++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555

พระเจ้าปายาสิผู้มีทิฏฐิว่าตายแล้วสูญ

พระเจ้าปายาสิผู้มีทิฏฐิว่าตายแล้วสูญ
พระเจ้าปายาสิ เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองเสตัพยะ ตั้งอยู่ในแคว้นโกศล มีประชาชนมาก มีความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์มาก แต่พระเจ้าปายาสิทรงมีทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่แตกต่างไปจากความจริงและความเชื่อของคนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นอยู่อย่างหนึ่งนั่นก็คือ ท่านเชื่ออยู่อย่างเดียวว่า คนเราตายแล้วสูญ บุญก็ไม่มี บาปก็ไม่มี ชีวิตมีแต่ในโลกนี้ ขึ้นชื่อว่าตายไปแล้วจะไม่มีในโลกหน้า ก็คือสรุปว่า ใครจะว่าอย่างไรฉันไม่รู้ ฉันรู้แต่ว่าตายแล้วจบเรื่องก็พอกัน
ดังนั้น ไม่ว่าในขณะปัจจุบันท่านจะทำอะไร หรือใครจะว่าอย่างไรท่านไม่รู้ ท่านรู้แต่ว่าท่านจะใช้ชีวิตในชาติปัจจุบันให้มีความสุขเท่านั้น

ต่อมาวันหนึ่ง ได้มีคณะสงฆ์ ๕๐๐ รูป นำโดยพระมหาเถระกุมารกัสสปะ ได้เดินทางจาริกผ่านไปยังเสตัพยะนคร ประชาชนเป็นอันมากที่เคยได้ยินกิตติศัพท์ของพระกุมารกัสสปะเถระเจ้าว่า ท่านมีความฉลาดหลักแหลม มีปัญญาเป็นเลิศ แสดงธรรมได้วิจิตร มีปฏิภาณดี และมีจริยวัตรอันงดงาม ควรแก่การเข้าไปสักการะบูชา ทำบุญ และเข้าไปฟังธรรม

เมื่อชาวบ้านคิดได้อย่างนั้น จึงพากันเดินทางไปในที่ ๆ พระกุมารกัสสปะเถระเจ้าพักอยู่ด้วยกันกับหมู่พระภิกษุสงฆ์อีก ๕๐๐ รูป เป็นละแวกป่าทางเหนือของเสตัพยะนคร เมื่อพระเจ้าปายาสิทรงทอดพระเนตรเห็นเข้า จึงได้ตรัสถามกับอำมาตย์ว่า ประชาชนเหล่านี้จะเดินทางไปที่ใด อำมาตย์ก็กราบทูลความเป็นไปให้ทรงทราบว่า มหาชนทั้งหลายเหล่านั้นจะไปนมัสการ ฟังธรรมจากพระกุมารกัสสปะ

พระเจ้าปายาสิจึงตรัสบอกให้ราชบุรุษ ไปกราบเรียนกับพระมหาเถระและประชาชนทั้งหลายเหล่านั้นว่า ให้รอก่อน พระองค์จะเสด็จไป พร้อมทั้งให้ราชบุรุษแจ้งกับพระมหาเถระว่า พระองค์จะเสด็จไปสนทนาด้วย

เมื่อดำเนินการดังนั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปเพื่อพร้อมทั้งข้าราชบริพารเป็นอันมาก

ครั้นแล้ว เมื่อพระเจ้าปายาสิเสด็จถึงที่ประทับซึ่งจัดไว้เฉพาะพระองค์ในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อได้สนทนาปราศรัยกับพระเถระเจ้าพอให้ระลึกถึงกันแล้ว จึงได้มีพระราชดำรัสกับพระมหาเถระเจ้าว่า

พระเจ้าปายาสิ: กราบนมัสการพระคุณเจ้า โยมเชื่อว่า วิญญาณไม่มี บุญ บาป และผลของบุญและบาปอันเป็นวิบากนั้นไม่มี โลกหน้าหลังจากตายไปจากโลกนี้ไม่มี โลกอื่นไม่มี

พระกุมารกัสสปะ: ก็มหาบพิตรทรงทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์หรือไม่?
พระเจ้าปายาสิ: เห็น พระคุณเจ้า

พระกุมารกัสสปะ: แล้วดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นั้นอยู่ในโลกนี้หรือว่าโลกอื่น?
พระเจ้าปายาสิ: โลกอื่นสิ พระคุณเจ้า

พระกุมารกัสสปะ: ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าพระจันทร์และพระอาทิตย์ไม่มี ?
พระเจ้าปายาสิ: มีสิพระคุณเจ้า แต่ไม่มีในโลกนี้ มีในโลกอื่น(หมายถึงไม่ใช่ดาวดวงเดียวกันกับโลก)

พระกุมารกัสสปะ: ดังนั้น เมื่อพระจันทร์มี พระอาทิตย์มีในโลกอื่น สัตว์ที่ตายแล้วไปเสวยกรรมในโลกอื่น ๆ ก็ต้องมีอยู่มหาบพิตร

พระเจ้าปายาสิ: พระคุณเจ้า โยมยังไม่เชื่อ!
พระกุมารกัสสปะ: โยมยังไม่เชื่อด้วยเหตุใด?

พระเจ้าปายาสิ: ก็ในสมัยก่อน ๆ หน้านี้ เวลาที่ญาติพี่น้องคนสนิทมิตรสหาย คนรู้จัก อำมาตย์ ข้าทาสของโยมตายไป ก่อนจะตาย เป็นผู้มีกรรมทำบาปมามาก โยมก็ไปบอกแก่เขาว่า ถ้าเขาลงไปในนรก นรกนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร ก็ให้กลับมาบอกแก่โยมด้วย ถ้ากลับมาบอก จึงจะค่อยน่าเชื่อว่า นรกมีจริง แต่ก็ไม่เห็นมีผู้ใดกลับมาบอกสักคน ดังนั้น โยมจึงพูดได้ว่า โลกหน้าไม่มี บุญ บาปไม่มี
พระกุมารกัสสปะ: ถ้าอาตมาจะย้อนถามมหาบพิตรเล่า ว่า เมื่อราชบุรุษจับโจรได้ แล้วนำตัวมาถวายมหาบพิตร ทรงเห็นว่าโจรผู้นั้นมีความผิดชั่วหยาบ มหาบพิตรจะจัดการเช่นไร ?

พระเจ้าปายาสิ: ก็ต้องลงโทษ เฆี่ยนตี แล้วสั่งให้เพชรฆาตนำไปประหารที่ลานในทันที พระคุณเจ้า
พระกุมารกัสสปะ: แล้วการที่นักโทษจะอ้อนวอนเพชรฆาต ให้ละโทษประหารไว้ก่อน เพื่อขอกลับไปบอกแก่ญาติสนิทมิตรสหายมีความเป็นไปได้หรือไม่มหาบพิตร?

พระเจ้าปายาสิ: ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย พระคุณเจ้า ดีไม่ดี เพชรฆาตจะตัดคอให้ตกลงไปทั้ง ๆ ที่กำลังร้องขออยู่นั่นเอง
พระกุมารกัสสปะ: ก็ดูก่อนมหาบพิตร แม้โจรผู้เป็นมนุษย์ยังไม่สามารถที่จะร้องขอต่อเพชรฆาตผู้เป็นมนุษย์ด้วยกันว่า ขอข้าพเจ้าได้กลับไปบอกพี่น้องก่อน แล้วประสาอะไรกับนายนิริยบาล ที่จะให้การผ่อนผันแก่มนุษย์ผู้มีบาปว่า ขอข้าพเจ้าได้กลับไปบอกพระเจ้าปายาสิก่อนว่านรกมี ดังนี้ ขึ้นชื่อว่าโลกหน้ามี บาปมี นรกมี แต่พระองค์ไม่ทรงทราบ เพราะผู้ที่ไปนรก กลับมาบอกไม่ได้

พระเจ้าปายาสิ: พระคุณเจ้า โยมก็ยังไม่เชื่อ!
พระกุมารกัสสปะ: โยมยังไม่เชื่อด้วยเหตุใด?

พระเจ้าปายาสิ: ก็ในสมัยก่อน ๆ หน้านี้ เวลาที่ญาติพี่น้องคนสนิทมิตรสหาย คนรู้จัก อำมาตย์ ข้าทาสของโยมตายไป ก่อนจะตาย เป็นผู้มีกรรมทำบุญไว้มาก โยมก็ไปบอกแก่เขาว่า ถ้าเขาขึ้นไปบนโลกสวรรค์ สวรรค์นั้นมีสภาพเป็นอย่างไร ก็ให้กลับมาบอกแก่โยมด้วย ถ้ากลับมาบอก จึงจะค่อยน่าเชื่อว่า สวรรค์มีจริง แต่ก็ไม่เห็นมีผู้ใดกลับมาบอกสักคน ดังนั้น โยมจึงพูดได้ว่า โลกหน้าไม่มี บุญ บาปไม่มี
พระกุมารกัสสปะ: ถ้าอาตมาจะย้อนถามมหาบพิตรเล่าว่า หากมหาบพิตรพบบุรุษผู้หนึ่งจมอยู่ในหลุมคูถ มหาบพิตรสั่งให้ราชบุรุษยกบุคคลนั้นขึ้นมา ครั้นแล้วมหาบพิตรก็สั่งว่า จงนำบุรุษผู้นั้นไปล้างคราบไคล เสร็จแล้วก็ลูบไล้ด้วยของหอม พร้อมประดับประดาด้วยแก้วแหวนเงินทอง ให้สวมผ้าผ่อนท่อนสไบอันงามประณีตเป็นอย่างดี แล้วจึงเชิญบุรุษนั้นให้เสวยสุขบนปราสาทอันเปี่ยมไปแล้วด้วยกามคุณทั้ง ๕ ประการ เมื่อบุรุษนั้นได้สมบัติอย่างนี้ อาตมภาพจะถามกลับมหาบพิตรว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่บุรุษคนนั้น จะกลับไปกระโดดลงไปในหลุมคูถตามเดิม ?

พระเจ้าปายาสิ: คงไม่มีใครทำอย่างนั้นแน่พระคุณเจ้า
พระกุมารกัสสปะ: นั่นเพราะเหตุใด ?

พระเจ้าปายาสิ: ก็เพราะหลุมคูถนั้นเต็มไปด้วยกลิ่นเน่าเหม็น เป็นที่รวมของสิ่งโสโครก บุรุษผู้สะอาดแล้ว มีความสุขแล้ว คงไม่ปรารถนาที่จะกระโดดลงไปในหลุมคูถนั้นอีก
พระกุมารกัสสปะ: ดูก่อนมหาบพิตร ก็กายมนุษย์นี้เต็มไปด้วยความสกปรก เต็มไปด้วยมูตร ด้วยคูถ ก็โลกมนุษย์นี้ เต็มไปด้วยความโสโครก เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล ผู้ที่มีความดี คือมีบุญมาก เมื่อเสวยสุขอันเป็นทิพยสมบัติในเทวโลก ย่อมไม่ปรารถนาที่จะกลับมาสู่ที่เน่าเหม็นอย่างโลกมนุษย์นี้อีก ดั่งเช่นที่มหาบพิตรกล่าวมา

พระเจ้าปายาสิ: พระคุณเจ้า โยมก็ยังไม่เชื่อ!
พระกุมารกัสสปะ: โยมยังไม่เชื่อด้วยเหตุใด ?

พระเจ้าปายาสิ: ก็แล้วทำไม เมื่อเสวยความสุขแล้ว เขาเหล่านั้นจึงไม่กลับมาบอกข้าพเจ้าบ้าง คงไม่มีใครที่จะไปห้ามบุคคลเหล่านั้นได้แล้วกระมัง พระคุณเจ้า ?
พระกุมารกัสสปะ: ดูก่อนมหาบพิตร ก็ ๑๐๐ ปีมนุษย์นั้น เป็น ๑ วันของสวรรค์ ๓๐ วันก็เป็นหนึ่งเดือน ๑๒ เดือนก็เป็นหนึ่งปี พันปีทิพย์นั้นจึงเป็นอายุของเทวดาและนางฟ้าทั้งหลาย ผู้ที่ทำกาละตายไปแล้วไปเกิดบนสรวงสวรรค์ ต่างเพลิดเพลินในความสุขแล้วคิดอย่างนี้ว่า ขอให้เราเสวยสุขบนสวรรค์นี้ให้เต็มอิ่มสัก ๒-๓ วันก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาบอก พอกลับมาก็ปรากฏว่าเวลาของโลกมนุษย์ผ่านไป ๒-๓๐๐ ปีแล้ว คนที่จะกลับมาบอกให้ฟังก็ตายไปหมด คนที่รอฟังอย่างมหาบพิตรก็คงจะตายไปแล้ว

พระเจ้าปายาสิ: พระคุณเจ้า โยมก็ยังไม่เชื่อ!
พระกุมารกัสสปะ: โยมยังไม่เชื่อด้วยเหตุใด ?

พระเจ้าปายาสิ: ก็พระคุณเจ้ากล่าวว่าเทวดาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วใครล่ะที่กลับมาบอกพระคุณเจ้า ?
พระกุมารกัสสปะ: ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์ก็เปรียบดั่งคนตาบอดมาตั้งแต่กำเนิด ไม่สามารถที่จะเห็นรูป แสง สี พระจันทร์ พระอาทิตย์ใด ๆ ได้ หากคนตาบอดมองไม่เห็นว่ารูป แสง สี พระจันทร์ พระอาทิตย์ว่าเป็นอย่างไร แล้วก็ประกาศว่า รูป แสง สี พระจันทร์ พระอาทิตย์ ไม่มี อย่างนี้ เรียกได้ว่าบุคคลผู้นั้นกล่าวถูกต้องหรือไม่มหาบพิตร ?

พระเจ้าปายาสิ: เป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้องแน่พระคุณเจ้า ก็เพราะรูป แสง สี พระจันทร์ พระอาทิตย์มี แต่เพราะว่าเขามองไม่เห็น เมื่อมองไม่เห็นจะบอกว่าทุกอย่างไม่มี ในข้อนี้ถือได้ว่าเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง
พระกุมารกัสสปะ: ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพจึงกล่าวว่ามหาบพิตรเปรียบดั่งบุคคลที่ตาบอดมาแต่กำเนิด อันโลกหน้ามิใช่สถานที่ที่มหาบพิตรจะใช้จักษุแห่งกายนี้ในการมองเห็นได้ สมณพราหมณ์พวกใด เสพเสนาสนะอันสงัด เป็นผู้ไม่ประมาท ปรารภความเพียร ยังให้ทิพจักษุอันบริสุทธิ์นั้นให้เกิดขึ้น ล่วงจักษุของมนุษย์แล้ว สมณะเหล่านั้นย่อมเห็นทั้งโลกนี้ และโลกหน้า ทั้งเหล่าสัตว์ที่เกิดขึ้นในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดไปจนถึงวิบากทั้งหลาย อันสิ่งนี้มหาบพิตรหาได้มีไม่ อาตมาภาพจึงกล่าวได้ว่า มหาบพิตรเปรียบไปก็ประหนึ่งคนตาบอดมาแต่กำเนิด ดังนี้โลกหน้าจึงมี ผลแห่งบุญและบาปจึงมี ถวายพระพร

ตัวอักษรย่อ
ป. หมายถึงพระเจ้าปายาสิ
ก. หมายถึงพระกุมารกัสสปะ

ป.: ถึงแม้พระคุณเจ้ากล่าวอย่างนั้นก็มีเหตุผลสมควรอยู่ แต่โยมก็ยังไม่เชื่อ!
ก.: ก็เหตุที่ทำให้มหาบพิตรไม่เชื่อยังมีอยู่หรืออย่างไร?

ป.: มีอยู่พระคุณเจ้า
ก.: มหาบพิตรลองกล่าวให้อาตมาฟัง

ป.: ก็ถ้าในเมื่อผู้ที่ประพฤติแต่ความดี มีบุญมาก รู้ว่าเมื่อตนเองแตกกายตายลงไป จะได้ไปสู่สุคคติโลกสวรรค์ เสวยทิพยสมบัติอันเปี่ยมไปด้วยความสุขในกามคุณทั้ง ๕ ประการ แล้วเหตุไฉนเลย บุคคลเหล่านั้นจึงไม่ฆ่าตัวตายไปเสีย เพื่อที่ตนจะได้พ้นจากความทุกข์ของโลกมนุษย์ ไปเสวยความสุขบนสรวงสวรรค์
ก.: สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ย่อมไม่ชิงสุกก่อนห่าม ชีวิตของท่านยิ่งอยู่นานก็ยิ่งได้บุญมาก และก่อให้เกิดบุญแก่ผู้อื่นด้วย ท่านอยู่เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก

ป.แต่โยมก็ยังไม่เชื่อ! เพราะว่าโยมเคยให้เอาโจรผู้ที่จะต้องถูกประหารชีวิตมาทดลองโดยให้เอาใส่หม้อทั้งเป็น เอาหนังรัด เอาดินเหนียวพอก แล้วตั้งไฟ พอรู้ว่าเขาคงตายแล้ว ก็กะเทาะเอาดินออก พอแก้ดูออกมาก็ไม่เห็นชีวะ(คือ จิตหรืออทิสสมานกาย)ของเขาเลย โยมจึงเชื่อว่าตายแล้วสูญ

ก. ดูก่อนมหาบพิตร ก็แม้คนนอนหลับในเวลากลางวัน ฝันถึงเหตุการณ์และสถานที่ต่าง ๆ แม้มีคนอื่นนอนข้าง ๆ หรือมีคนอื่น ๆ เฝ้าอยู่ ผู้หลับฝันถึงอะไรต่าง ๆ ก็หามีใครเห็นชีวะหรือวิญญาณของเขาไม่ แม้คนเป็น ๆ อยู่ยังไม่เห็น จะเห็นวิญญาณของคนที่ตายไปแล้วได้อย่างไร?


ป. โยมก็ยังไม่เชื่อ! เพราะว่าโยมเคยจับโจรได้แล้ว ลองให้ชั่งนํ้าหนักดู เมื่อรู้นํ้าหนักแล้วให้เอาเชือกรัดคอจนตาย แล้วให้ชั่งนํ้าหนักดูอีก แต่เมื่อตายแล้วนํ้าหนักกลับมากกว่า แสดงว่าไม่มีอะไรออกจากตัวเขาไปเลย โยมจึงเชื่อว่าตายแล้วสูญ

ก. ดูก่อนมหาบพิตร เหล็กที่ร้อนนํ้าหนักเบากว่าเหล็กที่เย็น ฉันใด ร่างกายของมนุษย์เมื่อยังมีไออุ่น ยังมีอายุ ยังมีวิญญาณ ก็เบากว่า อ่อนกว่าเมื่อไม่มีอายุ ไม่มีไออุ่น และไม่มีวิญญาณ ฉันนั้น ที่มหาบพิตรหาชีวะไม่พบก็เพราะมหาบพิตรทรงแสวงหาโดยวิธีอันไม่ถูกต้อง


ป. โยมก็ยังไม่เชื่อ! เพราะว่าโยมเคยให้ฆ่าโจรโดยมิให้ผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูกชอกชํ้า เมื่อเขาจวนตายได้ผลักให้นอนหงาย นอนตะแคง ควํ่าหน้า ฯลฯ เพื่อว่าจะได้เห็นชีวะของเขาออกจากร่างบ้าง ก็ไม่เห็น โยมจึงเชื่อว่าตายแล้วสูญ

ก. ดูก่อนมหาบพิตร ประดุจชายคนหนึ่ง เป่าสังข์เสียงได้ไพเราะ ชาวบ้านจึงมามุงดูกันมาก เขาก็หยุดเป่าโดยวางสังข์เอาไว้กับพื้น ชาวบ้านถามว่านั่นเป็นเสียงอะไร เขาจึงบอกว่าเป็นเสียงสังข์ ชาวบ้านจึงจับสังข์ให้หงายแล้วบอกให้เปล่งเสียง สังข์ก็เงียบ จับสังข์ให้ควํ่า ให้ตะแคง เอาไม้เคาะ เอามือทุบ ทำอย่างไร ๆ สังข์ก็ไม่เปล่งเสียง เพราะแสวงหาเสียงสังข์ด้วยวิธีอันไม่ถูกต้อง ข้อนี้มีอุปมาฉันใด มหาบพิตรก็เหมือนชาวบ้านที่ไม่รู้วิธีให้สังข์เปล่งเสียง ฉันนั้น ที่มหาบพิตรหาชีวะไม่พบก็เพราะมหาบพิตรทรงแสวงหาโดยวิธีอันไม่ถูกต้อง


ป. โยมก็ยังไม่เชื่อ! เพราะว่าโยมเคยให้เชือดผิวหนัง เชือดเนื้อ ตัดเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูกของโจร ออกมาดูเพื่อจะหาวิญญาณ แต่ก็หาพบสิ่งใดไม่ โยมจึงเชื่อว่าตายแล้วสูญ

ก. ดูก่อนมหาบพิตร เหมือนเด็กผู้หนึ่งต้องการก่อกองไฟ จึงนำไม้สีไฟออกมาผ่าหวังว่าจะพบประกายไฟอยู่ในไม้สีไฟอันนั้น ผ่าแล้วไม่พบจึงหั่นออกเป็นซีก ๆ หั่นเป็นซีก ๆ แล้วไม่พบ จึงทำการสับให้ละเอียด สับให้ละเอียดก็ยังไม่พบ จึงนำมาโขลกให้เป็นผุยผง โขลกให้เป็นผุยผงแล้วก็โยนไปในที่ ๆ มีลมแรง กระทำอย่างใดก็หาได้เกิดประกายไฟไม่ เพราะหาประกายไฟจากไม้สีไฟไม่ถูกวิธี ข้อนี้มีอุปมาฉันใด การกระทำของมหาบพิตร ก็เหมือนเด็กที่ใช้ไม้สีไฟไม่เป็น ฉันนั้น ที่มหาบพิตรหาชีวะไม่พบก็เพราะมหาบพิตรทรงแสวงหาโดยวิธีอันไม่ถูกต้อง

พระเจ้าปายาสิจำนนด้วยเหตุผลของพระกุมารกัสสป ไม่อาจหาอะไรมาแย้งได้อีก แต่ก็ยังตรัสกับพระกุมารกัสสปเถระว่า

ป. ใคร ๆ ต่างก็ทราบ พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือพระราชาอื่น ๆ ก็ทรงทราบ ว่าโยมมีความเห็นว่าโลกหน้าไม่มี ตายแล้วสูญ ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี เพราะฉะนั้น โยมคงจะต้องถือทิฐิอันนี้ต่อไป ถ้าละทิฐิอันนี้เสีย คนทั้งหลายก็จะเยาะเย้ยโยมว่าเป็นคนเขลา

พระกุมารกัสสปะขอร้องให้พระเจ้าปายาสิ ทรงละทิฐินั้นเสีย เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่ใครเลย นอกจากพระองค์เองจะต้องประสบความเสื่อมแล้ว ยังทำให้ผู้ดำเนินตามประสบความพินาศด้วย ได้นำอุปมา ๔ ข้อมาชี้แจงถวาย ดังนี้

๑.ประดุจนายกองเกวียน ๒ คน คุมเกวียนคนละ ๕๐๐ เล่มไปค้าขาย คิดว่าถ้าไปพร้อมกันจะลำบากด้วยหญ้าและนํ้า เป็นต้น จึงตกลงไปคนละคราว นายกองเกวียนที่ไปก่อน ถูกยักษ์แปลงหลอกให้ทิ้งหญ้าและนํ้าเสียกลางทาง บอกว่าเพื่อให้เกวียนเบาและเดินทางได้เร็ว โคก็จะได้ไม่หนัก บอกว่าทางข้างหน้ามีหญ้าและนํ้าสมบูรณ์ มีฝนตกชุก นายกองเกวียนกองแรกเชื่อตามยักษ์แปลงตนนั้น จึงสั่งให้ทิ้งหญ้าและนํ้าที่มีทั้งหมด แต่เดินทางไปเท่าไหร่ก็ไม่พบหญ้าและนํ้า จึงพากันตายหมด ตกเป็นเหยื่อของยักษ์ นี่ก็เพราะผู้นําโง่เขลา พาลูกน้องไปพินาศ ส่วนนายกองเกวียนคนที่ไปทีหลัง ไม่เชื่อคำหลอกลวง จึงปลอดภัย เปรียบเสมือนพระเจ้าปายาสิที่ละทิ้งความเห็นถูกในปัจจุบัน จึงพากันไปพบความวินาศต่อไปในภายหน้า

๒.ประดุจชายคนหนึ่งเลี้ยงหมู วันหนึ่งเดินทางไปที่หมู่บ้านอื่น เห็นขี้หมูแห้งเกลื่อนกลาดอยู่ที่ลานบ้าน จึงคิดว่า นี่คืออาหารหมูของเรา จึงเอาผ้าห่อขี้หมูแล้วทูนเหนือหัวเดินกลับบ้าน ระหว่างทางเกิดฝนตก นํ้าขี้หมูไหลลงมาเปื้อนเปรอะไปทั่วตัว คนทั้งหลายเห็นว่า ชายคนนี้บ้า แบกขี้หมูอันสกปรกไว้เหนือศีรษะ เขากลับว่าคนอื่นบ้าที่ไม่รู้จักอาหารหมูอันมีค่า เปรียบเสมือนพระเจ้าปายาสิที่ยังยกเอาความเห็นผิดเอาไว้ ผู้ใดมาเตือนกลับว่ากล่าวบุคคลผู้นั้น

๓.ประดุจชาย ๒ คนเล่นสกากัน คนหนึ่งชอบเอาสกาอมไว้ในปากบ่อย ๆ เป็นทำนองขี้โกง ต่อมาอีกคนหนึ่งขอลูกสกามาไว้ที่ตน แอบเอาสกาทายาพิษ เมื่อเล่นกันอีก คนที่ชอบอมสกาก็ถึงตายเพราะยาพิษอันนั้นเอง เปรียบเสมือนพระเจ้าปายาสิที่อมความเห็นผิดเอาไว้ สุดท้ายก็จะต้องตายด้วยความเห็นผิดของตนเอง

๔.ประดุจชาย ๒ คน เดินทางออกจากบ้านไปที่อื่น ได้พบสิ่งของต่าง ๆ มากมาย เช่น เชือกป่าน ด้าย ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เหล็ก โลหะ ดีบุก ตะกั่ว เงิน และทอง โดยลำดับ คนหนึ่งได้เชือกป่านแล้วพอใจ เมื่อพบของที่ดีกว่าก็ไม่ยอมทิ้งป่านลง เพราะถือว่าผูกมัดไว้ดีแล้ว ถือมานานแล้ว ส่วนอีกคนหนึ่ง เมื่อเห็นสิ่งที่ดีกว่าก็ทิ้งของเก่า ถือเอาของใหม่ที่ดีกว่า มีราคามากกว่า เมื่อกลับถึงบ้าน คนหนึ่งได้แต่ป่านมา ไม่เป็นที่ชื่นชมยินดีของบุตรและภรรยา ส่วนอีกคนหนึ่งได้ทองไปเป็นอันมาก เป็นที่ชื่นชมยินดีของบุตรและภรรยา เปรียบเสมือนพระเจ้าปายาสิที่ยังยึดแต่ความเห็นผิดเป็นทิฐิเก่า ไม่ยอมสละเสียซึ่งทิฐินั้น ย่อมไม่เป็นที่ยินดีแก่บุคคลทั่วไป

ในที่สุดพระเจ้าปายาสิก็ยอมละทิฐิที่ไม่ดีเสีย เลื่อมใสพระกุมารกัสสป ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นอุบาสกตลอดชีวิต ได้ตรัสถามถึงวิธีบูชายัญ พระกุมารกัสสปแนะนำว่า ถ้าจะบูชายัญ อย่าใช้ชีวิตสัตว์บูชาเพราะเป็นบาปเป็นโทษ เหมือนหว่านข้าวที่ไม่ดีลงในนาที่ไม่ดีและฝนก็ไม่ตก ควรบูชายัญด้วยการบริจาคทานให้ผู้รับที่มีศีลธรรม ย่อมจะมีผลมาก มีอานิสงส์ไพศาล เหมือนหว่านพืชพันธุ์ดีลงในนาดีฉะนั้น

หลังจากนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว พระเจ้าปายาสิก็ทรงเริ่มบำเพ็ญทาน แต่ของที่ทรงให้นั้นเป็นของเลว ๆ

มาณพคนหนึ่งชื่ออุตตระเป็นเจ้าหน้าที่ในทานนั้น ทำไปอธิษฐานไปว่า ชาติหน้าขออย่าได้เจอ อย่าได้อยู่ร่วมกับพระเจ้าปายาสิอีกเลย

พระเจ้าปายาสิทรงทราบเรื่องนี้ จึงทรงรับสั่งให้ให้ทานด้วยของอย่างเดียวกับที่ทรงใช้สอยเอง

อุตตรมาณพนั้นให้ทานด้วยความเต็มใจ ให้ด้วยความเคารพ
เมื่อสิ้นชีพแล้ว อุตตรมาณพไปเกิดเป็นเทพชั้นดาวดึงส์ ส่วนพระเจ้าปายาสิไปเกิดในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราช (ตํ่ากว่าชั้นดาวดึงส์) ในเสรีสกวิมานอันว่างเปล่า เพราะให้ทานอย่างไม่เคารพ ให้แต่ของเลวเป็นทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น