++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

ธรรมบรรยายจากศาลาเสือพิทักษ์ โดย หลวงพ่อเสือ

ธรรมบรรยายจากศาลาเสือพิทักษ์ โดย หลวงพ่อเสือ


ธรรมนคร (๒๐)

ญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ เป็นปัญญาในการออกและหลีกไปจากสังขารนิมิตภายนอกเป็น เรียกว่า ญาณครอบโคตร คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากปุถุชนเข้าสู่อริยบุคคล

พ้นจากความครอบงำของอุปายาสที่เป็นผลมาจากชาติ (ชาติในปฏิจจสมุทปบาทที่ทำให้ได้รูป – นามมา) ทำลายโคตรปุถุชน (โคตรผู้หนาแน่นด้วยกิเลส) ก้าวขึ้นสู่อริยโคตร คือ ความเป็นพระอริยะ ครอบงำทำลายเสียซึ่งสังขารนิมิตรต่างๆ คือ รูปนาม หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ครอบงำ สังขตธรรมทั้งปวง แล่นไปสู่ความไม่เป็นไปอีก คือ แล่นไปสู่พระนิพพาน ความไม่เป็นไปของรูปนาม แล่นไปสู่ความเกษม คือ พระนิพพาน จิตแล่นไปสู่ความไม่เกิด แล่นไปยุติความเกิด เพื่อให้ได้มาซึ่งอนิมิตวิหารสมบัติ สมบัติที่หานิมิตไม่ได้ นึกไม่ออก บอกใครไม่ได้ แต่เป็นบรมสุข (ถ้ามีนิมิตเครื่องหมาย จะเป็นสังขตธรรม ฉะนั้น มาบอกว่านิพพานเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้)

นี่คือกิจการงานของโคตรภูญาณที่เป็นอุปการคุณแก่จิตโดยตรง จิตไหนเล่า ก็คือ จิตตํ ทนตํ สุขาวหํ จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ นำอุปการให้กับพระนิพพาน และโคตรภูญาณนี้เองเป็นปัญญาที่ได้มาจากอนุโลมญาณ ซึ่งอนุโลมญาณทำกิจแห่งสังขตธรรม คือ นามรูปที่เป็นโลกีย์จนได้ความรู้และความเข้าใจในกิจ ที่พึงปฏิบัติในสัจจธรรม ๔ อย่าง ว่า

ทุกขสัจจ์ เป็นธรรมที่กำหนดรู้ จึงต้องรู้

สมุทยสัจจ์ เป็นธรรมที่ควรละ จึงต้องละให้หมดไป

นิโรธสัจจ์ เป็นธรรมที่ควรให้แจ้งหรือทำให้ถึง จึงต้องทำให้ถึงต้องทำให้แจ้ง

มรรคสัจจ์ เป็นธรรมที่ควรเจริญ จึงต้องทำให้เจริญ

จึงต้องทำได้ทั้งหมดเลย ซึ่งตรงข้ามกับโลกีย์เมื่อมีเกิด จึงต้อง ยืน เดิน นั่ง นอน เหยียด คู้ ก้ม เงย ขับถ่าย ต้องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส ต้องมากมาย แต่นี่เมื่อต้องใน ๔ อย่างนั่นต้องในโลกเพราะมีชาติเป็นเหตุจึงต้องแก้ทุกข์ นี่คือต้อง ๔ ต้อง พ้นทุกข์คนละอย่างกันเลย

โคตรภูญาณนี้มีหน้าที่รวบรวมความรู้ในกิจของอริยสัจจ์ ๔ นั่นเอง ทั้งสัจจญาณ กิจญาณ กตญาณเข้าด้วยกัน เอามาเคล้ากัน โคตรภูญาณ เป็นปัญญาที่ตั้งอยู่ในระหว่างปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ กับ ญาณทัสสนะวิสุทธิ

แล้วอย่าลืมว่า โคตรภูญาณเป็นจิตที่เกิดต่อจากขณะที่ ๓ ของอนุโลมญาณ เมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นขณะหนึ่ง มีนิพพานเป็นอารมณ์แล้วก็ดับไป การที่โคตรภูญาณได้พระนิพพานเป็นอารมณ์นี้ก็เพราะได้ปัจจัยจากอนุโลมญาณในขณะที่ ๖ เป็นผู้รับอารมณ์ของโลกีย์ ที่มีสังขารนิมิต คือนามรูปเป็นอารมณ์

เพราะอารมณ์โลกีย์ที่พิจารณาสังขารมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาแล้วก็ดับลงหรือสิ้นสุดลง พร้อมกันที่ภังคขณะของจิตดวงที่ ๓ แห่งอนุโลมญาณ องค์โคตรภูญาณที่ท่านหน่วงเอาพระนิพพานมาเป็นอารมณ์ได้ และทำลายโคตรของปุถุชนอย่าเราๆ ได้ ย่างเข้าสู่โคตรของอริยบุคคล เรียกว่าเป็นจิตดวงแรกที่ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ในสังสารชาติ ก็โดยอาศัยอำนาจของปัจจัยของโคตรภูญาณนี้ ที่เป็นปัจจัยให้แก่มรรคจิต อีก ๖ ปัจจัย ได้แก่ อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย อาเสวนปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย นัตถิปัจจัย วิคตปัจจัย

โคตรภูญาณนี้ถึงจะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ก็จริง แต่ก็ยังทำหน้าที่ตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทไม่ได้ เพราะเหตุนี้จึงยังไม่เรียกว่า โลกุตตรจิต และการที่โคตรภูญาณยังประหารกิเลสไม่ได้ เพราะเหตุที่ว่า ตนพึ่งได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ในขณะแรก ยังไม่มีอาเสวนปัจจัยเพียงพอ ยังสะสมไม่เพียงพอ

อุปมาเหมือนการที่เข้าทำงานวันแรกย่อมยังไม่เข้าใจในหน้าที่ของตนว่าจะต้องทำอย่างไร ต่อมามีความเข้าใจในหน้าที่มากขึ้นก็สามารถทำหน้าที่ได้ดีขึ้น เพราะความชำนิชำนาญนั่นเอง

อุปมาข้อนี้ฉันใด โคตรภูญาณก็ฉันนั้น คราวนี้เมื่อโคตรภูญาณเข้าไปเหยียบลงในฝั่งใหม่ คือ พระนิพพานแล้วเป็นครั้งแรกในที่ที่ไม่เคยไปถึงเลย ก็ย่อมจะทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน โคตรภูญาณที่เกิดขึ้นในอารมณ์พระนิพพานนั้นเป็นครั้งแรกและเกิดครั้งเดียว ขณะเดียวแล้วดับลงยังไม่ได้อาเสวนปัจจัย จึงยังทำลายกิเลสเป็นสมุจเฉทไม่ได้

จึงเรียกโคตรภูญาณนี้ว่า เอกวุฏฐาน แปลว่า ออกได้แต่ส่วนเดียว หมายถึง ออกจากอารมณ์ที่เป็นสังขารเท่านั้น (ออกจากอารมณ์ที่เป็นโลกีย์ได้เท่านั้น) แต่ออกจากตัณหาไม่ได้ เพราะยังประหารตัณหาไม่หมด

ด้วยเหตุนี้เองโคตรภูญาณจึงยังเปลี่ยนชาติจากโลกีย์เป็นโลกุตตระไม่ได้ ยังอยู่ในแดนหรือยังอยู่ในระหว่างของญาณทัสสนะวิสุทธิได้ เพราะเหตุที่ยังเข้าไปเหยียบในแดนพระนิพพานแล้ว จนกระทั่งตรงนี้แหละ พออาเสวนปัจจัยมากเข้า มรรคญาณก็เกิดขึ้น เป็นญาณที่ ๑๔


ญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ เป็นชื่อของปัญญาที่เกิดขึ้นในมรรคจิต ต่อจากโคตรภูญาณ โดยอาศัยปัจจัยจากโคตรภูญาณและเป็นวิสุทธิเรียกว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ มรรคญาณมีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกับโคตรภูญาณ แต่จิตเป็นโลกุตตรจิตแล้ว เพราะจิตออกจากกิเลสทั้งอารมณ์ ทั้งจิต

ฉะนั้น มรรคญาณนี้ จึงเรียกว่า อุภโตวุฏฐาน แปลว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยกิจและอารมณ์ ในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกิจและอารมณ์ ในปริวรรต ๓ (สัจจญาณ กิจญาณ กตญาณ) แล้วก็โดยญาณ ๑๒ ทำการประหารกิเลสได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทตามกำลังของมรรคชั้นต่างๆ เช่น

พระโสดาบัน ก็ทำลายกิเลสเป็นสุมจเฉท คือสังโยชน์ ๓ อกุศลกรรมก็ตัดไป ๕ ไม่เกิดอีกเลย คือโลภะ ๔ และวิจิกิจฉา ๑ คือ จะไม่ลังเลสงสัยในปฏิปทาที่พระพุทธเจ้าให้ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีศีล ๕ บริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย มีจิตใจพร้อมบริจาคทุกเมื่อหมดความรำพึงรำพันยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนคนสัตว์ ทำลายสักกายทิฏฐิ ทำลายวิจิกิจฉา ทำลายสีลัพพตปรามาส ความลูบคลำผิดๆ จะไม่เกิดขึ้นในสังสารวัฏฏ์ชาติอีกเลย

แม้ว่ามรรคญาณนี้จะเกิดขึ้นขณะเดียว แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำหน้าที่ประหารกิเลสอย่างเดียว ยังประหารสังสารวัฏฏ์อีกด้วย คำว่า “สังสารวัฏฏ์” ไม่มีเบื้องต้น และไม่มีที่สุด พร้อมกับกำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ นี่เป็นอำนาจของท่าน

ทีนี้มรรคจิตสำเร็จในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ สำเร็จได้เพราะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะใดที่จิตมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะนั้นทุกขสัจจ์ซึ่งได้แก่นามรูปที่เกิดดับเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะพระนิพพานเป็นธรรมที่พ้นจากนามรูป เป็นธรรมที่สิ้นสุดทุกข์ สิ้นตัณหา ฉะนั้นเหตุผลก็คือ ถ้าจิตเกิดขึ้นมีพระนิพพานเป็นอารมณ์เมื่อใด สภาพทุกขสัจจะ จะเกิดขึ้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะพระนิพพานเป็นธรรมที่พ้นจากสภาพทุกข์ ทุกข์คือนามรูป ฉะนั้น นามรูปเกิดขึ้นไม่ได้ นี่คือเหตุผล
มรรคจิตสำเร็จกิจในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ได้โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะนั้นทุกขสัจจ์เกิดไม่ได้ จิตที่กำลังกำหนดรู้ทุกข์อยู่คือนามรูปเป็นอารมณ์ให้รู้อยู่ แต่เมื่อทุกข์คือตัวรูปนามไม่มีอารมณ์ให้แก่จิตแล้ว จิตจะกำหนดรู้ทุกข์ย่อมไม่มี เพราะทุกข์คือรูปนามนั้นหมดลงเสียแล้ว

ตั้งแต่อุปาทะขณะในโคตรภูญาณ (รูปนามนั้นฉิบหายไปหมดแล้ว) เพราะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ให้กำหนดเท่านั้น แต่ตัณหานุสัยและทิฏฐานุสัยที่เป็นเหตุให้เกิดในสังสารวัฏฏ์ ยังไม่ได้ถูกประหารในโคตรภูญาณ เพียงแต่ปัญญาในโคตรภูญาณทำให้หมดอำนาจลง จนไม่สามารถสร้างกรรมได้อีกต่อไป จนกระทั่งปัญญาในมรรคจิตเกิดขึ้นต่อจากโคตรภูญาณ อีกหนึ่งขณะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์เหมือนกัน โดยอาศัยอุปการะจากโคตรภูญาณจึงทำหน้าที่ประหารกิเลสที่เป็นอนุสัยที่นอนอยู่ในขันธสันดาน มีตัณหานุสัย ทิฏฐานุสัย ๒ ตัวนี้ให้ขาดเป็นสมุจเฉทลง

เพราะเหตุใดมรรคญาณที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จึงทำการประหารกิเลสได้เด็ดขาด เพราะพระนิพพานเป็นธรรมชาติที่สิ้นสุด นอกนั้นเป็นธรรมชาติที่ไม่สิ้นสุด พระนิพพานเป็นที่สุดแห่งทุกข์ เมื่อปัญญาได้ปฏิบัติมาจนเกิดความสมบูรณ์เต็มที่ แห่งสัจจญาณ กิจญาณ กตญาณ ทำหน้าที่แล้ว ก็ทำนิพพานให้แจ้งคือมีพระนิพพานเป็นอารมณ์เกิดขึ้นมา ปัญญาเจตสิกก็จะเกิดตามอารมณ์นั้นๆ

ปัญญาเจตสิกเป็นมรรคองค์ที่ ๑ ในมรรค ๘ ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ จึงตัดสินเด็ดขาดในขณะที่ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ในความแน่ใจของปัญญาว่าทุกข์นั้นมีจริงเพราะชีวิตที่ประสบผ่านมา ได้กำหนดแล้ว เจอแล้ว ประจักษ์แล้ว ในวิปัสสนาญาณ ตัณหา เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ มีจริง ได้ประหารเรื่อยมาในขณะเจริญวิปัสสนา นิโรธเป็นธรรมที่สิ้นสุดทุกข์ หรือเป็นธรรมดับทุกข์มีจริง ตนก็กำลังถือเอาเป็นอารมณ์อยู่ในขณะนี้ (นิพพาน) มรรคมีองค์ ๘ ข้อปฏิบัติถึงความสิ้นสุดทุกข์ก็มีจริง เพราะเป็นเหตุให้จิตมีพระนิพพานเป็นอารมณ์อยู่ในขณะนี้


ความแน่ชัด ความแน่ใจ ความแน่จริงที่ทำมา ตัดสินเด็ดขาดลงไปเลยว่า ธรรมที่ดับทุกข์ ธรรมที่สิ้นสุดตัณหา นั้นมีจริง เพราะได้ประสบโดยประจักษ์โดยสิทธิมาแล้ว ได้สิทธิมาแล้วด้วยตนเอง เป็นสันทิฐฏิโก ไม่ต้องเชื่อคำผู้อื่นอีกต่อไป เพราะฉะนั้นผู้ใดเชื่อโดยยังไม่เห็น กับเชื่อในขณะที่กำลังเห็น ผิดกัน ด้วยเหตุนี้เอง พระท่านจึงกล่าวว่า ต้องเห็นชอบด้วยปัญญาจึงชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ ในองค์มรรค ๘ เท่านั้น จึงจะเรียกสัมมาทิฏฐิว่าเป็น ปัญญาเห็นชอบ

เห็นอะไรชอบ คือเห็นอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ประการ เท่านั้น ไม่ได้เห็นอย่างอื่นเลย ถ้าเห็นอะไรอย่างอื่น นอกจากอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ประการแล้วไม่ได้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ที่เป็น มัคคังคะ ฉะนั้น อำนาจของปัญญาที่มีกำลังแรงกล้าในขณะนั้น เป็นปัญญาที่ได้พิสูจน์ด้วยตนเอง ที่ได้ปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ จึงชื่อว่า วชิรปัญญา อันเป็นปัญญาที่ประดุจสายฟ้าที่กำลังฟาดอย่างแรงกล้า

ฉะนั้น มรรคญาณหรือมรรคจิตนั้น เกิดขึ้นครั้งแรกเรียกว่า โสดาปัตติมรรคญาณ ด้วยคุณของมรรคญาณที่เกิดขึ้น แม้เพียงขณะเดียวย่อมได้นามว่าอริยบุคคลขั้นที่ ๑ ชื่อพระโสดาปัตติมรรคบุคคล แล้วท่านผู้นี้แหละเป็นผู้ปิดอบาย ๔ ได้แน่นอน

มรรคญาณเป็นชาติกุศล เรียกว่า โลกุตตรกุศลมี ๔ อย่าง คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค ฉะนั้น ในโลกกุตตรกุศลทั้ง ๔ อย่างนี้ แต่ละอย่างๆ เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวเท่านั้น ไม่มีวันเกิดมากกว่านี้ได้เลย เมื่อเกิดกับผู้ใดทำให้ผู้นั้นเป็นพระอริยบุคคลทันที มรรคญาณทั้ง ๔ สงเคราะห์ลงในญาณทัสสนะวิสุทธิ เป็น โลกุตตรวิสุทธิ แม้เพียงชั่วขณะเดียวเหมือนสายฟ้าแลบ ผู้นั้นได้ชื่อว่าพระโสดา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น