++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

วัดที่ใจ

วัดที่ใจ


ในแต่ละช่วงชีวิตของคนเรา ตั้งแต่แรกเกิดจากท้องแม่ ก็ต้องเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอาการหิว ไม่สบายตัว ไม่สบายใจ ล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญกันอยู่เสมอ
เด็กทารกคงทำได้อย่างเดียวในตอนไม่สบายกายไม่สบายใจก็คือแหกปากร้องไห้แงๆ หลายๆคนร้องดัง แสดงว่าปอดทำงานดี สามารถร้องได้ดังและนาน เหมือนนักร้องที่ร้องเพลงได้นานหลายๆเพลง จนคนดูบางคนเหนื่อยแทน
การเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็นของทุกชีวิต และไม่สามารถจะกำหนดวัดได้ว่าจะต้องเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน ถี่ห่างกันอย่างไร บางคนเรียนรู้ไปครั้งแล้วครั้งเล่าก็จำไม่ได้จนมีสำนวนว่า"ไม่รู้จักจำ"
แต่การเรียนรู้ที่ถูกต้องจริงๆน่าจะมาจากใจมิใช่มาจาการจำเพราะการจำ แม้จะแม่นยำแค่ไหน สักวันคงต้องลืม แต่หากมันฝังลึกในใจแล้ว ก็ยากจะลืม
ถ้าหากเราลองพิจารณาย้อนหลังตั้งแต่วัยเด็ก เราจะเห็นว่าการเรียนรู้เกิดจากการสอนของคนรอบข้าง ที่ดำเนินชีวิตไปตามวัฒนธรรมและประเพณีที่สืบสานกันมา ตั้งแต่อาหาร รสชาติ ความเชื่อ การทำตามแบบกันมา
แม้กระทั่งการทำตามกันมาแบบผิดๆที่เรียกว่าสีลัพพตตปรามาส แม้กระทั่งการถือเจ้าถือผี และอีกส่วนหนึ่งที่มาจากคำที่เรียกว่าสัญชาตญาณ ตั้งแต่การเอาตัวรอด การหาอาหาร การสืบพันธ์ การยึดถือตัวตน
และถ้าเราพิจารณาในแง่พื้นฐานแล้ว คนทุกคนมีชีวิตที่เสมอกัน ไม่แตกต่างไปจากกันเลยในการเรียนรู้ตั้งแต่วัยแรกเกิด อนุบาล เด็ก วัยรุ่น หนุ่มสาว หรือแม้ทั่งช่วงเวลาสูงวัย ที่บ่งชี้ชัดว่ าแทบจะไม่แตกต่างกันเลยในยามที่สภาพร่างกายหวนคืนสู่ธรรมชาติทีละเล็กทีละน้อย
แม้กระทั่งการศึกษาภาคบังคับหรือไม่บังคับ เพื่อให้มีความรู้ที่จะได้ประกอบอาชีพต่อไปในการดำเนินชีวิตให้อยู่เป็นสุขที่เรียกกันสั้นว่าหากินก้ไม่ต่างกัน
แต่การเรียนรู้ส่วนใหญ่แทบทั้งหมด ไม่ได้สอนให้เราเข้าใจในทุกข์ทั้งปวง ที่เรียกกันอีกความหมายหนึ่งว่าธรรมะ แม้กระทั่งบางคนทุกข์ยังไม่รู้ว่าทุกข์ มัวเพลินหรือเอร็ดอร่อยกับความเคยชิน ร้อนรุ่มกลุ้มใจ เพราะขาดการศึกษาในเรื่องของทุกข์ ไม่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับแบบจริงจัง และผู้คนก็ไม่ได้สนใจมันอย่างจริงจัง
อย่างมากก็สนใจแต่เพียงทุกข์ทางกาย ที่เกิดจากเกิด แก่ เจ็บ ตายและโศกเศร้า พร่ำเพ้อรำพัน
แต่ไมค่อยได้สนใจทุกข์ทางใจสักเท่าไร ว่าทำไมถึงเกิด จนแม้กระทั่งทุกข์อยู่ก็ไม่รู้ จนถึงจุดหนึ่งหรือที่สุดของมันแล้วจึงรู้ และทุกข์อย่างแสนสาหัส
ทุกข์แปลว่าสภาวะบีบคั้น ทนได้ยาก ยังแบ่งทุกข์ออกได้เป็นสองลักษณะ
ความทุกข์ทางกายและความทุกข์ทางใจทั้ง ๒ ประการนี้ จัดเป็นความทุกข์ขั้นพื้นฐานที่เกิดขึ้นประจำวัน ซึ่งทุกคนต่างก็รู้จักดีและเคยประสบกันมาแล้ว แต่ความ ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบในทุกข์อริยสัจนั้น ยังมีความหมายกว้าง ครอบคลุมไปถึงลักษณะไม่คงที่ มีความแปรปรวนในสิ่งที่ทั้งปวงด้วย ซึ่งท่านได้แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ คือ

๑. สภาวทุกข์ คือ ทุกข์ประจำสภาวะ หมายถึง ความทุกข์ที่มีประจำอยู่ในสภาพร่างกายของคนเรา เริ่มตั้งแต่เกิดมามีชีวิต จนถึงตาย ซึ่งมีอยู่ ๓ อย่าง ดังนี้ คือ
๑.๑ ชาติทุกข์ แปลว่า “ความเกิดเป็นทุกข์” หมายถึง การทนทุกข์ทรมานตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนถึงคลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเกิดมามีชีวิตได้นั้น ต้องผ่านอันตรายมาได้โดยยากจึงจัดว่าเป็นทุกข์เพราะการเกิด
๑.๒ ชราทุกข์ แปลว่า “ความแก่ชราเป็นทุกข์” หมายถึง สภาพร่างกายแก่ชราคร่ำครวญทรุดโทรม แม้จะนั่งจะนอน จะเดินไปมาก็ลำบาก จึงจัดว่าเป็นความทุกข์เพราะความแก่ชรา
๑.๓ มรณทุกข์ แปลว่า “ทุกข์คือความตาย” หมายถึง ความตายนั้นเป็นสิ่งที่มาทำลายชีวิตหรือตัดรอนชีวิตของเราให้สิ้นไป จึงจัดเป็นความทุกข์เพราะความตาย
๒. ปกิณณกทุกข์ แปลว่า “ทุกข์เล็กๆ น้อยๆ” หมายถึง ความทุกข์ที่จรมาจากที่อื่นโดยเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมของชีวิต มีน้อยบ้างมากบ้าง ผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งมีอยู่ถึง ๘ อย่าง คือ
๒.๑ โสกะ ความเศร้าใจ ความเสียใจ
๒.๒ ปริเทวะ ความรำพึงรำพรรณบ่นท้อ

๒.๓ ทุกขะ ความไม่สบายกายเพราะเจ็บป่วย

๒.๔ โทมนัสสะ ความน้อยใจ ความไม่สบายใจ

๒.๕ อุปายาสะ ความคับใจ ความตรอมใจ

๒.๖ อัปปิยสัมปโยคะ ประสบสิ่งไม่เป็นที่รักแล้วไม่ชอบใจ

๒.๗ ปิยวิปปโยคะ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก

๒.๘ อิจฉตาลาภะ ความผิดหวังไม่ได้สิ่งที่ตนอยากได้

อาการทั้งหมดนี้จัดเป็นทุกข์ ความเดือดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นแก่ทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ และเกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกโอกาส การที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ชาวพุทธได้รู้จักกับตัวความทุกข์เหล่านั้น มิได้หมายความว่าพระองค์ทรงสอนให้เรามองโลกในแง่ร้าย แต่ทรงสั่งสอนให้มองโลกตามความเป็นจริง คือ ให้รู้จักกับความเป็นจริงของโลก เพื่อประสงค์จะให้ชาวพุทธไม่ประมาทพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริงนั้น และสามารถที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาชีวิตของตนได้ทุกโอกาส
พระพุทธองค์จึงมุ่งที่สอนให้มนุษย์มีหลักที่พึ่งทางใจ และมีแนวทางการประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้เกิดมงคลแก่ชีวิต อันจะทำให้มนุษย์สามารถอยู่รวมกันในสังคมด้วยความสงบสุขและเจริญก้าวหน้าและจนพัฒนาตนไปได้จนเข้าสู่สภาวะสูงสุดคือสภาวะแห่งการเป็นพุทธะ ที่เราได้ยินได้ฟังมาบ่อยๆว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
รู้ความจริงอันประเสริฐคือรู้อริยสัจ ตื่นในสติ และเบิกบานในสภาวะที่พ้นจากทุกข์ โดยได้แสดงอริยสัจจธรรมคือ
ทุกข์คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ บีบคั้นทนได้ยาก
สมุทัยคือเหตุแห่งการเกิดทุกข์ อันได้แก่อกุศลมูล อันมีโลภ โกรธ หลง
นิโรธคือสภาวะแห่งการดับทุกข์ หรือดับกิเลสโดยสิ้นเชิงไม่เหลือเชื้อเลย
มรรคคือหนทางหรือป้ายบอกทางแห่งการหลุดพ้นแปดประการ
ในองค์ทั้งแปดของมรรค หลวงปู่พุทธทาสภิกขุเคยสอนไว้ว่ามีเคล็ดลัอยู่ที่จะต้องเรียงลำดับในการเจริญดังนี้คือ
มีความเห็นชอบหรือถูกต้อง รู้ความจริงในอริยสัจ ที่ว่าทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นเช่นไร
มีความดำริชอบหรือมีความคิดที่จะหาหนทางหลีกหนีออกจากกาม คือรูป เสียงก ลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์ ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น
มีวาจาชอบ เว้นจากการพูดเท็จ ส่อเสียด คำหยาบ วาจาไร้สาระ
มีการกระทำชอบ เว้นจาการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
มีการเลี้ยงชีพชอบ ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม
มีความเพียรชอบ มีความเพียรไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้ละมันให้หมด เพียรในการทำความดี และเพียรในการรักษาความดีนั้นไว้
มีสติชอบหรือความระลึกชอบ รู้ทันกาย รู้ทันเวทนา
มีสมาธิชอบคือใจตั้งมั่นสงบระงับในชั่วขณะหนึ่งจวบจนสงบแน่วแน่
กล่าวโดยสรุปองค์ของมรรคก็คือเรื่องเดียวกับศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
หากท่านทั้งหลายเห็นตัวจริงของทุกข์ตัวแม่ และอยากที่จะให้ทุเลาเบาบางเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานจริงๆ ก็จำเป็นต้องเข้าเรียนที่วัด
และหากจะถามว่าที่วัดไหนดี ผู้เขียนก็ขอแนะนำว่าวัดที่ใจของท่านนี่แหละ เพราะทกุข์แท้จริงมันเกิดที่ใจ และล้วนดับที่ใจ เพียงแต่ตั้งใจเอาจริงแค่ไหน ในภพที่แปลว่าที่เกิดและชาติที่แปลว่าทะลึ่งเกิดขึ้นมา เอวัง

ธรรมะสวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น