++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

การกินอาหารเจ

อาหารเจ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่งดรับประทานเนื้อสัตว์ ผู้คนบางวัฒนธรรม และบางท้องถิ่นที่มีเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ
ไม่ว่าจะเป็น เหตุผลทางศาสนา ลัทธิความเชื่อ หรือแม้กระทั้ง งดรับประทานเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ
ซึ่งเป็น กระแสการบริโภคที่กำลังมาแรง ทั้งในรูปแบบของอาหารมังสวิรัติ แมโครไบโอติกส์ หรือชีวจิต

เราสามารถแบ่ง กลุ่มของผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ออกเป็น 3 กลุ่มได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 (Vegan) เป็นกลุ่มที่รับประทาน ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และธัญพืช
แต่ไม่รับประทาน ไข่ นม เนย ชีส และผลิตภัณฑ์จากนมและสัตว์ทุกชนิด

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช นม และผลิตภัณฑ์จากนม แต่ไม่รับประทานไข่

กลุ่มที่ 3 (Lacto & Ovo) กลุ่มที่รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช นม ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนมและไข่

ทั้งสามกลุ่มนี้ งดรับประทานเนื้อสัตว์โดยสิ้นเชิง นอกจากสามกลุ่มนี้แล้ว ก็ยังแบ่งย่อยออกไปอีกหลายประเภท เช่น

กลุ่มที่รับประทานเฉพาะพืชผลไม้สด ๆ ที่ไม่ผ่านความร้อน (Raw food) หรือ
บางกลุ่มก็เป็น พวกที่รับประทานเฉพาะผลไม้สดและแห้ง และธัญพืชต่างๆ (Fruitarian) และ
ยังมีกลุ่มที่รับประทานเนื้อสัตว์จำพวกอาหารทะเลบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็เรียกตัวเองว่า Seafood Vegetarian

ปัจจุบัน มีผู้หันมารับประทานอาหารมังสวิรัติ และอาหารเจ มากขึ้น
ชาวตะวันตกเอง ก็มีผู้รับประทานอาหารประเภทนี้เพิ่มมาก เนื่องจากชาวตะวันตกหันมาให้ความสนใจเรื่องอาหาร สุขภาพ และเรื่องปรัชญาต่าง ๆ บ้างก็เรียกกลุ่มของตัวเองว่า นักธรรมชาตินิยม (Naturalism)


ข้อสันนิษฐานการกินเจ


ข้อสันนิษฐานการกินเจ ในตำนานของจีน

เทศกาลกินเจ เป็นความเชื่อของชาวจีน ที่ถือ วันที่ 1 เดือน 9 ของทุกปี เป็นการเริ่มต้นของการไม่กินเนื้อสัตว์ภายในช่วงเวลา 9-10 วัน ซึ่งในระหว่างนี้ ก็ควรจะถือศีล ทำบุญทำทาน เพื่อเป็นการชำระทั้งร่างกายและจิตใจให้บริสุทธ์

คำว่า “เจ” หรือ “แจ” ในภาษาจีน มีความหมายทางพุทธศาสนาฝ่ายมหานิยานว่า “อุโบสถ”

ส่วน “กินเจ” หมายถึง การรับประทานอาหารก่อนเที่ยง
ถ้ารับประทานอาหารหลังเที่ยง จะเรียกกินเจไม่ได้ เนื่องจากถืออุโบสถของชาวจีน ซึ่งไม่กินเนื้อสัตว์

จึงเพี้ยนไปว่า การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นการกินเจ ทั้งที่การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นการ “กินสู่”
เรื่องการกินเจนี้ คนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นพิธีที่เกี่ยวข้องด้วยพุทธศาสนา

แต่ความเป็นจริง การบูชาเป๊ง “กษัตริย์เป๊ง” เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้อง ซึ่งสิ้นพระชนม์โดยทรงทำ อัตวินิบาตกรรมในขณะเสด็จไต้หวันโดยทางเรือ เมื่อมีพระชนมายุ 9 พรรษา

พิธีบูชา เพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้องนี้ มีแต่ในเฉพาะในมณฑณฮกเกี้ยนเท่านั้น ซึ่งเป็นดินแดนชิ้นสุดท้ายของราชวงศ์ซ้อง
โดยชาวฮกเกี้ยน ได้จัดทำพิธีดังกล่าวนี้ขึ้น ด้วยอาศัยศาสนาบังหน้าการเมือง ด้วยเหตุผล เกรงกลัวรางวงศ์หงวน

ประเพณีกินเจ มีการเผยแพร่สู่เมืองไทยโดยชาวจีนแต้จิ๋ว ที่อพยพจากฮกเกี้ยน นำมาเผยแพร่อีกทอดหนึ่ง
การทำพิธีดังกล่าว ใช้สีเหลืองทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งถือเป็น สีของพระเจ้าแผ่นดิน

ฉะนั้น สิ่งที่เกี่ยวเนื่องจากการกินเจ จึงมักใช้สีเหลือง แม้กระทั้ง ธงที่ปักตามร้านขายอาหารเจ เป็นต้น


หลักในการปรุง และรับประทานอาหารเจที่ถูกต้อง

ชาวต่างประเทศจำนวนมากที่เดินทางไปประเทศจีน
มักจะพากันแปลกประหลาดใจ เมื่อได้พบเห็นภัตตาคาร ซึ่งบริการ "ปรุงอาหารตามใบสั่งแพทย์"

มูลเหตุที่สร้าง ความฉงนสงสัยให้แก่บรรดาผู้มาเยือน ก็เนื่องด้วย ทางภัตตาคารจะบริการอาหาร
ให้แต่เฉพาะผู้ที่มี "ใบสั่งอาหารของแพทย์" เท่านั้น

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่เคยทราบเลยว่า ลูกค้าที่เข้าไปในภัตตาคารดังกล่าว
เป็นคนไข้ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์และอยู่ในระหว่าง "การบำบัดโรค ด้วยอาหารตามหลักเวชศาสตร์โบราณ"

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่แตกต่างไปจากการรักษาโรค โดยให้ผู้ป่วย "กินยา ตามใบสั่ง"
ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์แผนปัจจุบันชาวตะวันตกนิยมปฏิบัติ

แต่ในหมู่ชนชาวจีน มีคำกล่าวว่า "อาหารและยา มาจากแหล่งเดียวกัน" คำพูดนี้ได้บ่งชี้ว่า อาหาร ก็คือยา นั่นเอง

หลักการแพทย์ของจีน มุ่งเน้นไปที่การป้องกัน ไม่ให้ร่ายกายเจ็บป่วย โดยวิธีดูแลรักษาสุขภาพให้ดี
ไม่ใช่เพียงแต่ บำบัดอาการ เมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นแล้วเท่านั้น

แพทย์จีนกล่าวว่า "หัวใจของการมีสุขภาพที่ดี คือ การกินที่ถูกต้อง
เพราะอาหารที่คนเรารับประทานเข้าไปแต่ละวัน มีผลต่อร่างกายและจิตใจอย่างมาก"

"อาหารเจ" เป็นอาหารที่ปรุง โดยปราศจากเนื้อสัตว์ รวมทั้งไม่มีส่วนประกอบอื่นใด นำมาจากสัตว์ทุกประเภท และที่สำคัญ อาหารเจ งดเว้นการปรุง

การเสพพืชผักฉุน 5 ประเภทอันได้แก่
1. กระเทียม (หมายรวมไปถึง หัวกระเทียม ต้นกระเทียม)

2. หัวหอม (หมายรวมไปถึง ต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่)

3. หลักเกียว (คือกระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียม แต่มีขนาดเล็กและยาวกว่า

ในประเทศไทย ไม่พบว่า ปลูกแพร่หลาย)

4. กุ้ยฉ่าย (ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กกว่า)

5. ใบยาสูบ (บุหรี่ ยาเส้น ของเสพติดมึนเมา)

ผักดังกล่าวเหล่านี้ เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีพิษที่ทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย เป็นมูลเหตุให้ อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ

สำหรับผู้ปฏิบัติสมาธิฝึกจิต ไม่ควรรับประทานเป็นอย่างยิ่ง
เพราะผักดังกล่าว มีฤทธิ์กระตุ้นจิตใจอารมณ์ ให้เร่าร้อนใจคอหงุดหงิดง่าย และยังมีผลทำให้พลังธาตุในกายรวมตัวกันได้ยาก

เพราะฉะนั้น โดยหลักเกณฑ์ที่มีมาแต่ครั้ง บรรพกาลกล่าวได้ว่า
"อาหารเจ" หรือ "อาหารของคนกินเจ"
จึงเป็นอาหารที่ปรุง และรับประทานตามหลักเวชศาสตร์ และเภสัชศาสตร์โบราณของจีน นั่นเอง

ปัญหาที่มีผู้ถามกันมาก คือ กระเทียม ซึ่งทางการแพทย์ และเภสัชค้นพบว่า
มีสารที่สามารถละลายไขมันในเส้นโลหิต (คลอเลสเตอรอล) จึงใช้รับประทานเป็นยาได้ เช่น

ผู้ป่วยที่เป็น โรคเส้นเลือดโลหิตเลี้ยงหัวใจตีบ หรืออุดตัน เป็นต้น

ในเรื่องนี้ เป็นความจริงทีเดียว แม้ทางการแพทย์แผนโบราณของจีน ก็ยืนยันตรงกันว่า กระเทียมเป็น สมุนไพรรักษาโรคได้

"แม้ว่ากระเทียมจะเป็นยาดี แต่เนื่องจากมีความระคายเคืองสูง ผู้ที่เป็นโรคกะเพาะหรือกะเพาะอาหารเป็นแผล
และโรคตับอย่ากินมาก" (จากหนังสือ อาหารเป็นยาได้ เล่ม 2 โดย วีรชัย มาศฉมาดล)

แต่ในกรณีของคนปกติทั่ว ๆ ไปที่ร่างกายไม่ได้ป่วยเป็นโรคใด ๆ เลย ทำไมจึงต้องรับประทานยาเข้าไปทุก ๆ วัน
ฉะนั้น จึงเข้าทำนองเดียวกันกับ คนที่ไม่ได้ป่วยเป็นไข้หวัด แต่ก็ยังคงกินยาแก้หวัดเข้าไปเป็นประจำทุก ๆ วัน
ผลก็คือ แทนที่จะเป็นผลดี กลับกลายเป็นผลร้าย ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายเสียอีก

ขอยกตัวอย่างในกรณีของผักฉุนอีกชนิดหนึ่งที่คนกินเจไม่รับประทาน ได้แก่ หอมแดง
ซึ่งกล่าวไว้ใน ตำราสมุนไพรที่นักเภสัชศาสตร์ปัจจุบัน พบว่า มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคโดยวิธี

"นำหอมแดงหัวสด ๆ หนัก 15-30 กรัม มาต้มแล้วดื่ม จะช่วยขับพยาธิ ขับลม แก้ท้องอืดแน่น ปวดประจำเดือน
และอาการบวมน้ำ" แต่ในท้าย ก็ได้ระบุพิษร้ายของมันไว้ด้วยว่า

"ในกรณีที่บริโภคอยู่เป็นประจำ หรือกินมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการหลงลืมง่าย ประสาทเสีย มีกลิ่นตัว ฟันเสีย เลือดน้อย
และนัยน์ตาฝ้ามัว" (จากหนังสือ พืชสมุนไพรใช้เป็นยา เล่ม 8โดย ภูมิพิชญ์ สุชาวรรณ)

เพราะฉะนั้น เราจึงควรศึกษาให้ถี่ถ้วน ลึกซึ้ง ถึงคุณและโทษของผักฉุนทั้ง 5 ให้รอบคอบเสียก่อน

ไม่เป็นการฉลาดเลย ที่จะรับประทานสิ่งใดก็ตาม โดยมองเห็นแต่ด้านดี จนไม่ใส่ใจในโทษของมันบ้างเลย

ผักฉุนทั้ง 5 ชนิด ที่คนกินเจไม่บริโภค ได้แก่
1. กระเทียม (GARLIC)
2. หัวหอม (ONION)
3. หลักเกียว(หัวกระเทียมโทนของจีน) ไม่พบว่า มีการปลูกแพร่หลายในประเทศไทย
4. กุ้ยฉ่าย (CHINESE CHIVE)
5 ใบยาสูบ (TOBACCO)

ถั่วทั้ง 5 สี ที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่

1 ถั่วแดง (RED BEANS)
2 ถั่วดำ (BLACK BEANS)
3 ถั่วเหลือง (SOY BEANS)
4 ถั่วเขียว (GREEN BEANS)
5 ถั่วขาว (WHITE BEANS)

"อาหารมังสวิรัติ" แตกต่างจาก "อาหารเจ" อย่างไร ?

อาหารมังสวิรัติ หมายถึง อาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ทุกประเภท แต่ยังคงใช้ผักทุกประเภท มาปรุงอาหารรับประทาน

ในส่วนของ "อาหารเจ" เป็นอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ทุกประเภทเช่นกัน

แต่อาหารเจ จะไม่ใช้ผักฉุนทั้ง 5 ประเภท มาปรุงลงในอาหารโดยเด็ดขาด

เพราะฉะนั้น ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอยู่แล้ว หากจะทดลองปรุงและรับประทานอาหารเจดูบ้าง
ก็เพียงแต่ ไม่บริโภคผักฉุนทั้ง 5 ประเภท ก็เรียกว่าเป็น "อาหารเจ" และ "กินเจ" ได้แล้วนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น