ปหาราทสูตร
ว่าด้วยท้าวปหาราทะจอมอสูร คือ พระผู้มีพระภาคตรัสถามจอมอสูรปหาราทะที่มาเฝ้าว่า มหาสมุทรมีอะไรเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ที่ทำให้พวกอสูรยินดี จอมอสูรทูลตอบว่า มหาสมุทรมีสิ่งน่าอัศจรรย์ ๘ ประการ แล้วย้อนถามพระผู้มีพระภาคว่า พระธรรมวินัยมีอะไรเป็นธรรมน่าอัศจรรย์ที่ทำให้ภิกษุทั้งหลายยินดี ทรงตอบว่า มีธรรมน่าอัศจรรย์ ๘ ประการเช่น ทั้งสิ่งน่าอัศจรรย์ของมหาสมุทรและธรรมน่าอัศจรรย์ของพระธรรมวินัยมีข้อสรุปเปรียบเทียบกันได้ดังต่อไปนี้
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ของมหาสมุทร
ธรรมอันน่าอัศจรรย์ของพระธรรมวินัย
๑. ลาดต่ำลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันลงไปทันที
๑. มีการศึกษาบำเพ็ญปฏิบัติโดยลำดับ ไม่ใช่จะบรรลุอรหัตตผลได้โดยทันที
๒. มีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง
๒. ไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้
๓. ไม่อยู่ร่วมกับซากศพ มีแต่ซัดซากศพขึ้นบกทันที
๓. สงฆ์ไม่ยอมอยู่ร่วมกับบุคคลผู้ทุศีลประชุมกันนำเขาออกไปทันที
๔. มหานทีหลายสายเช่นคงคา ยุมนา อจิรวดี เมื่อไหลงลงไปสู่มหาสมุทรแล้ว ก็ละชื่อเดิมของตน
๔. วรรณะ ๔ เหล่า คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศุทร เมื่อออกจากเรือนบวชในพระธรรมวินัยแล้วก็ละชื่อและโคตรเดิมของตน
๕. แม่น้ำที่ไหลออกจากมหาสมุทร และสายฝนจากฟ้าตกลงมามหาสมุทร
๕. แม้ภิกษุจำนวนมากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือเต็มได้
๖. มีรสเดียว คือรสเค็ม
๖. มีรสเดียว คือวิมุตติรส
๗. มีรัตนะมาก คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว
๗. มีรัตนะมาก คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
๘. เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือปลาติมิติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์
๘. เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือพระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาบัน ฯลฯ พระอรหันต์ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล
ปหาราทสูตร
ว่าด้วยท้าวปหาราทะจอมอสูร
[๑๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ควงต้นสะเดาอันเป็นที่อยู่ของนเฬรุยักษ์ เขตเมืองเวรัญชา ครั้งนั้น ท้าวปหาราทะจอมอสูร (จอมอสูร ในที่นี้หมายถึงผู้เป็นใหญ่แห่งเหล่าอสูร จอมอสูรมี ๓ ตน คือจอมอสูรเวปจิตติ จอมอสูรราหู และจอมอสูรปหาราทะ) เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท้าวปหาราทะจอมอสูร ดังนี้ว่า
"ปหาราทะ พวกอสูรต่างพากันยินดีในมหาสมุทรบ้างไหม"
ท้าวปหาราทะจอมอสูรกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอสูรต่างพากันยินดีในมหาสมุทร"
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า "ปหาราทะ ในมหาสมุทร มีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฎเท่าไร ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร"
ท้าวปหาราทะจอมอสูรกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในมหาสมุทร มีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎ ๘ ประการ ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดี
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที การที่มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎประการที่ ๑ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๒. มหาสมุทรมีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง การที่มหาสมุทรมีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่งนี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎประการที่ ๒ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๓. มหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที การที่มหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎประการที่ ๓ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๔. มหานทีทุกสายคือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลลงสู่มหาสมุทรแล้วย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า "มหาสมุทร" ทั้งสิ้น การที่มหานทีทุกสาย คือคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหีไหลลงสู่มหาสมุทรแล้วย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า "มหาสมุทร" ทั้งสิ้น นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎประการที่ ๔ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๕. แม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝนตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่อง หรือเต็มได้ การที่แม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝนตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไมเคยปรากฎประการที่ ๕ ในมหาสมุรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๖. มหาสมุทรมีรสเดียว คือรสเค็ม การที่มหาสมุทรมีรสเดียว คือรสเค็ม นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎประการที่ ๖ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๗. มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว การที่มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๗ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๘. มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี การที่มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำดัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี ฯลฯ มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎประการที่ ๘ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในมหาสมุทรมีิสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎ ๘ ประการนี้แล ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้บ้างไหม"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า "ปหาราทะ ภิกษุทั้งหลายต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้"
ท้าวปหาราทะจอมอสูร ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในธรรมวินัยนี้มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏเท่าไร ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้"
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "ปหาราทะ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฎ ๘ ประการ ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัย
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการมีอะไรบ้าง คือ
๑. ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ (การศึกษาไปตามลำดับ ในที่นี้หมายถึงการศึกษาสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา) มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ (การบำเพ็ญไปตามลำดับ ในที่นี้หมายถึงการบำเพ็ญธุดงค์ ๑๓) ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที เหมือนมหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที การที่ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ไมใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎประการที่ ๑ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๒. สาวกทั้งหลายของเราย่อมไม่ละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต เหมือนมหาสมุทรที่มีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง การที่สาวกทั้งหลายของเราไม่ละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎประการที่ ๒ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๓. บุคคลใดผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี (ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี หมายถึงตนเองไม่มีศีล หมดสภาพความเป็นภิกษุ แตยังเรียกตนว่า "เป็นภิกษุ" แล้วร่วมอยู่ร่วมฉันกับภิกษุอื่นผู้มีศีล ใช้ิสิทธิถือเอาลาภที่เกิดขึ้นในสงฆ์) แต่ปฏิญญาว่าเ่ป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ สงฆ์ก็ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ย่อมประชุมกันนำเธอออกไปทันที แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็ยังห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเธอ เหมือนมหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที การที่บุคคลใดผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายในชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ สงฆ์ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ย่อมประชุมกันนำเธอออกไปทันที แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ก็ยังห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเธอ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎประการที่ ๓ ในธรรมวินัยนี้ี่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๔. วรรณ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกจาเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า "สมณศากยบุตร" ทั้งสิ้น เหมือนมหานทีทุกสาย คือคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหีไหลลงสู่มหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า "มหาสมุทร" ทั้งสิ้น การที่วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย พราหมณ์ แพศย์ ศุทร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า "สมณศากยบุตร" ทั้งสิ้น นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎประการที่ ๔ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วตางพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๕. แม้หากภิกษุจำนวนมากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือเต็มได้เหมือนแม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลกที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝนตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ การที่แม้หากภิกษุจำนวนมากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือเต็มได้ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎประการที่ ๕ ในธรรมวินัยที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๖. ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือวิมุตติรส เหมือนมหาสมุทรมีรสเดียวคือ รสเค็ม การที่ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือวิมุตติรส นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย ไม่เคยปรากฎประการที่ ๖ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๗. ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เหมือนมหาสมุทรที่มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว การที่ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๗ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๘. ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือพระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล เหมือนมหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัััััยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก้ฒี การที่ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือพระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผ้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฎ ประการที่ ๘ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
ปหาราทะ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้แล ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
ปหาราทะสูตรที่ ๙ จบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น