คำสอน ของฮวงโป
พุทธทาส แปลไทย The Zen Teaching of Huang Po มร.John Bolfeld แปลอังกฤษ
คำชี้แจง
คำสอนของฮวงโปนี้ เรียกในภาษาจีนว่า "ฮวงโป ฉวน สิ่น ฟา หยาว" มร.John Bolfeld แปลออกเป็นภาษาอังกฤษ เรียกว่า The Zen Teaching of Huang Po พวกเราเห็นว่าควรแปลออกมาสู่ภาษาไทยจึงทำให้เกิดหนังสือเล่มที่ท่านถืออยู่นี้
ผู้ที่เคยอ่านหนังสือเว่ยหล่างมาก่อนแล้ว พึงทราบว่า ฮวงโป เป็นหลานศิษย์ของเว่ยหล่าง กล่าวคือ เมื่อเว่ยหล่าง สังฆปรินายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซ็น ได้รับการถ่ายทอดธรรมโดยตรง ชนิดที่เรียกว่า จากจิตถึงจิต จากพระสังฆปรินายกองค์ที่ 5 แล้ว นิกายเซ็น ก็แตกออกเป็น 2 สาย สานเหนือนำโดย ชินเชา คู่แข่งของเว่ยหล่าง สอนวิธีปฏิบัติการตรัสรู้อย่างเชื่องช้าคือ ค่อยเป็นค่อยไป เจริญรุ่งเรืองอยู่พักหนึ่งโดยราชูปถัมภ์ของพระจักรพรรดิ ตั้งอยู่ไม่นานก็เงียบหายไป ส่วนสายใต้ คือสายของเว่ยหล่าง สอนวิธีการปฏิบัติที่เป็นการตรัสรู้ฉับพลัน ได้เจริญรุ่งเรืองและขยายตัวออกมาจนแตกเป็นนิกายย่อยๆลงไป ศิษย์คนที่สำคัญองค์หนึ่งของเว่ยหล่างมีนามว่า มา ตฺสุ(ตาว อาย) ถึงแก่มรณภาพเมื่อ ค.ศ.788 สำหรับฮวงโปนี้ ถือกันว่าเป็นศิษย์ช่วงที่เหนึ่งหรือช่วงที่สอง ต่อจากท่าน มา ตฺสุ เป็นสองอย่างยิ่งอยู่ และกล่าวกันว่าถึงแก่มรณภาพในปี ค.ศ.850 ท่านได้ถ่ายทอดคำสอนนิกายนี้ให้แก่ อาย สื่น ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งนิกาย หลินฉิ หรือที่เรียกอย่างญี่ปุ่น ว่า รินซาย อันเป็นนิกายที่ยังคงมีอยู่ในประเทศจีน และแพร่หลายที่สุดในประเทศญี่ปุ่น โดยเหตุนี้ ฮวงโป จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อกำเนิดพุทธศาสนานิกายนี้ ตามธรรมดานั้น บรรพชิตจีนมีชื่อหลายชื่อ อย่างท่านฮวงโปนี้ เมื่อมีชีวิตอยู่เรียนกันโดยมากว่า อาจารย์ซิ หยึน บ้าง ว่าตวนชิ บ้าง แต่ชื่อที่เรียกกันเมื่อท่านมรณภาพนั้นเรียกว่าฮวงโป โดยถือเอาชื่อของภูเขาที่ท่านอาศัยอยู่เป็นส่วนมากในชีวิตของท่าน เป็นต้นเหตุ และด้วยธรรมเนียมที่เป็นการแสดงความเคารพ คือไม่ออกชื่อตัวโดยตรง ในญี่ปุ่น ท่านมีชื่อว่า โอบากุ อันเป็นเสียงที่ใช้กับอักษรจีน คำนั้น เนื่องจากมิได้เป็นสังฆปรินายก ในที่นี้จึงเรียกท่านว่า ครูบา
พุทธศาสนาอย่างเซ็นนี้ จัดเป็นพุทธศาสนาประเภทที่มีวิวัฒนาการใหม่ ในถิ่นที่แพร่หลายไปถึง โดยปกติถูกจัดเป็นฝ่ายมหายาน แต่พวกเซ็นยังจัดตัวเองไว้นอกวงของมหายาน เพราะสอนไม่เหมือนมหายานต่างๆที่มีอยู่ก่อน หรือพ้องสมัยกับตน ทำให้เกิดคำว่า "เอกยาน" หรือ "พุทธยาน" ขึ้นเป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามทางที่ดีที่สุดที่จะกล่าวได้ก็ต้องจัดว่าเป็นฝ่ายมหายานอยู่นั่นเอง เพราะมุ่งหมายจะพาคนทั้งหมดไปสู่การตรัสรู้ ซึ่งเป็นใจความสำคัญของนิกายนี้ ที่แตกต่างไปจากเถรวาท แต่อย่าลืมว่า คำบัญญัติต่างๆของนิกายเซ็นนี้ ใช้กันไม่ได้กับมหายานนิกายอื่น มิหนำซ้ำมีลักษณะขัดแย้ง ท้าทาย ล้อเลียน อยู่ในตัวอย่างยิ่ง จนในบางกรณี ถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งต่อสู้กันทีเดียว ถ้ายิ่งเป็นคำบัญญัติอย่างเถรวาทแล้ว ยิ่งไม่มีทางที่จะใช้แทนกันหรือมีความหมายตรงกันได้ เว้นคำธรรมดาๆ บางคำเท่านั้น เพราะฉะนั้นขอให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายจงสำนึกข้อเท็จจริงอันนี้ไว้เสียแต่แรก มิฉะนั้นนอกจากจะอ่านไม่ได้เรื่องแล้ว ยังจะหาว่าเป็นลัทธิที่ผิด หรือเป็นมิจฉาทิฏฐิไปเสียอีก เหตุการณ์ทำนองนี้ ได้เคยเป็นมาแล้วเมื่อครั้งหนังสือเว่ยหล่างได้ถูกแปลและพิมพ์ออกมาใหม่ๆ จึงขอชี้แจงครั้งหนึ่ง ดังต่อไปนี้
สำหรับผู้อ่านที่เป็นเถรวาท เมื่อได้ฟังคำว่า จิต, จิตหนึ่ง, ทาง, พุทธะ, หรือแม้แต่คำว่า ธรรม ก็ตามอย่างได้เข้าใจว่ามีความหมายเหมือนกับที่เข้าใจหรือรู้อยู่เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้ยินคำพูดของฮวงโปซึ่งผิดไปจากเว่ยหล่างอีกไม่น้อยเลย ตัวอย่างเช่นคำว่าจิต หรือจิตหนึ่ง หมายถึงสิ่งๆหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ก่อนที่จะเกิดมีจิตตามความหมายที่เรารู้จักกัน หรือยิ่งไปกว่านั้น ก็คือก่อนเกิดมีสิ่งทั้งปวงนั่นเอง ก่อนเกิดมีสังสารวัฏและนิพพานตามความรู้สึกทั่วไป สิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่ง ก็มีอยู่แล้ว คือมี ตั้งแต่ไม่มีใครทราบ คำว่าทางก็คือสิ่งนี้ พุทธะก็คือสิ่งนี้ ฉะนั้นจะต้องค่อยๆอ่านไป และค่อยๆจับใจความให้ได้ ว่ามันหมายถึงอะไร
ที่นี้ ที่ยุ่งยากไปกว่านั้นอีก ก็คือ แม้คำว่า นี้ก็มิได้มีความหมายเหมือนกับคำว่า มี ตามธรรมดาสามัญ คือมันอยู่ในสถานะที่เรียกว่ามี ก็ไม่ถูก, เรียกว่า ไม่มี ก็ไม่ถูก หรือถ้าถูก ก็ถูทั้งที่จะเรียกว่า มีและไม่มี เพราะว่ามัน มีโดยไม่ต้องมีความมี ซึ่งคนธรรมดาหรือคนที่ยังมองไม่เห็นสิ่งๆนี้จะฟังไม่เข้าใจได้เลย
ที่ยุ่งยากต่อไปอีก ก็คือข้อความที่ว่า สัตว์ทั้งหลายก็เป็นสิ่งๆเดียวกันกับสิ่งที่เป็น จิตหนึ่ง หรือเป็นพุทธะ อยู่เองแล้ว แม้สิ่งทั้งปวง ก็เป็นสิ่งเดียวกัน แต่สัตว์ทั้งหลายถูกกิเลสห่อหุ้ม หรือปรุงแต่งความรู้สึกเสียเรื่อย จิตเดิมแท้ หรือจิตหนึ่ง จึงไม่ปรากฏแก่เขา ทั้งที่กิเลสก็เป็นสิ่งๆเดียวกับสิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่ง นั้นเหมือนกัน เมื่อสัตว์ทั้งปวง ก็เป็นพุทธะอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติอะไรอีก นอกจากการทำให้เห็นว่าตนเป็นพุทธะอยู่แล้ว และหาความเป็นพุทธะนั้นให้พบ เหมือนคนหาของที่ติดอยู่ที่หน้าผากของตนเองแล้ว การเที่ยวหาที่อื่น หรือทำการปฏิบัติอย่างอื่นๆ อีกมากมายนั้น เป็นความบ้าหลังเปล่าๆ นี้คือใจความสำคัญของคำว่า การตรัสรู้ฉับพลันหรือการเดินทางลัด
ถัดไปอีกที่จะต้องทราบไว้ กันความยุ่งยาก ก็คือว่าลัทธินี้ เป็นลัทธิไม่มีรูปธรรม หรือไม่เกี่ยวกับรูปธรรมเลย ทุกอย่างถูกแปลเป็นธรรมธิษฐาน หรือฝ่ายนามธรรมไปหมด เช่นคำว่า โพธิสัตว์ มิได้หมายถึงคน แต่หมายถึงคุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นคำว่า โพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หมายถึงความเมตตากรุณา โพธิสัตว์มัญชุศรี หมายถึงกฎแห่งเหตุผลที่ว่าสัตว์เป็นพุทธะอยู่แล้ว ดังนี้เป็นต้น ข้อนี้ผู้อ่านจะต้องสังเกต ให้เห็นชัดเจนว่า เป็นความมุ่งหมายของคำสอนแห่งนิกายนี้
อีกทางหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดอาการน่าเวียนหัว หรือถึงกันสะดุ้งสะเทือนแก่คนบางพวก ก็คือข้อที่คำกล่าวของนิกายนี้ ใช้ตรรก หรือใช้การกล่าวตามวิธีของตนเอง เช่นกล่าวยกย่องการที่ไม่มีความคิดปรุงแต่งโดยยกเอาพระพุทธเจ้ามาเทียบกับคนสามัญ ว่าถ้าคนสามัญไม่มีความคิดปรุงแต่ง ก็มีคุณธรรมสูงกว่าพระพุทธเจ้า ผู้หมดความคิดปรุงแต่งสิ้นเชิงแล้ว ข้อนี้มีเลศนัยอยู่ตรงที่ว่า คนสามัญที่ไม่มีความคิดปรุงแต่งต้องถือว่าเก่งกว่าพระพุทธเจ้าที่มีความคิดปรุงแต่ง ดังนี้เป็นต้น
สำหรับข้อที่ชวนให้เวียนหัวนั้น เป็นวิธีพูดของท่านฮวงโปแบบหนึ่งโดยเฉพาะ เนื่องจากประสงค์จะสกัดกั้นการยึดถือเสียโดยประการทั้งปวงโดยตะพึดตะพือไปทีเดียว ทำให้มีการปฏิเสธทั้งขึ้นทั้งล่อง ตัวอย่างเช่นกล่าวว่าพุทธะและสัตว์ทั้งปวง คือจิตหนึ่ง หรือออกมาจากจิตหนึ่ง, แล้วก็ต่อท้ายเลยต่อไปว่า จิตหนึ่งนั้นมิใช่ทั้งพุทธะและมิใช่ทั้งสัตว์ทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะว่า ในจิตหนึ่งนั้น ไม่มีคติทวินิยม คนที่ไม่คุ้นเคยกันการพูดวิธีนี้ ของท่านผู้นี้ พอได้ฟังเข้าก็งงจนเวียนหัว ในกรณีเช่นนี้ ท่านมุ่งหมายที่จะกล่าวว่าสิ่งที่เรียกว่าจิตหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกมอง ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติสองอย่างชนิดตรงกันข้าม ที่เรียกว่าคติทวินิยมนั่นเอง พระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามจากสามัญสัตว์ทำนองดีกับชั่วเป็นของตรงกันข้ามต่อกันเป็นต้น คติมีของหรือมีลักษณะตรงกันข้ามเป็นคู่ๆ เช่นนี้ มีในสิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่ง ไม่ได้ ถ้ามีได้ก็ไม่เรียกว่าจิตหนึ่ง. แต่แล้ว จิตหนึ่งนั่นเอง เป็นทั้งพระพุทธเจ้าและเป็นทั้งสามัญสัตว์ทั้งปวง เมื่อเป็นดังนั้น ก็ย่อมหมายความว่าพระพุทธเจ้าและสามัญสัตว์เป็นสิ่งๆเดียวกัน มิได้ต่างกันแม้แต่น้อยอย่าว่าที่จะต่างกันถึงตรงกันข้ามเลย นี่แหละคือความแปลกประหลาดผิดเขาทั้งหมด ของนิกายนี้ ผู้อ่านจะต้องสังเกตจับฉวยให้ได้ และข้อสำคัญก็คือ ต้องรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาที่อ่านว่าเรากำลังอ่านถ้อยคำที่มีหลักเกณฑ์ในการกล่าว ผิดจากของเราเอง หรือที่เราเคยอ่านๆ กันมาแล้วแต่ก่อน อย่างสิ้นเชิง
ตัวอย่างอีกอันหนึ่ง มีอยู่ว่า ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติ ตกไปในฝ่ายรูปธรรมหรือยึดรูปธรรมเป็นหลักแล้ว ทางของพุทธะ ก็เป็นอันตรายเท่ากับทางของมาร โดยเท่ากัน เพราะฉะนั้นพุทธะกับมารย่อมเป็นของเท่ากัน หรือสิ่งเดียวกัน ในเมื่อเป็นเพียงความคิดอย่างคติทวินิยม ที่เกิดขึ้นเพราะการหลงติดในฝ่ายรูปธรรม ข้อนี้อธิบายคล้ายข้อบน เป็นแต่แสดงให้เห็นชัดลงไปว่า คติทวินิยมมีแต่ในฝ่ายที่มองกันอย่างรูปธรรมหรือฝ่ายรูปธรรม ถ้าเข้าถึงตัวความจริงแท้แล้ว พุทธะก็ไม่มี มารก็ไม่มี มีแต่ จิตหนึ่ง หรือ ความว่าง ทั้งจากพุทธะและจากมาร ฉะนั้น ถ้า จิตหนึ่ง คือพุทธะแล้ว มารก็คือ จิตหนึ่ง ด้วยเหมือนกัน ไม่มีอะไรต่างกันเป็นคู่ๆไปได้เลย มีแต่จิตหนึ่ง ธรรมหนึ่ง ธาตุหนึ่ง พุทธะหนึ่ง หรืออะไรๆก็หนึ่ง คืออย่างเดียวเท่านั้น ไปทั้งนั้น ถ้าไม่มีความคิดปรุงแต่งที่หลงผิดเนื่องจากหลงต่อคติทวินิยมแล้ว จะไม่เห็นว่ามีอะไรที่เป็นคู่เลย และเห็นจิตหนึ่งนั้นได้ทันที นี้คือหลักสำคัญของนิกายนี้
สิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่ง หรือจิตเดิมแท้ ก็ตาม หาใช่จิตไม่ เป็นเพียงธรรมชาติเดิมแท้ของสิ่งทั้งปวง ก่อนแต่จะมีสิ่งทั้งปวง แล้วก็ยังคงมีอยู่ตลอดเวลาพร้อมกับสิ่งทั้งปวง ซึ่งเป็นเพียงมายาของจิตหนึ่ง เท่านั้น และจิตหนึ่งนั้นมีความหมายเท่ากับความว่างจากสิ่งทั้งปวงอีกต่อหนึ่งเช่นเดียวกับคลื่น เป็นสิ่งที่ปรากฏออกมาให้เห็นในเมื่อน้ำถูกลมพัดแต่น้ำกับคลื่นหาใช่สิ่งๆเดียวกันไม่ คลื่นเป็นเพียงมายาที่เกิดจากน้ำตัวน้ำแท้ ต้อว่างจากคลื่น ฉันใดก็ฉันนั้น นี้เปรียบน้ำ กับจิตหนึ่ง
คติทวินิยมในที่นี้ มีความหมายอย่างเดียวกันกับความหมายที่ใช้กันทั่วๆไปในลัทธิอื่น หรือปรัชญาสาขาอื่น ข้อนี้หมายถึง การไม่รู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง แล้วหลงไปว่า มีของเป็นคู่ๆ เช่น ดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ บุญ-บาป ดำ-ขาว ชาย-หญิง มี-จน ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น ถ้ามองให้ลึกซึ้งถึงความจริงแล้ว มันเป็นเพียงสังขารธรรมหรือมายา เหมือนกัน หรือเท่ากัน จึงไม่มีอะไรที่จะตรงกันข้ามเป็นคู่ไปได้ เมื่อไม่รู้สึกเป็นคู่ ก็ไม่รู้สึกรักทางหนึ่ง แล้วเกลียดในทางตรงกันข้าม ความคิดปรุงแต่งก็ไม่มี เมื่อความคิดปรุงแต่งไม่มี จิตก็เข้าถึงความว่าง หรือเข้าถึงความเป็นจิตเดิมแท้ หรือจิตหนึ่งนั่นเอง คำนอนนิกายนี้จึงย้ำมากที่สุดเรื่องไม่ให้เกิดความคิดปรุงแต่งไปตามคติทวินิยม
จิตปรุงแต่งนั้น ไม่ใช่จิตแท้ มันเป็นมายาเท่ากับสิ่งทั้งปวง, ความคิดปรุงแต่ง ก็เป็นอย่างเดียวกัน. ถ้าจิตปรุงแต่ง หรือความคิดปรุงแต่งกำลังมีอยู่หรือทำหน้าที่อยู่ จิตแท้หรือจิตหนึ่งนั้น จะไม่ปรากฏเลย เมื่อใดไม่มีความคิดปรุงแต่ง จิตหนึ่ง ก็ปรากฏทันที เรียกอีกอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่าจิตเข้าถึงความว่าง ตัวเองหาย กลายเป็น ความว่าง หรือจิตหนึ่ง ไป. ความคิดปรุงแต่งนั้น เจือด้วยอุปทาน หรือความยึดถือ ในของคู่ๆหรือคติทวินิยมนั่นเอง ถ้าไม่หลงในของคู่ อุปาทานก็ไม่เกิด คือกิเลสตันหาไม่เกิดนั่นเอง สภาพจิตเดิมแท้จะปรากฏออกมาเป็นความว่างจากกิเลสตัณหา หรืออุปาทานโดยประการทั้งปวง
ผู้อ่านที่อ่านถูกวิธี ย่อมทราบได้ว่าตัวเองอ่านถูกวิธี ด้วยการรู้สึกว่าตนได้พบทางลัดที่รุนแรงทางหนึ่ง พบสิ่งที่ติดอยู่หน้าผากอยู่ก่อนแล้วภายหลังที่เที่ยววิ่งหาเสียหลายรอบโลก ก็ไม่เคยพบอยู่นั่นเอง และยังรู้สึกเลยไปถึงว่า การปฏิบัติเพื่อลุถึงสิ่งสูงสุดนั้น คือไม่ต้องปฏิบัติอะไรเลย แม้แต่นิดเดียว เพราะมันมีอยู่ที่หน้าผากแล้ว หรือถึงอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ตลอดเวลานั่นเอง
พุทธทาส
โมกขพลาราม ไชยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น