๑.ทำไม..ขี้ลืม ( โดยธารดาว ทองแก้ว )
อาการหลงลืมเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่หากว่านานๆจะลืมสักครั้ง แต่ถ้าใครขี้ลืมบ่อยๆสมองไม่จดจำอะไรเลย แม้จะเป็นเรื่องสำคัญๆที่อยู่ใกล้ตัว อย่างนี้ก็น่าเป็นห่วงสมองของคนๆนั้นเสียแล้ว
ใครที่ไม่อยากให้สมองแก่ก่อนวัยเป็นคนขี้หลงขี้ลืม ป้ำๆเป๋อๆซึ่งเป็นบุคคลิกที่ไม่ดี เป็นคนไม่มีเสน่ห์ ไม่มีประสิทธิภาพ ก็ต้องหมั่นฝึกฝนใช้สมองให้มาก
สมองของคนเราก็เหมือนมีด ยิ่งลับยิ่งคม แม้ร่างกายจะเสื่อมไปตามวัย แต่สมองยังใช้การได้ดีตามสภาพ ถ้ามีการใช้งานอยู่ตลอดเวลา
ความจำเกี่ยวข้องกับสมองเป็นหลัก ซึ่งกระบวนการจำมีตั้งแต่การรับเข้า ( เหมือนเวลาคุยแล้วมีเครื่องบันทึกเทป )เพราะฉะนั้นเครื่องรับเข้าจะต้องดีก่อน แล้วจึงมีการบันทึกข้อมูลที่ถูกต้องลงไปในสมอง จากนั้นก็จะมีการเรียกข้อมูลออกมาใช้ ซึ่งถ้ามีข้อบกพร่องเกิดขึ้นในขั้นตอนใดก็จะทำให้กระบวนการจดาจำเสียไปได้
บางคนช่องรับเข้าไม่ดี ( เช่นมีคนกำลังพูดให้ฟัง แต่เราใจลอยไปคิดถึงเรื่องอื่น )ก็จะจับใจความสำคัญได้ไม่หมด( เหมือนเด็กๆสมัยนี้ที่เวลาทำการบ้าน แล้วเปิดเพลงฟังหรือดูโทรทัศน์ไปด้วย เครื่องรับเปิดไม่เต็มร้อย ผลก็ออกมาไปเต็มร้อยเหมือนกันน
จิตใจคือต้นเหตุสำคัญของการลืมเป็นหลัก นั่นคือความเครียด ความวิตกกังวลและความฟุ้งซ่าน ซึ่งทำให้คนเราขาดสมาธิความคิดแตกกระจาย
ส่วนสาเหตุทางร่างกาย มักเกิดจากการที่สมองเสื่อมจากวัยที่เพิ่มขี้น ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติ หรือเกิดจาการป่วยทางสมอง อุบัติเหตุ สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หรือความกังวลใจกับความเจ็บป่วย พลังการจดจำจึงมีน้อย
อาการขี้ลืมที่น่าเป็นห่วงก็คือความสามารถในการดำเนินชีวิตหรือความสามารถในการทำงานลดลงจนเสียหาย
โดยหลักการแล้ว ความจำของคนเราขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ของการเอาใจใส่เป็นสำคัญ ไม่ควรอ่านหนังสือ ฟังเพลงหรือดูโทรทัศน์ไปพร้อมๆกัน
การแก้ปัญหาก็คือฝึกการใช้สมองหรือลับสมอง ซึ่งสมองก็เหมือนอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายที่เสื่อมแล้วก็เสื่อมเลยไม่มีการสร้างขึ้นมาใหม่ (ยกเว้นเม็ดเลือด) แต่ถ้ามีการฝึกฝนอยู่เสมอ สมองจะแก่ช้ากว่าร่างกาย ซึ่งความรู้ในทางการแพทย์จะบอกเราว่า เซลล์สมองของคนเรามีจำนวนมากมาย และในความเป็นจริง เราก็ไม่ได้ใช้สมองที่มีอยู่ทั้งหมดหรอก ตัวอย่างเช่น ถ้ามีสมองอยู่ ๑๐๐ ส่วน เราอาจจะใช้สมองเพียงแค่ ๒๐ ส่วน เท่านั้นเอง และถึงแม้ว่าสมองจะตายไปเหลือเพียง ๖๐-๗๐% เราก็ยังสามารถฉลาดขึ้นได้อีกเรื่อยๆ เพราะส่วนที่เหลืออยู่ ยังไงเราก็ใช้มันไม่หมด
คนที่มีลักษณะหรืออุปนิสัยเรื่อยๆ เฉื่อยๆ ไม่ค่อยสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว มีสิทธิจะเป็นโรคสมองฝ่อได้มาก เพราะขบวนการของสมองไม่ค่อยได้ใช้งาน ไม่เหมือนกับคนที่ชอบอ่านหนังสือ ซึ่งจะมีผลต่อการทำงานของสมอง เมื่อใช้บ่อยๆ (คิด - พูด - อ่าน)
เซลล์สมองซึ่งมีเส้นใยเป็นขา เป็นแขนก็จะเชื่อมต่อกัน ซึ่งหากยิ่งใช้บ่อย มันก็จะเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่าย ทำให้คิดอะไรเป็นระบบ มีหลักการมีเหตุผล แต่หากไม่ค่อยได้ใช้สมองขบคิด เส้นใยเหล่านี้จะหดลง ไม่ต่อกัน ความจำก็จะไม่เป็นระบบ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น ในชีวิตประจำวัน แล้วรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่เสมอ ก็นับเป็นการลับสมองที่ดีมาก อย่างหนึ่งง
การฝึกสมาธิช่วยให้ความจำดีขึ้น โดยเฉาะคนที่ชอบคิดฟุ้งซ่าน วิตกกังวลจนลืมอยู่เสมอ สมาธิช่วยได้ในเรื่องของความจำทุกขั้นตอนและสมาธิยังช่วยเรื่องอื่นอีกมากมายในชีวิต
นิสัย ๑๐ อย่างที่ทำร้ายสมอง
๑. ไม่กินอาหารเช้า การไม่กินอาหารเช้า ไม่เพียงแต่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุให้ร่างกายมีสารอาหารไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หากทำจนเป็นนิสัย ในระยะยาวจะทำให้สมองเสื่อมเร็วขึ้น
๒. กินอาหารมากเกินไป เห็นไหมว่าทุกอย่างต้องพอดีจึงจะมีประโยชน์ การกินมากเกินไป จะทำให้ หลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคความจำสั้น
๓. การสูบบุหรี่ ในบุหรี่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากมายหลายสิบชนิด และ แน่นอน หากใครสูบจนติดและไม่คิดเลิก ไม่นานคุณอาจโชคร้ายเป็นโรคสมองฝ่อโดยไม่รู้ตัว (ถ้าสมองใช้งานไม่ได้ การมีชีวิตอยู่ก็แทบไม่มีความหมายอะไร)
๔. กินอาหารหวานมากเกินไป อาหารเหล่านี้จะไปขัดขวางการดูดซึมโปรตีน และสารอาหารที่มีประโยชน์ ต่อร่างกาย เป็นสาเหตุให้ร่างกายขาดสารอาหาร เมื่อได้รับอาหารน้อย สมองก็ทำงานไม่เต็มที่
๕. การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ทั้งนี้เพราะสมองเป็นอวัยวะที่ใช้พลังงานมากที่สุดในร่างกาย ดังนั้นหากเราหายใจเอาอากาศเสียเข้าไปมากๆ เป็นประจำ จะทำให้ออกซิเจนในสมองมีน้อย ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของสมอง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
๖. การอดนอน การอดนอนเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เซลล์สมองเสียหายและตายได้ (เร็วกว่าที่ควรจะเป็น)
๗. การนอนคลุมโปง เรื่องนี้หลายคนอาจนึกไม่ถึง เพราะการนอนคลุมโปง จะทำให้เราได้รับออกซิเจน ไม่เต็มที่ เมื่ออากาศไม่เพียงพอ การทำงานของสมองก็ไม่เต็มร้อย
๘. ใช้สมองในขณะเจ็บป่วย ยามเจ็บไข้ ไม่สบาย ก็เป็นการฟ้องอยู่แล้วว่าร่างกายต้องการการพักผ่อน แต่หากเรายังดื้อรั้นที่จะใช้สมองในการคิดหรือทำงานยามที่ร่างกายอ่อนแอ ก็เหมือนเป็นการทำร้าย สมองไปด้วย และผลงานที่ออกมาก็ไม่ค่อยดีนักหรอกในชีวิต
๙. ขาดการใช้ความคิด การคิด วิเคราะห์ ฝึกแก้ปัญหาต่างๆ เป็นการฝึกสมองที่ดีที่สุด การอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่สนใจอะไรเลยจะทำให้สมองฝ่อ
๑๐. พูดน้อยเกินไป นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ย้ำยืนยันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องอยู่ในภาวะสมดุล จึงจะเกิด ประโยชน์สูงสุด เพราะการฝึกพูดอย่างมีสาระ เป็นสิ่งที่ต้องใช้สมองกลั่นกรอง ดังนั้นทักษะ ทางการพูด จึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงประสิทธิภาพของสมองด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น