พระบรมสารีริกธาตุ และ พระอรหันตธาตุ
โดย อั๋น พระรามแปด
คัดลอกจาก: ภควา ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๖
ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗
โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดชีวิตกับธรรมะ กระทู้ 12159 โดย: mayrin 01 มิ.ย. 47
พระบรมสารีริกธาตุ และ พระอรหันตธาตุ
กับสถานที่ประดิษฐานอันสำคัญในประเทศไทย
ลังกา อินเดีย แหล่งกำเนิดอารยธรรม อันเจริญรุ่งเรืองแต่เก่าก่อน ทั้งด้านการปกครอง ศาสนา พิธีกรรม มีการเผยแพร่สู่ถิ่นอื่น ๆ โดยเฉพาะเมืองที่ผู้ปกครองหรือผู้นำที่เข้มแข็ง จะมีการสืบ ความรู้แขนงต่าง ๆ ที่รับมาจากลังกา และอินเดีย
นำมาประยุกต์ใช้การสร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา มีพระมหาธาตุเจดีย์ตั้งอยู่กลางเมือง ตามคติธรรมราชา ราชาปกครองด้วยธรรมค้ำจุนพระศาสนา เป็นหลักชัยของบ้านเมือง นำศาสนาเป็นสื่อกลางความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของกลุ่มชนเป็นอยู่กระจัดกระจาย เป็นก๊ก เป็นเหล่า
พระบรมธาตุเจดีย์ พระมหาธาตุเจดีย์ ดำรงความเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ตามคตินิยมของชาวพุทธ การได้สักการะปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปเจดีย์ รวมเรียกว่า อุทเทสิกเจดีย์ ย่อมเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และยิ่งมีเรื่องราวสนับสนุนเป็นตำนาน พุทธประวัติ เกี่ยวเนื่องกับสถานที่นั้น ก็ยิ่งเป็นแรงเพิ่มศรัทธาเป็นเท่าทวีคูณ
พระธาตุเจดีย์ สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิธาตุ ทั้งพระบรมสารีริกธาตุ อรหันตธาตุ แม้แต่พระมหากษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์แล้ว ก็นำอัฐิธาตุไปบรรจุไว้ โบราณได้แบ่งเจดีย์ออกเป็น ๔ อย่าง
๑. ธาตุเจดีย์ หมายถึง เจดีย์ที่บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุต่าง ๆ
๒. บริโภคเจดีย์ หมายถึง เจดีย์อันมีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า เช่น สังเวชนียสถานทั้ง ๔ คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ประทานปฐมเทศนา และสถานที่ดับขันธ์ ปรินิพพาน
๓. พระธรรมเจดีย์ หมายถึง พระคัมภีร์ ซึ่งแสดงถึงหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นหนังสือหรือแผ่นจารึก แม้แต่คำจารึกพระธรรมทั้งหลาย บรรจุไว้ ณ สถานที่ใด ที่นั้นก็ถือเป็นพระธรรมเจดีย์ด้วย
๔. อุทเทสิกเจดีย์ หมายถึงเจดีย์ที่สร้างขึ้นอุทิศเฉพาะพระพุทธเจ้า เป็นต้นว่า พระพุทธรูป พระพุทธบาท และอาสนะ คือ สิ่งที่สร้างขึ้น แล้วอุทิศถวายพระพุทธเจ้า
เจดีย์มีมาก่อนพระพุทธกาล ต้นไม้ ภูเขา และป่า ตลอดจนสัตว์บางชนิด ก็ได้รับนับถือยกย่องให้เป็นเจดีย์ได้ อย่างนี้มีอยู่ก่อนแล้ว ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงประกาศศาสนาในประเทศอินเดีย พระพุทธองค์ก็ยอมรับเจดีย์อันเป็นที่เคารพนับถือของหมู่ชนมาแต่เดิม
ดังที่เห็นได้ในพระวินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องพระฉันทะโค่นต้นไม้ใหญ่ อันเป็นเจดีย์ของหมู่บ้านเพื่อสร้างวิหาร จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านติเตียน เมื่อพระพุทธองค์ทราบบัญญัติพระวินัยว่า พระภิกษุสงฆ์ห้ามโค่นต้นไม้ใหญ่ อันเป็นที่นับถือของหมู่บ้าน
แต่คำว่าเจดีย์ที่เราเข้าใจในปัจจุบันนั่น ไม่ปรากฏว่า พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ ณ ที่แห่งใดเลย มีแต่ทรงตรัสถึง ธูปารหะบุคคล คือ บุคคลอันควรแก่สถูปเท่านั้น หน้าที่เจดีย์ ๔ อย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น น่าจะเป็นของที่เกิดขึ้นในครั้งหลัง
แต่ต้องไม่นับถ้อยคำ กล่าวสรรเสริญพระพุทธองค์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ถ้อยคำว่าพระเจ้าปเสนทิโกศล นั้น เป็นธรรมเจดีย์ ดังมีมาในธรรมเจติยสูตร
เจดีย์ ทุกท่านจะนึกรู้ทันทีว่า หมายถึงสถาปัตยกรรม อันมิใช่ตัวอาคารที่จะเข้าไปอยู่อาศัยได้ เหมือนดังโบสถ์หรือวิหาร บางทีก็เรียกว่า สถูปเจดีย์ หรือพระปรางค์ก็ได้
บรรดาเมืองหลวง หรือเมืองที่จัดอยู่ในระดับราชธานี ตามคติโบราณของไทยนับถือพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ เมืองจะต้องมีวัดที่สำคัญ เช่น วัดมหาธาตุ อยู่เป็นหลัก หรือเป็นประธานของเมืองนั้น ๆ
จึงปรากฏชื่อวัดมหาธาตุอยู่เป็นหลักสำคัญของเมือง ตั้งแต่สมัยสุโขทัย มาจนถึงรัตนโกสินทร์ทั้งยังเป็นที่สถิตประทับอยู่ของพระมหาเถระที่ได้ราชทินนามว่า "สมเด็จพระสังฆราช" ทรงประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุจึงเป็นวัดที่แตกต่างจากวัดทั่ว ๆ ไป โดยจะมีพระเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างถวายตามความเชื่อ เพื่อเป็นประธานของเมือง นอกจากวัดมหาธาตุแล้วยังมีสถานที่อื่น ๆ สร้างพระมหาเจดีย์ใหญ่กันขึ้นทุกยุคทุกสมัย ตามศูนย์กลางความเจริญในแต่ละสถานที่นั้น ๆ
อาทิ พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช พระธาตุไชยา พระธาตุพนม พระธาตุหริภุญชัย ฯลฯ แต่ละสถานที่ก็มีเรื่องเล่า ตำนานความศักดิ์สิทธิ์ แต่ละจุดศูนย์กลาง เน้นไปที่พระบรมสารีริกธาตุ
พระธาตุที่บรรจุอยุ่ในองค์พระเจดีย์ตามตำนานต่าง ๆ พื้นฐานจะมาจากที่แห่งเดียวกัน คือ มาจากชมพูทวีป ในประเทศอินเดีย แต่การให้ได้มาประดิษฐานยัง ณ สถานที่แห่งนั้น ๆ มักมีเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์แตกต่างกันออกไปอย่างสลับซับซ้อน เพื่อสนับสนุนเพิ่มความศรัทธาเป็นเท่าทวีคูณ
พระบรมธาตุตามตำนาน
พระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และธาตุของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ มีลักษณะแตกต่างกับอัฐิหรือกระดูกของปุถุชนคนธรรมดา โดยพระองค์ท่านเป็นผู้ที่สำเร็จและปรินิพพานไปแล้ว
จึงเป็นสิ่งควร เคารพบูชาอย่างสูงยิ่ง ทั้งยังเป็นอานิสงส์แก่ผู้กราบไหว้ เคารพบูชาให้สำเร็จประโยชน์และสุขสมบูรณ์ ผลานิสงส์ นี้จะปรากฏแต่เฉพาะ ผู้มีความเลื่อมใส กระทำการสักการะ โดยสุจริต เท่านั้น
พระบรมสารีริกธาตุ
ประดิษฐานในประเทศไทย
พระบรมสารีริกธาตุที่ปรากฏในประเทศ ในเมืองไทย มีเรื่องเล่า การได้มาซึ่งพระธาตุมีปาฏิหาริย์แตกต่างกันออกไป แต่พื้นฐานก็มาจากประเทศอินเดีย จะยกตำนานเรื่องเล่าของการได้มาซึ่งพระบรมสารีริกธาตุ อันเป็นตำนานที่เล่าสืบทอดคู่กับพระเจดีย์นั้นสักแห่งหนึ่ง ที่มีประวัติเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์
เพื่อสนับสนุนให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธา มีมาแต่ครั้งโบราณก็จะได้ยกถึงประวัติพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช อันเป็นศูนย์กลางศาสนาวัฒนธรรมมาแต่โบราณ
กล่าวตำนานพระบรมธาตุเจดีย์
นครศรีธรรมราช
เริ่มต้นจากประเทศอินเดียก่อน หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ดับขันธ์ ปรินิพพานแล้วมีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐาน ณ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ทั้งบนสวรรค์ โลกมนุษย์ และบาดาล
มาในสมัยพระเจ้าอชาตศัตรู ทรงได้นิมนต์พระมหากัสสปะ ให้ไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานในที่ต่าง ๆ รวบรวมมาไว้ที่กรุงราชคฤห์ ชมพูทวีป โดยให้ขุดหลุมฝังแล้วทำพิธีกรรมผูกพหุ่นยนต์ หรือหุ่นฝางหญ้า ปลุกเสกด้วยเวทมนต์ให้หุ่นพยนต์นี้อารักษ์รักษาพระบรมสารีริกธาตุนี้ไว้
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๒๔ สมัยพญาอโศกราชแห่งนครอินทรปัตต์ ได้โปรดให้ขุดพระบรมสารีริกธาตุที่สมัยพระเจ้าอชาตศัตรูฝังไว้ ขึ้นมาแจกจ่ายยังนครต่าง ๆ ๘๔,๐๐๐ แห่ง
กษัตริย์สิงหราช เจ้าเมืองทนธบุรี (ท้าวโกสีหราช หรือ อังกุศราช) ได้รับพระทันตธาตุไปบูชา จึงเป็นเหตุให้กษัตริย์แห่งอื่น ๆ ยกทัพมาหวังจะแย่งชิง พระทันตธาตุ มิได้ขาด จนสุดท้ายเมืองนี้ถูกโจมตีจากกองทัพ ๕ เมือง
กษัตริย์สิงหราชทรงเห็นว่า ไม่สามารถรักษาพระทันตธาตุองค์นี้ไว้ได้จึงรับสั่งให้พระราชธิดา คือ พระนางเหมชาลา และพระราชโอรสนามว่า เจ้าชายทนธกุมาร ให้อัญเชิญพระทันตธาตุลงเรือไปถวาย พระเจ้ากรุงลังกา
ระหว่างที่เดินทางเกิดพายุใหญ่ เรืออับปาง ขบวนเสด็จของพระนางและเจ้าชายถูกพัดมาขึ้นฝั่ง จึงได้ฝังพระทันตธาตุไว้ ณ ที่แห่งนั้นระหว่างอยู่ที่หาดทรายแก้ว ได้ถูกท้าวนาคา ลอบมาลักพระทันตธาตุไว้ในนาคพิภพ หรือเมืองพญานาค
พระมหาเถรพรหมเทพได้ช่วยพระนางชิงคืนกลับมาแล้วได้นำไปถวายถึงมือเจ้ากรุงลังกา แต่พระเจ้าทศคามิมี พระจ้ากรุงลังกาได้ประทานพระทันตธาตุคืนให้พระนางทะนานหนึ่ง ส่วนหนึ่งนำกลับไปฝังไว้ ณ หาดทรายแก้ว แล้วเหลือกลับไปประดิษฐานคืนเมือทนธบุรีดังเดิม
ถึงยุคพระเจ้าศรีธรรมมาโศกราช อพยพพลเมืองหนีโรคห่าไปถึงหาดทรายแก้ว เทพยดาแสดงปาฏิหาริย์ดลใจให้พระองค์พบสถานที่ซ่อนพระทันตธาตุ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญขึ้นมา แต่ไม่สำเร็จ ด้วยอิทธิฤทธิ์หุ่นยนต์ที่ถูกผูกขึ้นไว้มารักษาพระธาตุ เป็นฝูงนกการออกมาทำร้าย
ต่อมาได้เจ้ากากภาษา โอรสเจ้าเมืองโรมพิสัย อาสามาแก้อาถรรพณ์ให้ได้สำเร็จ แล้วสร้างพระเจดีย์ขึ้นบรรจุพระบรมธาตุ ตามตำนานกล่าวว่าพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๘๕๔ นี่คือเรื่องราวตำนานหนึ่งในหลาย ๆ ตำนานพระธาตุเจดีย์สำคัญของไทย เน้นปาฏิหาริย์ดึงศรัทธาของกลุ่มคน
พระธาตุในยุคปัจจุบัน
โลกที่ไม่ว่างจากพระอรหันต์ พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ทำการสักการะพระพุทธรูปในสถานที่ใด สถานที่หนึ่ง นอกจากจะมีพระพุทธรูปให้ได้ทำการสักการะแล้วจะมีกระดูกของครูบาอาจารย์ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่า พระธาตุ ให้ได้สักการะกัน
โดยเฉพาะวัดหรือสถานที่ปฏิบัติธรรมในสายพระป่า เช่น วัดป่าสาละวัน จังหวัดนครราชสีมา จะนำอัฐิของครูบาอาจารย์พระป่าสายวิปัสสนาที่สำคัญๆ หลาย ๆ องค์นำมาประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่สิงห์ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่พุธ
อัฐิ หรือ กระดูก ท่านทั้งหลาย ปรากฏเกิดเป็นแก้วผลึกใส ที่เรียกว่า พระธาตุ น่าอัศจรรย์พระธาตุท่านทั้งหลายเหล่านี้ ครูบาอาจารย์ในชั้นลูกศิษย์ถือได้ว่าเป็นพระธาตุที่มีค่ามาก เพราะเป็นพระธาตุที่เกิดขึ้นกับครูบาอาจารย์ของท่านเอง
เมื่อท่านได้ละสังขารไปแล้ว หลังจากกระทำพิธีสามหาบ (การเก็บกระดูก หลังจากเผาเรียบร้อยแล้ว) ลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือจะแบ่งไปเพื่อประดิษฐานยังสำนักปฏิบัติธรรมของตน จึงถือว่าเป็นพระธาตุที่เกิดขึ้นจริง มิใช่พระธาตุที่กล่าวขึ้นในตำนาน
พระธาตุเกิดขึ้นได้อย่างไร
ครูบาอาจารย์ ท่านกล่าวไว้ว่า เหตุของการเกิดพระธาตุเท่าที่พบเกิดขึ้นได้ ๓ เหตุ
๑. เกิดจากอานิสงส์ ผลจากการปฏิบัติธรรมอันยิ่งยวด
๒. เกิดจากพระผู้มีคุณธรรมอันวิเศษ ทำให้เกิด
๓. เกิดจากการอัญเชิญมาจากอากาศ
๑. เกิดจากอานิสงส์การปฏิบัติธรรมอันยิ่งยวด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักปฏิบัติเท่านั้นถึงจะเข้าใจ ผลการเกิดพระธาตุในลักษณะนี้ จะเกิดจากผลการปฏิบัติตามภูมิธรรมยังภูมิของท่านนั้น ๆ มีภูมิธรรมที่บรรลุถึงจุดสูงสุด
พระธาตุของท่านสัณฐานใสเป็นเพชร เป็นแก้ว อัญมณี ครูบาอาจารย์ที่ท่านเริ่มจากการพิจารณาว่า คนเราเกิดจากการประชุมกันหรือการร่วมกันของธาตุ มีพื้นฐานจากธาตุ ๔ และธาตุ ๖ ธาตุ ๔ หมายถึง ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมกันเกิดเป็นร่างกาย ร่วมกับธาตุ ๖ เพียงแต่เพิ่มอีก ๒ ธาตุคือ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ ทำให้เกิดชีวิต
อากาศธาตุ เหมือนกันกับเครื่องยนต์กลไก เลือดลม ที่สูบฉีดเลี้ยงร่างกาย ร่วมกับวิญญาณธาตุ หรือธาตุรู้ นี่คือการประชุมกันเพื่อให้เกิดร่างกายขึ้นมา ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านได้เห็นในส่วนนี้นำมาพิจารณาโดยแยกกันเป็น ๒ ส่วน จิตกับกาย
จิตมีธาตุรู้วิญญาณธาตุ อาศัยกายที่ประกอบจากธาตุ ๔ เป็นเครื่องพิจารณา จิตได้ความรู้จากกาย โดยท่านอาศัยข้อพิจารณาธรรมจากสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
กาย ท่านพิจารณาเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปของร่างกาย ยึดไว้ก็เป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง เมื่อพิจารณาท่านก็ปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่น
เวทนา ท่านพิจารณาความสุข ความทุกข์ ความไม่สุข ไม่ทุกข์ (ที่ไม่ใช่อุเบกขา)
จิต จิตของเราความรู้สึกดีชั่ว
ธรรม กิเลส กิเลสไม่เกิดขึ้นได้ ส่วนดี ส่วนที่เสีย ก็ดับไป
เมื่อจิตใจท่านขัดเกลา โลภะ โมหะ โทสะ หรือเรียกว่า ฟัดกับกิเลส จิตใจ สะอาดขึ้น ละเอียดขึ้นจากผิวหนังไปถึงใต้ผิวหนัง ถึงเนื้อจนถึงกระดูก ธาตุขันธ์จะสะอาดเป็นอานิสงส์ ร่างกายได้รับอานิสงส์ เริ่มสู่ความเป็นอริยบุคคล เข้าสู่ชั้นโสดาบัน
เมื่อภูมิธรรมการปฏิบัติของท่านนั้น ๆ สูงขั้นตามธาตุขันธ์ ร่างกายยิ่งสะอาด ปฏิบัติขัดเกลาลดน้อยลงเหลือแต่สิ่งที่ดี จนถึงขั้นไกลจากกิเลสวรรณะ ความสดใสของกายเหมือนดั่งทองคำ
เคยมีครั้งหนึ่งเป็นเรื่องที่เล่าว่า หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.อยุธยา ท่านกล่าวว่า หลวงพ่อเนียม วัดน้อย จ.สุพรรณบุรี ท่านจะมีวรรณะ ผิวพรรณที่ผ่องใส ในตามีความสุกสกาวเหมือนท้องฟ้า มีใบหน้ายิ้มแย้ม แสดงถึงความร่มเย็น ที่มาจากผลานิสงส์แห่งการปฏิบัติธรรมอันยิ่งยวด
เมื่อท่านเหล่านั้นได้ละสังขารไป อัฐิของท่านอัศจรรย์เป็นพระธาตุเหมือนกับอัญมณีสดใส บางองค์อัฐิธาตุของท่านเกิดเป็นพระธาตุขึ้นเลยทันที บางองค์หลังจากนั้นไม่นาน อัฐิธาตุของท่านก็ค่อย ๆ แปรสภาพเป็นพระธาตุไปตามกาลเวลา ส่วนใหญ่ พบเห็นมากในพระวิปัสสนาจารย์สายพระป่า
บางองค์สังขารของท่านเป็นพระธาตุ ทั้ง ๆ ที่ท่านยังไม่ได้มรณภาพไป อย่างเช่น หลวงปู่เขียว วัดหรงบน จ.นครศรีธรรมราช ท่านถอนฟันและให้ลูกศิษย์เก็บไว้ ต่อมาฟันนี้ได้เกิดเป็นพระธาตุแก้วผลึกใส
หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ ท่านเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล พยาบาลท่านหนึ่งเก็บชิ้นส่วนกระดูกอ่อนที่หลังจากผ่าตัดเอาไว้ ปรากฏว่าชิ้นกระดูกนั้นกลายเป็นผลึกแก้วใส หรือพระธาตุนั่นเอง ยังความศรัทธาอย่างสูงของชาวเชียงใหม่
หลวงปู่เจี๊ยะ เคยได้รับฟันของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ต่อมาฟันนั้นก็กลายเป็นผลึกแก้วใสเหมือนกัน
ฉะนั้นแล้ว เหตุที่เกิดจากอานิสงส์ ผลการปฏิบัติธรรมอันยิ่งยวดจนร่างกายเป็นพระธาตุ ส่วนใหญ่จะปรากฏขึ้นในนักปฏิบัติ แต่มิใช่หมายถึงแต่พระสงฆ์เท่านั้น ยังเกิดขึ้นกับปุถุชนคนทั่วไปได้ แต่ต้องเป็นนักปฏิบัติธรรม
ถึงแม้เกิดเป็นผู้หญิงเองก็อาจได้รับอานิสงส์แบบนี้ เหมือนกับท่านอุบาสิกาบุญเรือน วัดอาวุธฯ บางพลัด ท่านก็สำเร็จภูมิธรรมชั้นสูง มีอัฐิกลายเป็นพระธาตุ ฉะนั้นแล้วการปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาให้เกิดผลสูงสุดจึงไม่มีความเกี่ยวข้องในการแบ่งชนชั้นวรรณะ หรือเพศชายหญิงเลย
๒. เกิดจากพระผู้มีคุณธรรมอันวิเศษ ทำให้เกิดพื้นฐานก็มาจากอย่างแรกต้องบรรลุภูมิธรรมชั้นสูง นอกจากสังขารของท่าน บังเกิดเป็นพระธาตุแล้ว ยังให้สิ่งอื่น ๆ เกิดเป็นพระธาตุได้จิตตานุภาพ อย่างเช่น หลวงปู่เขียน วัดหรงบน ท่านฉันภัตตาหารเกิดก้างปลาติดฟัน และท่านได้นำก้างปลาที่ติดฟันออก แล้วให้ลูกศิษย์เก็บก้างปลาไว้
ซึ่งต่อมาก้างปลาชิ้นนี้กลายเป็นพระธาตุผลึกแก้วใส หลวงปู่ดู่ วัดสะแก จ.อยุธยา ท่านชอบสร้างพระเนื้อผงสีขาว แต่ทำไมพระเครื่องท่านจึงขึ้นพระธาตุได้ พระธาตุที่ขึ้นกับพระเครื่องหลวงปู่ดู่ จะขึ้นเป็นเกล็ดใส ๆ แวววาว คล้าย ๆ ผลึกน้ำแข็ง
ซึ่งพระของท่านก็เป็นเนื้อผงสีขาว ๆ คล้ายชอล์ก ไม่มีส่วนผสมอื่น ๆ ที่แปลกไปกว่านั้น ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีได้ แต่พระท่านก็เกิดอัศจรรย์ขึ้นพระธาตุได้
แต่มีข้อแม้ว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของพระของท่านที่ขึ้นพระธาตุส่วนใหญ่จะเป็นนักปฏิบัติธรรม อย่างนี้ก็เป็นเรื่องของจิตตานุภาพเหมือนกัน
เป็นเรื่องแปลกอีกอย่างหนึ่ง ที่ครูบาอาจารย์ท่านอธิบายไว้ว่า พระผู้มีกายสะอาดขึ้นถึงเป็นพระธาตุ ขี้หรืออุจจาระ ท่านจะหอม หรืออุจจาระท่านจะไม่มีกลิ่นเหม็น น่ารังเกียจเหมือนคนทั่ว ๆ ไป เพราะการบริโภคอาหารของท่าน
เมื่อสังขารของท่านสะอาด การบริโภคอาหารผ่านร่างกายของท่านที่สะอาด ผ่องใส กากอาหารที่ผ่านร่างกายนั่นจะเป็นกากอาหารที่ไม่มีกลิ่นสกปรก น่ารังเกียจเหมือนปุถุชนคนทั่วไป อย่างเช่น หลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค จ.นครสวรรค์ ขี้ท่านหอม อาจจะด้วยสังขาร อายุเกิน ๑๐๐ ปี การขบฉันจึงไม่เต็มที่เหมือนคนทั่วไป
๓. เกิดจากการอัญเชิญมาจากอากาศ โบราณมีความเชื่อว่าพระธาตุท่านจะเสด็จมาได้ตามอากาศ โดยท่านมาจากพระธาตุในส่วนที่ตกเรี่ยราด ผู้รักษาเกศาไว้ไม่ดี รักษาไม่สะอาด จนเขากล่าวไว้ว่าพระธาตุเมื่อรักษาดี ท่านจะเสด็จมาและเพิ่มได้ ถ้ารักษาไว้ไม่ดี ท่านก็จะค่อย ๆ หายไป
เรื่องนี้มีข้อพิสูจน์ได้จากหลาย ๆ ท่านได้พิสูจน์มาแล้วว่า พระธาตุเสด็จมาเองโดยผู้ที่ศรัทธา ผู้นั้นเตรียมอัญเชิญพระธาตุ โดยวิธีการเตรียมผอบ ปูด้วยผ้าขาว ดอกไม้หอม ตั้งไว้ในที่สะอาด สวดมนต์ ภาวนาอัญเชิญพระธาตุด้วยบท อิติปิโสเรือนเตี้ย
ถือศีลภาวนาแล้วพระธาตุจะเสด็จมาเอง แต่ทั้งนี้ผู้นั้นต้องศรัทธาอย่างแน่วแน่และแท้จริง เรื่องนี้ได้มีการพิสูจน์มาแล้ว สมัยหลวงปู่ลี วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ท่านได้อัญเชิญโดยวิธีนี้
ปรากฏว่าอัญเชิญอาราธนาสำเร็จ พระธาตุเสด็จมาได้จริง ๆ ท่านจึงได้สร้างพระธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ เพื่อประดิษฐานพระธาตุองค์นี้ ให้ได้สักการะดังที่เห็นในปัจจุบัน
ชาวพุทธนับถือพระธาตุสูงสุด สร้างเจดีย์ก็จะบรรจุพระธาตุไว้บนยอด นิยมนำของที่มีค่าและวิจิตรอลังการ ถวายเป็นเครื่องบูชา ดั่งที่ดู ได้จากพิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดแสดงสิ่งของที่นำมาบูชาพระบรมธาตุ ตั้งแต่ครั้งในอดีต
อาทิ ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง มงคลวัตถุ และเครื่องรางของขลัง เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องประดับอันมีค่า ศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ เครื่องเงิน เครื่องทองรูปพรรณ เครื่องถม ตลอดจนสิ่งของที่แปลกผิดธรรมชาติ ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของบรรพชนได้อย่างดี
ถึงแม้ในปัจจุบันการบูชาเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย แทนที่จะสรรหาหรือจัดทำสิ่งของนำมาถวายมักใช้ถวายด้วยเงินบำรุงแทนดูไม่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต
ตามความเชื่อที่ว่า พระธาตุ หมายถึงสิ่งแทนความศักดิ์สิทธิ์อันสูงสุด แม้บรรจุไว้ในเจดีย์ยังต้องไว้ที่บนยอดสุด จึงไม่มีใครนิยมนำติดตัวไว้เหมือนพระเครื่อง เพราะคนเราอาจจะเข้าไปในสถานที่ที่สกปรก ที่ไม่สมควร หรือที่อโคจร จะเกิดกรรมแก่ทั้งตัวเองและผู้อื่น
เช่น ใส่พระธาตุไปลอดราวผ้า หรือไปลอดในสถานที่ ที่มีผู้อื่นอยู่สูงกว่า เท่ากับว่าเรานำพระธาตุไปลอดใต้สถานที่นั้น ๆ นอกจากเกิดกรรมแก่เราแล้ว บุคคลอื่น ๆ ที่อยู่สูงกว่า พาต้องรับกรรมไปด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้คือเรื่องของความเชื่อใน "พระธาตุ" มาแต่โบราณ
อนาคตของพระบรมธาตุ
เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปจนถึง พ.ศ. ๕๐๐๐ พระบรมธาตุทั้งหลายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จไปสู่ที่พระเจดียฐาน ณ เกาะลังกา และดำรงคงอยู่ตลอด เพื่อจะทรงสงเคราะห์ชาวสิงหฬ ให้เกิดสวัสดิมงคล ด้วยการกระทำพิธีสักการบูชาพระคุณพระองค์ท่านก่อนพระพุทธศาสนาใกล้จะสูญสิ้นไป
ครั้นถึง พ.ศ. ๔๙๙๙ และล่วงได้ ๑๑ เดือน กับ ๒๒ วัน ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ เป็นเวลาคิมหันต์ฤดู ปีชวด นักษัตรอัฐศก เวลารุ่งอรุณ พระบรมธาตุทุกพระองค์จะเสด็จไปยังสถานที่ประชุมทันที แล้วทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์
ด้วยพุทธฤทธิ์อันวิเศษ บังเกิดเป็นพระพุทธนิเวศน์ และพระวรกายสูง ๑๘ ศอก เปล่งรัศมีอก ๖ ประการ มีพระบวรสัณฐานงดงามยิ่งนัก ดวงพระพักตร์ผุดผ่อง ดังสีสุวรรณ พระรูปองค์เสด็จขึ้นประทับบนบัลลังก์ในควงต้นพระศรีมหาโพธิ์
ทรงพระสมาธิและกระทำยมกปาฏิหาริย์ โปรด สัตว์ คนธรรพ์ เทวดา ฤาษี กินนร นาคราช ทั้งอสูรพร้อมหน้านั่งแน่นเหนือแผ่นดิน พระองค์ตรัสพระธรรมเทศนา โปรดสัตว์อยู่ ๗ วัน มีผู้ฟังในครั้งนั้นถึงสี่อสงไขยสองล้านสามแสนหกสิบเจ็ดพันโกฏิ แล้วพระเพลิงก็พวยพุ่งขึ้นเผาพลาญพระรูปองค์ให้หมดสิ้นไป ในวันพุทธ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีชวด นักษัตร อัฐศก พระพุทธศาสนาก็สิ้นสุดลงเพียง ๕๐๐๐ ปีเต็ม...
พระบรมสารีริกธาตุ
เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสด็จสู่พระปรินิพพานแล้ว มีพระพุทธสรีธาตุเหลืออยู่ ๗ องค์ คือ
๑. พระรากขวัญ (ไหปลาร้า) ๒ องค์ คือ
- พระรากขวัญเบื้องซ้าย ๑ องค์
- พระรากขวัญเบื้องขวา ๑ องค์
๒. พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทันตธาตุ ๔ องค์ คือ
- พระเขี้ยวแก้วซ้ายบน ๑ องค์ ล่าง ๑ องค์
- พระเขี้ยวแก้วขวาบน ๑ องค์ ล่าง ๑ องค์
๓. พระอุณหิส หรือ พระนลาฏอุณหิส ๑ องค์
พระพุทธสรีรธาตุ ทั้ง ๗ องค์นี้ คงสภาพเดิมเมื่อพระเพลิงเผาก็ไม่เปลี่ยนแปลง และได้ถูกอัญเชิญเสด็จไปประดิษฐาน เพื่อเป็นที่สักการบูชาของเทพยดา และมนุษย์ในที่ต่าง ๆ กัน คือ
๑. พระรากขวัญเบื้องซ้าย ประดิษฐานอยู่ ณ เทวโลก
๒. พระรากขวัญเบื้องขวา และ
๓. พระอุณหิส ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองอนุราชสิงหฬ
๔. พระเขี้ยวแก้วซ้ายบน ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธารราช
๕. พระเขี้ยวแก้วซ้ายล่าง ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนาคพิภพ
๖. พระเขี้ยวแก้วขวาบน ประดิษฐานอยู่ ณ ดาวดึงส์เทวโลก
๗. พระเขี้ยวแก้วขวาล่าง ประดิษฐานอยู่ ณ เกาะลังกาสิงหฬ
พระบรมสารีริกธาตุ
เมื่ออัฐิน้อยใหญ่ ทั้งหลายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เว้นพระสรีรธาตุทั้ง ๗ องค์ ถูกพระเพลิงเผาไหม้ได้แหลกละเอียดลงเหลือเป็น พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งตักตวงได้ ๑๖ ทะนาน มี ๓ ขนาด คือ
๑. ขนาดเล็ก เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีจำนวน ๖ ทะนาน มีวรรณะดังสีดอกพิกุล
๒. ขนาดกลาง เท่าเมล็ดข้าวสารหัก มีจำนวน ๕ ทะนาน มีวรรณะดังสีแก้วผลึก
๓. ขนาดใหญ่ เท่าเมล็ดถั่วหัก มีจำนวน ๕ ทะนาน มีวรรณะดังสีทองอุไร
พระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๑๖ ทะนานนี้ ประดิษฐานอยู่บนพื้นพิภพที่มีอยู่มาก ๘ แห่งคือ
๑. เมืองราชคฤห์
๒. เมืองเวสาลี
๓. เมืองกบิลพัสดุ์
๔. เมืองอัลปัปปะบุรี
๕. บ้านพรหมณนิคม
๖. เมืองเทวทหะราฐ
๗. เมืองปาวาขะบุรี
๘. เมืองนครกุสินารา
นอกจากพระพุทธสรีรธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุที่กล่าวแล้ว ยังมีพระเกศา โลมา นขา ทันตา ทั้งหลายของพระองค์ท่านเรี่ยรายประดิษฐานอยู่ทุกทิศทั่วทั้งจักรวาล
กำเนิดพระธาตุ
เมื่อได้ทราบถึงประวัติตั้งแต่ต้นของพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้ากันแล้ว ต่อไปน่าจะกล่าวถึงพระอรหันตธาตุ หรือพระธาตุพระสาวกของพระพุทธองค์ เมื่อถึงซึ่งพระปรินิพพานไปแล้วมีอยู่ ๘๐ องค์
เรียกว่า พระอสีติมหาสาวก ตามตำนาน พระอัฐิธาตุหรือพระธาตุอรหันต์มีเหลืออยู่ และประดิษฐานในที่ต่างกัน เพื่อให้เป็นที่เคารพสักการบูชาแก่เทพยดาและมนุษย์ ตามความเชื่อพระธาตุของพระอรหันต์แต่ละองค์จะมีสัณฐานและวรรณะแตกต่างกัน
พระธาตุพระสารีบุตร สัณฐาน กลม รี เป็นไข่จิ้งจก เป็นดังรูปบาตรคว่ำ
วรรณะ ขาวดังสีสังข์ เหลืองดังหวายตะค้า สีดอกพิกุลแห้ง
พระธาตุพระโมคคัลลานะ สัณฐาน กลม รี เป็นผลมะตูม รีเป็นเมล็ดทองหลาง รีเป็นเมล็ดข้าวสาร
วรรณะ ดำ ขาว เหลือง ดังหวายตะค้า
พระธาตุพระสีวลี สัณฐาน เป็นดังเมล็ดในพุทรา เป็นดังผลยอป่า เป็นดังเมล็ดมะละกอ
วรรณะ เขียวดังดอกผักตบ แดงดังสีหม้อใหม่ เหลืองดังหวายตะค้า ขาวดังสีสังข์ สีดอกพิกุลแห้ง
พระธาตุพระองคุลิมาละ สัณฐาน คอดดังคอสากที่มีรูปโปร่ง ตลอดเส้นผลลอดได้ก็มี
วรรณะ ขาวดังสีสังข์ เหลืองดังดอกจำปา สีฟ้าหมอก
พระธาตุพระอัญญาโกณฑัญญะ สัณฐาน งอนช้อยดังงาช้าง
วรรณะ ขาวดังดอกมะลิตูม เหลือง ดำ
ที่กล่าวมาทั้ง ๕ องค์ใน ๘๐ องค์ ตำนานได้กล่าวแยกแยะจากสัณฐานและวรรณะขององค์พระธาตุโดยแตกต่างจากพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีสัณฐานคล้ายเมล็ดข้าวสารหัก วรรณะดังสีแก้วผลึก แตกต่างจากพระอรหันตธาตุ ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ตำนานได้กล่าวไว้
ท่านทั้งหลายที่เคยไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามวัดวาอารามต่าง ๆ หลายแห่ง จะกล่าวถึงสถานที่นี้ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้ท่านได้สักการบูชา ถ้าถามว่ารู้ได้อย่างไรว่า พระบรมสารีริกธาตุนั้น เป็นพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อาศัยโบราณจารย์ท่านอุปมาตามสัณฐานและวรรณะที่ตำนานได้กล่าวไว้ ถ้าต้องตามลักษณะสัณฐานและวรรณะ จึงยึดถือพระบรมสารีริกธาตุตามความเชื่อนั้น
อั๋น พระรามแปด
หนังสืออ้างอิง
คงเดช ประพัฒน์ทอง,โบราณคดีประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ
: กรมศิลปากร ๒๕๒๙ สำนักพิมพ์สารคดี, นครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ :๒๕๓๗
พล.อ.จ.สดับ ธีระบุตร, พระบรมธาตุพระธาตุอรหันตสาวก. กรุงเทพฯ:๒๕๐๑
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น