++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

อนุปุพพิกถา ธรรมสำหรับฟอกใจให้เข้าถึงอริยสัจ๔

อนุปุพพิกถา ธรรมสำหรับฟอกใจให้เข้าถึงอริยสัจ๔
**********************************
1.เหตุที่ต้องแสดงอนุปุพพิกถา
2.อนุปุพพิกถา เปรียบกับการซักผ้า
3.อนุปุพพิกถา ในพระไตรปิฏก
4.อนุปุพพิกถา ใครแสดง
5.อนุปุพพิกถา นั้นสำคัญมาก
6.อนุปุพพิกถา ในปัจจุบัน
7.สรุปจากใจผู้เขียน
******************************
1.เหตุที่ต้องแสดงอนุปุพพิกถา

หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม[1]แล้วทรงประกาศธรรมเป็นเวลา๔๕ ปี ช่วงเวลานี้พระองค์ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย[2] แต่ก็ทรงแก้ไขปัญหาและอุปสรรคนั้นได้อย่างเรียบร้อย ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอนเพื่อพ้นจากทุกข์ นั้นคือ อริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นธรรมขั้นสูง ยากที่บุคคลทั่วไปจะเข้าใจได้ ปัญหานี้เองพระองค์จึงทรงมีวิธีการเตรียมความพร้อมของผู้ฟังให้มีสภาวะจิตใจที่ประณีตขึ้น โดยการแสดงธรรมโดยเริ่มจากธรรมที่เข้าใจง่ายๆ เช่น ทาน จนไปถึงธรรมที่มีความลุ่มลึกขึ้นไปตามลำดับ[3] วิธีการแสดงธรรมไปตามลำดับเพื่อเตรียมจิตใจให้ประณีตขึ้นนี้เรียกว่า ?อนุปุพพิกถา? เมื่อบุคคลใดได้ฟังอนุปุพพิกถาแล้ว จิตใจเขาจะเป็นจิตที่สมควรได้รับธรรมขั้นสูงขึ้นไป นั่นคืออริยสัจ๔ เมื่อจิตเข้าถึงอริยสัจ๔ แล้วจิตเกิดดวงตาเห็นธรรม[4] ซึ่งเปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี


2.อนุปุพพิกถา เปรียบกับการซักผ้า

การเปรียบเทียบขั้นตอนการแสดงอนุปุพพิกถากับขั้นตอนการซักผ้า จะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ขั้นแรกเป็นการโน้มน้าวใจผู้ฟังก่อน เมื่อสนใจแล้วจึงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ๔ ขั้นแรกนี้เปรียบเหมือนกับต้องแช่ผ้าไว้ก่อนเพราะผ้ามีสิ่งสกปรกติดแน่นอยู่ เปรียบได้ว่า บางครั้งมีบุคคลบางพวกที่มีปัญหา คือยังไม่สนใจที่จะมานั่งฟังธรรมกับพระองค์ ฉะนั้นก่อนที่จะแสดงอนุปุพพิกถา พระองค์จะทรงโน้มน้าวใจ เพื่อสร้างศรัทธาให้อยากฟังธรรมก่อน เพราะบุคคลบางพวกมีสภาวะจิตใจที่ไม่พร้อมจะฟังธรรมจากพระองค์ เช่น ยังสงสัยในคำสอน ยังสงสัยในตัวผู้สอน ยังมีจิตที่เคร้าหมองอยู่ จะเห็นว่าปัญหาแรกที่พระพุทธเจ้าทรงเผชิญก็คือ ผู้ที่พระองค์จะทรงโปรดนั้น ยังไม่สนใจที่จะมานั่งฟังธรรมกับพระองค์ ดังนั้นพระองค์จึงทรงโน้มน้าวใจในรูปแบบต่างๆ ตามความแตกต่างของปัญหาในแต่ละคน และก็ประสบผลสำเร็จเสมอมา คือ พระองค์สามารถสร้างศรัทธาเบื้องต้นให้บุคคลเหล่านั้นหันมาสนใจนั่งฟังธรรมกับพระองค์อย่างตั้งใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าศึกษาว่าพระพุทธเจ้าทรงแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร เพื่อจะได้นำวิธีการนั้น ใช้เป็นแนวทางให้เกิดประโยชน์ในสมัยปัจจุบัน


3.อนุปุพพิกถา ในพระไตรปิฏก

ในการแสดงอนุปุพพิกถานั้น ในพระไตรปิฏกจะแสดงไว้ว่า เมื่อบุคคลที่พระพุทธเจ้าจะทรงโปรด สนใจเข้ามานั่งใกล้พร้อมที่จะฟังธรรมแล้ว พระองค์จึงทรงแสดง อนุปุพพิกถา อันประกอบด้วย ทานกถา สีลกถา สัคคกถา กามทีนวกถา เนกขัมมานิสัขกถา หลังจากฟังจนจบและเข้าใจแล้ว จิตผู้นั้นจะเป็นจิตที่ประณีตขึ้น เมื่อพระองค์ทราบดังนั้นจึงทรงแสดงอริยสัจ๔ ซึ่งเป็นธรรมขั้นปรมัตถ์ เป็นธรรมเพื่อให้เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เมื่อได้ฟังและรู้ธรรมแล้วบางคนก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน บางคนก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ บางคนก็ขอถึงซึ่งพระรัตนตรัย เนื้อหาในพระไตรปิฏกก็มีเพียงแค่นี้ จะสังเกตุว่ารูปแบบและวิธีการแสดงอนุปุพพิกถานั้นไม่ได้แสดงไว้ บอกเพียงว่า อนุปุพพิกถา ประกอบด้วย ทานกถา สีลกถา สัคคกถา กามทีนวกถา เนกขัมมานิสัขกถา เมื่อพิจารณาในแต่ละหัวข้อธรรม เช่น ทานกถา พระพุทธเจ้าจะทรงสอนเรื่องทาน ไว้มากมาย ทำให้ไม่ทราบว่าในขณะที่พระองค์สอนอนุปุพพิกถาในเรื่องทานกถานั้นมีเนื้อหาและลีลาการเทศนาธรรมเป็นอย่างไร สัมพันธ์กับหัวข้อธรรมอื่น คือ สีลกถา สัคคกถา กามทีนวกถา เนกขัมมานิสัขกถา อย่างไร และอนุปุพพิกถาทำไมจะต้องมีหัวข้อธรรม ๕ ข้อ ดังกล่าวด้วย เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคของการแสดงอนุปุพพิกถาของคนในสมัยปัจจุบัน แต่ก็มีนักปราชญ์ได้อธิบายในหนังสือบรมธรรม ภาคปลาย ของท่านพุทธทาส ว่า ผู้แสดงอนุปุพพิกถา ต้องสามารถทำให้ผู้ฟังเข้าใจชนิดที่เรียกว่า ทำให้เกิดความเห็นแจ้งโดยอาศัย ประสบประการณ์ทางจิตวิญญาณที่มีอยู่ (spiritual experience) จึงจะเข้าใจและพัฒนาจิตใจให้ละเอียดประณีตขึ้นพร้อมที่จะเข้าใจในปรมัตถธรรม คืออริยสัจ๔ ต่อไป


4.อนุปุพพิกถา ใครแสดง

ผู้แสดงอนุปุพพิกถานั้นมี ๕ ท่าน คือ พระทีปังกรพุทธเจ้า, พระมังคลพุทธเจ้า, พระวิปัสสีพุทธเจ้า, พระโคตมพุทธเจ้า และพระโมคคัลลานะอรหันต์สาวก อนุปุพพิกถาถูกแสดงครั้งแรก ในสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้า ทรงแสดงแก่ยักษ์ชื่อนารทะ พร้อมด้วยยักษ์หนึ่งหมื่น ทั้งหมดตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล นอกจากนี้อนุปุพพิกถายังถูกแสดงในสมัยของพระมังคลพุทธเจ้าทรงแสดงแก่อานันทกุมาร พร้อมทั้งบริษัท ๙๐ โกฏิ จนสำเร็จเป็นพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา๔ หลังจากนั้นในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่คู่พระอัครสาวก ชื่อขัณฑะและติสสะ

ในสมัยพระโคตมพุทธเจ้าพระองค์ทรงแสดง อนุปุพพิกถาบ่อยครั้งมากโดยเฉพาะกับฆราวาสผู้ยังไม่รู้ธรรม นอกจากนั้นพระอรหันตสาวกคือพระโมคคัลลานะ ยังเคยแสดงอนุปุพพิกถากับนางฟ้าบนสวรรค์ด้วย อนุปุพพิกถายังถูกแสดงโดยพระอุปคุต ซึ่งเป็นพระอรหันตสาวกรุ่นหลังๆ

พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ และพระอรหันตสาวก ถือว่าเป็นผู้รู้ธรรม และมีปัญญายอดเยี่ยม ย่อมแสดงธรรมได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่มีข้องสงสัยในธรรม ผู้รับฟังจึงเข้าใจธรรมได้ดี ปัญหาเกี่ยวกับตัวผู้แสดงธรรมจึงไม่มี


5.อนุปุพพิกถา นั้นสำคัญมาก

ธรรมะ คือ ความจริงที่สอนไปตามลำดับโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนให้รู้แจ้งในสัจธรรม แต่การรู้แจ้งในธรรมะนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามจะรู้แจ้งธรรมะได้นั้นต้องศึกษาปฎิบัติไปตามลำดับขั้นตอน ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

?... ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที เหมือนมหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชัน ดิ่งไปทันที...? [5]


อีกตัวอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอธิบายขั้นตอนการบรรลุอรหัตตผล ซึ่งต้องมีการศึกษาปฏิบัติไปเป็นลำดับขั้นตอน ดังพุทธพจน์ที่ว่า
? ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวการบรรลุอรหัตตผลด้วยขั้นเดียวเท่านั้น

แต่การบรรลุอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการบำเพ็ญสิกขาโดยลำดับ

ด้วยการบำเพ็ญกิริยาโดยลำดับ ด้วยการบำเพ็ญปฏิปทาโดยลำดับ

การบรรลุอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการบำเพ็ญสิกขาโดยลำดับ

ด้วยการบำเพ็ญกิริยาโดยลำดับ ด้วยการบำเพ็ญปฏิปทาโดยลำดับ เป็นอย่างไรคือ กุลบุตรในศาสนานี้ เกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปหา เมื่อเข้าไปหาย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลงสดับ เงี่ยโสตลงสดับแล้วย่อมฟังธรรม ครั้นฟังธรรมแล้วย่อมทรงจำไว้ ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้แล้ว เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมควรเพ่งพินิจ เมื่อมีการเพ่งพินิจธรรมอยู่ ฉันทะย่อมเกิด กุลบุตรนั้นเกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรอง ครั้นไตร่ตรองแล้ว ย่อมอุทิศกายและใจ เมื่ออุทิศกายและใจแล้ว ย่อมทำให้แจ้งสัจจะอันยอดเยี่ยมด้วยนามกาย และเห็นแจ่มแจ้งสัจจะอันยอดเยี่ยมนั้นด้วยปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าศรัทธาไม่มี การเข้าไปหา การนั่งใกล้ การเงี่ยโสตลงสดับการฟังธรรม การทรงจำธรรม การพิจารณาเนื้อความ ความเพ่งพินิจธรรม ฉันทะ อุตสาหะ การไตร่ตรอง และการอุทิศกายและใจก็ไม่มี เธอทั้งหลายเป็นผู้ปฏิบัติพลาด เป็นผู้ปฏิบัติผิด โมฆบุรุษเหล่านี้ได้ก้าวออกไปจากธรรมวินัยนี้ไกลเท่าไร?[6]



จากพุทธพจน์เบื้องต้น จะเห็นว่าแนวทางการปฏิบัติธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำคือการศึกษาและปฏิบัติไปตามลำดับขั้นตอน ซึ่งรูปแบบที่เห็นได้ชัดเจนและปรากฏบ่อยๆในพระไตรปิฏกซึ่งการปฏิบัติธรรมที่ตรงตามแนวทางนี้ก็คือ การศึกษาตามแนวอนุปุพพิกถา ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการสอนไปตามลำดับขั้นตอน มีด้วยกัน ๖ ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ ๑ พรรณาถึงเรื่องทาน (ทานกถา

ขั้นตอนที่ ๒ พรรณาถึงเรื่องศีล (สีลกถา

ขั้นตอนที่ ๓ พรรณาถึงเรื่องสวรรค์ (สัคคกถา

ขั้นตอนที่๔ พรรณาถึงเรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม(กามาทีนวกถา

ขั้นตอนที่๕ พรรณาถึงเรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม (เนกขัมมานิสังสกถา

ขั้นตอนที่ ๖ ประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศ หรือ อริยสัจ ๔(จะแสดงก็ต่อเมื่อผู้ฟังมีจิตควรรับฟังอริยสัจ ๔ เท่านั้น


6.อนุปุพพิกถา ในปัจจุบัน

ปัจจุบันการเทศนาธรรมของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามแนวอนุปุพพิกถา กล่าวคือ ผู้เทศนา(ธรรมกถึก เทศนาตามใจผู้ฟัง บ้างก็แสดงธรรมขั้นสูงเกินไปจนทำให้ผู้ฟังส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ บ้างก็แสดงธรรมขั้นพื้นฐานอย่างเดียวโดยไม่พัฒนาให้สูงขึ้นตามลำดับ จากปัญหาเหล่านี้อาจเป็นไปได้ว่า การที่คนในสมัยปัจจุบัน ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้ก็เพราะเหตุที่ว่าส่วนหนึ่งไม่ได้ฟังธรรมตามลำดับขั้น การเทศนาธรรมของนักเทศน์ในปัจจุบัน ถึงแม้ถึงแม้ผู้เทศน์จะไม่มีคุณสมบัติเหมือนพระพุทธองค์ก็ตาม แต่ก็ควรที่จะยึดแนวทางตามพุทธวิธี หรือรูปแบบการเทศนาธรรมอนุปุพพิกถาที่พระพุทธองค์แสดงไว้เป็นแบบอย่าง ปัจจุบันการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจำเป็นจะต้องมีการประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำผิดเพี้ยนไปจากหลักการในพระพุทธศาสนาดั้งเดิมมากจนเกินไป ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาถึงหลักการต่างๆ ที่ใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล เพื่อเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน

7.สรุปจากใจผู้เขียน

อนุปุพพิกถาเป็นธรรมที่สำคัญมากจริงๆ นะครับ ผมหวังว่าบทความนี้จะกระตุ้นเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการพระพุทธศาสนาได้นำอนุปุพพิกถามาใช้เป็นแนวทางตามแบบอย่างของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์แก่ผู้รับฟังส่วนมาก ซึ่งจะมีผลให้พระพุทธศาสนาของเรามีความมั่นคงสืบต่อไป ครับ

๑๓ พ.ค.๒๕๕๐ อภิชาติ พรสี่

http://www.palungjit.com/club/apichartp4/

**********************************

[1] ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ มี ๒ นัย คือ หลักอิทัปปัจจยตา และหลักปฏิจจสมุปบาท ตรัสในช่วงหลังตรัสรู้ใหม่ๆ (วิ.ม.(ไทย ๔/๗/๑๑ พรหมยาจนกถา, ส่วนอีกนัยหนึ่งคือ อริยสัจ๔ ตรัสในช่วงโปรดปัญจ-วัคคีย์ ( วิ.ม.(ไทย ๔/๑๖/๒๓-๒๔ ปัญจวัคคิยกถา, ทั้งสองนัยโดยสาระแล้วเป็นอันเดียวกัน ปฏิจจสมุปบาทและนิพพานเป็นแต่ตัวธรรมล้วนๆตามธรรมชาติ ส่วนอริยสัจ๔ เป็นหลักธรรมในรูปที่มนุษย์จะเข้าไปเกี่ยวข้อง(พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต,พุทธธรรม,หน้า ๙๐๑.)

[2] ปัญหาที่ทรงประสบ เช่นปัญหาเรื่องความเชื่อเดิมๆ เพราะสังคมอินเดียทั้งก่อนและในสมัยพระพุทธเจ้า คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพราหมณ์ มีสำนักที่เด่นๆ ๖ สำนัก ซึ่งเจ้าสำนักล้วนมีอายุมากกว่าพระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมรับคำสอนของพระพุทธเจ้าและมองว่าเป็นคู่แข่งกับตน (ที.สี.(ไทย๙/๑๕๐/๖๐ สามัญญผลสูตร, เจ้าสำนักทั้ง ๖ ได้แก่ ๑.ปูรณะ กัสสปะ, ๒.มักขลิ โคสาล, ๓.อชิตะ เกสกัมพล,๔.ปกุธะ กัจจายนะ, ๕.สัญชัย เวลัฏฐบุตร, ๖.นิครนถ์ นาฏบุตร (ม.ม.(ไทย๑๒/๓๑๒/๓๔๙ จูฬสาโรปมสูตร

[3] ดังพุทธพจน์ที่ว่า ?ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที? องฺ.อฎฺฐก.(ไทย ๒๓/๑๙/๒๔๘ ปหาราทสูตร

[4] เมื่อยสกุลบุตร ได้ฟังอนุปุพพิกถาและอริยสัจ๔ จบลง เกิดดวงตาเห็นธรรมว่า ?สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา? เป็นการเห็นธรรมของพระโสดาบัน เมื่อยสกุบุตรได้ฟังธรรมครั้งที่ ๒ จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น สำเร็จเป็นพระอรหันต์ (วิ.ม.(ไทย ๔/๒๕/๓๑ ปัพพัชชากถา

[5] ปหาราทสูตร. องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๙/๒๔๘ ดูเปรียบเทียบกับ วิ.จู. ๗/๓๘๕/๒๘๒ และ ขุ.อุ. ๒๕/๑๑๘/๑๑๐(มหามกุฎ

[6] กีฏาคิริสูตร. ม.ม. ๑๓/๑๘๓/๒๑๒

คำถาม การบำเพ็ญไปตามลำดับ
ธรรมะ คือ ความจริงที่สอนไปตามลำดับโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนให้รู้แจ้งในสัจธรรม แต่การรู้แจ้งในธรรมะนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามจะรู้แจ้งธรรมะได้นั้นต้องศึกษาปฎิบัติไปตามลำดับขั้นตอน ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

... ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที เหมือนมหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชัน ดิ่งไปทันที...


อีกตัวอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอธิบายขั้นตอนการบรรลุอรหัตตผล ซึ่งต้องมีการศึกษาปฏิบัติไปเป็นลำดับขั้นตอน ดังพุทธพจน์ที่ว่า

ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวการบรรลุอรหัตตผลด้วยขั้นเดียวเท่านั้น
แต่การบรรลุอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการบำเพ็ญสิกขาโดยลำดับ
ด้วยการบำเพ็ญกิริยาโดยลำดับ ด้วยการบำเพ็ญปฏิปทาโดยลำดับ
การบรรลุอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการบำเพ็ญสิกขาโดยลำดับ
ด้วยการบำเพ็ญกิริยาโดยลำดับ ด้วยการบำเพ็ญปฏิปทาโดยลำดับ

การบำเพ็ญไปตามลำดับ บำเพ็ญไปตามลำดับอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น