++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

รวมพลคนกินปลา/บรรจง นะแส

รวมพลคนกินปลา/บรรจง นะแส

คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส

ภาพพาเหรดของนักเรียน นักศึกษา พี่น้องจากชุมชนประมงชายฝั่งในเขตอำเภอท่าศาลา และใกล้เคียง จัดริ้วขบวนนำเอาภาพของความอุดมสมบูรณ์แห่งท้องทะเลอ่าวท่าศาลาขึ้นมาบอกกล่าวแก่ผู้คนที่ผ่านไปมา สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ที่พบเห็น ภาพจำลองของสัตว์น้ำ และกุ้งหอยปูปลา และพันธุ์สัตว์น้ำสดๆ แห่งอ่าวท่าศาลา สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้คน เพราะหลายๆ คนไม่เชื่อว่าปลากระเบนตัวขนาด 30 กว่ากิโล 20-30 ตัว ปูดำก้ามโตๆ ตัวละเกือบกิโลกรัม รวมไปถึงปลากุเลา ปลากะพง ฯลฯ หอยชนิดต่างๆ จะมีอยู่จริงในอ่าวท่าศาลาแห่งนี้

“รวมพลคนกินปลา” เป็นสโลแกนหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อจัดงานมหกรรมสิ่งดีๆ ในท้องถิ่น ของอำเภอเล็กๆ อย่างอำเภอท่าศาลาแห่งเมืองนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายนที่ผ่านมา นับเป็นความก้าวหน้าของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง กลไกของส่วนต่างๆ ในระดับอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นฝ่ายประสานฝ่ายต่างๆ และสนับสนุนร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ถ้าตีเป็นมูลค่าเงิน ผมประเมินคร่าวๆ ผมคิดว่ามหกรรมรวมพลคนกินปลาแห่งเมืองท่าศาลาในครั้งนี้น่าจะต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ถึงจะจัดงานได้ยิ่งใหญ่ และมีชีวิตชีวาของงานได้เช่นนี้ แต่เท่าที่ทราบ การจัดงานในครั้งนี้ทางหน่วยงานราชการสนับสนุนงบประมาณไม่เกิน 3 ล้านบาท นอกนั้นท้องถิ่น องค์กรต่างๆ ร่วมสนับสนุนอย่างเต็มไม้เต็มมือ

ภาพของท่านนายอำเภอท่าศาลา ปลัดอำเภอ ประมงอำเภอ เดินตากแดดแบกเต็นท์ยกโต๊ะเก้าอี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ หลังการเตรียมงานแต่ละวันก็หุงหาอาหารทานร่วมกันที่กองร้อย อส.หลังที่ว่าการอำเภอท่าศาลานั่นแหละ ทั้งผู้บังคับบัญชา ทั้งผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดสนิทสนมรักใคร่กลมเกลียว ทำงานร่วมกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในฐานะที่สมาคมรักษ์ทะเลไทยเป็นองค์กรร่วมจัด ทำให้ผมมีโอกาสได้สัมผัสกับการทำงานของกลไกในระดับอำเภอในการจัดมหกรรมที่เน้นการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเนื้อเดียวกันเป็นครั้งแรก ทำให้ผมเชื่อว่า กลไกต่างๆ ของอำเภอ และองค์การปกครองท้องถิ่นมีศักยภาพมากพอที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตัวเองให้ดีขึ้นมาได้ หากมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้าง และเอาจริงเอาจังต่อการทำงาน

การจัดงานรวมพลคนกินปลาของอำเภอท่าศาลาในครั้งนี้ มีส่วนกระตุ้นเตือนสร้างความตระหนักต่อสำนึกรักท้องถิ่นของคนพื้นที่ มีส่วนสำคัญในการยกระดับการรับรู้ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลอ่าวท่าศาลาสู่สังคมภายนอก ซึ่งมีผลแน่นอนของการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้จะนำไปสู่การปลุกจิตสำนึกในการหวงแหน และภาคภูมิใจในถิ่นเกิดของผู้คน ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลรวม 23 (ไม่รวมกรุงเทพฯ) มีอำเภอที่มีพื้นที่ติดพื้นที่ชายฝั่งทะเลและทะเลสาบรวม 136 อำเภอ มีตำบลทั้งหมดรวม 809 ตำบล หากทุกอำเภอ ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินกิจกรรมดังเช่นการดำเนินการของอำเภอท่าศาล าและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอำเภอท่าศาลาในครั้งนี้ ผมมีความเชื่อว่า ทรัพยากรชายฝั่งโดยเฉพาะพันธุ์สัตว์น้ำจะได้รับการปกป้องดูแล และชุมชนจะไม่มีวันที่จะขาดอาหารทะเลในการบริโภค

“คนกินปลา” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำนึกร่วมของผู้คนในสังคมไทย ในขณะที่สังคมไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาของการบิดเบือนในเนื้อหาที่ว่าด้วยแหล่งอาหารโปรตีนของสังคม ที่มีผู้พยายามจะสื่อสารออกมาว่า เพราะเรามีประชากรเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าแม่น้ำลำคลอง ทะเล ทะเลสาบของเรามีสัตว์น้ำลดลงๆ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง สาเหตุของการลดลงของพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติ ล้วนมีสาเหตุที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าการยกเลิกเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้างพันธุ์สัตว์น้ำอย่างเรืออวนลาก อวนรุน หรือเรือปั่นไฟ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

ประเทศนี้ถูกกลไกทางธุรกิจเข้ามาครอบงำบริหารจัดการบ้านเมือง ผ่านระบบราชการ พรรคการเมือง และนักการเมืองมายาวนาน ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่มักถูกมองข้าม และถูกละเลยเสมอมา ปัญหาทรัพยากรชายฝั่งก็หาได้รอดพ้นจากเหตุปัจจัยเช่นนั้น เจ้าของธุรกิจเรืออวนลากเชื่อมโยงกับเจ้าของโรงงานอาหารสัตว์ เจ้าของธุรกิจอาหารสัตว์เชื่อมโยงกับธุรกิจการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ สัตว์บก แหล่งอาหารโปรตีนของสังคมกำลังตกอยู่ในอุ้งมือของบริษัทเหล่านี้ ทุกพื้นที่ถ้าจะกินปลาเราก็จะพบแต่ปลาดุก ปลานิล และปลาทับทิม ถ้าจะบริโภคเนื้อก็เป็นไก่ขาว หมูขุน ซึ่งล้วนตกอยู่ในการควบคุมของบริษัทเอกชนที่ควบคุมการผลิตตั้งแต่พ่อแม่พันธุ์ อาหาร ยารักษาโรค และรวมไปถึงเรื่องการตลาด

“รวมพลคนกินปลา” จึงเป็นขบวนการแห่งสำนึกอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นทรัพยากรชายฝั่งและพันธุ์สัตว์น้ำทะเลจำพวกกุ้งหอยปูปลา ด้วยต้นทุนฐานทรัพยากรของประเทศที่ประกอบไปด้วยพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวกว่า 2,600 กิโลเมตร มีปากแม่น้ำหลายร้อยสายที่ไหลลงสู่ทะเลและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นได้ เรายังมีป่าชายเลนอีกกว่าล้านไร่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่มากพอ มากพอที่จะทำให้ผู้คนในสังคมนี้ไม่ต้องบริโภคอาหารโปรตีนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทเอกชน แต่จะมีกุ้งหอยปูปลาที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยทุกๆ คนที่กินปลา ทุกพื้นที่ที่อยู่ติดทะเล และชายฝั่งจะลุกกันขึ้นมาดูแล และปกป้อง ผมหวังเอาไว้เช่นนั้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น