเบาะ เขาจะเห็นคุณค่าของหนังสือและอยากอ่านเองเมื่อโตขึ้น เขาจะเป็นคนที่มีความรู้สึกที่ดี มีสุนทรียะ และจินตนาการที่ก้าวข้ามความทุกข์ร้อนทั้งหลาย อย่างน้อยได้ฟังนิทาน ได้อ่านเรื่องดีๆ ทุกคืน เขาจะเข้านอนอย่างสงบ ไม่ฝันร้าย ตื่นขึ้นมากล้าเผชิญกับชีวิตความเป็นจริงได้อีกวันหนึ่งอย่างแข็งแกร่ง

อ่านหนังสือทำให้เราคิดเป็น ตัดสินใจเป็น เลือกเป็น เพราะหนังสือสอนให้เรารู้จักเชื่อมโยงข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ที่เราได้รับรู้ ได้ยิน ได้ฟัง ทำให้จัดระบบข้อมูล จัดระบบความคิด และสื่อสารกับคนอื่นได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียน เราจะเรียบเรียงความคิด เนื้อหาที่อยากสื่อออกมาได้ดีขึ้น

การอ่านหนังสือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของความเป็นคน เป็นตัวชี้วัดความเจริญของสังคม เพราะสังคมอ่านหนังสือ คือสังคมเรียนรู้ และสังคมเรียนรู้เท่านั้นที่เข้มแข็งและเจริญพัฒนา
________________________
เสรี พงศ์พิศ/www.phongphit.com
คอลัมน์ ปรับฐานรากเปลี่ยนฐานคิด
สยามรัฐออนไลน์, 1 เมษายน 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น